xs
xsm
sm
md
lg

เสียงร้องจากใจพ่อ... นักเรียนนายร้อยพลร่ม ผู้สังเวยชีวิตเพราะระบบชุ่ย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิ้นเดือนนี้ก็จะครบรอบ 1 ปีการเสียชีวิตของลูกชายแล้ว แต่คดีความกลับไม่คืบหน้า ผู้เป็นพ่อหมดศรัทธาต่อระบบยุติธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นเกินเยียวยารอยร้าวในหัวใจ เขาจึงได้แต่ระบายความเจ็บปวดลงเฟซบุ๊กของลูกชาย ผู้เสียชีวิตจากการฝึกกระโดดร่มของนักเรียนนายร้อยไปเมื่อปีที่แล้ว ทวงถามความรับผิดชอบที่คู่ควรต่อการจากไปของคนสำคัญที่สุดในชีวิต




สลดทั้งประเทศ... ความเจ็บปวดของพ่อบนเฟซบุ๊กลูก

(จตุรงค์ ติรสุวรรณสุข โพสต์ในฐานะ "พ่อผู้สูญเสีย" บนเฟซบุ๊กลูกผู้ล่วงลับ)
วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2557 คือวันแห่งฝันร้ายที่ครอบครัวผู้สูญเสียไม่อาจลืมได้ลง เพราะเป็นวันที่ “โยโย่-ชยากร พุทธชัยยงค์” และ “ฟิวส์-ณัฐวุฒิ ติรสุวรรณสุข” ฝึกกระโดดร่มประจำปีเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชีวิตในฐานะนักเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องจากสายสลิงที่ใช้กระโดดร่ม หลุดออกจากขั้วระหว่างปล่อยตัวลงสู่พื้นดิน ร่างกระแทกพื้น เสียชีวิตในทันที
ที่น่าสลดที่สุดคือภาพความเจ็บปวดนี้ยังคงติดตาอย่างแจ่มชัด กรีดแทงเข้าไปในหัวใจของครอบครัวนักเรียนนายร้อยผู้โชคร้ายทั้งสอง ที่ต้องเห็นภาพโศกนาฏกรรมนั้นกับตาของตัวเอง


แม้ผลการพิสูจน์หลักฐานในครั้งนั้นระบุแน่ชัดว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจทั้งสองนาย ไม่ได้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ แต่เกิดจากการกระทำโดยประมาทของผู้ดัดแปลงอุปกรณ์กระโดดร่ม แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีไม่ได้ ผ่านมาเกือบปี ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดีใดๆ ให้ครอบครัวผู้สูญเสียได้ชื่นใจ และนี่คือความในใจที่ “จตุรงค์ ติรสุวรรณสุข” คุณพ่อของน้องฟิวส์ ระบายความอัดอั้นเอาไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของลูก ในฐานะ “พ่อผู้สูญเสีย”

“จากกรณีที่ลูกชายผม ทั้ง 2ครอบครัวได้เสียชีวิตจากการฝึกกระโดดร่มตามหลักสูตรของ โรงเรียนนายร้อยตำรวจที่ ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 31 มี.ค.57 นั้น มาถึงวันนี้เวลาได้ล่วงเลยมาเกือบ 1 ปีเต็ม ในทางคดีก็ยังไม่มีการยื่นฟ้องผู้กระทำความผิดใดๆ เลย ขั้นตอนอยู่ที่อัยการตั้งแต่ 24 พ.ย.57 จากคำบอกของพนักงานสอบสวน คิดแบบชาวบ้านคดีนี้ไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อน ทั้งๆ ที่การกระทำความผิดมันบ่งบอกชัดเจนว่าสายสลิงไม่ได้มาตรฐาน เอาของที่ไม่ควรซ่อมมาใช้งาน ทั้งๆ ที่มีของใหม่ให้เปลื่ยนแต่ไม่เปลื่ยน บ่งบอกถึงความทุจริตในหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ส่วนในเรี่องการเยียวยาต่างๆ ทางผมทั้ง 2 ครอบครัวก็ไม่เคยได้รับเลยจากหน่วยงานที่เกื่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับยศ ขึ้นขั้นเงินเดีอนเป็นกรณีพิเศษ เพราะถือว่านายร้อยตำรวจทั้งสองได้เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่

แม้ในทางกฎหมายก็ไม่เคยได้รับคำชี้แนะหรือให้คำปรึกษาใดๆ ที่จะเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดทั้งหมด นึกแล้วก็ท้อใจจริงๆ ครับ ทั้งๆ ที่ลูกชายของผมทั้ง 2 ครอบครัวถือว่าเป็นบุคลากรในส่วนความรับผิดชอบของตำรวจ ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเลยครับ นับประสาอะไรกับประชาชนคนธรรมดา ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ความยุติธรรมนั้นมีอยู่จริงครับ แต่มันหาได้ยากยิ่งสำหรับคนธรรมดาอย่างพวกเรา คิดแล้วก็ท้อใจมากและเหนี่อยสุดๆ แต่จะไม่ถอยครับ ต้องสู้ครับเพื่อความถูกต้องและยุติธรรมให้แก่ลูกชายผม



(โพสต์สุดท้ายของ ฟิวส์-ณัฐวุฒิ นักเรียนนายร้อยผู้โชคร้าย)

ทุกวันนี้ ที่อยู่ได้ก็เพราะนึกถึงแต่ความดีของเขาครับ ตอนเขาอยู่ก็ทำแต่ความภาคภูมิใจให้ครอบครัว ถึงตอนที่เขาเสียไปก็ทิ้งไว้ซึ่งเกียรติยศและชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูล มาถึงวันนี้ทางผมทั้ง 2 ครอบครัวก็ได้แต่รอความหวังจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองว่าจะให้ความเป็นธรรมในคดีของลูกชายผมทั้ง 2 ครอบครัวแค่ไหน เคยไปยื่นหนังสีอที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น

ผมทั้ง 2 ครอบครัวจึงอยากให้สังคมได้รับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน การเยียวยาต่างๆ เมี่อไหร่ เหนี่อยครับที่ต้องต่อสู้คดีกับหน่วยงานของรัฐ มันต้องใช้เวลา แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้เรี่องมันจบลงโดยเร็วครับ อยู่ที่ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีจิตสำนึกและให้ความเป็นธรรมแก่ครอบครัวของผมทั้ง 2 มากน้อยแค่ไหน



(โยโย่-ชยากร นักเรียนนายร้อยอีกหนึ่งราย ที่ต้องรับเคราะห์กรรมที่ไม่ได้ก่อ)
ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้ลูกชายผมทั้ง 2 ครอบครัวมีชีวิตอยู่ดีกว่าครับ เพราะจากกรณีที่ลูกชายได้เสียไป สภาพทางจิตใจของครอบครัวทุกๆ คนมันแย่สุดๆ เพราะการสูญเสียครั้งนี้เป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่มากของครอบครัวเราทั้ง 2 เรื่องแบบนี้ถ้าไม่เกิดกับใคร ก็จะไม่รู้หรอกครับว่ามันทรมานมากแค่ไหนกับการจากไปของลูกชายของเราทั้ง 2 ครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่ง

จึงอยากให้สังคมได้รับรู้ความเป็นจริงที่เกิดกับครอบครัวเรา เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบกรณี นายร้อยตำรวจทั้ง 2 ขึ้น ชีวิตคนมันเอาอะไรมาทดแทนไม่ได้หรอกครับ และก็ขออย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเลยครับ เพราะชีวิตคนไม่ใช่สิ่งของที่เมื่อเสียไปแล้ว จะซ่อมแซมแล้วกลับมาคืนดังเดิม ลูกชายผมไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมแล้วครับ


(วาระสุดท้ายของลูกรัก)
อยากให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนอันล้ำค่าให้ทุกหน่วยงานได้ตระหนักและให้ความสำคัญในสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่านี้ครับ ขอบคุณมากครับ... จาก... พ่อผู้สูญเสีย (นายจตุรงค์ ติรสุวรรณสุข)”




ภาครัฐยืนยัน! เยียวยาเสร็จสิ้น รอกระบวนการยุติธรรม

(ภาครัฐยืนยัน เยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียเต็มกำลังแล้ว)
“ประเด็นเรื่องการเยียวยา ทางเราได้เยียวยาไปแล้วตามกฎหมาย ศพละ 100,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.2557 เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า “ไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” มันไม่ถูกนะครับ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้สำรองเงินจ่ายล่วงหน้าให้นักเรียนนายร้อยทั้ง 2 รายไปแล้วในตอนนั้นครับ ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544”

ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ศูนย์เยียวยาเหยื่ออาชญากรรม ยืนยันชัดเจนในฐานะผู้รับผิดชอบกรณีนี้มาตั้งแต่เกิดเหตุ บอกเลยว่านี่คือการเยียวยาในอัตราที่สูงที่สุดแล้วเท่าที่กฎหมายจะอนุมัติให้ได้

“ความจริงแล้ว หลังจากทราบข่าวเหตุการณ์ในครั้งนั้น วันนั้นผมก็เป็นคนติดต่อไปทางครอบครัวเองเลย ผมเองในฐานะที่เป็นอดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจ เคยโดดร่มมาเหมือนกับน้องทั้งสอง ก็มีความรู้สึกเจ็บปวดที่ได้รับทราบข่าวนี้ พอมองเห็นว่างานที่เรารับผิดชอบอยู่มันสามารถจะช่วยเหลือเยียวยาเขาได้ หากเรื่องนั้นเป็นคดี แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นอุบัติเหตุ เรื่องก็จบ จะไม่มีทางช่วยเหลือเยียวยาใดๆ

แต่เผอิญเรื่องนี้ สมัยนั้นท่าน พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ท่านมีความเชี่ยวชาญทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ท่านจึงเข้าไปตรวจสอบและแจ้งข้อหากับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าเกิดจากการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดความตายแก่น้องทั้งสอง พิจารณาแล้วพบว่าเข้าองค์ประกอบตามการเยียวยาที่ผมรับผิดชอบอยู่ ทางเราจึงรีบเข้าไปช่วยในเชิงรุกในทันที ซึ่งปกติแล้ว ถ้ารอขั้นตอนตามปกติจะกินเวลานานมาก แต่ตอนนั้นเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเลยเอาเงินสำรองจ่ายออกให้ก่อนด้วย เพราะฉะนั้น พูดได้เลยครับว่าในส่วนของการเยียวยาตามกฎหมายนั้น ทางเราได้รับผิดชอบเยียวยาไปเรียบร้อยแล้ว”



(ผู้เป็นพ่อทั้งสอง พยายามทุกทางเพื่อลูก - ขอบคุณภาพจาก เดลินิวส์)
หากต้องการคำปรึกษาทางกฎหมายใดๆ เพิ่มเติม ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ศูนย์เยียวยาเหยื่ออาชญากรรม แสดงจุดยืนเอาไว้อย่างชัดเจนว่ายินดีสนับสนุนเต็มที่ แม้กระทั่งปัญหาการถูกคุมคามข่มขู่ซึ่งเคยมีข่าวว่าครอบครัวผู้เสียหายเคยถูกโทร.มาข่มขู่ว่า "ถ้าไม่อยากให้ใครเสียชีวิตอีก ให้หยุดตามเรื่องนี้ซะ" นั้น ทางกรมฯ บอกว่ามีกฎหมายคุ้มครองการถูกคุกคามจนเป็นเหตุให้เกิดความกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย สามารถติดต่อมาได้ที่ชั้น 2 ศูนย์ราชการฯ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เยียวยาเหยื่ออาชญากรรม โทร. 089-967-3403 หรือสายด่วน 1111 กด 77

“ทางเราก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานคอยช่วยได้ ส่วนเรื่องกฎระเบียบของตำรวจว่าจะรับผิดชอบยังไง ผมไม่ทราบจริงๆ ครับ เป็นคนละหน่วยงานกัน ถึงผมจะมียศพันตำรวจเอก แต่ผมดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สังกัดกระทรวงยุติธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องสิทธิประโยชน์ของตำรวจที่จะได้รับจากสถานะที่ว่า นักเรียนตำรวจเสียชีวิตในหน้าที่หรือไม่ นักเรียนนายร้อยถือว่ามีสถานะเป็นข้าราชการไหม และจะสามารถเลื่อนยศปรับตำแหน่งได้เท่าไหร่ คงต้องถามทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งครับ รวมถึงเรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีด้วยว่าทำไมล่าช้า ตกลงแล้วผลคดีคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว เพราะผมไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้จริงๆ”




เฝ้ารอบทลงโทษ “ผู้ดัดแปลงสลิงมรณะ”

(สลิงมรณะ ต้นเหตุที่ทำให้ร่มไม่กาง)
ย้อนกลับไปเมื่อวันเกิดเหตุสลด พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา สบ.10 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการเจาะข่าวเด่น ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2557 เกี่ยวกับรายละเอียดเหตุการณ์ทั้งหมดเอาไว้ดังนี้

“ปกติแล้ว ลักษณะการฝึกของนักเรียนนายร้อย ก่อนที่เราจะฝึกโดดบนเครื่องบิน เราต้องฝึกภาคพื้นดินประมาณ 3 สัปดาห์ ในเรื่องของร่างกาย การล้มตัว ท่าทางที่ฝึกให้เกิดกำลังใจ แล้วก็ไปโดดจริงบนเครื่องบิน ซึ่งเวลาไปโดดจริงจะเป็นร่มที่ใช้สาย Static Line ซึ่งเป็นสายสีเหลืองช่วยกระตุก เพราะฉะนั้น เวลานักเรียนขึ้นไปมันจะมีสายสลิงขึงระหว่างหน้าเครื่องไปท้ายเครื่อง คนที่จะโดดก็ต้องเอาตะขอซึ่งต่อกับสาย Static Line ต่อเข้าไปที่ตัวกระตุกเปิดร่ม เพราะฉะนั้น เวลากระโดดลงไปพ้นเครื่อง สาย Static Line ก็จะตึง และสายก็จะกระตุกเปิดร่ม ร่มก็จะกาง อันนี้เป็นการกระโดดโดยมีสาย Static Line ช่วยกระตุกร่ม

ส่วนวิธีการที่บอกว่าขึ้นไปแล้วโดดลงมา จากนั้นกระตุกร่มเอง จะเป็นการดิ่งพสุธาซึ่งต้องใช้ความสูงมากกว่านี้ แต่ลำที่ฝึกสูงประมาณ 1,250 ฟุต ธรรมดาแล้วจะใช้เวลาตกประมาณ 12 วินาที (ตกโดยร่มไม่กาง) แต่ถ้าตกโดยร่มกางจะประมาณ 1 นาที แต่การโดดแบบดิ่งพสุธา เครื่องจะบินขึ้นไปที่ความสูง 6,000-7,000 ฟุต ทำให้มีเวลาลอยอยู่ในอากาศมากกว่าคือ 15 วินาที ก่อนจะกระตุกร่ม



พล.ต.อ.จรัมพร ผู้เคยรับผิดชอบกรณีนี้ ตอบคำถามเอาไว้ในรายการเจาะข่าวเด่น
“ในตอนนั้น บนเครื่องบิน หมดทั้งลำจะเข้าแถวต่อคิวโดด 9 คน เกี่ยวตะขอตามลำดับ คนแรกจะยืนที่ประตู แล้วก็โดดตามกันเป็นแถวๆ ลงไป เพราะฉะนั้น จะลงท่าอัตโนมัติตามที่ฝึกมา ถ้าปกติสาย Static Line ตึงก็จะกระตุกร่มให้เปิด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปรากฏว่า 3 คนแรกที่โดดลงไปก่อนคือ คนที่ 1 ครูฝึก โดดแล้วร่มกาง, คนที่ 2 และ 3 ร่มกางปกติ แต่พอคนที่ 4 กลับมีปัญหา

พอจังหวะคนที่ 4 กระโดด ลวดสลิงไม่ได้ขาดนะครับ แต่หลุดจากตรงปลายออกมา พอหลุดออกมามันก็หย่อน มันก็ทำให้ท่าของคนที่ยืนรอกระโดดในเครื่องบินผิดไป คนที่อยู่บนเครื่องเลยเซไปข้างหลัง เทน้ำหนักไปข้างหลัง ครูฝึกถูกพลร่มกระแทกหล่นลงไป 2 คน ส่วนอีกคนอยู่ตรงประตู เครื่องบินพอบินด้วยความเร็วต่ำมันจะเตือนให้บินเร็วขึ้น เมื่อบินเร็วขึ้นจึงทำให้คนที่ 4 ที่อาจจะยังเสียหลักอยู่ เป็นความเร็วปกติที่ไปยืนอยู่ตรงประตูอย่างที่คนอื่นยืน พอโดดตามลงไปก็อาจจะเสียหลัก ท่าทางที่จะเช็กร่มนับ เลยอาจจะไม่มีโอกาสตรวจสอบตรงนั้น ก็เลยตกลงมาถึงพื้นเสียชีวิต



จากปกติที่ควรจะนับแทนวินาทีเป็น 1,000, 2,000, 3,000, 4,000 (นับทุก 1,000 แทน 1 วินาที) แล้วก็ตะโกน “Check Canopy” คือเช็กร่ม เงยหน้าขึ้นไปดู ถ้าร่มกางก็ปกติ แต่ถ้าร่มไม่กาง ครูบอกให้ดึงเองเลย ปกติก็จะมีเวลาเหลืออีกประมาณ 7 วินาทีก่อนที่ตัวจะถึงพื้น ร่มสำรองก็จะทำงาน เป็นร่มที่มีขนาดเล็กกว่าซึ่งจะอยู่ด้านหน้า

ส่วนคนที่ 5 เครื่องบินกลับมาเสถียรแล้ว และน่าจะอยู่ในท่าที่ปกติ เลยดึงร่มช่วยตัวเองไว้ได้ทัน คนที่ 6 ตอนที่เขาเซมา ครูฝึก 2 คนเซไปข้างหลัง และเด็กเซตามมา ครูเห็นว่าความผิดปกติมันเกิดขึ้นแล้ว เลยคว้าสาย Static Line เอาไว้ให้ พอเด็กโดดลงไป สายที่ครูดึงไว้ขัดกับขอบประตูพอดีทำให้เกิดการตึง พอตึงปุ๊บมันก็ช่วยกระตุกให้ร่มกาง ทำให้ลงมาได้อย่างปลอดภัย ส่วนคนที่ 7 อาจจะตัดสินใจดึงร่มสำรองช้าไปหน่อย พอโดดลงมา ร่มไม่ทำงาน จึงเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ตรวจสอบแล้วพบว่าความสูญเสียในครั้งนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ “เครื่องบินลำนี้ส่งซ่อมบำรุงตามรอบ นี่เป็นการกระโดดครั้งแรกของพวกเขา ลวดสลิงที่นำมาใช้ก็เพิ่งเปลี่ยนเป็นครั้งแรก ปกติลวดสลิงที่ใช้จะผลิตมาจากโรงงานและมีสเปก มีขนาดของเขาเรียบร้อย ตรวจสอบได้ แต่จากที่ไปตรวจกับทีมงานพิสูจน์หลักฐาน ดูปลายลวดสลิงเห็นว่ามีลักษณะดำๆ เหมือนรอยไหม้ที่เกิดจากการเจียรตัด แสดงให้เห็นน่าจะมีการดัดแปลงมา


(พิสูจน์หลักฐานผลปรากฏชัด เกิดจากการดัดแปลงสลิง)


เกี่ยวกับประเด็นนี้ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ศูนย์เยียวยาเหยื่ออาชญากรรม แนะนำว่า “คงต้องเรียกร้องสอบถามไปทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือบริษัทผู้รับผิดชอบซึ่งตกเป็นผู้ต้องหา หรือคู่กรณีของเหยื่อ ตำรวจแจ้งข้อหาคดีนี้ว่าคือใครที่ทำให้เกิดความประมาทเลินเล่อ ไม่ว่าจะเป็นคู่กรณีที่เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล หรือบริษัทใดๆ ที่เอาสายสลิงไม่ได้มาตรฐานมาขึง จนเป็นเหตุให้สายหลุดและเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นมา ทางครอบครัวผู้เสียหายก็สามารถที่จะฟ้องร้องทางแพ่งได้ เพราะทางอาญาเขาดำเนินการไปแล้ว”


(ครอบครัวผู้สูญเสีย เฝ้าแต่รอคอยความยุติธรรม)


(ขอนักเรียนนายร้อยทั้งสองจงสู่สุขคติ)



ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วน: เฟซบุ๊ก “Few Natthawut”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- พ่อ นรต.โดดร่มเสียชีวิต ท้อใจเกือบปีคดีไม่คืบ ไร้เงินเยียวยา โอดความยุติธรรมอยู่ที่ไหน
- พ่อ 2 นรต.ร่มไม่กางแจ้งความถูกขู่ “จรัมพร” คุ้มกะลาหัวไม่ได้ (ชมคลิป)
- ตร.แจ้งข้อหา 11 ผู้เกี่ยวข้องคดี นรต.โดดร่มไม่กางแล้ว
- “พ่อ นรต.โยโย่” พอใจผลคดี แต่ไม่มั่นจะได้รับความเป็นธรรม (ชมคลิป)
- นรต.รุ่น 69 ประสบอุบัติเหตุสลิงขาด ร่มไม่กาง โหม่งพื้นดับ 2 นาย
- แจ้งข้อหา 11 เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมการบิน-บินไทย-ตร.กองบิน เหตุ นรต.โดดร่มเสียชีวิต
- ผลตรวจสลิงร่ม นรต.ไม่กาง วัสดุไม่ได้มาตรฐาน 

กำลังโหลดความคิดเห็น