xs
xsm
sm
md
lg

#IceBucketChallenge บุญตามกระแส ถึงมือผู้ป่วยจริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิ้นสุดไปแล้วสำหรับIce Bucket Challenge กิจกรรมทำบุญสุดอินเทรนด์ ที่ลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว หลายคนให้ความสนใจร่วมสนุกจนกลายเป็นกระแสครั้งใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปข่าวซาลง ทิ้งไว้เพียงความสงสัยว่า เงินบริจาคทั้งหมด ถึงมือผู้ป่วยจริงหรือไม่ หรือแค่เล่นปั่นกระแสกันเท่านั้นเอง

บริจาคจริง หรือ แค่โหนกระแส?
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 เดือนก่อน กิจกรรมราดน้ำเย็นหรือ#IceBucketChallenge ถือเป็นกระแสสังคมที่ค่อนข้างได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ประชาชนทั่วไป นักการเมือง ดาราเซเลบริตี้ทั่วฟ้าเมืองไทยที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ต่างร่วมรับคำท้าทำกิจกรรมนำน้ำเย็นที่มีน้ำแข็งผสมอยู่ในถังขนาดใหญ่มาราดหัว เพื่อทำให้ร่างกายเกิดความชาและอ่อนแรง ผู้ร่วมทำกิจกรรมจะได้รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis)ว่ามีอาการเป็นอย่างไร และช่วยสมทบทุนบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านทางกองทุนผู้ป่วยโรคร้ายนี้
นพ.สมชาย โตวณะบุตร นายแพทย์ทรงคุณวุฒิทางประสาทวิทยา เลขานุการมูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า “เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดแถลงข่าว มอบเครื่องช่วยหายใจให้กับผู้ป่วยเป็นจำนวน 8 ราย ดำเนินการค้นหาผู้ป่วย ณ ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ลงทะเบียนกับทางเรา 28 ราย ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นรายที่จองเครื่องช่วยหายใจกับทางเรา ทำการซื้อเครื่องช่วยหายใจให้แล้ว แต่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลภูมิพลเสียก่อน
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่มียารักษาต้องอาศัยการช่วยเหลือผู้ป่วยในส่วนที่เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพียงแต่ว่าเรารู้ว่าเราเป็นแล้วเราต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีความสุขมากที่สุด คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะอยู่ได้เพียง40% ของผู้ป่วยเท่านั้น ที่เหลือจะแล้วแต่การดูแล ส่วนเรื่องของความขาดแคลน ทางเราขาดรถเข็นนั่งที่ช่วยพยุงคอ ตอนนี้หาแหล่งที่ผลิตอยู่เพื่อที่จะได้ให้คนไข้ที่ยังไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้ใช้
ส่วนเงินทุนที่ได้มาจากการทำกิจกรรมทั้งประเทศนั้น เรายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน ทางกองทุนได้ทำหนังสือไปที่ราชวิทยาลัยและสมาคมต่างๆ ให้ช่วยส่งคนไข้มาให้เราเพื่อที่จะได้หาทางช่วยเหลือ ตอนนี้ที่ส่งไปแล้วได้กลับมายังไม่มาก มี20กว่าราย บางรายยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ป่วยโรคนี้จริงหรือไม่ ต้องขอคุยกับทางแพทย์ก่อน เฉพาะเข้าที่มูลนิธิของเรา สรุปเงินอยู่ที่ 20 ล้านบาท ส่วนที่ไปที่อื่นยังไม่รู้เพราะมีกระแสไปหลายแห่ง ตรงนั้นไม่รู้ว่าเขาช่วยหรือเปล่า เพราะเรายังไม่มีรายงาน ที่ผ่านมาเราได้มอบให้ผู้ป่วยประมาณ2ล้านบาทแล้ว ทั้งนี้ มีหลายหน่วยงานยื่นมือเข้ามาบริจาคเงินสมทบทุนกับโครงการเป็นจำนวนมาก คนไทยใจดีช่วยกันเยอะครับ” 

อินเทรนด์ได้ เพราะคนไทยหน้าใหญ่
Ice Bucket Challengeแคมเปญดังกล่าวได้ขยายวงกว้าง ทำให้มีอีกหลายกิจกรรมที่ตามมาเป็นขบวนคือ การถ่ายรูปบัตรประชาชนมาโพสต์ลง Facebook หากคุณถ่ายรูปติดข้อมูลบัตรประชาชนไปด้วย เช่น ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด หรือเลข 13 หลัก ข้อมูลเหล่านี้ มิจฉาชีพอาจจะทำให้คุณเป็นอาชญากรหรือผู้ค้ำประกันโดยไม่รู้ตัว
อีกหนึ่งกระแสที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ การทาแป้งหน้าขาว แล้วโพสต์ลง Social Media พร้อมแฮชแท็ก #talcumchallenge แล้วกดไลค์เพจ Enchanteur Thailand กิจกรรมนี้ทำเพื่อการกุศลเพราะเป็นแคมเปญของแป้งยี่ห้อหนึ่ง หากเพจมียอดกดไลค์ครบ2,000ไลค์ ทางเพจก็จะนำสิ่งของเครื่องใช้ไปมอบให้แก่บ้านราชวิถี และบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี และอีกหนึ่งกิจกรรม #WakeUpCall กิจกรรมล่าสุดจาก UNICEF  องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ดันแคมเปญใหม่ด้วยการถ่ายรูปหน้าสดของตนเองแล้วบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กๆในซีเรีย ติดตามดูว่าจะได้รับความนิยมมาถึงไทยหรือไม่
กิจกรรมIce Bucket Challenge ราดน้ำเย็นรดหัว ทำไมถึงเป็นกระแสและได้รับความสำเร็จขนาดนี้ ทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ได้สอบถามไปยัง ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ถึงกระแสดังกล่าว โดยได้ให้ความเห็นว่า
“กิจกรรมพวกนี้เป็นกิจกรรมรณรงค์ทางสังคมธรรมดาเพราะใช้ Social Media สิ่งที่ประสบความสำเร็จจุดประสงค์ คือการบริจาคเงิน ลักษณะของคนเอเชีย อยากจะบริจาคคือ รู้สึกดีกับสิ่งที่ทำ เราควรจะได้หน้าได้ตากับสิ่งนั่น เพราะฉะนั้นIce Bucket Challenge มันจะออกมาตอบสนองกับคนที่อยากจะบริจาคเงินอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเวลามันเป็นข่าว นอกจากจะได้หน้าได้ตา คือสถานภาพการยอมรับทางสังคม อีกอันหนึ่งคือถ้าการบริจาคแล้ว คนเด่นคนดังเหล่านี้ไปสร้างแรงบันดาลใจที่จะทำให้คนอื่นบริจาคด้วยมันก็จะยิ่งช่วยให้ประสบความสำเร็จ
Ice Bucket Challengeนี้มันมีลักษณะของการ Challenge คือการท้าทาย คิดดูซิครับว่าถ้าเราถูกท้าทายในที่สาธารณะแล้วไม่บริจาคเงิน เราก็จะเสียหน้า เพราะฉะนั้นลักษณะนิสัยคนไทย เสียอะไรเสียไปเสียหน้าเสียไม่ได้นะ คนไทยหน้าใหญ่ใจใหญ่ ที่สำคัญบุคคลสาธารณะกิจกรรม Ice Bucket Challengeไม่ได้ทำกับคนทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้น เวลาที่ทำกิจกรรมนี้มันจะปรากฏเป็นข่าว ถ้ามันร่วมขบวนหรือสามารถกินพื้นที่ข่าวได้ ต้องยอมรับนะว่าIce Bucket Challenge เป็นกิจกรรมที่ทำให้กระแสข่าวมันแรงมาก
เพราะถ้าเป็นข่าวการบริจาคเงินทั่วๆ ไปจะเข้าข่ายของลักษณะPRก็จะไม่ค่อยมีคนสนใจ ถ้าจะจับลักษณะของกิจกรรมแบบนี้ คือการทำดี การสร้างแรงบันดาลใจ การถูกท้าทายและเสียหน้าไม่ได้ ที่สำคัญการบริจาคแบบนี้ ในประเทศไทยไม่ได้มีใครมาสนใจหรอกนะว่าคุณจะบริจาคเท่าไหร่หรือว่าเงินไปถึงที่บริจาคนั้นหรือเปล่า เพียงแต่ว่าคนไทยเล่นสนุกสนานแบบฉาบฉวย มีรูปมีภาพมีคลิปข่าวแค่นี้ก็พอแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากกระแสIce Bucket Challenge ทำให้เห็นพลังของ Social Media ที่แพร่กระจายและบอกต่อไปอย่างรวดเร็ว แต่หลายครั้งความเร็วของSocial Media ทำให้การสื่อสารอาจไม่ตรงประเด็น ก่อให้เกิดความผิดพลาดและส่งผลเสียตามมาภายหลัง จึงอยากให้ผู้ใช้สื่อใช้วิจารณญาณแยกแยะด้วยตัวเอง






ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น