xs
xsm
sm
md
lg

แก้ปัญหา “แท็กซี่” แนวใหม่! ติดแผงกั้น-ทุกคันรู้ประวัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ต้องคอยเสียวหลังทุกครั้งที่ขึ้นแท็กซี่ ไม่ต้องคอยระแวงทุกทีว่าจะถูกพาไปนอกเส้นทาง ไม่ต้องกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่ออาชญากรในคราบโชเฟอร์ และอาจไม่ต้องคอยถ่ายทะเบียนรถข้างประตูแล้วส่งให้เพื่อนๆ ดูอีกต่อไป เพราะ “ความปลอดภัย” จะเกิดขึ้นได้ถ้าสามารถทำให้มาตรการ “ติดแผงกั้น-จัดตั้งศูนย์ประวัติแท็กซี่” สำเร็จได้จริง ไม่ใช่แค่ความฝันค้างๆ ของชาวกรุงอีกแล้ว!




รู้ชื่อ-รู้หน้า-รู้ทัน ปลอดภัยกว่ากันเยอะ!
“ขณะนี้ ศูนย์ประวัติแท็กซี่คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 70 แล้ว” อัฌษไธค์ รัตนดิลกณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งศูนย์ประวัติแท็กซี่ไว้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง โดยให้รายละเอียดว่า ล่าสุดได้ประสานงานกับตัวแทนผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมสหกรณ์แท็กซี่ และกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เพื่อนำข้อมูลบางส่วนของผู้ขับแท็กซี่เข้ามาบรรจุไว้ในระบบเอาไว้ได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ที่เหลือ ยังติดปัญหาตรงที่แท็กซี่บางคันไม่มีผู้เช่าหรือเลิกให้เช่าไป ทำให้ข้อมูลการเคลื่อนไหวของรถแท็กซี่หายไป และรถมีอายุการใช้งานที่นานเกินไปจนไม่สามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะประเภทนี้อย่างมากเลยทีเดียว เพราะฐานข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้สามารถเชื่อมโยงประวัติของคนขับแท็กซี่ของแต่ละอู่มาเปรียบเทียบกับประวัติอาชญากรของทางกรมตำรวจได้ จะตรวจสอบ ติดตาม จับกุมเมื่อกระทำผิดใดๆ ก็สามารถกระทำได้โดยสะดวก

นอกจากนี้ยังมีมาตรการ “ติดตั้งแผงกั้นระหว่างผู้โดยสารและคนขับ” ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เสนอเอาไว้ด้วย โดยหวังว่าจะช่วยป้องกันการก่ออาชญากรรมขึ้นได้ไม่มากก็น้อย เพราะที่ผ่านการ มีประชาชนถูกทำร้ายและชิงทรัพย์จากการขึ้นแท็กซี่แล้วมาแจ้งตำรวจ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว ทาง พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญพล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เสนอว่าต้องติดตั้งแผงกั้นเท่านั้นเพื่อป้องกันปัญหา


(ตัวอย่างแผงกั้นเหล็กในต่างประเทศ)

แต่แนวคิดเรื่องการติดตั้งแผงกั้นนี้ ยังไม่ได้รับการอนุมัติ เป็นเพียงแนวความคิดที่เสนอเอาไว้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจความเป็นไปได้โดยสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ผู้ประกอบการ และคนขับแท็กซี่ ว่ามาตรการดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่อย่างไร คาดว่าจะได้คำตอบให้กับแนวคิดใหม่นี้ภายในสิ้นเดือน หากผลตอบรับส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ดี อาจมีการให้ปรับแก้กฎกระทรวงว่าด้วยการรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนที่มีการจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ เพื่อบังคับให้แท็กซี่ทุกคันติดตั้งแผงกั้นอย่างที่มีหลายๆ ประเทศทำเป็นตัวอย่างเอาไว้แล้ว

“เทียบกับหลายๆ ประเทศก็มีแนวคิดเรื่องที่กั้นแบบนี้อยู่เหมือนกันนะครับ อย่างในแคนาดา ในอังกฤษก็มีใช้นะครับ แต่ลอนดอนจะใช้ที่กั้นเป็นแบบกระจกกับแบบพลาสติก แล้วก็มีช่องเล็กๆ เอาไว้ให้ยื่นเงินจ่ายค่าโดยสารได้ ส่วนถ้าเป็นแบบแผงเหล็กกั้น จะมีช่องให้ยื่นเงินได้ไหม อาจจะต้องขึ้นอยู่กับการออกแบบในแต่ละที่ครับ พอมีที่กั้นแบบนี้ก็จะปลอดภัยมากขึ้น เพราะถ้าเกิดมีคนขับที่คิดไม่ดีกับผู้โดยสารจริง อยากจะปีนข้ามมาทำมิดีมิร้าย และในทางกลับกัน ถ้าผู้โดยสารคิดจะชิงทรัพย์คนขับรถแท็กซี่ก็จะทำได้ลำบากเหมือนกัน

ส่วนเรื่องการอนุมัติว่าจะให้มาตรการออกมาให้ต้องติดแผงกั้นไหม อันนี้คงต้องมาศึกษาดูแนวโน้มด้านอาชญากรรมน่ะนะครับ มาดูสถิติของการกระทำความผิดว่ามีรูปแบบยังไง ถ้าติดตั้งแบบกระจกกั้น ก็ต้องมาดูด้วยว่าเป็นกระจกแบบไหน กระจกแข็งแรงและหนาแค่ไหน ถ้าเกิดคนร้ายจะใช้อาวุธทุบ จะแตกไหม หรือถ้าใช้เป็นพลาสติกอย่างหนาจะเหมาะสมไหม พอมีตัวแผงกั้นนี้ขึ้นมา ถึงจะสามารถทุบทำลายได้แต่คนร้ายคงต้องใช้เวลา ระหว่างนั้น เหยื่อก็สามารถจะโทรศัพท์แจ้งตำรวจ แจ้งญาติพี่น้อง หรือส่งเสียงร้องเรียกขอความช่วยเหลือได้



ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจของผู้ใหญ่ครับ แต่คงต้องพิจารณากันให้รอบคอบหน่อยครับ เพราะมีการพูดคุยกันว่าถ้าเมืองไทยเราเริ่มมีการติดตั้งช่องกั้นระหว่างผู้โดยสารกับคนขับขึ้นมาจริงๆ พอนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเห็นแบบนี้ อาจจะเกิดคำถามทันทีว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องมีที่กั้นขึ้นมาเพิ่มทั้งที่แต่ก่อนไม่มี เป็นเพราะอัตราอาชญากรรมในแท็กซี่บ้านเราเพิ่มสูงขึ้นหรือเปล่า โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เคยมาเมืองไทยแล้ว อาจจะทำให้เขารู้สึกแปลกๆ ว่าทำไมจู่ๆ ถึงมี

สำหรับผม เหตุผลในการที่จะมีที่กั้นระหว่างผู้โดยสารกับคนขับรถ น่าจะเพราะดูเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ทั้งความปลอดภัยของคนขับรถและตัวผู้โดยสารเลย เพราะคนขับแท็กซี่เองก็กลัวนะครับบางที เวลามีผู้โดยสารผู้ชายขึ้นมาพร้อมกัน 2-3 คน แล้วต้องไปส่งที่เปลี่ยวๆ ไกลๆ” พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล ที่ปรึกษาองค์การสำนักงานควบคุมยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ และประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ช่วยวิเคราะห์ให้ฟัง




กรงกั้น... “อิสรภาพ” หรือ “ความปลอดภัย”?

(แบบกระจกกั้นก็มี)

“ผมว่ามันไม่ดีครับ มันเป็นการกีดกั้นกันมากเกินไป มาติดแผงเหล็กกั้นเป็นกรงแบบนี้ เรานั่งขับรถอยู่มันให้ความรู้สึกเหมือนเราอยู่ในคุกเลยนะ มากั้นพรมแดนกันเหมือนมีคนมาเยี่ยมคนในคุกน่ะครับ คือมองเห็นหน้ากัน พูดคุยกันได้ แต่มันรู้สึกถูกกีดกั้นน่ะครับ แล้วอย่างในคุก ถึงจะมีกรงเหล็กแต่พื้นที่มันกว้างว่าในรถนะ แล้วคิดดูว่าต้องมาติดตั้งกรงเหล็กในรถแคบๆ แบบนี้ จะหันซ้ายหันขวาก็อึดอัดไปหมด ติดไปหมด ถ้าเอาแผงมากั้น มันเหมือนให้ผมไปนั่งอยู่ในกรงขังแคบๆ เลยนะ จะหันไปช่วยผู้โดยสารเขาหยิบของก็ไม่ได้ บางทีคนแก่ขึ้นมา เราจะหันไปช่วยเขา เอื้อมมือไปให้เขาจับมันก็ไม่ได้ มันเหมือนคุกเลย”



แดง-บุญช่วย พุทธา แท็กซี่วัย 47 ปี ผู้ช่ำชองชีวิตหลังพวงมาลัยมากว่า 10 ปี ขอฝากความคิดเกี่ยวกับการติดตั้งแผงเหล็กกั้นในรถเอาไว้ เพื่อให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งจากโชเฟอร์รับจ้างเมืองกรุง พร้อมทั้งอยากให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของคนขับแท็กซี่บ้างว่าไม่ได้มีรถไว้ใช้บริการและประกอบอาชีพอย่างเดียว แต่มีไว้ใช้ส่วนตัวด้วย การติดตั้งกรงเหล็กจึงถือเป็นการมาตรการที่ละเมิดความรู้สึกสำหรับเขามากๆ เลยทีเดียว

“บางทีคนขับแท็กซี่ก็ไม่ได้ใช่รถเพื่อการทำงานอย่างเดียวนะครับ อย่างผมก็มีเอารถไปใช้กับครอบครัว ไปกับพี่น้องพ่อแม่ คนรู้จักกันบ้าง ถ้ามีแผงเหล็กมากั้น เวลาจะส่งน้ำให้คนรู้จักที่นั่งไปด้วยกันก็ทำไม่ได้ มันก็ยุ่งยากไปหมด จะส่งให้กันได้ยังไง ผมต้องจอดรถ ลงจากรถแล้วถึงจะส่งได้เหรอ

ถ้าอยากจะป้องกันเรื่องการขึ้นแท็กซี่ ผมว่าผู้โดยสารควรต้องรู้จักป้องกันตัวเอง อย่างแรกเลย เวลาขึ้นรถ ต้องรู้ว่าจะไปที่ไหน รู้ทางว่าแท็กซี่ขับออกนอกเส้นทางหรือเปล่า และอุปกรณ์ต่างๆ เดี๋ยวนี้ก็ทันสมัย ผู้โดยสารสามารถใช้มือถือถ่ายรูปเบอร์ข้างรถหรือรูปคนขับเอาไว้ แล้วส่งไปให้เพื่อนๆ ทางไลน์ได้ น่าจะดีกว่าการคิดจะเอาป้องกันโดยการเอาแผงเหล็กมากั้น

คนที่กลัวว่าแท็กซี่จะลวนลามหรือก่ออาชญากรรม ผมว่ามันไม่ใช่หรอกครับ คนขับแท็กซี่ส่วนใหญ่เขาไม่มานั่งคิดเรื่องนี้กันหรอกครับ คนที่ทำแบบนี้ไม่ใช่คนขับอาชีพครับ เขาอาจจะเอารถมาขับเล่นชั่วคราว เพราะคนขับแท็กซี่อาชีพไม่มีใครทำแบบนี้ เพราะรู้กันว่าถ้ามีปัญหาอะไรก็ถูกแจ้งจับอยู่แล้ว

อาชญากรรมที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ก็มีเปอร์เซ็นต์น้อยนะครับ เท่าที่นั่งฟัง จส.100 ทุกวันก็ไม่ค่อยมีเหตุการณ์อะไรแบบนั้นเกิดขึ้นแล้ว และเดี๋ยวนี้แท็กซี่ก็ระวังตัวเองกันเหมือนกัน ถ้าถามว่าติดแล้วเราจะได้รู้สึกปลอดภัยด้วย มันก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ถ้าจะมาติดแผงกั้น ยังไงผมก็รู้สึกว่ามันกีดกั้นกันเกินไปอยู่ดี ให้คุณลองคิดว่าคุณเป็นแท็กซี่ นั่งอยู่ในรถคันหนึ่งก็เล็กอยู่แล้ว ยิ่งเอาเหล็กมากั้นอีก ยิ่งเหมือนอยู่ในคุกเล็กๆ สักที่หนึ่ง ปิดประตูเข้าไป ลองคิดภาพสิ จะหันไปไหน บิดตัวก็ไม่ได้ อยู่ได้แค่นั้นเลย

ลองมองกลับมาที่หลายๆ มาตรการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาแท็กซี่ที่เคยออกมา มีทั้งนโยบายเลดี้แท็กซี่ (แท็กซี่ปลอดภัยเพื่อคุณผู้หญิง), ระบบการร้องเรียนพฤติกรรมไม่สุภาพและการปฏิเสธผู้โดยสาร และล่าสุดดูเหมือนว่ากำลังจะมีการติดตั้งแผงกั้นและศูนย์ข้อมูลแท็กซี่ออกมาอีก ถ้าวัดจากผลงานเดิมแล้ว อาจทำให้ประชาชนไม่เชื่อว่ามาตรการที่งอกออกมาใหม่จะได้ผล เพราะที่เคยประกาศใช้จริงก็ดูไม่ค่อยจะแก้ปัญหาได้สักเท่าไหร่ พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงศ์ อาจารย์คณะตำรวจ ฝ่ายโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จึงช่วยวิเคราะห์เอาไว้



“ผมมองว่าเราคงต้องทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กันครับ คือน่าจะทำเรื่องแผงกั้นไปด้วย และขณะเดียวกัน ระบบตรวจสอบตรงนี้ต้องเข้มงวด คนจะขับรถแท็กซี่ได้ต้องมีประวัติ มีประสบการณ์ขับรถสาธารณะมากี่ปี ถ้าเกิดทำผิดกฎจราจรกี่ครั้งๆ จะต้องโดนทัณฑ์บนห้ามขับขี่รถสาธารณะเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ หรือเรื่องคนขับรถแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร เราก็ต้องดูแลเรื่องระบบร้องเรียนที่ดีขึ้น เพราะทุกวันนี้ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าปัญหานี้ก็ยังแก้ไม่ตก

ตรงนี้คงต้องเพิ่มระบบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล นโยบาย รูปแบบ วิธีการต่างๆ ที่คิดค้นกันขึ้นมา อย่างเช่น ระบบร้องเรียนแท็กซี่ คงต้องไปตามดูว่าคนคิดระบบตรงนี้เคยติดตามประเมินผลบ้างไหมว่าร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 20 คันต่อวัน สามารถตามมารับผิดได้จริงกี่คัน และแท็กซี่เหล่านี้เคยมีประวัติกระทำความผิดกี่ครั้ง ต้องเรียกมาว่ากล่าวตักเตือน แต่ถ้าคนไม่รู้ระบบร้องเรียนเหล่านี้หรือคิดว่าไม่ได้ผล พอแท็กซี่ทำผิด ไม่มีใครร้องเรียน เขาก็ชะล่าใจ ทำผิดอีก จนกว่าจะไปเจอผู้โดยสารที่ช่วยร้องเรียน เขาก็อาจจะทำผิดไปแล้วประมาณ 10 ครั้ง

เพราะฉะนั้น ระบบร้องเรียนต้องเข้มงวดในการตรวจสอบครับ และเครือข่ายข้อมูลต้องเชื่อมโยงกัน จากฐานข้อมูลของเจ้าของอู่และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถ้าแท็กซี่ที่ขึ้นทะเบียนกับอู่นั้นโดนร้องเรียนมากๆ เข้า อู่นั้นจะถูกตัดคะแนนและเป็นที่เพ่งเล็งจากกรมการขนส่ง

เทคนิก กลยุทธ์ วิธีการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีหลากหลายรูปแบบทำควบคู่กันไป และต้องเปลี่ยนกลยุทธ์กันไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งเหล่านี้กว่าจะสัมฤทธิ์ผลได้ ในต่างประเทศเขามีการทำกันอย่างต่อเนื่องนะครับ ไม่ใช่ว่าพอออกมาตรการให้มีตะแกรงเหล็กมากั้นระหว่างผู้โดยสารกับคนขับแล้วจะจบเลย ป้องกันอาชญากรรมได้ มันไม่ใช่ครับ เราต้องทำมาตรการอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วย ทั้งระบบฐานข้อมูล การเชื่อมโยงระหว่างคนขับ-ตำรวจ-บัญชีเฝ้าระวัง หลายอย่างก็จะปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ “กรมการขนส่งทางบก” ควรจะต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดการ

โดยเฉพาะระบบฐานข้อมูลคนขับก็สำคัญ ต้องตรวจสอบได้ว่าคนขับรถสาธารณะเหล่านี้ต้องไม่เคยมีประวัติอาชญากร ประเด็นนี้ บางคนอาจจะแย้งว่า แล้วจะให้คนกลุ่มนี้ไปหางานอะไรทำ แต่ผมก็มองว่าแล้วทำไมเราจะต้องให้ผู้โดยสารมารับความเสี่ยงตรงนี้ ถ้าคนขับอาจเคยเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดมาก่อน วันหนึ่งพ้นโทษแล้วมาขับรถสาธารณะ เจอผู้โดยสารเป็นผู้หญิงแล้วต้องไปส่งตอนกลางคืน มันก็น่ากลัวนะครับ



อย่าลืมว่า ผู้ใช้รถสาธารณะเหล่านี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผู้หญิง เป็นผู้บริสุทธิ์ ทำไมต้องให้เขามารับความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้ใช่ไหมครับ คือเราอาจจะไม่เคยเน้นพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา หรือเรื่องมาตรการที่ออกมากันสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่พอเกิดปัญหาทีนึงก็แก้กันไปทีนึง แต่เรื่องการติดตามประเมินผล ประเทศเรายังไม่ได้ทำกันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ตามหลักวิชาอาชญาวิทยาก็บอกเอาไว้ว่าจะทำให้คนที่คิดกระทำความผิดเริ่มชั่งน้ำหนัก ไม่อยากกระทำความผิดและอาจจะเปลี่ยนใจได้ เพราะเขารู้ว่าทำไปแล้วมันไม่คุ้ม ทำแล้วถูกตำรวจจับได้แน่นอน

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น