xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันข้อมูลลวง ช่วง “รัฐประหาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จะตัดระบบอินเทอร์เน็ตทุกเครือข่าย ภายใน 21.00 น. เป็นต้นไป” นี่คือตัวอย่างข่าวลวงในช่วง “รัฐประหาร” ที่เกิดขึ้นซึ่งส่งให้ประชาชนจำนวนมากตื่นตระหนก หลงเชื่อและแชร์ข้อมูลผิดๆ ต่อกันไปจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่อยากรับผิดฐาน “ส่งต่อข้อมูลลวง” นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้เอาไว้ในวินาทีนี้!!



สาดโคลน! ปิดเน็ต
“ขณะนี้ ทหารกองประจำการ ได้เข้ายึด ICT เพื่อป้องกันระบบด้านสื่อสาร ตีข่าวในทางที่บิดเบือนออกไป จึงทำให้จะทำการตัดระบบอินเทอร์เน็ตทุกเครือข่าย ตั้งแต่เวลา 21.00 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะสงบนิ่ง”

นี่คือข้อความที่รับรองว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนต้องได้รับในคืนวันรัฐประหาร 2557 เล่นเอาใจหายใจคว่ำกันเป็นแถบ หลายคนรีบแชร์ข้อความนี้ไปยังคนรู้จักทันทีที่ได้รับข้อมูล พร้อมกับข้อความของตัวเองส่งต่อไปด้วยว่า “จริงเหรอ?” แม้จะรู้ดีแก่ใจว่าคนที่ตัวเองส่งข้อความนี้ต่อไปก็ไม่น่าจะให้คำตอบที่ชัดเจนได้เช่นกัน แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังส่งต่อ “ข่าวลือ” นี้ต่อไป กลายเป็นความโกลาหลที่เกิดขึ้นครั้งใหญ่ จนทำให้ผู้รู้ในแวดวงหลายคนทนไม่ไหว ต้องออกมาแสดงความคิดเห็น

“ตรวจสอบยืนยันจากคนใน ICT ไม่มีการเตรียมการตัดอินเทอร์เน็ตอย่างที่เป็นข่าวลือแต่อย่างใด แต่การจับตาพิเศษน่าจะมีนะครับ ใช้ แชร์ แชต กันระวังๆ” โย-พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้สื่อข่าวด้านไอทีประจำสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ช่วยชี้แจงข้อเท็จจริงเอาไว้ผ่านทวิตเตอร์ “yoware [HD]” ในวันที่ 22 พ.ค.57 เวลา 20.27 น.

เช่นเดียวกับ หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้ถูกขนานนามว่า “เจ้าพ่อไอที” กูรูด้านเทคโนโลยีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาตลอด 15 ปี คอนเฟิร์มเอาไว้ผ่านทวิตเตอร์ "Pongsuk Hiranprueck" ในคืนวันที่ 22 พ.ค.57 เวลา 20.17 น. เอาไว้เช่นกันว่า
“คำถามมาเยอะ ผมตอบสั้นๆ ทีเดียว เน็ตไม่ถูกตัดแน่นอนครับ กรณีเดียวที่พวกคุณจะใช้เน็ตไม่ได้คือ "เน็ตกาก" จากการรุมกันใช้ในบางพื้นที่ #จบนะ”

สุดท้าย เมื่อเห็นว่า “ข่าวลือ-ข่าวลวง” อันวุ่นวายนี้คงไม่จบลงง่ายๆ เพราะถึงแม้จะมีผู้รู้บางส่วนช่วยกันออกมากระจาย “ข้อเท็จจริง” แต่ผู้คนก็ยังไม่ปักใจเชื่ออยู่ดี ทางคณะรัฐประหารซึ่งใช้ชื่อว่า “กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)” ณ ขณะนั้นจึงออกมาแถลงการณ์อย่างเป็นทางการอีกครั้งผ่านหน้าจอทีวี หวังให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนกหรือตกเป็นเหยื่อข่าวลวงในครั้งนี้ กระทั่งนั่งนับถอยหลังจนเวลาผ่านพ้นเวลา 21.00 น. ของวันที่ 22 พ.ค.57 จึงถึงบางอ้อกันทั้งประเทศว่าทั้งหมดคือ “ข่าวลวง”



เพจปลอม คสช.!
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลายมาเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลบ่าเข้ามามากมายเช่นนี้ว่า อย่าได้หลงเชื่ออะไรง่ายๆ เป็นอันขาด และนี่คือข้อความที่ทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอฝากเอาไว้ ผ่านแฟนเพจ “กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย”

“ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลข่าวสารทางสื่อออนไลน์ เช่น แจ้งว่ามีการปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือ โซเชียลมีเดีย ไลน์ ยูทิวบ์ เป็นต้น โปรดรับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจาก สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
ประชาชนที่ต้องการทราบข้อมูล ร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแส การกระทำผิดกฎหมายสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ คสช. หมายเลข 094-1286273-9, 094-2349312-4”

หลายคนคงสงสัยว่าเหตุใด “กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)” ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” เรียบร้อยแล้ว จึงไม่เปลี่ยนชื่อแฟนเพจอย่างเป็นทางการให้สอดคล้องกัน ในส่วนนี้ทางผู้ดูแลระบบได้มาไขความกระจ่างเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่า เป็นเพราะปัญหาทางเทคนิกทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อได้

และด้วยปัญหาเรื่องชื่อในข้อนี้เองที่ทำให้ แฟนเพจอย่างเป็นทางการที่ยังคงใช้ชื่อว่า “กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย” (www.facebook.com/PeaceandOrderMaintainingCommand) ถูกตั้งคำถามว่าเป็นเพจจริงหรือเพจปลอมกันแน่ เพราะมีแฟนเพจอีกหลายรายที่ใช้ชื่อใกล้เคียงกันและออกมาประกาศตัวว่าเป็นแฟนเพจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่นเดียวกัน สร้างความสับสนให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะยอดไลค์ของแต่ละเพจก็มีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และเพื่อยุติความสับสนทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทางแฟนเพจอย่างเป็นทางการซึ่งใช้ชื่อว่า “กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย” จึงนำภาพเพจปลอมมาเปรียบเทียบพร้อมคำอธิบายให้ชัดเจนกันไปเลย

“ขอประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด เพจในภาพไม่ใช่เพจทางการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่อย่างใด เพจทางการของ คสช. มีเพจเดียว (คือเพจนี้) ซึ่งเป็นเพจเดิมของ กอ.รส. และเนื่องจากปัญหาด้านเทคนิค จึงทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อเพจได้ ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้”

ในตอนแรกนั้น ทาง คสช. ไม่ได้ตั้งใจจะสื่อสารข้อมูลทางโลกออนไลน์แต่ประการใด เห็นได้การที่ออกมาแถลงข่าวระลอกแรกว่า “จะเผยแพร่แถลงการณ์ ประกาศ และคำสั่ง อย่างเป็นทางการ ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเป็นหลัก” ไม่เผยแพร่ทางอื่น แต่สุดท้าย เมื่อเห็นว่ามีแฟนเพจ คสช.เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ทางคณะรัฐประหารตัวจริงจึงจำเป็นต้องมาตั้งแฟนเพจเองเพื่อป้องกันการเกิดข้อมูลอันสับสน ส่วนแฟนเพจที่ถูกเรียกว่าเป็น “เพจปลอม” ของ คสช. นั้น ทางการได้ตรวจสอบแล้วและเห็นว่าไม่ได้มีเจตนาร้าย เพียงแค่ต้องการช่วยเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น จึงปล่อยให้แฟนเพจเหล่านั้นตั้งได้ต่อไป

“เนื่องด้วยปรากฏการจัดทำเพจในชื่อ “กอ.รส.” ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งทาง กอ.รส. รับทราบและตรวจสอบแล้ว เพจดังกล่าวอาจเกิดจากเจตนาอันบริสุทธิ์และความหวังดีของผู้จัดทำ เนื่องด้วยมิได้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ส่งผลเสียหายต่อ กอ.รส. แต่อย่างใด แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนทุกคนเกิดความสับสน และป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง และการปฏิบัติต่างๆ ของ กอ.รส. รวมถึงอาจมีผู้อื่นนำชื่อ กอ.รส. ไปแอบอ้างใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด ดังนั้น ทาง กอ.รส. จึงมอบหมายให้ พ.อ.วินธัย สุวารี แถลงข่าวชี้แจงให้ประชาชนทราบไปแล้ว เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.2557) แล้วจึงจัดทำเพจที่เป็นทางการนี้ขึ้นมา”



ปิดเน็ตไม่มี-ปิดเว็บไม่แน่!
สรุปแล้ว ข่าวเรื่องสั่งปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ” ก็เป็นแค่ข่าวลวงในช่วงรัฐประหารที่เกิดขึ้น แต่ข่าว “สั่งปิดเว็บไซต์” ต่างหากที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ล่าสุด สุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร กระทรวงไอซีทีก็ได้ทำตามคำสั่ง ดำเนินการตรวจสอบและปิดเว็บไซต์ที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรไปแล้วจำนวนไม่น้อย

“ศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Cyber Security Operation Center:CSOC)” คือจุดศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนและประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่ขัดต่อคำสั่งของ กอ.สร. โดยขณะนี้ได้มีการยุติการเผยแพร่ URL ไปแล้วกว่า 100 URL นับจากวันที่ กอ.รส. มีคำสั่ง

วันที่ 20 พ.ค. 57 กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 3/2557 ในการห้ามสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่อออนไลน์ นำเสนอข่าวบิดเบือน หรือปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย แตกแยก โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ดังนี้

1. ห้ามนำเสนอข่าวทั้งในรูปแบบของเอกสาร ภาพ สื่อสิ่งพิมพ์ การออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กระจายเสียง สถานีดาวเทียมและเคเบิล สถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุชุมชน ตลอดจนการนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ที่มีเจตนาบิดเบือน ปลุมระดมให้สร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย แตกแยก หรือมีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว การเข้าใจผิด จนส่งผลกระทบต่อมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่

2. ห้ามแจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ที่มีการนำเสนอข้อมูล/ข่าวสาร อันอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยตามข้อ 1 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ตามมาด้วย "ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2557 เรื่อง "ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์" โดยเฉพาะ โดยมีเนื้อความดังต่อไปนี้

“เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว

จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวต้องกับสื่อสังคมออนไลน์ ระงับการให้บริการในการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนการต่อต้านการปฏิบัติงาน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ทั้งนี้ หากยังคงมีการดำเนินการอยู่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะระงับการให้บริการโดยทันที รวมทั้งเรียกตัวผู้กระทำผิด มาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”



ระวัง! ถ้าไม่อยากเดือดร้อน
ใช่แล้ว อ่านไม่ผิด... “ถ้าไม่อยากเดือดร้อน” ประชาชนพลเมืองเน็ตทุกคนก็ต้องรู้จัก โพสต์ แชร์ ไลค์ กันอย่างระวัง โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารที่อาจไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง” แต่เป็นเพียง “ข่าวลือ” หรือ “ข่าวลวง” ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ไม่ควรเอาตัวเข้าไปข้องเกี่ยวเป็นอันขาด และนี่คือวิธีการใช้โซเชียลมีเดียให้ปลอดภัย ภายใต้ “กฎอัยการศึก” ที่ ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ได้ฝากเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก “Chuastapanasiri” ว่าให้ระวัง! 10 โพสต์เหล่านี้ให้ดีๆ

1. โพสต์ยุยง ปลุกปั่น ปลุกระดมให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง
2. โพสต์สร้างความแตกแยก เกลียดชัง กลุ่มทางการเมือง ในลักษณะมุ่งร้าย อาฆาต
3. โพสต์ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับการปฏิบัติ หน้าที่ของทางราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
4. โพสต์ข้อมูล ภาพ ความลับของหน่วยงานราชการอันปกปิด ความลับ ห้ามมิให้เผยแพร่
5. โพสต์ในลักษณะชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่ม ก่อการอันเกิดการต่อต้านการใช้อำนาจรัฐ - ทหาร เพื่อโต้ตอบ หรือประทุษร้ายต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
6. โพสต์หมิ่นประมาท ว่าร้าย ให้โทษ แก่บุคคลอื่นในทางการเมือง ให้ถูกเข้าใจผิด เสื่อมเสีย หรือถูกปองร้าย
7. โพสต์ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะหมิ่นประมาท เป็นเท็จ หรือมุ่งสร้างความเกลียดชัง เข้าใจผิดแก่องค์รัชทายาท
8. โพสต์ในลักษณะวิพากษ์ วิจารณ์ การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในกระบวนการยุติธรรม เช่น ศาล หรือ หน่วยงานอื่นๆ ในทางที่เป็นเท็จ เพื่อสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณะ
9. โพสต์ในลักษณะขุ่ ประทุษร้าย แก่บุคคลสาธารณะ ประชาชนอื่นๆ อันเพื่อมุ่งหมายสร้างความตื่นตระหนก กลัว และสร้างภาวะตกใจแก่สาธารณชนโดยไม่มีเหตุอันควรและข้อเท็จจริง
10. โพสต์ข่าวสารที่ยังมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ข่าวลือ ข่าวโคมลอย ในทางที่มุ่งหวังเพื่อสร้างกระแสความน่ากลัว ตื่นตระหนก หรือเพื่อขัดขวางกระบวนการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่

สอดคล้องกับคำเตือนของ ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ ที่ออกมาเตือนให้ “งด” พฤติกรรมบนโลกออนไลน์เหล่านี้เอาไว้ก่อนในช่วงนี้ เพื่อให้ปลอดภัยจากการถูกจับในข้อหาร้ายแรง จากการเผยแพร่สิ่งต้องห้ามโดยไม่รู้ตัว ดังนี้

1. “งดการโพสต์” ความเห็นที่เกี่ยวกับการเมืองในช่วงเวลานี้ไปก่อน แม้ว่าจะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่หากเข้าข่ายบิดเบือนจากข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากมากในปัจุจบัน ก็จะเกิดความผิดได้
2. “งดการไลค์” เพื่อป้องกันการกระทำความผิดโดยไม่รู้ตัว หากข้อความนั้นหมิ่นเหม่ต่อความผิด การเข้าไปมีส่วนร่วมอาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดร่วมได้
3. “งดการแชร์” หรือรีทวีตเพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่หมิ่นเหม่ และถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

สุดท้ายแล้ว หลัก “กาลามสูตร” ของพระพุทธเจ้าก็ยังคงใช้ได้ดีเสมอ โดยเฉพาะในช่วงสุ่มเสี่ยงเช่นนี้ ขอให้ท่องเอาไว้ในใจตลอดว่า

“อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา, อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา, อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ, อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์, อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ, อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน, อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล, อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว, อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้, อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา”

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!



ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
โพสต์อย่างปลอดภัย ภายใต้ “กฎอัยการศึก”! [Info]
อัยการศึก โพสต์อย่างไรไม่เสี่ยง !?!
 
ข้อมูลลวง ตัดเน็ต ที่ส่งต่อกันผิดๆ ช่วงรัฐประหาร
กูรูมาตอบ

กระทู้พันทิปถามเกี่ยวกับข่าวลวง
ขณะนี้ กระทู้ดังกล่าว ถูกสั่งลบไปแล้ว
แฟนเพจอย่างเป็นทางการของ คสช.
แฟนเพจปลอม
คสช. ชี้แจงกรณีเพจปลอม

ขอความร่วมมือ สื่อออนไลน์

โปรดระวัง! การปลอมแปลง+ข้อมูลลวง
กำลังโหลดความคิดเห็น