“จำคุก 2 ปี รอลงอาญา 4 ปี สั่งคุมประพฤติ ให้บำเพ็ญประโยชน์ปีละ 48 ชั่วโมง และห้ามขับรถจนกว่าจะอายุ 25 ปี” นี่คือบทลงโทษของคดี “แพรวา 9 ศพ” ที่ปลุกให้สังคมกลับมาตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมในบ้านเมืองเราอีกครั้งว่า “สงสัยคุกจะมีไว้แค่ขังคนจน!?!”
ทวงถาม “ความยุติธรรม”!?!
"คุกเมืองไทย ไม่ได้มีไว้สำหรับขังคนรวย" เอกชัย
"มีเงินทำไรไม่ผิด ถ้าลูกคนจนได้ตายคาคุก" Chats Decharpaks
"เขานามสกุลอะไรล่ะ? ถ้าเป็น แพรวา โคกดก ล่ะก็ อาจติดสัก 10 ปี นี่ล่ะ มาตฐานชีวิตคนไทย" Nichakorn Sukawara
"ทุเรศ เก็บเห็ดป่าสงวนติดคุก 10 ปี คนจน-คนรวยมันต่างกันตรงนี้ครับ ประเทศเราควรปฏิรูปกันได้แล้ว" Nawin Thestar
"คงเป็นบทเรียนให้เขา เพราะเขาเป็นเด็ก ถ้าติดคุกก็เปลืองข้าว" Suwat Panyangam
"9 ศพ รอลงอาญา?...โอ๊ะโอ! ประเทศไทย... ดีค่ะ เมตตาค้ำจุนโลกมั้งคะ!!" Rattika Roj
"ศาลทำเหมือนคนไม่ใช่คน" Kraisorn Teng
"อย่างงี้เวลาอยากฆ่าใคร แนะนำให้ขับรถชนเลย อย่างมากก็รอลงอาญา ประกันจ่าย" Kurikuri Eiei
"386,390 ชีวิตของ ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง และคนอื่น อีกมากความสามารถ มีค่ามากกว่าไอ้เด็กคนเดียวอีก เข้าใจมั้ย!?!" Eba
"คดีลักเล็กขโมยน้อย จำคุก 1 ปีไม่รอลงอาญา คดีขับรถชนคนตาย จำคุก 2 ปี รอลงอาญา 4 ปี คิดได้ไง...ความเป็นธรรมไม่มีในโลก" รัตติกาล
"ไม่ต้องลงโทษเลยก็ได้แบบนี้น่ะ ทุเรศมาก" Nuchy Nouky
"เส้นคงหญ่ายยยย...พิลึก" ขวัญใจ นาคะจะ
“Thailand only!” Jay Mangin
ทั้งหมดนี้คือกระแสตอบรับจากคนบนโลกออนไลน์ทันทีที่ทราบว่าบทลงโทษกรณี ลูกสาวไฮโซตระกูลดัง ซิ่งรถเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารจนตกทางด่วนโทลล์เวย์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 คน คือ “จำคุก 2 ปี รอลงอาญา 4 ปี สั่งคุมประพฤติ ให้บำเพ็ญประโยชน์ปีละ 48 ชั่วโมง และห้ามขับรถจนกว่าจะอายุ 25 ปี” แม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นจากคนกลุ่มหนึ่ง ไม่สามารถแทนความคิดคนทั้งประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่ก็แสดงจุดยืนเกี่ยวกับกรณีนี้เอาไว้ไปในทิศทางเดียวกัน คือตั้งคำถามต่อบทสรุปที่เกิดขึ้นว่า สรุปแล้ว “มันยุติธรรมกันดีแล้วหรือ?”
มีเพียงไม่กี่เสียงบนโลกออนไลน์เท่านั้นที่พยายามยึดหลักกฎหมายและมองอย่างเข้าใจ โดยพิจารณาจากเหตุผลที่ว่า ในตอนที่เกิดเหตุ (วันที่ 27 ธ.ค.2553) ขณะนั้นแพรวายังมีอายุเพียง 16 ปี ถือว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังเป็นเยาวชน ความผิดที่กระทำจึงเบาลงอย่างเห็นได้ชัด
“หากกระทำผิดครั้งแรก จำเลยเป็นเยาวชน ก็พูดยากนะครับ จำเลยคงไม่ทราบก่อนเกิดเหตุหรอกว่าผู้ที่จะเสียชีวิตจะกี่มากน้อย เป็นใครบ้าง แต่อยากให้ผู้ปกครองได้รับโทษทางอาญาด้วย ส่วนค่าเสียหายทางแพ่ง ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้เต็มที่” Woravit Sirisukodom
“ขับรถชนคนตายโดยประมาท กฎหมายถือว่าไม่มีเจตนาจะทำให้คนตายจึงกำหนดโทษไว้ไม่สูง เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งถ้าใครเรียนนิติศาสตร์ก็จะเข้าใจดี ถ้าไม่มีพื้นฐานนิติอยู่บ้างก็จะอธิบายยากต้องใช้เวลา” เสกสันต์ เหมวรชาติ
ถ้าไม่ใช่กฎหมายไทย “รอดยาก!”
เพื่อให้อุณหภูมิในใจหลายๆ คนลดลง “สมศักดิ์ เธียรจรูญกุล” อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงชวนมามองในมุมนักกฎหมายดูบ้าง เผื่อจะเข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใดบทลงโทษจึงเบาแสนเบาในสายตาใครหลายๆ คน ถามว่าเกี่ยวไหมกับเรื่องการเป็น “ลูกคนรวย” อาจารย์จึงให้ความกระจ่างในมุมมองที่เป็นกลางเอาไว้ว่า
“ไม่น่าจะเกี่ยวครับ เพราะไม่ว่าจะรวยหรือจะจน ลักษณะการรอลงอาญาคือการเปิดโอกาสให้สำนึกและกลับตัวอยู่แล้ว เขาถึงมีการให้คุมประพฤติ ให้ไปรายงานตัว ถึงแม้ไม่ได้บังคับว่าห้ามขับรถ แต่โดยสภาพมันก็กึ่งๆ บังคับอยู่แล้ว เพราะถ้าไปขับแล้วชนคนตายภายใน 4 ปีนี้ ก็ไม่รอดแน่”
ถ้าเรื่องเงินจะมีส่วนทำให้คดีนี้มีโทษเบาลงได้ คงมีแค่ผลจากการพยายามชดเชยค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย ซึ่งจะส่งผลต่อดุลยพินิจของศาล ทำให้มองว่าเป็นการ “พยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น” ลักษณะนี้ศาลมองว่าเป็นการ “ลุแก่โทษ” เพราะมีความพยายามในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง ถือเป็นเหตุผลข้อนึงในการทำให้โทษเบาลง
ถามว่าถ้าผู้กระทำผิดเป็นเด็กผู้หญิงที่มีอายุเท่าแพรวา ทำผิดอย่างเดียวกัน ฆ่าคน 9 ศพเหมือนกัน แต่ดันมีฐานะยากจน ผลการตัดสินที่ออกมาจะต่างออกไปบ้างไหม? อาจารย์ตอบกลับด้วยน้ำเสียงนิ่งสงบว่า
“ก็ต้องดูว่าอยู่ในกระบวนการชั้นไหนครับ ถ้าอยู่ในกระบวนการชั้นสอบสวน ผู้กระทำความผิดก็อาจจะไม่ได้กลับบ้าน อาจจะถูกควบคุมตัวเอาไว้ เพราะพ่อแม่ไม่มีเงินไปประกันตัว แต่ถ้าเกิดในชั้นพิจารณาของศาล คิดว่าผลตัดสินคงออกมาไม่ต่างกันครับ ไม่ได้เกี่ยวกับฐานะร่ำรวยหรือยากจน เพราะมาตรฐานของการกระทำโดยประมาทมันมีอยู่แล้ว
หลักกฎหมายมันเป็นอย่างนี้ครับ อาจจะมีเรื่องของดุลยพินิจเข้ามาเกี่ยวข้อง คดีนี้เข้าข้อกฎหมายเป็นการกระทำโดยประมาทจนเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย ซึ่งหลักกฎหมายบ้านเรายังไม่ค่อยละเอียดในประเด็นความผิดฐานประมาทเท่าไหร่ พอขับรถโดยประมาทแล้วชนคนตายปุ๊บ ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนก็จะใช้หลักกฎหมายตัวเดียวกันตัดสิน ไม่ได้แบ่งแยกรายละเอียดลงไป
แต่ถ้าเป็นเมืองนอก เขามีหลักกฎหมายเรื่องการกระทำโดยประมาทหลายลักษณะ มีทั้งประมาทโดยทั่วไป ประมาทร้ายแรง และจงใจประมาท ถ้ารุนแรงไปถึง “จงใจประมาท” เนี่ย โทษค่อนข้างหนักนะ เกือบจะเทียบเท่ากับการฆ่าคนตายโดยเจตนาเลย”
ถ้าให้ลองใช้กฎหมายอเมริกามาตัดสินความผิดของแพรวาในกรณีเดียวกันนี้ บอกได้คำเดียวว่า “รอดยาก”...ยากที่จะไม่ถูกจำคุก
“ถ้าเป็นที่อเมริกาคงจะเป็นการจงใจโดยประมาท ยิ่งยังเด็กด้วย เอารถออกมาขับ พ่อแม่จะบอกว่าไม่รู้ไม่เห็น เป็นไปไม่ได้ ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก ความผิดแบบนี้มันเล็งเห็นผลอยู่แล้ว” แต่เผอิญว่านี่คือกฎหมายไทย ช่องโหว่ที่มีจึงทำให้ผลออกมาอย่างที่เห็น
ส่วนความแคลงใจเรื่อง “ศาลซื้อได้” จึงทำให้ผลการตัดสินออกมาแบบนี้นั้น อาจารย์มองว่าน่าจะเป็นอคติของคนในสังคมมากกว่า จึงทำให้ผลตอบกลับมาออกลบๆ แบบนั้น ซึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากปฏิกิริยาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของฝ่ายผู้ก่อเหตุนั่นเอง “มันค่อนข้างไม่น่าดูครับ ลองย้อนเหตุการณ์กลับไป ก่อนหน้าที่จะมีการฟ้องร้องถึงขั้นขึ้นศาลกันเกิดขึ้น จะเห็นว่ามีความพยายามที่จะทำเสมือนหนึ่งว่าไม่รับผิดชอบ ทั้งๆ ที่มีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดค่อนข้างจะชัดเจน ตรงนี้เลยเป็นปฏิกิริยาที่เป็นผลลบที่สังคมมองไปได้ บวกกับความร้ายแรงของจำนวนเหยื่อที่มีมากถึง 9 ศพด้วย แต่ในส่วนของศาลที่สงสัยกันว่ามีนอกมีในหรือเปล่า ผมว่าไม่ใช่หรอกครับ ศาลก็แค่ดูตามข้อเท็จจริงและพยาน-หลักฐานที่มีอยู่เท่านั้นเอง”
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้โทษที่ “ควรหนัก” กลายเป็น “เบาหวิว” คือผู้ก่อเหตุ ณ ขณะนั้นยังเป็นเยาวชนจึงได้รับประโยชน์ให้ลดโทษ บวกกับเป็นการทำความผิดครั้งแรก ศาลมักจะใช้ดุลพินิจให้ “รอการลงโทษ” หรือ “รอลงอาญา” อยู่แล้ว
คำว่า “รอลงอาญา 4 ปี” หมายความว่า ยังไม่ต้องถูกจำคุกจริง แต่ภายใน 4 ปีนี้ จะถูกควบคุมความประพฤติและศาลจะกำหนดมาตรการในการควบคุม เช่น อาจจะให้เจ้าพนักงานคุมความประพฤติไปเยี่ยมที่บ้าน หรือกำหนดให้ตัวผู้ถูกรอลงอาญาต้องไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นระยะๆ พร้อมกับต้องบำเพ็ญประโยชน์ตามที่กำหนด
“ถ้าภายใน 4 ปียังไม่ทำความผิดซ้ำเดิมก็พ้นโทษเลย แต่ถ้าขับรถไปชนคนเสียชีวิตอีก ศาลจะไม่รอลงอาญาแล้ว จะเอาโทษ 2 ปีนี้ไปบวกเข้ากับโทษคดีใหม่ด้วย ถ้าหากคดีใหม่มีการขอให้บวกโทษ เพราะฉะนั้น เขาไม่ควรจะขับรถเลยภายในเวลา 4 ปีที่ถูกควบคุมประพฤตินี้”
จำนวน “9 ศพ” ไม่มีความหมาย!?!
เมื่อผลการตัดสินออกมาแบบนี้ หลายคนได้แต่เบือนหน้าหนีกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งให้จดจำให้ขึ้นใจว่า ต่อไปถ้าใครขับรถชนคนตาย ให้ใช้บรรทัดฐานการตัดสินจากคดีนี้มาอ้าง เพื่อให้รอดจากมุ้งสายบัว คิดดูว่า ขนาดชนคนตายถึง 9 ศพ! ยังได้รับโทษแค่ “รอลงอาญา” คนอื่นๆ ชนคนตายแค่ศพ 2 ศพ ก็คงไม่หนักหนาไปกว่ากัน!?!
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็ได้แต่ให้คำตอบด้วยน้ำเสียงปลงตกเอาไว้ว่า “มันเป็นบรรทัดฐานแบบนี้มาตั้งนานแล้วครับ ภาษาทางคดีจะเรียกว่า “ยี่ต๊อก” ครับ แปลว่าเป็นมาตรฐานในการใช้ดุลยพินิจ
ยกตัวอย่างเพื่อนผมแล้วกันครับ เพื่อนผมเขาเป็นผู้พิพากษา คุณแม่ของเขาถูกมอเตอร์ไซค์ขับซิ่งมาชนเสียชีวิต สุดท้าย ศาลก็ตัดสินใจรอลงอาญาเหมือนกัน ลักษณะเดียวกันกับคดีนี้เลยครับ เพียงแต่คนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ได้เป็นผู้เยาว์ แต่บรรทัดฐานการตัดสินโดยรวมก็จะออกมาเหมือนๆ กันนี่แหละครับ เพราะถ้าไม่รอลงอาญา ต่อไปคนที่ขับรถแล้วชนคนเสียชีวิตโดยประมาทก็จะถูกจำคุกเยอะมากนะ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกคนครับ”
ถามว่า จำนวน “9 ศพ” ไม่ได้ทำให้คดีดูร้ายแรงขึ้นมาบ้างหรือ? จึงได้คำตอบว่าถ้าวัดจากองค์ประกอบทางอาญาอาจไม่เป็นผล เพราะศาลก็ตัดสินให้ “รอลงอาญา” เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงคดีทางแพ่งจะมองว่าความเสียหายมันไม่เท่ากันอยู่แล้ว เสียชีวิต 1 คน กับ 9 คน ยังไงก็ไม่เท่ากัน
“เดี๋ยวนี้การกำหนดค่าเสียหายทางแพ่งของศาลให้ค่อนข้างเยอะนะครับ เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว ดำเนินคดีแพ่งต่อไป ยิ่งจำนวนมากถึง 9 ศพ คงต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตบางรายอายุเขายังไม่มาก อนาคตยังอีกยาวไกล แถมบางคนยังต้องดูแลคนในครอบครัวอีกหลายคน มีตำแหน่งที่ดีในการรับผิดชอบต่อสังคม เพราะฉะนั้น ต้องจ่ายค่าเสียหายให้เขาเยอะมาก ซึ่งถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง ค่าเสียหายที่เรียกไป 120 ล้านสำหรับครอบครัวผู้ตาย ผมว่ายังน้อยไปด้วยซ้ำสำหรับบางครอบครัวที่ผู้ตายเป็นเสาหลัก มีอนาคตไกล
ส่วนใหญ่จะพิจารณาจากว่าผู้เสียหายเป็นใคร, วิสัยภายในตัวของผู้ตายแต่ละคน, ความรับผิดชอบที่เขาจะมีต่อครอบครัว, ความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม ฯลฯ ดูหลายด้านครับ ถ้าคนนี้ยังอยู่ จะสามารถดูแลคนในครอบครัวกี่ชีวิต ยังสามารถทำประโยชน์ต่อสังคมได้มากน้อยแค่ไหน ประกอบกับทางผู้ที่ถูกฟ้องมีสถานะทางการเงินค่อนข้างดี เพราะฉะนั้น ศาลอาจจะกำหนดค่าเสียหายให้สูงเพราะเห็นว่าเขาไม่เดือดร้อน”
โอกาสนี้ จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายหันมามองเรื่องการแก้ไขตัวบทกฎหมายฐานการกระทำผิดโดยประมาทกันอีกสักนิด โดยศึกษาบทลงโทษจากฝั่งกฎหมายอเมริกามาผสมกับกฎหมายออสเตรเลีย เพื่อระบุโทษให้ละเอียดกว่าที่เป็นอยู่
“ถ้าให้มองถึงการใช้ดุลยพินิจที่ศาลลงโทษจำคุก 2 ปี ก็ถือเป็นบรรทัดฐานที่ทำมาตลอด เลยขอพูดถึงช่องโหว่ของกฎหมายไทยในเรื่องการขับขี่รถโดยประมาท จนถึงตอนนี้น่าจะมีการแบ่งรายละเอียดย่อยลงไป เพราะคำว่า “ประมาท” มันมีหลายลักษณะ ถ้าถึงขั้น “จงใจประมาท” ก็ไม่ควรรอลงอาญาอีกต่อไป ซึ่งตรงนี้มันก็มีข้อจำกัดอยู่ในตัวบทกฎหมาย ทำให้ศาลไม่สามารถไปตัดสินผู้กระทำผิดจริงๆ ได้ คงต้องแก้ไขเพื่อให้มีโทษของการจงใจประมาทขึ้นมา
เพราะถ้าเป็นที่ออสเตรเลีย ถ้าเป็นผู้เยาว์ไปขับรถ ต้องดูว่าพ่อแม่รู้เห็นหรือไม่ ถ้าพ่อแม่รู้เห็นด้วย พ่อแม่ต้องร่วมรับบทลงโทษทางอาญาด้วย แต่ถ้าพ่อแม่ปฏิเสธ ไม่รู้เห็น ทางภาครัฐเขาจะเอาเด็กไปเลี้ยงเลย เพราะถือว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เป็น
ส่วนกฎหมายอเมริกา เป็นเรื่องการแยกกฎหมายฐานประมาทให้ละเอียดออกไปว่าแบ่งออกเป็นหลายลักษณะ ไม่เหมือนกฎหมายไทยที่มีแค่ประมาททั่วไปกับประมาทร้ายแรง แต่บ้านเราควรจะเพิ่มโทษประมาทโดยจงใจเข้าไปอีก”
เห็นได้ชัดว่า “ช่องโหว่” ช่องใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมคือ “กฎหมายไทย” ทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์กันว่า “กฎหมายไทยไม่เด็ดขาด” เกี่ยวกับข้อครหานี้ อาจารย์สมศักดิ์ขอแสดงความคิดเห็นปิดท้ายเอาไว้ว่า
“ไม่ถึงขนาดนั้นครับ กฎหมายก็อยู่อย่างนั้น แต่ถ้าจะมองในมุมมองกฎหมาย ผลแห่งคดีก็เป็นมาตรฐานทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน ส่วนคำว่า “กฎหมายไม่เด็ดขาด” น่าจะอยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมากกว่า ที่ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง คือมันไม่ได้เกี่ยวกับตัวกฎหมาย เพราะตัวกฎหมายกับคนใช้กฎหมายคนละส่วนกัน ปัญหามันจะเกิดขึ้นตอนที่ “ผู้บังคับใช้กฎหมาย” ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมานั่นแหละ
แต่ถ้าให้วิเคราะห์ปัญหานี้ในเชิงสังคม ผมว่าคงจะเป็นเรื่องของการดูแลเด็กครับ ผู้ปกครองควรจะต้องเอาใจใส่มากกว่านี้ การปล่อยให้เด็กไปขับรถ การขับรถได้กับการมีความรับผิดชอบ มันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีอายุเท่าไหร่จึงจะไปทำใบขออนุญาตขับรถยนต์ได้ ตรงนั้นมันมีเหตุผลอยู่ในตัวว่าเมื่ออายุถึงเกณฑ์แล้ว ปัญหาอยู่ที่การไม่ดูแลผู้เยาว์อย่างใกล้ชิด พอปัญหาเกิดขึ้นแล้ว จะออกมารับแทนหรือออกมาต่อสู้คดี มันเป็นเรื่องปลายเหตุแล้ว และบางทียิ่งทำยิ่งจะเป็นผลลบต่อตัวเด็ก”
นี่คงเป็นอีกหนึ่งผลสะท้อนของกรณีที่หลายๆ คนเรียกกันว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” ซึ่งไม่ได้ส่งผลร้ายต่อตัวเยาวชนเท่านั้น ยังสร้างความเสียหายและก่อให้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่จนยากจะลืมเลือน คงต้องรอดูกันต่อไปว่า “โศกนาฏกรรมโดยประมาท” ครั้งนี้จะสอนให้ผู้ใหญ่ในสังคมไทยหันมาปรับเปลี่ยน-รื้อโครงสร้างอะไรบ้าง หรือจะนิ่งเฉยต่อไป รอให้เกิด “แพรวา2” ออกมารังแกสังคมด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่รู้อีกกี่ศพ...
หมายเหตุ: ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 "ผู้ใดกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท"
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live
ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
ศาลอุทธรณ์แก้โทษจำคุก 2 ปีรอลงอาญา 4 ปี "แพรวา 9 ศพ"
อุทธรณ์จำคุก 2 ปี “แพรวา” ซิ่งชนบนทางด่วน-รอลงอาญาเพิ่มเป็น 4 ปี
1 ปี “แพรวา 9 ศพ” มธ.รายงานคืบหน้าคดี-ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตพรุ่งนี้