“สุรพงษ์” ดึง EU-สหรัฐฯ จุ้น อ้างจ่อคว่ำบาตรไทย หากไม่รีบเลือกตั้ง หรือมีรัฐประหาร จี้ ผบ.ทบ. เร่งจัดการ แนะประชามติปฏิรูปก่อน-หลังเลือกตั้ง ยันอัยการศึกใช้สิทธิได้ กุข่าววงใน หวังมีรัฐประหาร ขู่ ผบ.ทบ. ภาพลักษณ์เสียหาย ชาติพัง ลองของส่อฝืนคำสั่งฉบับ 9 กอ.รส. ห้ามให้ข่าวสร้างความขัดแย้ง
วันนี้ (22 พ.ค.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับสัญญาณจากทางสหภาพการเมืองและเศรษฐกิจยุโรป หรือ อียู เตรียมคว่ำบาตรประเทศไทย หากไม่รีบจัดการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากตลอดเวลาที่เกิดปัญหาการเมืองไทยได้ทำหนังสือชี้แจงสถานการณ์ต่างๆ กับทางนานาประเทศให้ทราบอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหลังมีการประกาศกฎอัยการศึก อียูได้มีจดหมายแถลงถึงความวิตกกังวลในไทย จึงมั่นใจว่าหากไม่เร่งจัดการเลือกตั้ง หรือหากเกิดเหตุรัฐประหาร ตามที่มีกระแสข่าวลือ จะส่งผลให้ไทยถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศอียู และสหรัฐฯ อย่างแน่นอน จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ผลักดัน กกต. ให้เกิดกระบวนการเลือกตั้ง หรือสามารถใช้แนวทางการทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชน ว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป หรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพื่อให้เสียงประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงของการประกาศกฎอัยการศึก
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า มีข่าวจากวงในว่ามีความพยายามจะให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งมั่นใจว่า หากดำเนินการดังกล่าวประเทศไทยจะก้าวถอยหลังไปอีก 10 ปี เศรษฐกิจของประเทศจะไม่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้บัญชาการทหารบกเสียหาย จึงฝากให้ยึดหลักประชาธิปไตยเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้
ขณะเดียวกัน การเผยแพร่ข่าวของนายสุรพงษ์ ในครั้งนี้เป็นที่สังเกตว่า อาจจะมีเนื้อหาขัดกับคำสั่งของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ฉบับที่ 9/2557 หรื่อไม่ ที่มีเนื้อหาระบุ เรื่อง ห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ระบุว่า เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 จึงให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ดังนี้
1. ห้ามเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์และรายการวิทยุโทรทัศน์ทุกประเภท บรรณาธิการ พิธีกร และสื่อมวลชน เชิญบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่มิได้ดำรงตำแหน่งราชการในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของข้าราชการและนักวิชาการ รวมทั้งอดีตผู้ปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนองค์กรอิสระ ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็น ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง บิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนจะถูกเรียกตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ตลอดจนระงับการจำหน่ายจ่ายแจกสื่อสิ่งพิมพ์และการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที
2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ระงับการชุมนุม หรือกิจกรรมที่ต่อต้านการปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในโอกาสแรก ทั้งนี้ หากเกินขีดความสามารถให้รายงานให้ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ใกล้เคียงทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง