บางคนอาจคิดว่าอาหารสัตว์เป็นเรื่องไกลตัว ไม่สำคัญอะไร เพราะยังติดกับภาพเดิมๆที่เห็นไก่กินข้าวเปลือก เดินคุ้ยเขี่ยหาอาหารก็โตได้ วัวเดินกินหญ้าข้างทางก็โต แม้แต่สัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมาหรือแมวที่กินเศษอาหารของเราก็ยังแข็งแรงดีอยู่เลย…
แต่กับคนที่ใส่ใจและรักสัตว์ คงจะออกมาปฏิเสธทันทีว่า “ไม่จริง!” เพราะกว่าจะเลือกอาหารหมาหรือแมวแต่ละทีแสนจะพิถีพิถัน ดูแล เอาใจใส่ และห่วงใยยิ่งกว่าอาหารของคนเลี้ยงเสียอีก จะแพงแค่ไหนก็ซื้อถ้าอาหารนั้นสะอาด ใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ…ที่สำคัญถ้าสัตว์เลี้ยงของเราชอบกิน! อาหารสัตว์เลี้ยงจึงเรียกว่า “Pet Food”
แล้วอาหารสัตว์ที่เป็นปศุสัตว์ (Feed) ล่ะ?…. คุณภาพและความปลอดภัยของอาหารสัตว์กลุ่มนี้ถูกกำหนดไว้สูงไม่แพ้กันเพราะผลผลิตจากสัตว์เหล่านี้จะเป็นอาหารหรือแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภค ไม่เพียงแต่ความสะอาด ปลอดภัย และมีสารอาหารครบตามความต้องการของสัตว์เท่านั้น แต่อาหารสัตว์ (Feed) ยังต้องคำนึงถึงต้นทุนที่ต่ำสุด คิดง่ายๆครับ ประเทศไทยผลิตอาหารสัตว์ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี ทุกๆผลผลิตจากสัตว์ 1 กิโลกรัม ต้องใช้อาหารประมาณ 2 กิโลกรัม ราคาที่แตกต่างเพียงไม่กี่สตางค์ต่อกิโลกรัมอาหารก็ส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจแล้ว อาหารสัตว์ยังมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงเพราะต้องใช้ข้าวโพด ปลาป่น มันสำปะหลัง รำ ปลายข้าว และอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำและคุณภาพสูง การผลิตอาหารสัตว์จึงต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น…. ทุกๆวันที่เรากินอาหาร (Food) นอกจากคำถาม “สะอาด ปลอดภัย และอร่อย?“ เคยถามตัวเองหรือเปล่าครับว่า “ข้าวผัดที่กินอยู่ มีกรดอะมิโนกี่ชนิด แต่ละชนิดกินเข้าไปเท่าไหร่ ที่กินเข้าไปย่อยได้แค่ไหน และที่ย่อยได้ถูกสร้างเป็นเนื้อหรือไขมัน?” ผมว่าน้อยคนที่จะตั้งคำถามแบบนี้กับอาหารทุกๆมื้อของตัวเอง หรือถ้ามี! ก็คงหาคำตอบไม่ได้…. แต่เชื่อหรือไม่ สำหรับอาหารสัตว์ (Feed)!! ทุกๆ คำถามต้องมีคำตอบ…
นอกจากความปลอดภัย สะอาด อร่อย (สำหรับสัตว์) แล้ว ยังต้องคำนึงว่าสัตว์ใช้สารอาหารทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ มีการคำนวณประสิทธิภาพการใช้อย่างละเอียดกับอาหารทุกๆคำที่สัตว์กิน....ไม่ว่าจะเป็นกรดอะมิโน วิตามิน แร่ธาตุ กรดไขมัน คาร์โบไฮเดรต และพลังงาน ขบวนการผลิตอาหารสัตว์บางประเภทยังต้องอัดเม็ดที่ผ่านอุณหภูมิสูงทำให้อาหารสุกและปลอดภัยยิ่งขึ้น โรงงานอาหารสัตว์ของไทยหลายๆแห่งผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO หรือ GMP หรือ HACCP ซึ่งโรงงานเหล่านี้ใช้ระบบอัตโนมัติและโปรแกรมควบคุมการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
สูตรอาหารสัตว์มาจากไหน สำคัญอย่างไร? อาหารสัตว์ถูกคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะผลิตได้ตรงกับชนิด วัย เพศ ผลผลิต และสภาพแวดล้อมของสัตว์ ความเที่ยงตรงของการให้อาหารสัตว์ (โภชนะทุกชนิด) มีความละเอียดระดับ มิลลิกรัม/ตัว/วัน ทีเดียว ปกติเราสามารถประมาณการเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการใช้อาหาร หรือการให้ผลผลิตของสัตว์จากอาหารที่กิน โดยอ้างอิงจากความต้องการอาหารของสัตว์ซึ่งต้องใช้งานวิจัยจำนวนมากควบคู่กับความรู้ความชำนาญของนักโภชนศาสตร์ด้านสัตว์
สูตรอาหารแต่ละสูตรจึงมีความสำคัญและเป็นความลับจำเพาะของแต่ละบริษัทเพราะสูตรอาหารที่ดีจะทำให้สัตว์เจริญเติบโตดี มีคุณภาพ และต้นทุนการผลิตต่ำ อย่างไรก็ตามแม้อาหารแต่ละสูตรจะเป็นความลับ แต่ต้องผลิตขึ้นตามข้อบังคับของพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่างๆ
ดังตัวอย่าง การห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือการห้ามใช้ฮอร์โมนของไทยที่นำไปสู่ข้อถกเถียงระหว่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกายอมให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในสุกร (Ractopamine) ขณะที่ประเทศไทยห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงโดยเด็ดขาด ทำให้เนื้อสุกรจากสหรัฐอเมริกาส่งขายที่ประเทศไทยไม่ได้ เป็นต้น หากเกิดกรณีลักลอบใช้สารเร่งหรือฮอร์โมนในสุกร (ไม่มีในไก่เนื้อ) ในไทย ก็เกิดจากความไม่รู้หรือไม่มีจรรยาบรรณของคนบางคน ไม่ใช่มาตรฐานการผลิตอาหารสัตว์ของไทย ซึ่งรัฐควรเร่งควบคุมและปราบปรามอย่างจริงจัง
You are what you eat! ไม่ได้จำกัดไว้ที่คนเท่านั้น แต่กับสัตว์ก็เช่นกัน เพื่อให้อาหารคน (Food : เนื้อ นม ไข่) มีคุณภาพดี ราคาถูก ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค…. อาหารสัตว์ (Feed) จะต้องมีคุณภาพไม่แพ้อาหารคน…. แต่ความแตกต่างคือ คนเลือกกินอาหารตามที่ตัวเองต้องการได้ ขณะที่สัตว์พูดไม่ได้ เลือกไม่ได้ ความรู้ด้านอาหารและโภชนะของสัตว์ (Animal Feed and Nutrition) จึงต้องแม่นยำ ชัดเจน ทุกคำที่สัตว์กินอาหารต้องได้สารอาหารตามกำหนดมาตรฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพที่คำนึงถึงผู้บริโภค มิฉะนั้นจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นหรือไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
เรื่องโดย รศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (agrchb@ku.ac.th)
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754