xs
xsm
sm
md
lg

เพราะเป็น "เด็ก" จึงเจ็บปวด เรื่องจริงที่ "พ่อแม่" ต้องอ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"อยากให้ลูกเรียนเก่ง เข้าโรงเรียนชื่อดัง ประสบความสำเร็จในชีวิต" เป็นหนึ่งใน "ความคาดหวัง" ของพ่อแม่เกือบทุกคน แม้บางคนไม่ได้ต้องการสร้างความกดดันให้ลูก แต่ด้วยระบบการศึกษา ทำให้พ่อแม่จำนวนไม่น้อย ต้องเตรียมลูกเพื่อพร้อมรับกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น

ไม่แปลกที่ภาพเด็กแข่งกันเรียนพิเศษเอาเป็นเอาตายยังคงมีอยู่ และฉายภาพซ้ำๆ ตอกย้ำความเครียดของเด็กๆ ในแต่ละปีเมื่อเข้าสู่เเทศกาลรับนักเรียนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสอบคัดเลือก หรือการจับฉลากที่ยิ่งกว่าลุ้นรางวัลล็อตเตอรี่ หรือจับใบดำใบแดงเสียอีก


เด็กที่สอบได้ หรือจับฉลากได้ แน่นอนว่า มีความดีใจ กระโดดโลดเต้น เหมือนประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูงสุด แต่เด็กที่สอบไม่ได้ หรือจับฉลากไม่ได้ คงต้องเดินคอตก น้ำตาไหล กลายเป็นความเครียดที่อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมาโดยที่พ่อแม่อาจไม่รู้ หรืออาจรู้เมื่อสายเกินไปแล้ว


เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ชวนให้นึกถึงบทสัมภาษณ์ของ "อังคณา มาศรังสรรค์" หรือ "ครูณา" ผู้ก่อตั้งโรงเรียนพ่อแม่ลูก แม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่บทสัมภาษณ์ของเธอยังคงนำมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจพ่อแม่ยุคนี้ได้เป็นอย่างดี


"ทุกๆ อย่างตอนนั้น เรายอมรับว่า ทำเพื่อพิสูจน์การเป็นแม่ที่ดี ถ้าลูกเรียนเก่ง มีระบบระเบียบ มีมารยาท เราจะรู้สึกภูมิใจ เพราะมีคนชื่นชมเรา แต่บางครั้งลูกไม่ยอมทำตาม เราจึงโมโห และตำหนิลูกอยู่บ่อยครั้ง บางทีเกิดการถกเถียงกันอย่างรุนแรง จนวันหนึ่งลูกพูดต่อหน้าเราว่า ซวยจริง ๆ ที่เกิดเป็นลูกแม่ ทำเอาเราเงียบ และถอยออกมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น" ครูณาเล่าถึงอดีตที่ไม่เคยลืม


#เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด

Posted by เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด on Thursday, April 2, 2015


คำพูดของลูกชายคนโตวัย 6 ขวบในวันนั้น ทำให้เกิดความน้อยใจ และเสียใจอย่างมากว่า ทำไมลูกไม่เข้าใจความรัก และความปรารถนาดีของเธอเลย กระทั่งมาอ่านเจอประโยคในหนังสือ How to talk so kids will listen and listen so kids will talk ที่ อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู แนะนำ ถือเป็นตัวชี้ทางสว่างได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประโยคที่เขียนไว้ว่า "ถ้ารัก และปรารถนาดี แต่วิธีการไม่ใช่ ผลลัพธ์มันก็ไม่ใช่"

"เมื่อคิดได้ว่ากำลังหลงทาง เราจึงเปลี่ยนวิธีการใหม่ โดยเริ่มเข้าใจธรรมชาติของลูกมากขึ้น และมีพื้นที่ให้เขาได้จัดการ และรับผิดชอบชีวิตตัวเอง เช่น แม่มีรายได้เท่านี้นะ ลูกใช้ได้เท่านี้ ลูกจะซื้ออะไรก็ได้ แม่ไม่ว่า หัดให้เขาวางแผนการใช้เงินด้วยตนเอง และเป็นการให้พื้นที่กับเขา ผิดกับเมื่อก่อนที่เราจะควบคุมลูกอยู่ตลอด" เธอเล่าพร้อมกับเผยผลลัพธ์ที่ได้ว่า ลูกชายทั้ง 2 คนมีการพูดคุย และเข้าใจเธอมากขึ้น


จากบทเรียนที่เคยตกเป็นเหยื่อของความคาดหวัง ครูณาไม่อยากให้ครอบครัวอื่นต้องตกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกับเธอ นี่คือสิ่งที่เธอได้ฝากเอาไว้


"เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่การที่ลูกไม่เข้าใจความรักที่เรามีให้ นั่นแสดงว่าเรายังรักลูกไม่ถูกทาง เช่น เมื่อลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง เรามักจะโทษลูก บอกว่าลูกไม่ดี ลูกแย่ และคาดหวังให้ลูกเปลี่ยน แต่เราไม่เคยย้อนดูตัวเองเลยว่า มีวิธีการบางอย่างที่มันไม่ถูกต้องหรือไม่ เช่น ตีกรอบให้เขามากเกินไปหรือเปล่า รับฟังความคิดของลูกน้อยเกินไปหรือไม่" ครูณาให้แง่คิด


เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ได้เคยมีโอกาสพูดคุยถึงประเด็นความคาดหวัง คุณแม่ลูกสองท่านหนึ่งที่ตอนนี้ลูกๆ โตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว เธอบอกว่า แม้ว่าระบบการเรียนจะกดดัน แต่ในฐานะพ่อแม่ สิ่งที่เธอทำได้คือ ไม่ควรคาดหวังกับลูกมากเกินไป พอใจในสิ่งที่ลูกเป็น ทำได้แค่ไหนแค่นั้น แต่ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย


#เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด

Posted by เพราะเป็นเด็กจึงเจ็บปวด on Tuesday, March 31, 2015



ส่วนประเด็นเรื่องโรงเรียนดัง ถือเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนให้ความหวังมากก็จริง แต่สำหรับเธอไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องเข้าโรงเรียนดัง โดยเธอจะดูระบบการเรียนที่ให้เด็กมีอิสระในความคิด มีกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมฝึกทักษะวิชาชีวิตควบคู่ไปกับวิชาการ ดังนั้น มันถึงเวลาตั้งนานแล้วที่พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า เก่งที่สุด ใช่ว่าจะเป็นที่ยอมรับเสมอไปแต่การที่ลูกจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข พ่อแม่ต้องไม่คาดหวังมากเกินไป เพราะความคาดหวังจะทำให้เด็ก "แพ้ไม่เป็น ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง" นี่คือสิ่งที่เธอคิด


ด้านโรงเรียนในประเทศไทย บางแห่งมีการแยกตัวออกมาจากระบบ เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข เห็นได้ชัดจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา "ครูวิเชียร ไชยบัง" ตัดสินใจลาออกจากราชการในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนมาสร้างความท้าทายใหม่ คือ การสร้างโรงเรียนนอกกะลาแห่งนี้ให้เป็นโรงเรียนที่ตอบโจทย์ของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยไม่ยึดติดอยู่เพียงเกรด หรือลำดับอย่างที่โรงเรียนส่วนใหญ่กำลังทำ


ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเจมส์คลาร์กแห่งประเทศอังกฤษ แม้จะเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนห่างไกล แต่เด็กที่นี่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่มีมาตรฐานสูง ไม่แพ้เด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ การันตีได้จากการประเมินของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2549 ที่ให้โรงเรียนแห่งนี้มีคุณภาพระดับนานาชาติ

ไม่เพียงแต่โรงเรียนนอกกะลาในข้างต้น เชื่อว่ายังมีโรงเรียนแบบนี้ในซอกมุมของสังคมไทยที่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของความท้าทายในการลุกขึ้นมาต่อต้านกระแสระบบการศึกษาไทยที่ยึดติดอยู่เพียงเกรด และจัดลำดับความสามารถผู้เรียนอย่างที่โรงเรียนส่วนใหญ่กำลังทำ

แต่หากคุณเป็นพ่อแม่ที่เลือกไม่ได้ และยังต้องวนเวียนอยู่ในระบบการศึกษาเดิมๆ ลองเปลี่ยนจาก "ความรักบนความคาดหวัง" มาเป็น "ความรักบนความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก" เหมือนที่ "ครูณา" และพ่อแม่หลายๆ คนกำลังทำ น่าจะเป็นหนทางให้พ่อแม่ และลูกมีความสุขสู่การใช้ชีวิตที่มีความหมายต่อไป


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น