xs
xsm
sm
md
lg

คสช. สางปมค้างคา! แรงงานต่างด้าวต้องจัดระเบียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพข่าวที่เห็นอย่างหนาตาไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ หรือทางหนังสือพิมพ์คงหลบไม่พ้น กรณีการจับกุมกลุ่มแรงงานข้ามชาติเถื่อนที่พยายามหลบหนีกลับประเทศต้นทาง เพราะเกรงข่าวลือที่ว่ากันว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ามาดำเนินการขั้นเด็ดขาด จนต้องระเห็ดระเหินกลับไปตั้งหลัก ณ ประเทศบ้านเกิด แต่ก็ไม่วายถูกเจ้าหน้าที่ฯ ควบคุมตัวได้เสียก่อน

ปัญหาแรงงานข้ามชาตินั้นเรื้อรังเป็นเนื้อร้ายอยู่ในสังคมไทยมานับสิบปี ขณะที่แรงงานเถื่อนเหล่านี้อยู่กันอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ค้าแรงงานแลกเศษเงินเพื่อดำรงผลัดถิ่นให้อยู่รอด ก็นำมาซึ่งความหวาดระแวงของคนในประเทศ เพราะปัญหาของแรงงานข้ามชาตินั้นฉาวโฉ่ในสังคมไทยอยู่เป็นระยะ

มองคนข้ามชาติมาค้าแรงงาน
“แรงงานเถื่อนคือแรงงานที่มาโดยเอาทั้งงาน ทั้งเงิน ทั้งไม่ต้องจ่ายภาษี ทั้งเอารัฐสวัสดิการของคนไทยไปใช้ เพราะคำว่า มนุษยธรรม” ข้อจากทวิตเตอร์เพจ political_drama อาจดูโหดร้ายแต่นั่นเป็นข้อเท็จจริงของกลุ่มผู้ลักลอบเข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม สัดสวนของแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ยังเป็นอัตราที่น้อยนักเมื่อเปรียบเทียบจำนวนแรงงานข้ามชาติที่หมดที่อยู่ในเมืองไทย ยกตัวอย่าง ข้อมูลของเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยข้อมูลตัวเลขจำนวนแรงงานพม่าทั้งหมดราว 400,000 คน แต่มีเพียง 240,000 คนเท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานจากทางภาครัฐ นั่นเท่ากับว่าจำนวนที่เหลืออีกเกือบครึ่ง สถานะเป็น คนเถื่อน หรือ บุคคลนอกกฎหมาย และชี้ชวนให้ก่อเหตุอาชญากรรมในสังคมไทย หากไม่มีการจัดระเบียบและไม่มีนำมาตรการขั้นเด็ดขาดเข้ามากำกับดูแล

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น จากสภาทนายความ เปิดเผยข้อมูลว่า สังคมไทยยังมองต่างด้าวในแง่ลบ มองว่าจะมายึดประเทศหรือแย่งงานทำ ทำให้มีปัญหาตลอด

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของสภาทนายความ ใน 5 จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากพบว่า แรงงานต่างด้าวมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4,000-5,000บาท แต่ต้องทำงานโดยไม่มีวันหยุด ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าประเทศครั้งละ 15,000 - 20,000 บาท และแรงงานเกือบทุกคนเคยโดนจับและรีดไถจากเจ้าหน้าที่ เสียเงินตั้งแต่หลักร้อยถึง 10,000 บาท นอกจากนี้ ยังต้องเสียค่าพิสูจน์สัญชาติ ยิ่งหากเป็นแรงงานประมงก็จะเสียเพิ่มขึ้นสูงถึงหมื่นบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของขบวนการผลประโยชน์เข้าเกี่ยวข้อง

สุรพงษ์ แนะว่า ต้องมีการขึ้นทะเบียนแรงงานทุกคนรวมถึงผู้ติดตาม และต้องปรับให้การขึ้นทะเบียนทำได้ง่ายและสะดวก ที่สำคัญต้องกำจัดเหลือบไรที่เรียกเก็บส่วย และต้องผลักดันประเทศเพื่อนบ้าน ให้พิสูจน์สัญชาติอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่แต่ออกเพียงหนังสือเดินทางชั่วคราวให้ หรือกรณีจับกุมได้ก็ส่งพวกเขากลับประเทศ เพราะสุดท้ายก็จะเดินทางกลับมาอีก ตรงนี้มันเป็นขบวนการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจซึ่งต้องปราบปรามให้สิ้นซาก

เข้ามาจัดระเบียบ เปล่า! กวาดล้าง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวเจ้าหน้าที่บุกจับกุมแรงงานข้ามชาติ ขณะเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ปรากฏต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง โรยทราย วงศ์สุบรรณ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ อธิบายว่า เป็นเพราะกลุ่มแรงงานข้ามชาติรู้สึกตื่นตระหนกต่อข่าวลือที่ว่า คสช. จะเข้ามากวาดล้าง ความที่ข้อมูลไม่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่จะมาดำเนินการกับพวกตนอย่างไร จึงส่งผลให้กลุ่มแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานเถื่อนที่ไม่ได้ทำการขึ้นทะเบียนตื่นกลัวจนพากันหนีกลับประเทศต้นทาง

ด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทหารสูงสุด รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงและประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว เปิดเผยว่า การจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติที่สั่งสมมานับ 10 ปี นั้นจะเป็นไปแบบบูรณาการ ที่สำคัญจะยึดหลักมนุษยธรรมและตามหลักสากล ซึ่งจะเกิดผลดีแก่ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว รวมถึงการดูแลด้านสาธารณสุขแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ

ในประเด็นดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน ความว่า เข้าใจปัญหาแรงงานเถื่อนเป็นอย่างดี การจัดการมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วกว่าเดิม

ส่วนที่มีข่าวลือจนผู้ใช้แรงงานพากันเดินทางกลับประเทศจำนวนมากนั้น คณะทำงานโฆษก คสช. ชี้แจงว่าไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ การจัดการเพียงเพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นมาตรการบังคับอย่างที่กังวล

แรงงานที่มีเวลาให้เริ่มจัดระเบียบตัวเองให้สมบูรณ์ และไม่มีการกวาดล้างอย่างรุนแรง การจัดการปัญหาเหล่านี้ ที่ผ่านมามีอุปสรรคมากมายจนทำให้แรงงานที่เข้าประเทศโดยไม่ถูกกฎหมายมีมากขึ้น และมีจำนวนไม่น้อยตั้งครรภ์และคลอดบุตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา การจัดการเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และหาทางทำให้การจัดการไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระจนผู้ประกอบการยอมเสี่ยงหลีกเลี่ยงการทำให้ถูกกฎหมาย

โรยทราย ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ท่านเดิมอธิบายเพิ่มเติมว่า แรงงานข้ามชาตินั้นมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรฐกิจของประเทศไทย เพราะชนชั้นแรงงานจำเป็นต้องพึงพาพวกเขาเนื่องด้วยคนไทยปฏิเสธการใช้แรงงานจำพวกนี้ เช่น เกษตรกรรม, ประมง ฯลฯ และฝากถึงคณะทำงานฯ ว่าอย่าเน้นนโยบายในเชิงปราบปราม ควรมีมาตรการที่ชัดเจนในข้อกำหนดต่างๆ จะเป็นประโยชน์มากกว่า

มาตรการแก้ไข ไม่ขัดสิทธิมนุษยชน
ด้านเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์ต่อประเด็นการเข้ามาจัดกระเบียบแรงงานข้ามชาติของทาง คสช. ตัดทอนใจความสำคัญ ความว่า

เหตุการณ์การปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวและการหลั่งไหลกันกลับประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ และความสัมพันธ์ที่ดีต่อประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน แม้หลายหน่วยงานรวมทั้งฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยืนยันผ่านสื่อต่างๆ ว่าไม่มีนโยบายเร่งรัด ปราบปราม กวาดจับ แรงงานข้ามชาติแต่อย่างใด โดยทางเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ฯลฯ ขอเรียกร้องและมีข้อเสนอแนะเร่งด่วน ดังนี้

1. ยุติมาตรการของเจ้าหน้าที่ในการกวาดล้าง จับกุมแรงงานข้ามชาติ และกำหนดนโยบายและมาตรการในการปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่ต่างๆ ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ ออกประกาศ แจ้งให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายพลเรือนที่เกี่ยวข้องระมัดระวังในการดำเนินการปราบปรามกลุ่มแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากแรงงานบางรายอาจจะอยู่ในกลุ่มที่อยู่ระหว่างการดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานหลังจากที่แรงงานประมาณ200,000 รายครบวาระการจ้างงาน 4ปี

2. ออกมาตรการด่วนที่จะสร้างความมั่นใจต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการว่ามาตรการการจัดระบบแรงงานข้ามชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เพื่อยับยั้งการไหลออกของแรงงาน สืบเนื่องจากการได้รับข่าวลือที่คสช. เห็นว่าไม่เป็นความจริงแต่ประการใด

3. คสช. ควรปรับโครงสร้างคณะกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กับ การจ้างแรงงานข้ามชาติในแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้ประกอบการ ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้มุมมองและข้อเสนออย่างรอบด้าน และสะท้อนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะเป็นการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

4. สถานการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการที่เน้นการใช้มิติความมั่นคงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบได้ ทาง คสช. และคณะกรรมการจึงควรที่จะยืนยันจะดำเนินการจัดการแรงงานข้ามชาติที่เน้นการนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมายตามแนวทางเดิมอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เช่น การจ้างงานชายแดน ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสมดุลของความมั่นคงของประเทศ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื้อรังที่สั่งสมมานับ 10 ปี คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการแก้ให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันใกล้ ที่ผ่านมาแม้จะมีการจัดตั้งหน่วยงานรัฐ หรือเครือข่ายฯ เข้ามาดูแล แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการดูแลปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทยได้

การเข้ามาดำเนินการจัดการของ คสช. ก็ได้แต่หวังว่าจะนำผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมระดมสมองคลอดมาตรการจัดการปรับแก้ได้อย่างตรงประเด็นเสียที

….............
เรื่องโดย Astv ผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น