เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาศิลปินจากเกาหลีวงหนึ่งที่โด่งดังมากที่สุดในหมู่วัยรุ่นมาเปิดการแสดง ไม่แปลกที่จะเกิดปรากฏการณ์ชวนอึ้งของเหล่าแฟนคลับมากมาย นับแต่การแห่เข้าไปต้อนรับศิลปินจนแทบล้นสนามบิน กระทั่งทำเอาพารากอนแทบแตกจากเพียงงานแถลงข่าว ไม่แปลกอีกเช่นกันหากหลายฝ่ายจะเป็นห่วงกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ความคลั่งไคล้ ลุ่มหลงอันรุนแรงของวัยรุ่นที่ถูกเรียกว่า “ติ่งเกาหลี” ความบ้าคลั่งที่สังคมรุมประณามจนถึงขั้นมองว่าเป็นโรคอย่างหนึ่ง!
ความเป็นมาของติ่ง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปรากฏการณ์ติ่งเกาหลีจะสร้างความประหลาดใจให้กับสังคม จากพฤติกรรมต่างๆ ความหลงใหลคลั่งไคล้ที่รุนแรง นับแต่กระแสK-POP กลายเป็นกระแสในหมู่วัยรุ่น วงบอยแบนแทบจะเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเป็นวงจรหมุนเวียนเปลี่ยนวงเข้ามาสร้างกระแสในเมืองไทย
ในช่วงเวลาหลายปีดังกล่าว รัก ชุณหกาญจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำงานร่วมกับวัยรุ่นและเฝ้าสังเกตพฤติกรรมเหล่านั้นและมองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นช่วงเวลาหนึ่งของวัยรุ่นเท่านั้นโดยความชื่นชอบคลั่งไคล้หรือที่ถูกตั้งชื่อว่า “ติ่ง” นั้น เธอเผยว่ามีสาเหตุที่มองได้เป็น 3 ปัจจัยด้วยกัน
1 มองในมุมสังคม วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับ ดังนั้นการพูดถึงวงดนตรีดัง การรวมกลุ่มกันเป็นแฟนคลับจึงถือเป็นพฤติกรรมเชิงสังคมอย่างหนึ่งเพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับจากคนในสังคมที่อยู่รอบข้าง
2 มองในมุมจิตวิทยาทางเพศ อ้างอิงจากทฤษฎีพัฒนาการจิตวิทยาทางเพศของซิกมันด์ ฟรอยด์ก็จะพบว่า ช่วงอายุของวัยรุ่นซึ่งอยู่ในระยะที่ 5 นั้นเป็นช่วงวัยที่สนใจในเพศตรงข้าม ซึ่งเหล่าศิลปินบอยแบนด์ก็มีจุดขายที่ความหล่อเหลาตามสมัยนิยมอยู่แล้ว
3 ความประทับใจแบบไอดอลในดวงใจ โดยคนใดคนหนึ่งในวงอาจมีบุคลิกลักษณะที่ทำให้เกิดความประทับใจได้ เมื่อประกอบกับที่ในวงหนึ่งมักจะมีสมาชิกหลายคนก็ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะมีคนใดคนหนึ่งสร้างความประทับใจให้กับวัยรุ่นคนนั้นๆเป็นพิเศษ
“มองเชิงสังคมคือเขาต้องการการยอมรับ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เป็นสังคมของวัยรุ่นวัยเขาที่คลั่งไคล้วงเอ็กโซ การไปดูคอนเสิร์ตด้วยกันมันสามารถเอามาคุยกับเพื่อนคนอื่นๆได้ และวัยรุ่นเขาก็มีความสนใจในเพศตรงข้ามอยู่แล้วซึ่งเป็นพัฒนาการตามวัยซึ่งวงดังกล่าวก็มีแต่หนุ่มหล่อทั้งนั้น
“สุดท้ายคือความประทับใจแบบฮีโร่ในดวงใจ ศิลปินอาจจะมีความมุมานะพยายาม ซึ่งทางเกาหลีจะตีประเด็นนี้มากๆ กว่าจะออดิชั่นมาได้ต้องต่อสู้ลำบาก ซึ่งเด็กๆก็จะมองว่าศิลปินของเขามีความมุมานะพยายามซ้อมอย่างหนัก เวลามีโอกาสที่อยากจะชื่นชมเขาก็เกิดแรงจูงใจที่จะพยายามหาบัตรเพื่อจะเข้าไปดูฮีโร่ในดวงใจของเขาครั้งหนึ่งในชีวิตให้ได้”
ควบคุมหรือเรียนรู้
“เราเป็นคุณพ่อยุคใหม่แล้วน่ะ คือตามความเข้าใจของผมนะ พ่ออายุในช่วง 40 ปีจะเลี้ยงลูกต่างจากพ่อวัย 50 ปีไปแล้ว คนวัย 50 ปีจะไม่ทันลูก เทคโนโลยีจะไม่ได้ จะเลี้ยงลูกแบบควบคุมมากกว่า มีระยะห่าง แต่ผมเหมือนเป็นเพื่อนกับลูก เราเปิดใจคุยกันด้วยเหตุผล” จ.ส.ต. สิทธิ บุญมาเครือเผยถึงการเลี้ยงลูกซึ่งเป็นแฟนคลับวงเอ็กโซที่กำลังโด่งดังและเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอยู่ในขณะนี้
เขาเผยในรายละเอียดว่า ตัวลูกสาวนั้นมีการเตรียมตัวและขอเข้าชมคอนเสิร์ตดังกล่าวตั้งแต่ช่วงที่ได้ข่าวการมาของศิลปินซึ่งค่าตั๋วเข้าชมนั้นมีราคาสูงถึง 4,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก
“ผมก็คุยเหตุผลกับเขานะ ถ้าจะซื้อตั๋วราคานี้ก็ต้องหาเงินเองด้วยซึ่งเราก็ได้เห็นความพยายามของเขา และมันทำให้เราเห็นว่าสิ่งนี้มันมีค่ากับเขามากจริงๆ” ผู้เป็นพ่อเผยถึงเหตุผลก่อนจะตัดสินใจซื้อตั๋วคอนเสิร์ตให้ลูกสาว
การเลี้ยงดูแบบใกล้ชิดลูกและไม่ห้ามปรามนั้น หลายคนอาจมองว่าจะเป็นการทำให้เด็กเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระ ทว่าในมุมมองด้านจิตวิทยาแล้ว รัก ชุณหกาญจน์ กลับเห็นว่า การควบคุมหรือหักห้ามนั้นอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป
“ทางที่ดีพ่อแม่ควรเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกและคอยให้แง่คิดในการดึงความคิดลูก แต่ไม่ควรหักห้ามเพราะวัยรุ่นห้ามไม่ได้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะมันยิ่งจะเป็นการทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพ่อแม่และลูก และเด็กสมัยนี้เขาไม่สนใจด้วยนะ ถ้าพ่อไม่ชอบไม่ใช่เขาไม่สน เขาจะไปสนข้างนอกโดยที่พ่อแม่ไม่รู้พฤติกรรมของเขาเลย”
ข้อแนะนำต่อพ่อแม่ที่มีลูกเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีนั้น เธอมองว่า ควรทำใจกว้างและนึกถึงเมื่อครั้งตนเองเป็นวัยรุ่น แม้ช่วงเวลาจะต่างกัน องค์ประกอบของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังคงมีวงจรชีวิตในช่วงวัยที่เหมือนกันอยู่ แต่อะไรที่ยากเกินไปก็ต้องมีการพูดคุย และสั่งสอน
“ยุคก่อนเรามีแค่นักร้องไทย แต่สมัยนี้มีต่างชาติเข้ามา มีอินเทอร์เน็ตดู การแสดงออกในความคลั่งไคล้ก็ต่างกัน ถ้าจะให้ดีคือตามไปพร้อมกับลูก ถามเขาเพื่อให้เขาพร้อมที่จะคุยกับเราได้ทุกเรื่อง
“แต่อะไรที่มันมากไปอย่างขอเงินไปดูคอนเสิร์ต 6,000 บาท เราก็อาจจะมีเงื่อนไข เงินมากขนาดนี้ทำอะไรได้บ้าง จ่ายค่าแอร์ได้กี่เดือน ค่าอาหารที่ลูกชอบได้กี่เดือนกับการไปดูศิลปินแค่ 2 ชั่วโมงจบ คือเอาโอกาสตรงนี้มาสอนให้ลูกได้คิด การไม่ได้ไปดูคอนเสิร์ตลูกสูญเสียอะไรบ้าง? เพื่อนๆจะไม่คุยกับลูกเลยเหรอ?
“นี่คือสิ่งที่เราต้องสอน แต่สอนอย่างเข้าใจ เป็นพ่อ พ่อก็อยากไปดูนะ แต่ถ้าเราไปดูกับลูก 2 คนมันหมื่นกว่าเลยนะ มันคือค่าเทอมหนูเลยนะ อาจารย์เชื่อว่าเด็กคิดได้ การห้ามปรามอาจไม่ใช่วิธีที่ดี หรือถาม 6,000 บาทเนี่ย เราคงดูไมได้ เอาบัตรราคาถูกกว่านี้ดีมั้ย? และมาขอ 3,000 บาทแล้วให้เลย 3,000 บาท ไม่ได้ลูกต้องทำงาน”
อย่างไรก็ตาม ความชื่นชอบและคลั่งไคล้ในตัวศิลปินเหล่านี้ตามธรรมชาติแล้ววันหนึ่งก็จะหมดลงไป เธอเผยว่า มันคือช่วงหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นที่จะน้อยลงด้วยภาระหน้าที่การทำงานและความจำเป็นต่างๆที่เพิ่มเข้ามาในชีวิต และบางครั้งความสนใจความรักความคลั่งไคล้ก็อาจย้ายไปอยู่ที่อื่น
“ถ้าเติบโตขึ้นความคิดก็จะเปลี่ยนไปตามวัยของเขา การมีเหตุผลในการใช้เงิน ความคลั่งไคล้ศิลปินอาจจะยังมีอยู่เหมือนที่ปัจจุบันก็ยังมีคนรักพี่เบิร์ดอยู่ ด้วยความเป็นไอดอลเป็นฮีไร่ในดวงใจ คือไม่ต้องเจอหน้าก็ได้แต่จัดคอนเสิร์ตก็ไปดู มันอาจจะมีในบางคนที่เขายังไม่มีใครมาเป็นคนสำคัญในชีวิต แต่ส่วนใหญ่โดยมากแล้ววัยรุ่นมีศิลปินในดวงใจแต่พอเติบโตมามีแฟนก็เห็นไม่จะคลั่งไคล้ศิลปินไปคลั่งไคล้แฟนแทนก็มี บางทีก็แค่ความเป็นวัยรุ่นที่ต้องตามกระแสก็เท่านั้น”
ความหลากหลายของ “ติ่ง”
ปรากฏการณ์หลายอย่างที่บรรดา “ติ่ง” เกาหลีแสดงออกตั้งแต่การไปยืนรอหลายชั่วโมงเพียงเพื่อพบหน้าเพียงไม่กี่วินาที ความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากความคลั่งไคล้ของแฟนคลับ เสียงกรีดร้องจนถึงพร็อบให้กำลังใจศิลปิน การลงทุนให้ได้ใกล้ชิดจนเหมือนขาดสติ หลายครั้งก็ชวนให้หลายคนตั้งคำถาม สิ่งเหล่านี้ควรมีการควบคุมบ้างหรือไม่?
กับกรณีล่าสุดที่มีแฟนคลับตัดสินใจซื้อบัตรคอนเสิร์ตของวงในดวงใจที่ราคาเดิมอยู่ที่ 2,000 - 6,000 บาทแต่กลับต้องซื้อต่อในราคาสูงถึง 20,000 บาทนั้น ยิ่งสร้างความตกตะลึงให้กับผู้ที่รับทราบข่าว
จากการที่ติดตามสังเกตพฤติกรรมความคลั่งไคล้ของวัยรุ่นที่มีต่อศิลปินเกาหลีมาหลายปี เธอมองว่า การซื้อตั๋วดังกล่าวนั้นน่าจะมาจากกลุ่มแฟนคลับที่เป็นผู้ใหญ่ซึ่งมีกำลังซื้อแล้ว เพราะหากมองดูดีๆ ฐานแฟนคลับของนักร้อง K-POP นั้นไม่ใช่วัยรุ่นเพียงอย่างเดียว ยังรวมไปถึงผู้ใหญ่วัยทำงานแล้วด้วย
“ถ้าเป็นเด็กๆ พวกเขาไม่มีเงินแต่มีเวลา เขาไปเข้าคิวรอตั้งแต่ตี 3 - 4 ได้ ซึ่งพอซื้อบัตรมาเนี่ยถ้ามีเงินทุนหน่อยเขาก็จะลงทุนซื้อเผื่อแล้วเอามาปล่อยเกร็งกำไร ดังนั้นอย่าดูถูกแฟนคลับวัยรุ่นนะ พวกนี้เขาวางแผนกันตั้งแต่รู้ข่าวคอนเสิร์ตแล้ว บางคนทำงานเก็บเงินเองช่วงปิดเทอม บางคนซื้อตั๋วมาปล่อยเกร็งกำไรหาเงินมาเป็นค่ารถก็มี”
เมื่อพูดถึงแฟนคลับวัยผู้ใหญ่ เธอเผยว่า แฟนคลับเหล่านี้จะมีพฤติกรรมในการแสดงออกที่น้อยกว่าวัยรุ่น อาจจะไม่ได้ตะโกนเชียร์มากมาย แต่จะมีทุนพอที่จะติดตามศิลปินได้ หลายคนมีการจ้างรถตู้เพื่อตามศิลปินโดยเฉพาะ
“ความคลั่งไคล้ศิลปินพวกนี้มันไม่ได้สร้างผลเสียเสมอไป มันอยู่ที่พ่อแม่ด้วย ถ้าพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเรียนรู้วัยรุ่นจริงๆอย่างที่พวกเขาเป็น อย่าไปเป็นศัตรูกับเขา เราต้องหันไปเป็นแนวร่วม สมมติบัตร 3,000 บาท ช่วงปิดเทอมให้เขาช่วยงานบ้าน วันละ 100 เดือนหนึ่งก็ครบแล้ว เราจะได้เด็กมีความรับผิดชอบด้วยเพราะเงินที่ได้นั้นมันมาจากความลำบากของเขา”
กับกระแสที่เกิดขึ้นและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เธอมองว่า วัยรุ่นที่ดีไม่ดีก็มีปะปนกันไปเป็นเรื่องปกติ แต่การเหมารวมว่า การตามศิลปินเป็นปัญหาอาจเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
“การตามศิลปินถ้ามันจะเดือดร้อน อาจารย์ไม่รู้ว่ามันเดือนร้อนยังไงเพราะมันคือตัวเขา เหมือนคนอ้วนได้ไปนั่งกินเค้กสักชิ้น แน่นอน มันเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตเขา แต่มันเป็นความสุข คือถ้ามองแบบนั้นเราจะเข้าใจเด็กวัยรุ่นพวกนี้มากขึ้น”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754