xs
xsm
sm
md
lg

งามหน้า! ทั่วโลกต่อว่าตำรวจไทย “ไร้ประสิทธิภาพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สะเปะสะปะ, สับสน, ไร้ประสิทธิภาพ ฯลฯ คือคำจำกัดความที่สื่อชื่อดังต่างสัญชาติอย่าง “TIME” มอบให้หลังติดตามการทำงานในคดีนักท่องเที่ยวถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมที่เกาะเต่า แรกเริ่มตำรวจชี้เป้าไปที่คนงานพม่า กระทั่งตรวจดีเอ็นเอผู้ต้องสงสัยทั้ง 12 รายไม่พบสอดคล้อง จึงเบนเข็มไปที่เพื่อนชาวต่างชาติ แต่ยืนยันความบริสุทธิ์ได้ จึงวกกลับมาสงสัยคนไทย
กลายเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ใหม่ ท่ามกลางความกดดันและคำปรามาสจากสื่อทั่วโลก!





“TIME” สับเละ ตำรวจไทยเงอะงะ!
กระทบภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอย่างจัง เมื่อเกิดเหตุสะเทือนขวัญ ฆาตกรรมโหดนักท่องเที่ยวต่างชาติ “ฮันนาห์ วิเทอริดจ์” และ “เดวิด มิลเลอร์” บนเกาะเต่า อ.พะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ที่แย่กว่านั้นคือเวลาผ่านไปได้อาทิตย์กว่า กลับไม่พบผู้ต้องสงสัยที่ใกล้เคียง มีเพียงคำสันนิษฐานเลื่อนลอยและเปลี่ยนแปลงไปมา จึงทำให้สื่อแขนงต่างๆ ทั่วโลกนำเสนอผลการสืบสวนสอบสวนของตำรวจไทยออกมาในเชิงไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะนิตยสารไทม์ที่เขียนถึงกรณีนี้ไว้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนมุมมืดในประเทศไทยได้หลายๆ อย่างเลยทีเดียว



เกี่ยวกับรายละเอียดของคดีนี้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. คนงานทำความสะอาดพบศพชายหญิงชาวอังกฤษ 2 คน นอนห่างกันราว 20 เมตรบนชายหาดทรายรี พร้อมจอบเปื้อนเลือด ซึ่งเป็นจอบที่พนักงานบาร์ริมหาดมักใช้ขุดหลุมไฟอยู่บริเวณใกล้เคียง ยืนยันว่าคืออาวุธหลักที่คนร้ายใช้ฆาตกรรมเหยื่อ ส่วนอาวุธอีกชิ้นคือท่อนไม้ 1 ท่อน จากหลักฐานตรงนี้ทำให้ทางตำรวจสันนิษฐานเอาไว้ว่าน่าจะมีคนร้ายอย่างน้อยๆ 2 ราย

แผนกนิติเวชศาสตร์ระบุว่า ผู้ตายฝ่ายหญิง “วิเทอริดจ์” เสียชีวิตจากบาดแผลฉกรรจ์บริเวณศีรษะหลายแผล ขณะที่ผู้ตายฝ่ายชาย “มิลเลอร์” ถูกของแข็งฟาดที่ศีรษะและจมน้ำเสียชีวิต ในช่วงแรกของการสืบสวน ทางตำรวจยังไม่ยอมเปิดปากบอกว่าฝ่ายหญิงถูกข่มขืนหรือไม่ ถึงแม้จะพบว่าศพมีร่องรอยของการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งยังพุ่งเป้าไปว่าคนร้ายน่าจะเป็นแรงงานชาวพม่า ด้วยคำพูดของนายตำรวจชั้นสูงนายหนึ่งที่บอกว่า “คนไทยจะไม่ทำเรื่องแบบนี้” นิตยสารไทม์เขียนเอาไว้ในเนื้อข่าว

หลังกวาดต้อนผู้ต้องสงสัยทั้ง 12 รายมาตรวจดีเอ็นเอแล้วพบว่าไม่สอดคล้องกับคราบอสุจิในตัวผู้เสียชีวิตและไม่ตรงกับหลักฐานใดๆ ที่เชื่อมโยง ทางตำรวจจึงพุ่งเป้าหมายใหม่ไปที่เพื่อนชาวต่างชาติของผู้ตาย แต่ผู้ต้องสงสัยมีหลักฐานยืนยันได้ว่าเดินทางออกมาจากเกาะก่อนเกิดเหตุ เรื่องที่สันนิษฐานไว้จึงตกไป ทำให้ตำรวจต้องมองหาความเป็นไปได้ใหม่


(ลงพื้นที่ทำงานกันอย่างขะมักเขม้น)

ครั้งนี้ดูเหมือนจะได้เรื่องเพราะมีหลักฐานจากรูปที่ “ฌอน แม็กแอนนา” เพื่อนของมิลเลอร์ ได้ถ่ายชายไทย 2 คนนี้เอาไว้ในคืนก่อนที่เหยื่อจะถูกฆ่า เพราะชายผู้ต้องสงสัยทั้งสองรายนี้ลวนลามวิเทอริดจ์ (หญิงสาวผู้ตาย) ในงานปาร์ตี้ ก่อนที่มิลเลอร์ (ชายหนุ่มผู้ตาย) จะเข้ามาช่วยจนเกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น ที่น่าสงสัยคือชายทั้ง 2 คนขู่จะเอาชีวิตคนถ่ายภาพเอาไว้ด้วยในคืนนั้น จึงเป็นเหตุให้ฌอนต้องหลบหนีออกมาจากเกาะก่อนคืนวันเกิดเหตุ

ที่น่าสนใจคือหลังจากสอบปากคำชายผู้ต้องสงสัยทั้งสองแล้ว ตำรวจกลับยอมปล่อยตัวไปโดยไม่ได้ตรวจดีเอ็นเอ ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีเรื่อง “อิทธิพลท้องถิ่น” เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคือน้องชายผู้ใหญ่วอ และยังเป็นเจ้าของบังกะโล ผู้ดูแลบาร์ละแวกนั้น กระทั่งล่าสุด จึงมีการเรียกตัวมาตรวจดีเอ็นเอให้แน่ชัดอีกครั้งและผลออกมาว่า ไม่ตรงกับผู้ต้องสงสัย หลักฐานทั้งหมดจึงตกไป

ส่วนผู้ต้องสงสัยคนไทยอีก 1 รายที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว ก็ถูกเรียกตัวมาเก็บดีเอ็นเอเพื่อตรวจสอบเช่นกัน พร้อมกับผู้เข้าข่ายต้องสงสัยอีกประมาณ 160 คน งานนี้บอกได้คำเดียวว่าไร้ความคืบหน้าที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีที่จะช่วยให้สามารถจับตัวคนร้ายได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดสื่อนอกอย่างไทม์จึงตีแผ่ความผิดหวังในกระบวนการยุติธรรมของไทยออกมาในข่าวเอาไว้ดังนี้



(TIME ตีข่าว กระบวนการยุติธรรมอันไร้ประสิทธิภาพของไทย)
“ภาพลักษณ์ของประเทศไทย คือสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ซึ่งต่างก็เพลิดเพลินไปกับหาดทรายขาวบริสุทธิ์ วัดวาอารามที่สวยงามโอ่อ่า และอาหารไทยรสเลิศ นักท่องเที่ยวส่วนมากมีโอกาสหรรษาไปกับวันหยุดพักผ่อนของพวกเขา แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน ในอีกมุมหนึ่งของบรรดาแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา นักท่องเที่ยวกลับต้องเผชิญกับการลักวิ่งชิงปล้น การทำร้ายร่างกายด้วยมีดและปืน การคุกคามทางเพศ อุบัติเหตุรุนแรงบนท้องถนน และการจมน้ำ ซึ่งมักเป็นเรื่องที่เงียบหายไป โดยเฉพาะฟุลมูนปาร์ตี้บนเกาะพงันที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ส่วนการแถลงข่าวในคดีนี้ แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่ได้เอ่ยถึงข้อเท็จจริงในคดี หรือไม่พูดถึงว่าเหตุใดจึงยังจับตัวผู้ต้องสงสัยตัวเป็นๆ สักคนไม่ได้ ทั้งที่เวลาล่วงเลยมาถึง 8 วัน แล้ว แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครเดือดร้อนอะไร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทำให้อึ้งทึ่งเหวอเป็นที่สุด เพราะดูเหมือนว่าคนไทยจะชินชากับความไร้ประสิทธิภาพของระบบยุติธรรมของประเทศไปเสียแล้ว




ขายหน้าทั่วโลก ล่าช้า-มั่วนิ่ม?
“ตำรวจไทย เก่งแต่รีดไถ ข่มขู่ ยัดเยียด จับแพะ บิดเบือนความจริง รังแกประชาชน เป็นไงล่ะชาวโลกเขาเห็นไส้เห็นพุงหมดแล้ว ขายขี้หน้าบ้างมั้ย”

“งามหน้ามั้ยล่ะ เวลาแต่งตั้งโยกย้ายก็มีแต่เด็กเส้นที่ได้เลื่อนตำแหน่ง พอจะทำงานจริงก็เลยทำไม่ได้ เพราะเคยแต่พาเมียนายเดินชอปปิ้ง”




นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากความคิดเห็นของประชาชนชาวไทยที่มีต่อภาพลักษณ์ตำรวจไทย ซึ่งฝากเอาไว้บนโลกออนไลน์และได้รับการโหวตแสดงความเห็นด้วยว่าตรงใจที่สุด จากกรณีฆาตกรรมที่เกาะเต่าเกิดขึ้น ยิ่งสะท้อนภาพเละของระบบได้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับคนที่รู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับระบบการทำงานมาช้านานอย่าง “ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข” ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรตำรวจซึ่งทำงานวิจัยเจาะลึกเรื่องนี้มากว่า 11 ปีแล้ว แม้จะไม่ได้เห็นด้วยกับคำปรามาสทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะว่าไป ก็ไม่ผิดเพี้ยนไปมากเท่าใดนักถ้าจะให้วิจารณ์การทำงานกันจริงๆ

ส่วนตัวแล้วไม่ได้เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์นะคะที่สื่อต่างชาติวิจารณ์อย่างนั้น แต่มองว่ามันมีบางส่วนที่ตำรวจต้องกลับมาทบทวน โดยเฉพาะเรื่องการให้ข่าวที่เกี่ยวกับความก้าวหน้าของคดี ไม่ว่าจะเป็นเคสนี้หรือเคสอื่นๆ การจะให้ข่าวแต่ละคดี ตำรวจจะต้องคัดกรองอย่างดีแล้วว่าควรจะให้ข่าวเมื่อไหร่และให้อย่างไรที่จะไม่กระทบต่อรูปคดี ถ้าข้อมูลยังไม่พร้อมหรือยังไม่ชัดเจนถูกต้อง ก็อย่าเพิ่งเลยดีกว่า




จากเดิม ภาพรวมการทำงานของตำรวจไทยในเรื่องการทำคดีในส่วนของการสืบสวนและพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจไทยมีข้อจำกัดเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปริมาณคดีที่มาก เทคโนโลยีที่ใช้ และจำนวนพนักงานสอบสวนกับภาระงานที่ได้รับมอบหมายที่มากเกินจำนวนคน ฯลฯ ทั้งหมดก็เป็นปัญหาที่ทำให้การทำงานในส่วนนี้ออกมาแบบไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ ต้องแก้ที่ระบบค่ะ ต้องมีการบริหารจัดการภาระงานไม่ให้มันโอเวอร์โหลดเกินไป ทำให้เวลาในการรวบรวมหลักฐานและประสานงานต่างๆ เกิดความล่าช้า

ถ้าเป็นตำรวจต่างประเทศ เขาจะให้ข่าวก็ต่อเมื่อมีความคืบหน้าของคดีที่ชัดเจนและไม่ไปกระทบกับพยานหลักฐานและทิศทางการทำงานของผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่น่ะค่ะ ยกตังอย่างง่ายๆ สมมติว่าพี่เป็นพนักงานฝ่ายสืบสวน กำลังสืบคดีนี้อยู่ แล้วจู่ๆ เจ้านายพี่ไปให้ข่าว มันก็จะส่งผลกระทบต่อการสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ตามหลักสากลเขาจะระวังเรื่องการสื่อสารมากค่ะ แต่การทำงานของบ้านเราจะไม่เป็นอย่างนั้น ตำรวจจะชอบออกมาแถลงข่าวก่อน รีบออกมาให้รายละเอียดก่อน พอรีบตอบทั้งๆ ที่พนักงานระดับล่างยังทำงานกันไม่เสร็จ มันก็สร้างผลกระทบใหญ่หลวง

ถามว่าจะทำยังไงให้คดีเสร็จเร็วและมีประสิทธิภาพตามกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือได้ เราก็ต้องกลับไปดูที่ระบบการทำงานค่ะ ทุกวันนี้ กระบวนการทำงานเกี่ยวกับคดีเมื่อมีการตายเกิดขึ้น จะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือพนักงานสืบสวน ทำหน้าที่เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน, พนักงานพิสูจน์หลักฐาน และพนักงานสอบสวน

ในส่วนแรก ส่วนของ “พนักงานสืบสวน” คิดว่าถึงเวลาแล้วค่ะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะหันต้องให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงานสืบสวน ไม่ใช่ว่าพนักงานในพื้นที่ทำไม่ได้ ต้องส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปช่วยตลอด มันก็คงไม่ใช่

ส่วนที่สอง ส่วนของ “พนักงานพิสูจน์หลักฐาน” ปกติแล้วเราจะมีทั้งกองพิสูจน์หลักฐานกลางและกองพิสูจน์หลักฐานประจำจังหวัด ซึ่งในระดับจังหวัดนี่แหละค่ะที่ควรพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพที่ใกล้เคียงกับส่วนกลาง สามารถแก้ปัญหาระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอได้ ซึ่งถ้าในส่วนนี้ทำได้ดี จะช่วยให้การเก็บหลักฐานและการรวบรวมข้อมูลต่างๆ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

และถ้าสองส่วนที่กล่าวไป ทั้งพนักงานสืบสวนและพนักงานพิสูจน์หลักฐาน สามารถทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลมายังส่วนสุดท้ายคือ “พนักงานสอบสวน” ค่ะ จะทำให้ได้ข้อมูลพยานหลักฐานที่ถูกต้องและใกล้เคียงความเป็นจริง เพื่อมาสอบสวนขยายผลค้นหาตัวผู้กระทำผิดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น



เพราะฉะนั้น แต่ละส่วนมีความสำคัญ เราจึงต้องควบคุมให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงประสานงานกันได้เป็นอย่างดี งานก็จะออกมาดีตามไปด้วย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องเข้ามาดูแลตรงนี้อย่างจริงจัง พอทั้ง 3 ฝ่ายทำงานออกมาได้ผลยังไงแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการให้ข่าว ซึ่งควรจะต้องเป็นระดับผู้บังคับบัญชาออกมาสื่อสารกับฝ่ายต่างๆ แต่ต้องออกมาสื่อสารหลังจากระดับปฏิบัติการปิดงานแล้วเรียบร้อยนะคะ”




ลบคำสบประมาท ปฏิรูปตำรวจไทย!
“ไม่จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากองค์กรต่างประเทศอย่างหน่วยสืบสวนคดีอาญา กระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา หรือ เอฟบีไอ ให้เข้ามาช่วย” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศกร้าวเอาไว้อย่างนั้น เพราะขณะนี้ตำรวจไทยเดินหน้าเต็มที่เพื่อเร่งจับกุมคนร้าย และพยายามใช้นิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ และเชื่อว่าตำรวจไทยมีความสามารถพอ ส่วนเรื่องคำสบประมาทที่สื่อนอกตีแผ่เอาไว้ให้ได้อายไปทั่วโลกนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมองค์กรตำรวจ มองว่ายังพอมีหนทางแก้ไขภาพลักษณ์อยู่ เพียงแค่ต้องแก้ทั้งระบบ!

ต้องเข้าใจอย่างนึงนะคะว่ามันเป็นธรรมชาติของคนที่มีส่วนได้เสีย อย่างสื่อต่างชาติ สื่อของอังกฤษอย่าง TIME เขาสนใจเรื่องนี้มากเพราะผู้เสียชีวิตคือคนของเขา ลองคิดเปรียบเทียบกับคนไทยเราดูสิคะ ตายแบบนี้กันเท่าไหร่แต่ไม่เห็นมีใครสนใจ พอเขาสนใจปุ๊บ เขาก็เกิดความอยากรู้และต้องการข้อมูล และความอยากรู้ตรงนี้ก็จะไปกระตุ้นการให้ข่าว การตั้งข้อสังเกต และเกิดการปรามาสการทำงานของตำรวจไทยด้วย ซึ่งตรงนี้ ตำรวจไทยก็ควรรับคำปรามาสทั้งหมดไว้พิจารณาและนำมาปรับปรุงว่าจะทำยังไงให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีความน่าเชื่อถือในเรื่องการสื่อสารข้อมูล



เราต้องพิจารณาดูว่าช่วงไหนควรให้ข่าวแบบไหน อย่างเคสนี้เรื่องเกิดขึ้นที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เพราะฉะนั้น เจ้าหน้าที่ที่ให้ข้อมูลควรเป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ค่ะ อาจจะเป็นผู้การสุราษฎร์ฯ เพราะเขาอยู่ใกล้ข้อมูลที่สุด มีรายละเอียดเรื่องต่างๆ จะรู้ดีที่สุดว่าข่าวไหนควรให้ ข่าวไหนไม่ควรให้ และให้แล้วจะมีผลกระทบแบบไหนตอบกลับมา และต้องเป็นข่าวที่ได้รับการกรองมาแล้วว่าต้องไม่กระทบต่อการทำงานที่จะสาวไปถึงพยานหลักฐานต่างๆ เราต้องมีวิธีการเผยแพร่ข้อมูลค่ะ ถ้าทำได้ดี บางทีเราสามารถใช้การสื่อสารเพื่อช่วยให้คดีคืบหน้าเร็วขึ้นได้ เช่น การใช้วิธีฝากบอกโจรผ่านสื่อไป มันมีเทคนิควิธีการของมันอยู่ หรือการสื่อสารบางอย่างออกไปก็อาจจะช่วยให้ทางตำรวจสามารถเข้าถึงหลักฐานต่างๆ ได้เร็วขึ้นก็มี

จริงๆ แล้ว พนักงานที่ทำงานด้านสืบสวนของเราจะมีหลักสูตรเฉพาะให้เรียนอยู่เหมือนกันค่ะ แต่เวลาเราแต่งตั้งโยกย้ายใคร เราจะไม่ค่อยดูว่ามาจากสายงานไหน ปีนี้ทำงานสอบสวนอยู่ ปีหน้าอาจจะย้ายไปสืบสวนก็ได้ ดังนั้น ในระดับผู้ปฏิบัติ ทั้งนายตำรวจชั้นประทวน, รองสารวัตร, สารวัตร หรือแม้แต่ผู้กำกับสืบสวน ฯลฯ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับการฝึกให้อยู่ในสายงานสืบสวนมาตลอดนะคะ มันมีการโยกย้าย เพราะฉะนั้น เราควรส่งเสริมให้มีการอบรมและฝึกฝนอยู่ตลอดค่ะ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีบอกเลยว่าจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเข้มข้น

ทำยังไงให้เรามีบุคลากรที่เก่งๆ ในแต่ละฝ่ายตามแต่ละท้องถิ่น โดยที่ไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง ไม่ใช่ว่าพอเกิดเรื่องก็ต้องส่งแต่คนเดิมๆ ลงไปช่วย การทำงานแบบนี้ควรจะหมดไปได้แล้วค่ะ ถ้าจะบอกว่าครั้งนี้เป็นคดีใหญ่เพราะผู้ตายคือชาวต่างชาติ เป็นคดีที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เราไปคิดแบบนั้นไม่ได้ค่ะ เพราะชีวิตทุกคนก็เท่ากัน คนไทยตายแบบนี้กับฝรั่งตายแบบเดียวกัน ก็ต้องให้ความสำคัญเท่ากัน ไม่ใช่ว่าถ้าคดีนี้เป็นคนไทยตาย ก็ส่งเรื่องไปกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ไม่ใช่ชาวต่างชาติไม่เสียหายมาก แล้วเรื่องก็เงียบไป มันไม่ได้

ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีนโยบายใหม่ออกมาแก้ไขเรื่องการปรับโครงสร้างระบบการทำงานของตำรวจเลยค่ะ ต้องระบุให้ชัดเจนเลยว่าจะให้พัฒนาเทคโนโลยี ความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ให้ทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ และถ้าตำรวจอยากเรียกศรัทธาจากประชาชนกลับมาก็ต้องเข้าใจก่อนว่า ตำรวจมีหน้าที่ปกป้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นี่คือภารกิจสำคัญเลยค่ะ

เพราะฉะนั้น ตำรวจก็คงต้องบำบัดทุกข์ของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มีการสื่อสารกับฝ่ายต่างๆ ได้อย่างเข้าใจ นโยบายต่างๆ จะไม่เป็นนโยบายที่เพ้อฝัน ก็ต่อเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผบ.ตร, และรัฐบาลจับมือกันในการพัฒนาและวางระบบบริหารงานตรงนี้ให้ดี เพราะการจัดให้มีอบรมแต่ไม่มีการบริหารที่ดี การอบรมนั้นก็ไม่มีประโยชน์ และจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขมากๆ เลยคือการประสานงานระหว่างหน่วยค่ะ ต้องให้เป็นทีมเวิร์กมากกว่านี้


(ครอบครัวผู้เสียหาย รำไห้ให้กับความสูญเสีย)

การตาย ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมที่ดูรุนแรงที่เรียกว่า “อาชญากรรมสะเทือนขวัญ” หรือแม้แต่คดีรถชนคนตาย ก็อยากให้ตำรวจให้ความสำคัญเหมือนกันเพราะทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน และคดีที่มาเกี่ยวข้องกับตำรวจ มันคือคดีที่เกี่ยวข้องกับคนตายทั้งนั้น เขาไม่ได้แก่ตาย ไม่ได้ป่วยเป็นโรคตาย เพราะฉะนั้น ตำรวจต้องให้ความสำคัญ

และเรื่องของการสื่อสาร ยิ่งการสื่อสารให้สื่อต่างชาติฟังก็สำคัญไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการพุ่งเป้าไปที่คนงานพม่าและบอกข้อมูลกับสื่อว่าคนไทยจะไม่ทำอย่างนี้ ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ ต้องอย่าลืมว่าสื่อต่างชาติเขาให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกันมากนะคะ ดังนั้น จะใช้คำอะไรออกไปก็ต้องระวัง ตำรวจต้องเข้าใจด้วยว่าคำพูดของตัวเองไปเป็นประเด็นอ่อนไหวในเชิงชาติพันธุ์หรือเปล่า ยิ่งตอนนี้ยิ่งต้องเข้า AEC อยู่แล้วด้วย เรื่องศิลปะของการสื่อสารก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจไม่แพ้กัน


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- สื่อนอกสาวไส้ตำรวจไทยดำน้ำคดีฆ่าโหด “เกาะเต่า” เหวี่ยงแหหาตัวคนร้าย
- สื่ออังกฤษตี! เพื่อนเหยื่อฆ่าโหดเกาะเต่าแฉถูกมาเฟียขู่ฆ่า เชื่อเกี่ยวคดีฆาตกรรมปริศนา
กำลังโหลดความคิดเห็น