หลังจากกระแสการปฏิรูปประเทศเดินหน้ามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการพิสูจน์ตัวเองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประเด็นหนึ่งที่จะหลงลืมไปไม่ได้ก็คือ “การปฏิรูปตำรวจ”
จากความพยายามที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้งในการจะสางปมปัญหาที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานในวงการผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จากยุครัฐประหารสมัยรัฐบาลพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ จนถึงประกาศคสช.ฉบับที่ 88 / 2557 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปตำรวจ ทว่าก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังต้องเดินหน้าต่อ อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นที่หวาดหวั่นใจว่า ปฏิรูปตำรวจจะเป็นไปได้จริงมากน้อยสักแค่ไหน
สางปมโครงสร้างตำรวจ
เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการบริการประชาชน ไม่ว่าจะป้องกันเหตุอาชญากรรมครอบคลุมถึงงานจราจร การดูแลความสงบตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทว่า ปัญหาที่ประชาชนหลายคนพบเจอ ทั้งตำรวจรีดไถเงิน รับสินบน กระทั่งทำตัวราวกับโจรเสียเอง การปฏิรูปตำรวจจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ประชาชนเรียกหา
พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยถึงโมเดลการปฏิรูปตำรวจที่เกิดจากการศึกษาโมเดลโครงสร้างตำรวจจากหลายประเทศ ทั้งในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น และยุโรปอย่างเยอรมันที่ประสบสำเร็จ เขาพบว่า ตำรวจไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปตั้งแต่วิธีคิดแรกเริ่มไปจนถึงโครงสร้างองค์กร
“ปัจจุบันตำรวจไทยยังคงมีการลำดับชั้นยศเหมือนทหาร การฝึกก็ยังคงเป็นแบบเดียวกับทหาร วิธีคิดก็เช่นกัน ทหารมองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูข้าศึก แต่ตำรวจมองฝ่ายตรงข้ามต้องมองว่าเป็นประชาชนที่เขาต้องให้บริการ”
ทั้งนี้ ในต่างประเทศอย่างเยอรมันที่อาชีพตำรวจในยุคหลังสงครามโลกสิ้นสุดกลายเป็นอาชีพที่มีภาพลักษณ์เลวร้ายที่สุด ทว่าตอนนี้กลับเป็นอาชีพที่ได้รับความเชื่อถือในฐานะที่มีประสิทธิภาพในการจับคนร้าย บทเรียนจากการพัฒนาการนั้น เขาเผยว่า คือการปฏิรูปตำรวจที่เน้นให้เกิดการทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้น
“เขาพยายามปลูกฝังเรื่องของความรับผิดชอบของตัวเอง แล้วก็เน้นว่า คุณเป็นตำรวจในฐานะตำรวจโดยตรงคุณทำอะไรบ้าง ให้บริการประชาชน เอากฎหมายไปใช้อันนี้จับได้มั้ย จับไม่ได้เพราะอะไร การใช้ดุลยพินิจเป็นยังไงเน้นปฏิสัมพันธ์กับผู้คน อย่างการยิ้ม การทักทายเวลาคนแปลกหน้าเข้ามาหา”
นอกจากนี้ เขายังยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีการฝึกอบรมตำรวจเพียง 10 - 18 เดือนเท่านั้น พร้อมเผยว่าหลายประเทศไม่ได้มีการฝึกตำรวจ 4 - 7 ปีแบบประเทศไทย
“ของเราอาจดูมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร อาจจะเหมือนบางประเทศในเอเชีย แต่ของอเมริกา เยอรมันเขาไม่มีโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ใครอยากเป็นตำรวจก็เข้าฝึกอบรม ของเราเรียน 3 ปี เตรียมทหารอีกเป็น 7 ปี ปลูกฝังระบบคิดฝึกแถวแบบทหารแต่จบไปเราไม่ได้รบกับใคร มีฝึกกระโดดร่มจนถึงตอนนี้ผมเองฝึกมาก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ ที่แย่ก็คือไม่นานมานี้มีกรณีที่นักเรียนตำรวจฝึกกระโดดร่มแล้วเสียชีวิต แบบนี้คืออะไร มันสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งชีวิตนักเรียนตำรวจและงบประมาณกว่าที่เขาจะเรียนมาถึงตรงนี้ได้ รัฐบาลออกให้หมด”
วิธีคิดของทหารที่คล้ายกับตำรวจนั้นยังเชื่อมโยงถึงชั้นยศที่ตำรวจยังคงมีลำดับชั้นยศเหมือนตำรวจ แต่เขากลับเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ตำรวจทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้น
“ในหลายประเทศมีการลำดับชั้นยศใหม่ให้มีชั้นยศที่น้อยลงเพื่อไม่ให้ตำรวจกังวลกับการเรื่อยลำดับขั้น เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเลย ตำรวจได้เลื่อนขั้น...ประชาชนได้ประโยชน์ตรงไหน?”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาใหญ่ที่เขาเสนอสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเด็นใหญ่ดังนี้1. การกระจายอำนาจ 2. การมีส่วนร่วมของประชาชน 3. อุปกรณ์และเทคโนโลยี 4. เงินเดือน สวัสดิการและการอบรม5. ความโปร่งใส โดยทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้ คณะกรรมที่ปรึกษาพัฒนาระบบงานตำรวจที่ตั้งขึ้นมาให้ติดตามการพัฒนางานการทำตามนโยบายของตำรวจโดยเฉพาะ
โดยรายละเอียดของการกระจายอำนาจนั้น เขาเห็นว่า ต้นแบบโครงสร้างที่มาจากอังกฤษตั้งแต่เริ่มก่อตำรวจไทยมานั้นอาจไม่เหมาะกับปัจจุบัน การรวมศูนย์อำนาจมีแต่จะทำให้การปฏิบัติงานล่าช้า ทั้งยังไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ในแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่ละกองบัญชาการควรตั้งเป็นนิติบุคคลขึ้นตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่เพียงการรับนโยบายกว้างๆ โดยรับงบประมาณจากส่วนกลางและท้องถิ่น(ซึ่งมาจากภาษีคนในพื้นที่)มาจัดการเองก็จะดูแลง่ายกว่าทั้งยังมีประสิทธิภาพรวดเร็วกว่าอีกด้วย
“การจัดการในรูปแบบดังกล่าวจะมีการตั้ง “คณะกรรมการนโยบายตำรวจระดับภูมิภาค” ซึ่งจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา รวมถึงมีส่วนในการเลื่อนชั้นยศตำรวจดังนั้นตำรวจจำเป็นต้องสร้างผลงานรับใช้ประชาชนจริงๆ มากขึ้น”
การมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น นอกจากเปิดให้มีส่วนในการพิจารณาตำแหน่งสำคัญในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรมด้วย เขาเผยว่า ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า ตำรวจไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมได้เต็มที่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจหรือตำรวจบ้าน ตำรวจอาสาที่เป็นชาวบ้านปัจจุบันมีแต่เขาไม่ได้รับค่าจ้างมาโดยสมัครใจ แต่ ปัญหาคือพอเขาไม่ว่าง ติดงานเขาก็ไม่มาได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ขาดคน ดังนั้นควรมีกฎหมายว่าด้วยผู้ช่วยเจ้าพนักงานให้ค่าตอนแทนเป็นเงิน ทำงานต่อสัญญากัน 2 ปี และเปิดโอกาสให้เขาสอบเข้าเป็นตำรวจ นี่เป็นการเปิดโอกาสให้ตำรวจทำงานร่วมกับชุมชนด้วย”
ในส่วนของวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีนั้น เขาเผยว่า เป็นเรื่องน่าแปลกที่หลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้ ทุกครั้งที่เกิดอาชญากรรมขึ้นตำรวจต้องขอภาพจากกล้องวงจรปิดตามห้างร้านบ้านเรือน บางครั้งก็ไม่มีหลักฐาน ทั้งที่เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำงานแทนคนได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีประสิทธิภาพ ไม่มีความเหนื่อยล้าซึ่งเป็นข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่พนักงาน
“โดยปกติมีการวิจัยกันว่าตำรวจ 1 คนสามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 300 คน โดยต้องทำงานสืบสวนสอบสวนปรามปราบด้วยรวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีช่วยให้การทำงาน แต่ประเทศไทยตำรวจ 2 แสนกว่าคน ส่วนปราบปรามอาชญากรรมอาจจะไม่ถึงครึ่ง เทคโนโลยีก็ไม่มี ประสิทธิภาพในป้องกันอาชญากรรมก็มีน้อยลง”
หน้าที่ของตำรวจที่ปฏิบัติงานอื่นที่นอกเหนือจากงานตำรวจอย่างงานธุรการก็ควรจะจ้างบริษัทภายนอกมาจัดการ นอกจากนี้ ตำรวจที่ปฏิบัติงานเฉพาะอย่างตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจรถไฟ ตำรวจทางหลวงก็ควรมีการโอนย้ายให้ไปทำงานเฉพาะและขึ้นตรงกับหน่วยงานนั้นๆ โดยตรงเพื่อให้เป็นหน่วยงานรักษาความปลอดภัยเฉพาะส่วนไปเลย
ในด้านของเงินเดือนและสวัสดิการนั้น ปัจจุบันนี้ เขาเผยว่าตำรวจมีปัญหาเงินเดือนไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการยังชีพอยู่มาก นอกจากเงินเดือนที่น้อยแล้ว อุปกรณ์การทำงานที่ทั้งปืน กุญแจมือ แม้แต่น้ำมันก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานจนต้องซื้อหามาเอง
“บางครั้งตำรวจต้องเอาปืนไปจำนำเพราะหมุนเงินไม่ทัน การขับรถออกตรวจก็มีน้ำมันไม่เพียงพอต้องใช้วิธีจอดตามจุดเสี่ยงแทน”
ท้ายที่สุดในส่วนของความโปร่งใสที่หลายคนให้ความสำคัญ เขามองว่า หากสามารถจัดการให้ตำรวจมีองค์ประกอบทั้งด้านเทคโนโลยีที่ดี มีพัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานอย่างครบครัน ทั้งยังมีฐานเงินเดือนที่เพียงพอต่อการครองชีพ มีการปรับโครงสร้างที่เป็นอิสระได้แล้ว หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาตามคือ คณะกรรมการอิสระรับเรื่องราวร้องทุกข์และตรวจสอบการทำงานของเจ้าพนักงาน โดยมีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษที่จะมีหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียงต่างๆที่ประชาชนมีต่อเจ้าพนักงานแบบเป็นรายกรณีโดยหน่วยงานดังกล่าวเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงกับตำรวจแต่อย่างใด
“เหตุที่หน่วยงานนี้ควรเกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมแล้วก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหากไล่บี้ทั้งที่ทุกอย่างยังไม่พร้อมมันก็ยากที่จะพัฒนาตำรวจต่อไป”
จุดเริ่มต้นของคสช.
หลังจากประกาศฉบับที่ 88 / 2557 ที่มีเนื้อหาอยู่ที่การปฏิรูปตำรวจ ผศ.ดร. ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ วิเคราะห์ถึงผลสืบเนื่องทั้งข้อดี - ข้อเสีย พบว่า ประกาศดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก
“ประกาศนี้เป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งในการปฏิรูปตำรวจ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการแก้ไขปัญหาการบริหารบุคคลซึ่งเป็น 1 ใน 3 ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นและเป็นอุปสรรคอยู่ในปัจจุบัน”
โดย 3 ปัญหาใหญ่นั้นได้แก่ 1. การบริหารงานบุคคล 2. ระบบการประเมินผล 3. การบริหารงานงบประมาณ โดยประกาศดังกล่าวของ คสช.นั้น เธอมองว่า มีส่วนในการลดการแทรกแซงจากภาคการเมืองได้แต่ไม่ทั้งหมด
“ที่บอกว่าไม่เต็มร้อยเพราะนายกรัฐมนตรียังเป็นบอร์ดนโยบายที่เรียกว่าคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.) ซึ่งตำรวจมี 2 บอร์ดคือ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ต.ร.)ที่ดูด้านบริหารงานกับกตช.ซึ่งดูด้านนโยบาย นายกยังดูทั้ง 2 บอร์ด แต่จริงๆ ควรเป็นประธานบอร์ดเดียวคือกตร.”
อย่างไรก็ตาม ประกาศล่าสุดนั้นได้มีการตัดส่วนของรัฐมนตรีต่างๆ ซึ่งเป็นภาคการเมืองออกไปเช่น รมต.กระทรวงมหาดไท รมต.กระทรวงยุติธรรมออกไป แม้จะเปลี่ยนแปลงผู้ทรงวุฒิที่เป็นนักวิชาการมาเป็นตัวแทนจากวุฒิสภาซึ่งถือเป็นสภาสูงซึ่งดีกว่ารมต. จึงถือว่าดีขึ้นแต่ไม่ร้อยเต็ม
“ในส่วนของข้าราชการประจำก็ตัดเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติที่เป็นคนของนายกรัฐมนตรีออกไป แต่มีปลัดกลาโหมเข้ามาแทนจากฝ่ายทหารซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ที่เห็นด้วยมากคือการเพิ่มผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพราะถ้าดูในนโยบายของตำรวจ บอร์ดนโยบายก็ควรรู้เรื่องการบริหารงบด้วย เพื่อให้รู้ถึงการจัดสรรงบในการสารต่อนโยบาย”
อย่างไรก็ตาม ในการส่วนของปลัดกระทรวงกลาโหมหากมองในแง่ดี สิ่งนี้อาจช่วยให้การทำงานระหว่างตำรวจกับทหารในด้านความมั่นคงเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยส่งผลถึงความร่วมมือที่จะแก้ปัญหาอย่างปัญหาชายแดนใต้ แต่ต้องอย่าเข้ามาแทรกแซง หรือจะให้ดีควรมีตำรวจเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดบริหารของกลาโหมเพื่อทวงดุลกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจกับก้าวแรกนี้คือการที่ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)คนก่อนสามารถเสนอชื่อผบ.ตร.คนใหม่ได้
“แต่ก็ควรมีการออกข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าจะมีการประชุมลงมติเห็นชอบไม่เห็นชอบภายในกี่เดือนกี่วัน เพราะนายกฯเป็นประธาน นายกฯไม่เห็นด้วยก็ไม่เปิดประชุม มันลากไปแล้วปล่อยให้ไม่มีผบ.ตร.ได้ เคยเกิดแล้ว กลายเป็นมีผบ.ตร.รักษาการณ์ลากยาวไปเพราะตกลงไม่ได้ระหว่างคนเสนอกับที่ประชุม ดังนั้นควรมีการป้องกันด้วยไม่งั้นเกิดการฮั้วกัน”
นอกจากนี้ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งผบ.ตร.เธอมองว่าควรมีการแสดงวิสัยทัศน์ต่อประชาชนถึงสิ่งที่จะทำ พร้อมทั้งมีการประเมินอย่างทั่วถึงทั้งจากประชาชนอาจผ่านทางสว.และจากประชาคมตำรวจอีกด้วย
ประกาศฉบับนั้นยังมีการกระจายอำนาจ เธอเผยว่าทำให้ผู้บัญชาการภาคต่างๆมีอำนาจมากขึ้น ดังนั้นผู้อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้ก็จำเป็นจะต้องถูกประเมินอีกด้วย ทว่า สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เธอเผยว่า ในรายละเอียดยังคงมีอีกหลายจุดที่ต้องแก้ไขโดยเฉพาะการตรวจสอบและการประเมินที่ต้องเข้มข้นขึ้น
“การตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพิ่มเข้ามา ทั้งในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมความรู้ความสามารถควรมีการประเมินเพื่อให้อำนาจที่มอบให้เป็นอำนาจที่ใช้ด้วยความเป็นธรรม ประกาศฉบับนี้จะกลายเป็นสุดยอดเลย”
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปตำรวจที่ผ่านมาที่ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จนั้น เธอมองว่า มาจากการที่ตำรวจถูกแขวนกับอยู่การเมืองที่อยู่ในภาวะตกต่ำมาตลอด โดยภาคการเมืองเองก็ไม่อยากทิ้งอำนาจตนเองลง
“ดังนั้นในภาวะที่มันไม่ปกติเช่นที่เกิดขึ้นนี้ ถ้าคสช.สามารถทำได้ ปฏิรูปตำรวจได้สำเร็จ ก็จะขอชื่นชมคสช.เลย”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754