“37 นาทีต่อวัน” ต่างหากคือสถิติที่ถูกต้องจากการสำรวจพฤติกรรมการอ่านของคนไทยครั้งล่าสุด ต่อไป ถ้าอยากจะประชดใครว่าอ่านหนังสือน้อยด้วยคำพูดที่ว่า “สมกับเป็นคนไทยจริงๆ อ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด” ขอบอกว่าคุณจะดูฉลาดน้อยลงไปถนัดตาเลยทีเดียว
เพราะสถิติใหม่ประจำปี 2556 ออกมาแล้วว่า คนไทยร้อยละ 81.1 หรือกว่า 50 ล้านคน ใช้เวลาอยู่กับตัวอักษรถึง 37 นาทีต่อวัน จากการสุ่มพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างกว่า 5 หมื่นครัวเรือน พบว่าพวกเขา “อ่านหนังสือ” จากหลากหลายทาง ไม่ใช่แค่ตำราเรียนหรือบนหน้ากระดาษเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการอ่านบทความและเสพข้อมูลต่างๆ ผ่านคอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ตโฟนด้วย (ไม่นับรวมข้อความสั้นๆ ที่ส่งผ่านมือถือ, โปรแกรมแชต และอีเมล)
ส่วนคำกล่าวที่ว่า “สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย” สถิติจากตรงนี้คงช่วยให้ใจหายน้อยลงไปได้หน่อยหนึ่ง เพราะข้อมูลระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “หนังสือพิมพ์” ยังเป็นสื่อที่คนอ่านมากที่สุดคือร้อยละ 73.7 รองลงมาคือวารสาร, หนังสือให้ความรู้, นิตยสาร, หนังสือธรรมะ-ศาสนา, นวนิยาย, การ์ตูน และตำราเรียน
ที่น่าสนใจคือ “ห้องสมุด” กลับไม่ใช่สถานที่ที่ “นักอ่าน” นิยมเข้าไปคุยกับตัวอักษร แต่ “บ้าน” กลับเป็นสถานที่ยอดฮิตติดอันดับ 1 ที่หนอนหนังสือส่วนใหญ่เลือกสถิตอยู่ รองลงมาคือ “สถานที่เอกชน” และ “สถานที่ทำงาน” ข้อมูลตรงนี้เองที่ทำให้ วัฒนชัย วินิจจะกูล หัวหน้าฝ่ายวิชาการอุทยานการเรียนรู้ TK Park มองว่าทางห้องสมุดอีกหลายๆ แห่งในประเทศต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่ ดึงดูดให้รู้สึกว่าน่ามานั่งอ่าน
กลับมาพูดถึงคำพูดปากต่อปากที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” กันอีกสักที ลองนั่งคำนวณดูแล้วนั่นหมายความว่า คนไทยใช้เวลาอยู่กับตัวอักษรถึงบรรทัดละ 1,688.125 นาที เลยทีเดียว
จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปว่าประโยคยอดฮิตนี้มาจากใคร เมื่อพูดถึงพฤติกรรมการอ่านของคนไทยครั้งใดก็จะมีประโยคนี้พ่วงท้ายมาด้วยแทบทุกครั้ง
รู้แค่เพียงว่า อย่างน้อยๆ แค่อ่านมาถึงตรงนี้ได้ คุณก็อ่านเกิน 8 บรรทัดไปเยอะมากแล้วล่ะ
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ขอบคุณข้อมูลจาก: นิทรรศการ “ผลการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556”, แฟนเพจ “TKpark อุทยานการเรียนรู้”, สำนักงานสถิติแห่งชาติ