xs
xsm
sm
md
lg

จากปาก "อดีตเด็กเก็บขยะ" ถึงเบื้องหลังชีวิตคนเก็บขยะที่คุณต้องอ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"...ผมเชื่อว่าผมเป็นคนหนึ่งที่รู้ว่าในถังขยะมีอะไร หลายคนอาจคิดว่ามีแต่ของไร้ค่า น่ารังเกียจ แต่สำหรับผมและแม่ เราค้นพบทองคำที่อยู่ในนั้น แม้ว่ากว่าจะได้มา มือของเราต้องเปื้อนสิ่งสกปรก โดนของมีคมบาดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่มันก็คุ้มค่าเสมอ"

ผู้เอ่ยประโยคข้างต้น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แต่ก่อนจะมีวันนี้ เขาเคยเป็นเด็กเก็บขยะมาก่อน

เรากำลังพูดถึง ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ ด็อกเตอร์จากกองขยะ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นไล่ตงจิ้นเมืองไทย หนึ่งในจำนวนแขกรับเชิญในรายการ "เจาะใจ" ที่เคยสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคมมาแล้ว วันนี้เขาคือเจ้าของเรื่องที่จะมาเปิดเบื้องหลังชีวิตที่น่าเห็นใจของ "คนเก็บขยะ" ในมุมที่พวกเราทุกคนต้องอ่าน

กองขยะ = กองเงิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ขยะ" เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เบือนหน้าหนี เพราะว่ามันเหม็น และสกปรก แต่สำหรับเขากับแม่ (บุษรี จุลเพ็ญ) ในตอนนั้น กลับค้นพบว่ามีเงินตกหล่นอยู่ที่นั่น ทั้งขวดแก้ว ขวดพลาสติก เศษเหล็ก กระดาษ กล่องลัง สิ่งเหล่านี้ สามารถแปรเป็นเงินที่ทำให้ครอบครัวอยู่ได้ไปวันต่อวัน แถมยังเป็นค่าเทอมให้เขาได้เล่าเรียนหนังสือ

"รายได้ในแต่ละวันจากการเก็บขยะได้เพียงวันละประมาณ 100 บาทเท่านั้น หลังจากหักค่ากินอยู่แล้ว ต้องนำเงินไปผ่อนหนี้รายวันแขกขายผ้าวันละ 20 บาทบ้าง 40 บาทบ้าง เพราะไม่ว่าจะหมอน มุ้ง ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า ล้วนแต่ซื้อแบบผ่อนกับแขกทั้งหมด ข้าวของที่เราซื้อถ้าซื้อเงินสดอาจจ่ายแค่ 100 บาท แต่ถ้าซื้อแบบเงินผ่อน เมื่อคิดราคาค่าของอีกทีเราก็ต้องจ่ายเขาไปแล้ว 300-500 บาท แต่ในเมื่อทางเลือกของเรามีน้อย เราก็จำต้องยอม" เขาเล่า

สำหรับ อาชีพเก็บขยะ แม้จะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนก็จริง แต่สำหรับเขา เป็นอะไรที่เหนื่อย และคาดเดาไม่ได้

"เราไม่รู้ว่าวันนี้เราจะเดินไปเจอขยะอะไร เราเก็บขยะวันนี้ได้ของดี อีกวันอาจจะไม่ได้ก็ได้ ต่อให้ได้ของมาแล้ว ใช่ว่าเราจะไปขายได้เลย ของส่วนใหญ่ต้องค่อยๆ สะสมให้ได้จำนวนมากพอ เราจึงจะไปขายได้ เช่น กระดาษ เราก็ต้องเก็บให้ได้หลายๆ กิโล เพราะสมัยนั้นกระดาษกิโลละ 50 สตางค์ ส่วนขวดก็ต้องเก็บให้ได้เป็นกระสอบก่อนจึงจะนำไปขาย ดังนั้น วันนี้เราอาจได้เงิน 60 บาท อีกวันอาจได้ 100 บาทก็เป็นได้"

เมื่อ "ขยะ" คุกคามร่างกาย

นอกจากชีวิตที่วันๆ ต้องหมกตัวอยู่กับกองขยะที่แสนจะเน่าเหม็น แถมรายได้ก็เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ อีกหนึ่งความโหดร้ายที่เขาและแม่ต้องเผชิญก็คือ ความเสี่ยงกับขยะอันตรายจากคนทิ้งมักง่าย

"การเก็บขยะ คืออาชีพหาเช้ากินค่ำ แถมโชคชะตาก็คอยกลั่นแกล้งตลอด ซึ่งการเก็บขยะเหมือนเป็นการเสี่ยงโชค เปิดฝาถังขยะมาเราก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง เจอถุงมัดๆ นี่ไม่เปิดไม่ได้ ต้องลุ้น เปิดมาปุ๊บ โอ้โห บางทีก็เจอหนอน เจอคราบสเลด น้ำลาย ของแบบนี้ ถือเป็นเรื่องปกติครับ ล้างออกได้ แต่บางถัง บางกองขยะก็พาซวยมาให้พวกเรา

มีอยู่วันหนึ่งแม่ผมไปเหยียบเจอหลอดนีออน พอแตกเป็นปากฉลามก็แทงเข้าไปที่ขาแม่ ตอนนั้นเงินค่ารักษาก็ไม่มี กลับมาก็ต้องมาล้างแผลกันเอง ส่วนตัวผมก็เคยถูกเหล็กตำจนแผลอักเสบ และเป็นหนองมาแล้วเหมือนกัน" เขาเล่าให้เห็นภาพชีวิตที่รายล้อมไปด้วยความเสี่ยงทั้งรายได้ที่ไม่แน่นอน แถมยังเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บทางร่างกายจากขยะพิษ และขยะอันตราย

ปัญหาในข้างต้นนี้ เขาบอกว่า เป็นปัญหาที่คนเก็บขยะต้องเผชิญความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่คนทิ้งยังมักง่าย รวมไปถึงคนเก็บขยะที่ไม่ตระหนักถึงการใช้อุปกรณ์ป้องกัน แม้บางเขตจะมีการจัดเตรียม และกำชับให้ระมัดระวังแล้วก็ตาม

เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ยืนยันได้จากข้อมูลของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ที่ระบุถึงสิ่งคุกคามต่อสุขภาพพนักงานเก็บขยะว่ามีหลายรูปแบบ ทั้งถูกของมีคมบาด จนอาจเกิดแผลติดเชื้อ และบาดทะยัก อันตรายจากเชื้อโรคในกระดาษชำระ ถุงยางอนามัย ผ้าอนามัย เศษอาหารเน่าบูด และซากสัตว์

สอดรับข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ที่ระบุว่า ฝุ่นละออง และกลิ่นจากกองขยะ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เสี่ยงต่อโรคปอด ภูมิแพ้ ยิ่งไปกว่านั้น หากสัมผัสกับขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟนีออนแตก แบตเตอรี่เก่า อาจได้รับพิษปรอท ตะกั่ว แคดเมียม นำไปสู่โรคเรื้อรังทางระบบประสาท สมอง หลอดเลือด อาจถึงขั้นเกิดมะเร็ง แต่ที่พบมากที่สุดคือการติดเชื้อในลักษณะเฉียบพลัน

ได้ดีเพราะ "ขยะ"

แม้อาชีพเก็บขยะจะเป็นอาชีพที่ดูต่ำต้อย แต่ก็ช่วยให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากอาชีพนี้

"หนึ่งคือ รู้ว่าอาชีพนี้ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องใช้ความรู้ แค่ใช้แรงกายอย่างเดียว สอง คือ รายได้ของเราไม่แน่นอน ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด เผื่อสำหรับวันพรุ่งนี้ที่รายได้ไม่มี สาม คือ ขยะทุกอย่างสำหรับเราเป็นของมีค่าทั้งนั้น ชีวิตในตอนนั้นสอนให้ผมเห็นคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัว สี่คือ สอนให้ผมรู้จักอดทน ในวันเสาร์-อาทิตย์ ผมจะนั่งรถเข็นของแม่ไปช่วยแม่เก็บขยะรอบเมือง บางครั้งเจอแดดร้อน ขยะเหม็นเราก็ต้องทน"

นั่นเป็นเหตุผลถ้าทำไมเด็กเร่ร่อน และเด็กเก็บขยะอย่างเขา สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากประเทศญี่ปุ่นมาได้

"ต้องบอกว่า เส้นทางในการเรียนไม่ได้มาง่ายๆ กว่าจะเรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ก็ต้องต่อสู้ฝ่าฟัน กว่าจะเรียนจบปริญญาเอกยิ่งแล้วใหญ่ แถมยังเคยฝึกฝนเรียนภาษาญี่ปุ่นเหมือนเด็กเล็กๆ และต้องเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย ถ้าไม่เคยผ่านความยากลำบาก ผ่านการต่อสู้อดทนในวัยเด็กมาก่อน คงไม่สามารถรับมือกับอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาได้อย่างแน่นอน"

แต่กระนั้น ผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญ คงจะปฏิเสธครูที่คอยโอบอุ้มแนะนำ เพื่อนที่เก่งเป็นแบบอย่าง และแม่ที่เป็นกำลังใจไปไม่ได้

"ผมก็เหมือนขยะ แต่เป็นขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ขยะจะมีค่าหรือไม่มีค่าอยู่ที่คนมอง หรือจะทำอย่างไรกับขยะนั้น ชีวิตผมเหมือนแก้วในถังขยะที่บังเอิญจมลงไปในโคลนตมที่เน่าเหม็นแล้วแม่ผมก็หยิบแก้วใบนี้ขึ้นมา แน่นอนครับว่าแก้วใบนั้นมีคราบสกปรกติดอยู่ แต่แม่ผมล้างแก้วใบนี้ด้วยน้ำสะอาด ผมก็เลยเป็นแก้วที่ใหม่ขึ้นมาได้ ดังนั้น ที่เป็นด็อกเตอร์ได้ในวันนี้ ผมจะพูดถึงคนที่ล้างผมอยู่ตลอด หนึ่งก็คือแม่ผม สองคือครูอาจารย์ที่โอบอุ้ม ให้โอกาสผม ผมจึงเป็นขยะที่รีไซเคิลได้ครับ"

ไทยแลนด์ แดนขยะ สะท้อนวินัยคนในชาติ

ทั้งนี้ ในฐานะที่เขาอยู่ในวงการกองขยะมานาน เขาให้ทัศนะทิ้งท้ายถึงระบบจัดเก็บขยะในประเทศไทยว่า ยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร

"ประเทศไทย ใช่ว่าไม่เคยรณรงค์ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่รณรงค์ให้แยกขยะ แต่เวลาเก็บก็ยังทิ้งรวมกันเหมือนเดิม คือ มันไม่เป็นระบบอ่ะครับ อย่างที่ญี่ปุ่น เขาจะมีการแยกตั้งแต่ในครัวเรือน รถที่มาเก็บ รวมไปถึงโรงแยกขยะก็ยังแยกเป็นระบบ ประเทศไทยต้องทำให้เป็นระบบก่อน รณรงค์อย่างเดียวมันไม่พอหรอกครับ อีกอย่าง การจัดการขยะระดับชาติ ปรบมือข้างเดียวไม่ดัง นอกจากรัฐบาลแล้ว คนไทยต้องมีนิสัยแยกขยะด้วย

บางท่านอาจคิดว่าไม่ใช่ภาระของฉัน แต่เป็นหน้าที่ของคนเก็บขยะ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคุณคือต้นตอของขยะ แต่กลับโยนภาระให้คนอื่น เพราะฉะนั้น ขยะมันเปลี่ยนนิสัยคนได้ เริ่มง่ายๆ จากการแยกขยะ บางชิ้นที่มันรีไซเคิลได้ ทำให้มันสะอาดก่อนได้ยิ่งดี ถ้าคุณฝึกตัวเอง และลูกหลานแบบนี้ ผมเชื่อว่า อนาคตของคุณและลูกหลานของคุณจะสามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ ได้" เขาเสนอ พร้อมสะกิดให้ทุกฝ่ายหันมารับผิดชอบเรื่องขยะ

"ไม่อยากให้มองเรื่องการจัดเก็บขยะเป็นหน้าที่ของคนเก็บขยะ เพราะถ้าคิดแบบนั้น พนักงานเก็บขยะจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อไป คุณไม่เห็นใจพวกเขาเหรอครับ"

นอกจากนี้ เรื่องขยะก็เหมือนการจราจร เป็นปัญหาที่สะท้อนวินัยของคนในชาติได้เป็นอย่างดี


"ตอนไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศญี่ปุ่น และได้เห็นวินัยของคนประเทศเขา เรื่องการทิ้งขยะ มันสะท้อนวินัยของคนในชาติได้อย่างดีเลยนะ เหมือนกับวินัยจราจรที่สะท้อนวินัยชาติ อย่างประเทศญี่ปุ่นเขามีการบังคับให้แยกขยะอย่างจริงจัง โดยจะเลือกเก็บขยะเป็นประเภทๆ ไป เช่น ถ้าเป็นขยะสด จะเก็บทุกวันอังคาร และวันศุกร์ ถ้าเอาขยะอื่นมาทิ้ง เขาจะไม่เก็บเลย หรือวันจันทร์เป็นขยะกระดาษ ถ้าไม่ใช่กระดาษ เขาก็จะไม่เก็บ แล้วถ้าวันไหนไม่แยกขยะ ก็จะถูกเขียนหนังสือแจ้งเตือนมาให้ที่บ้านด้วย

อีกเรื่องที่น่าชื่นชมก็คือ ก่อนที่คนญี่ปุ่นจะทิ้งขยะ เขาจะล้างทำความสะอาดให้ด้วย ทั้งขวดนม ขวดเครื่องดื่มต่างๆ หรือกล่องนม เขาจะพับ และผูกถุงขยะให้เรียบร้อยเพื่อสร้างความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ที่มาเก็บ และง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล นี่แสดงให้เห็นว่า แค่ทุกคนช่วยกัน ขยะก็จะไม่สร้างปัญหาให้เจ้าหน้าที่ และประเทศชาติ เพราะกำจัดง่าย และแยกง่าย" เขาเอ่ย

ก่อนจะกล่าวต่อไปด้วยความเศร้าใจว่า "แต่กับประเทศไทย แม้จะบอกให้ทิ้งขยะให้เป็นที่ และมีการปรับเมื่อทิ้งขยะไม่ลงถัง กลับยังไม่ค่อยได้ผลเลย"



เรื่องและคลิปโดย ปิยะนันท์ ขุนทอง

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ ไล่ตงจิ้นเมืองไทย ด็อกเตอร์จากกองขยะ (ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ) สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

//////////////////////////

ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!


ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ ด็อกเตอร์จากกองขยะ


กำลังโหลดความคิดเห็น