xs
xsm
sm
md
lg

ผิดหรือไม่? บริการด้วย(สินน้ำ)ใจ...ตำรวจไทยนำขบวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นข้อถกเถียงเมื่อมีการแชร์หน้าเว็บไซต์ให้บริการโดยมีตำรวจนำขบวน เป็นบริการระดับเซเลบต่างชาติอันมีสโลแกนสุดเก๋ “การคุ้มครองมาคู่กับความหรูหรา”!

ทว่ามีเงินก็จ้างตำรวจให้มาคุ้มกัน ปิดถนน นำขบวนได้แล้วหรือ?

ข้อสงสัยดังกล่าวแพร่สะพัดอยู่บนโลกออนไลน์ กลายเป็นข้อครหาถึงอาชีพเสริมของเหล่าคนในเครื่องแบบ การใช้หน้าที่ของตนเองมารับผลประโยชน์เบื้องนอกนั้นแท้จริงแล้วฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาช้านานเพียงใดแล้ว

ราคาของความปลอดภัย

ความจริงที่แสนโหดร้ายอย่างหนึ่งของโลกที่ทุนนิยมเข้ามาครอบงำความเป็นไปแทบทุกวิถีก็คือ เงินสามารถซื้อได้ทุกอย่าง กับปัจจัยขั้นพื้นฐานที่อย่างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็เช่นกัน กับบางชีวิตที่จ่ายได้มากกว่า พวกเขาก็เหมือนจะมีสิทธิมากกว่ายิ่งขึ้นไปอีก

หลังจากเพจชื่อดังแห่งหนึ่งได้แชร์ภาพที่จุดประเด็นว่า มีเว็บไซต์แห่งหนึ่งให้บริการด้านความปลอดภัยในระดับวีไอพีที่สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้ โดยผู้แคปภาพดังกล่าวได้บรรยายไว้ว่า ในเว็บนั้นมีการระบุรายละเอียดในเชิงโฆษณาการบริการของตนเองไว้ถึงขั้นว่า

“คุณจะได้พบกับความสนุกสนานจากการเดินทางอย่างที่ไม่เคยพบมาในชีวิต แบบที่มีตำรวจและเจ้าหน้าที่ 4 - 7 คนให้การดูแลคุณ และไล่รถคันอื่นให้ออกไปจากเส้นทางของคุณ !?"

ทั้งนี้ เมื่อทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ LIVE ได้ลองสืบค้นไปยังเว็บที่มีการให้บริการในลักษณะใกล้เคียงกันก็ได้ความมาว่า เป็นการบริการให้กับชาวต่างชาติโดยมีแพกเกจหลายรูปแบบด้วยกัน มีตั้งแต่รูปแบบคนอารักขา หรือบอดี้การ์ดไว้ไปเที่ยวยามราตรีในกรุงเทพฯ ซึ่งมีสนนราคาอยู่ที่ 68,000 บาทต่อครั้ง และหากให้มีบอดี้การ์ดเพิ่มขึ้นก็จะมีการคิดราคาเพิ่มขึ้นไปอีก

ทว่า หนึ่งในแพกเกจบริการที่เป็นประเด็นก็คือ บริการเจ้าหน้าที่ตำรวจอารักขา แต่ไม่ปรากฏราคาที่แน่นอนเขียนไว้
ทั้งนี้ หลังจากมีการแชร์ประเด็นดังกล่าวออกไปก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย มีตั้งแต่ผู้ที่เคยทำงานกับบริษัทดังกล่าวเผยว่า มีการให้บริการในลักษณะนี้มานานแล้ว และไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นบริการให้กับชาวต่างชาติ หรือนักลงทุนนักธุรกิจที่ต้องการความปลอดภัยเป็นพิเศษ กระทั่งผู้ที่เคยประสบกับการต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และต้องจ่ายเงินให้เพื่อเป็นสินน้ำใจตอบแทนการปฏิบัติงาน

“ผมเคยทำงานกับบริษัทนี้ครับและบริษัทนี้ก็เป็นของเพื่อนผมเอง ซึ่งก็คงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับคนทั่วไปที่ยังไม่เคยใช้บริการรถนำขบวน แต่ขอบอกก่อนธุรกิจนี้มีมานานแล้วครับและก็เป็นสิ่งถูกกฎหมาย ถึงอาจจะทำให้หลายๆ คนไม่ชอบก็ตาม บริษัทนี้รับแต่แขกต่างชาติครับ พวกนักลงทุนนักธุรกิจที่ต้องการความปลอดภัยเป็นพิเศษและความสะดวกสบาย การที่โฆษณาว่า สามารถไล่รถให้หลบไปได้ เป็นการชวนเชื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเขาพิเศษและอยากจะใช้บริการนี้แบบที่หาที่ไหนไม่ได้ (ซึ่งจริงๆ แล้วเวลาขับเขาก็ไม่ได้มีสิทธิ์เหนือคนอื่นนักหรอก)” ความเห็นหนึ่งเผยขึ้น

อีกความคิดเห็นบนโลกออนไลน์บอกถึงรายละเอียดว่า “ที่ทำงานเก่าเคยใช้บริการแต่ไม่แน่ใจว่าใช่ที่เดียวกันหรือเปล่า เขามีแบบเป็น Membership ด้วยนะ ค่าบริการหลักแสนต่อปี เขาจะแบ่งเกรดสมาชิกจากค่าบริการว่า สามารถใช้บริการรถนำขบวนได้กี่ครั้ง / ปี สามารถผ่านด่าน ตม. ที่สนามบินแบบ VIP ไม่ต้องต่อแถว แล้วก็เป็นที่ปรึกษาเรื่องคดีความหรืออะไรที่มันเกี่ยวกับตำรวจนะ เคยถามพี่ผู้จัดการ ที่ทำสัญญากับบริษัทนี้ว่า เขาเอาทรัพย์สินของราชการมาใช้งานเอกชนได้ไง แกบอกว่า เจ้าของบริษัทเป็นลูกตำรวจใหญ่...จบข่าว”

สำหรับผู้ที่เคยประสานงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการปิดถนนก็ได้เผยถึงการทำงานดังกล่าวว่า “เคยทำงานให้ห้างแห่งหนึ่ง ที่ต้องมีปิดถนนบ่อยๆ ขั้นตอนการทำงานก็จะประมาณว่า ออกเอกสารขออนุญาตใช้ถนนและขอเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยดูแลคณะจัดกิจกรรม เสร็จแล้วก็เอาเอกสารไปให้จราจร พร้อมแนบซองปัจจัยไปด้วย...เข้าใจตรงกันนะ”

สำหรับในส่วนของการนำขบวนซึ่งแน่นอนว่า หลายบริษัทที่ทำงานด้านบริการอาจจำเป็นต้องใช้บริการอยู่เป็นประจำ ก็มีผู้คนในแวดวงดังกล่าวเผยถึงรายละเอียดว่า “ใช่ครับ ตามวงการทัวร์จะใช้กัน นำขบวนปิดขบวนประจำ ค่าจ้างเเหมาคร่าวๆ15,000 - 20,000 บาท ตีเป็นวันก็วันละ8,000+ ต่อ1คันและนำรถของกองปราบฯ มาใช้นำให้ด้วย น้ำมันก็ของหลวง”

สินน้ำใจหรือค่าจ้าง

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่บางอย่างลุล่วง โดยเฉพาะงานให้บริการประชาชน หลายครั้งหลายคราวที่ประชาชนก็แบ่งสันปันบางส่วนของน้ำใจให้กับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น เป็นเหมือนกำลังใจตอบแทนให้กันเล็กๆ น้อยๆ เป็นประเพณีในแบบไทยๆ อย่างหนึ่งที่ต้องรู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเงินเหล่านั้นมักจะถูกเรียกว่า “สินน้ำใจ”

ทว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นไป สินน้ำใจเหล่านั้นที่ถูกให้ด้วยความรู้สึกเกรงอกเกรงใจ อยากช่วยเหลือเกื้อกูลกันเล็กน้อย กลับกลายเป็นสิ่งที่ต้องให้ด้วยความจำยอม กลายเป็นค่าจ้างพิเศษให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำหน้าที่ของตนเอง

พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า สิ่งนี้อาจเป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามหลักการที่ถูกต้องแล้ว การให้ตำรวจนำขบวนนั้นไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากแต่เป็นสิ่งที่ตำรวจต้องทำอยู่แล้ว อย่างที่เรามักได้ยินกันว่า การบริการประชาชนคือหน้าที่อย่างหนึ่งของตำรวจ เขาเผยว่า การบริการในลักษณะดังกล่าวนั้น ถือเป็นการบริการเฉพาะกลุ่มจึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาจากหลักเกณฑ์เพื่อให้เป็นภารกิจพิเศษ ซึ่งบริการเหล่านี้ตามหลักการแล้วต้องไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิเรียกร้องสินไหมใดๆ ทั้งสิ้น

“จริงๆ พวกนี้เขามีหลักเกณฑ์กำหนดอยู่ จะเป็นขบวนนักท่องเที่ยว ขบวนรถนักเรียนไปทัศนศึกษาหรือขบวนใดๆ ก็ตาม เขาจะมีหลักเกณฑ์มีกฎระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ว่าจะใช้นำในกรณีใดได้บ้าง ภารกิจพิเศษ แต่ถ้าถามถึงตำรวจที่มีรถแล้วไปนำเอง ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่กำหนดไว้ อันนี้ก็ต้องบอกว่าผิดวินัยครับ”

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องมีบริการดังกล่าวนั้น เขาเผยว่า เป็นการทำให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ถนนมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน อย่างการนำขบวนรถบัสโรงเรียนไปทัศนศึกษา การที่รถบัสจำนวนมากเดินทางพร้อมกันอาจมีโอกาสสูงในการเกิดอุบัติเหตุ การมีรถนำขบวนจึงมีส่วนช่วยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้

“ถ้ามีรถนำขบวนผู้ใช้ทางระมัดระวังมากยิ่งขึ้นว่าโอเค ขบวนที่มาเขามาเป็นจำนวนมากเป็นหมู่คณะ การมีรถตำรวจนำขบวนก็จะปลอดภัยตรงนี้ เป็นการอำนวยความสะดวก”

เขาย้ำว่า สิ่งนี้ถือว่าหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของตำรวจ หรือเรียกอีกอย่างว่า police service ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือเกณฑ์การพิจารณาแม้แต่ละหน่วยงานจะมีหลักเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น กองบังคับการตำรวจทางหลวง หรือกองบังคับการตำรวจจราจร สิ่งสำคัญคือการใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง

“ผมเชื่อว่า ประชาชนอยากเห็นว่า ตำรวจให้หลักเกณฑ์เดียวกันสำหรับทุกคน ทุกกรณี ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มิใช่ว่า มีคนทั่วไปมาขอรถนำขบวนไปบอกว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่พอมีคนที่เป็นพรรคพวกมาขอรถนำขบวนปรากฏว่าได้ ฉะนั้น 2 มาตรฐานต้องไม่มี”

แต่ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ กลับไม่ใช่แบบนั้น เมื่อมีบริการดังกล่าวโผล่ขึ้นมา และหลายครั้งประชาชนก็ต้องจ่ายเงินให้กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เขาเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า ตำรวจไม่สามารถเรียกร้องผลประโยชน์เหล่านี้ได้ เพราะหน้าที่หลักคือบริการประชาชน ทว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ จากการวิจัยในหลายประเทศพบว่า สาเหตุแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ องค์กรตำรวจเอง กับสังคมนั้น!

“คำถามคือแล้วสังคมมันมีส่วนทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้หรือเปล่า? เรามีระบบอุปถัมภ์อยู่หรือเปล่า เรายังมีระบบช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นักธุรกิจยังอยากรู้จักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมือง ตำรวจยศสูงเพราะอะไร มันเป็นระบบที่พึ่งพาอาศัยกันหรือเปล่า?”

เขามองว่า สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมเข้ากับประเพณีเดิมๆ ของการที่คนไทยมีน้ำใจต่อกัน เมื่อได้รับการบริการจากหน้าที่ก็มีการให้สินน้ำใจตอบแทน กลับกลายเป็นช่องทางที่เจ้าหน้าที่บางคนหลงผิด เมื่อปฏิบัติหน้าที่แล้วมักจะคิดว่าตนเองต้องได้สินน้ำใจด้วย

โดยวิธีแก้ไขนั้น เขามองว่า อาจต้องมาจากผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลงเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้นำประเทศหรือผู้นำองค์กรก็ตาม

“ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ต้องมีภาวะผู้นำที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่วัฒนธรรมที่ถูกต้องดีงาม พอดีผมไปดูอยู่หลายที่ เขาเน้นอยู่ 3 ประการ 1. ความเป็นมืออาชีพ 2. ตำรวจที่เป็นประชาธิปไตย 3. ภาวะผู้นำโดยเฉพาะผู้บริหารของตำรวจ เหล่านี้ถ้าเราจะมีการแก้ไขได้ เราต้องใส่ตรงนี้เข้าไป โดยเฉพาะภาวะผู้นำที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง ในบางประเทศเขามีถึงขนาดว่า ตั้งหัวหน้าตำรวจขึ้นมาแล้วก็เอาคนหน่วยงานภายนอกเข้ามาคอยดำเนินคดีตำรวจที่ประพฤติมิชอบทำไม่ถูกต้องกันเลย”



อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดระบบการทำงานของตำรวจที่รอวันปฏิรูปนั้นก็ยากที่จะเกิดขึ้นทุกวัน มีเพียงแสงเลือนรางจากปลายอุโมงค์ที่เหมือนจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไร รอเพียงวันสิ้นสูญศรัทธาลงไปทุกวัน ไม่แปลกที่ทุกวันนี้ เกียรติยศของตำรวจก็ถูกดูแคลนมากขึ้น และเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่กับระบบตำรวจที่เป็นอยู่ พวกเขาก็ทำงานเพียงเพื่อสินน้ำใจในการยังชีพเท่านั้น

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754






กำลังโหลดความคิดเห็น