xs
xsm
sm
md
lg

น้องเล็กสุดน่าเลิฟ! “เดียร์น่า ฟลีโป” หมอก้อยจากสามีตีตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในชุดยาวประดับดอกไม้สีอ่อนหวานอาจแลดูขัดกับผลงานที่เป็นกระแสฟีเวอร์ของเธออย่าง “สามีตีตรา” ท่ามกลางบทบาทที่เชือดเฉือนปะทะคารม หมอก้อย - กันตาน้องเล็กของบ้านที่รับบทโดยเธอ - เดียร์น่า ฟลีโป เป็นส่วนเติมเต็มที่สวยงาม ทั้งความน่ารักสดใสและยังคงแอบซ่อนความแข็งแกร่งมั่นใจในแบบผู้หญิงเก่ง - working woman ไม่แปลกที่แม้ละครจะลาจอไปแล้วแต่ใครหลายคนจะยังอยากรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเธอ

“คิดว่าตัวเองเป็นคนยิ้มง่าย สบายๆ ไม่ค่อยซีเรียสอะไรมาก แต่ก็จะจริงจังเวลาที่ทำงาน ทุ่มเททำให้ออกมาดีที่สุด อยากให้ทุกคนยอมรับ” เธอเอ่ยหลังมองตัวเองอยู่พักหนึ่ง และคำตอบที่ออกจากปากเธอคือ มุมมองที่เธอมีต่อตัวเอง และหลังจากได้พูดคุยกับเธอทีมงาน M - lite ก็เห็นถึงความเป็นธรรมชาติที่สะท้อนผ่านเสียงหัวเราะเบาๆ เล็ดลอดมาตามบทสนทนาที่เรียงร้อยเรื่องราวในชีวิตของเธอ

สาวลูกครึ่งฝรั่งเศสอีสานผู้เติบโตจากอุดรธานี มีผืนผ้าไหมที่บ้านเป็นเพื่อนเล่นในบางวัน เธอเป็นเด็กเรียนธรรมดาๆ คนหนึ่งกระทั่งเข้ามาในกรุงเทพฯ โอกาสในวงการก็กระโดดเข้าหาเธอในรูปลักษณ์ของผู้จัดการดาราชื่อดัง เอ - ศุภชัย

“จริงๆ ตอนอยู่ที่อุดรฯก็ฮือฮากันมากตั้งแต่ละครยังไม่ออนแล้ว” เธอเอ่ยยิ้มๆ หลังจากที่ผู้จัดการคนดังอัปรูปถ่ายคู่กับเธอลงอินสตาแกรมพร้อมบอกว่า เธอคือเด็กใหม่ในสังกัด “หลังจากนั้นทุกอย่างมันก็เหมือนลงจังหวะกันพอดี ถือว่าเป็นดวงอยู่เหมือนกัน”

โอกาส...ไม่ปล่อยให้หลุดมือ

คำถามท้ายๆ ของการสัมภาษณ์ - “คติประจำใจคืออะไร?” แม้เป็นเพียงเครื่องประดับชิ้นหนึ่งที่ทีมงานคุ้นชินและลองไถ่ถาม หลายคนอาจมองว่าเป็นคำถามเชยๆ ที่มักมาพร้อมกับคำตอบเชยๆ ทว่ากับเธอคนนี้ คำตอบถือเป็นแก่นแกนหนึ่งของชีวิต

“จริงๆก็คงทำวันนี้ให้ดีที่สุด” เธอคิดก่อนตอบคำถามของเรา “และอย่าคิดว่า เรามีวันนี้ได้แล้วพรุ่งนี้เราก็จะมีวันนี้เหมือนเดิม เราต้องไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดมือไปเพราะทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอด มันไม่มีอะไรแน่นอน ดังนั้นเราจึงต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด”

กลับไปสู่ช่วงแรกของการสนทนา เธอยิ้มบางๆ ก่อนเอ่ยถึงวันแรกที่โอกาสในวงการบันเทิงเข้ามาสู่ชีวิตเธอ เพียง 2 ปีที่แล้ว...ไม่ได้ห่างไกลจากปัจจุบันนัก ภาพยังคงชัดเจน มันเป็นวันที่เธอกับเพื่อนๆ เดินทางเข้ามาสอบตรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจเป็นโชคชะตาเล่นตลก เธอไม่รู้มาก่อนว่า ร้านอาหารที่เธอกับเพื่อนแวะไปทานเป็นร้านของผู้จัดการคนดัง โชคชะตาเล่นตลกมากขึ้นไปอีก เมื่อเอ - ศุภชัยอยู่ในร้านเวลานั้นพอดี แต่คงไม่ใช่โชคชะตาหากเป็นดวงตาแหลมคมของผู้จัดการมือทองที่เดินเข้ามาทาบทามเธอเข้าสังกัด

“ตอนนั้นบังเอิญมาก มีโต๊ะว่างโต๊ะเดียว เป็นโต๊ะข้างโต๊ะพี่เอ พี่เอก็เลยเข้ามาทำความรู้จัก ขอเบอร์ไว้ แล้วก็เริ่มติดต่อให้เรามาแคสต์ละครเรื่องนี้ประมาณว่าเป็นละครของพี่แอน(ทองประสม) ตอนแรกก็ดีใจมากเพราะเราปลื้มพี่แอนอยู่แล้ว”

จากนั้นหลังจากเข้ากรุงเทพฯ เก็บตัวในฐานะเด็กบ้านพักในสังกัดเอ - ศุภชัย เพียงแต่งหน้าทำผมเธอก็ได้รับโอกาสแคสงานละครสามีตีตราทันที และเธอก็ได้รับเลือกทั้งที่ยังไม่ได้เรียนแอกติ้ง ยังไม่เคยมีผลงานใดๆมาก่อนเลยแม้แต่ชิ้นเดียว เป็นโอกาสในชีวิตที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว

“มันเป็นช่วงที่เร็วมากๆ เลยค่ะ เลยไม่ทันได้เรียนแอกติ้ง เหมือนบังเอิญพี่เอแค่ส่งรูปไปเสนอว่า เราเป็นเด็กใหม่ของพี่เอ เขาก็อยากเจอตัวเลย เรางงเหมือนกันเพราะยังไม่ได้ทำอะไรพี่เอก็โทร.มาบอก พี่แอนอยากเจอตัวให้ลงมาแคสหน่อย เราไปโดยไม่มีอะไรเลยค่ะ แอกติ้งก็ไม่เคยเรียนเหมือนไปตายเอาดาบหน้า”

เธอสารภาพว่า ตอนนั้นยังเล่นไม่ค่อยได้ บทที่ถูกยื่นมาให้ทำเอาเธอคิดในใจ ตายแน่ๆ จะทำได้เหรอ? เธอรู้สึกถึงบรรยากาศที่ตึงเครียด ทั้งผู้ใหญ่ผู้จัดละครนั่งกันอยู่ในห้อง

“ตอนนั้นคิดว่าได้เจอพี่แอนก็ดีใจแล้ว แต่พอแคสได้มันเหมือนตกใจ เฮ่ย! ชีวิตเราจะต้องไปถ่ายละครเหรอ? ตื่นเต้นมาก จากนั้นพี่เอก็ให้เรียนแอกติ้ง พี่แอนก็ส่งให้ไปเรียนการแสดงกับครูเงาะ(รสสุคนธ์ กองเกตุ)

ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงรอยต่อที่เธอจบจากชั้นมัธยมที่อุดรธานี เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ อย่างพอดิบพอดี จากบ้านที่อุดรธานีก็มาอยู่บ้านพี่เอที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว เริ่มถ่ายละครช่วงเมษายนในช่วงปิดเทอมจนถึงเปิดเรียนปี 1 ก่อนเปิดกล้องในเดือนตุลาคม

“เราไม่คิดว่าจะได้มาอยู่ในวงการก็ตั้งใจเรียนไป...เป็นอะไรก็ว่ากันอีกที แต่พอเราได้โอกาส มันเป็นงานที่หลายๆ คนอยากเข้ามาอยู่ในจุดนี้ เราก็คิดว่า ลองๆไปก่อน โอกาสมาก็น่าจะคว้าไว้”

ดาวดวงน้อยจากอุดรธานี

นับแต่เธอได้รับการทาบทามจากผู้จัดการมือทอง มีการอัปเดตรูปถ่ายคู่ลงอินสตาแกรม เธอก็เริ่มรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จากคนรอบข้างที่ตื่นเต้นกันทั้งโรงเรียน

“คนตื่นเต้นกันทั้งโรงเรียนพอรู้ว่าเป็นเด็กพี่เอ เหมือนต่างจังหวัดไงคะ ตื่นเต้นว่าจังหวัดเรามีดาราด้วย กรุงเทพฯ อาจจะเห็นดาราก็เฉยๆ แต่ต่างจังหวัดเขากรี๊ดมากเหมือนกัน” เธอเอ่ยยิ้มๆ “เราก็งงเหมือนกัน บางทีเดินๆไปกรี๊ดก็มี ตกใจ เฮ้อ(ถอนหายใจ) กรี๊ดพี่ทำไมคะ พี่ยังไม่มีผลงานเลย (หัวเราะ) แต่ก็เข้าใจเขาคงปลื้มของเขา ก็มีชอบมาวิ่งขอถ่ายรูป มาขอลายเซ็นซึ่งตอนนั้นเราก็ยังไม่มีลายเซ็นก็เลยเขียนชื่อให้แทน”

ในช่วงวัยเด็กที่อุดรธานีนั้น เธอเผยว่า ตัวเองเป็นเด็กเรียนแบบที่อยู่ในกลุ่มแก๊งของเพื่อนเด็กเรียนด้วยกัน วันเสาร์ - อาทิตย์ของเธอจึงมักจะหมดไปกับการเรียนพิเศษมากกว่ากิจกรรมอย่างอื่น

“เรากลัวเรียนไม่ทันเพื่อนเลยกลายเป็นเด็กที่รู้สึกว่า ถ้าไม่เรียนพิเศษมันรู้สึกเหมือนชีวิตว่างเปล่าเกินไป กังวลว่าเปิดเทอมจะเรียนทันเพื่อนหรือเปล่า ช่วงปิดเทอมก็จะเรียนพิเศษตลอดไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่างเลยค่ะ”

งานอดิเรกในยามว่างของเธอ แม้จะแปลกสักนิดแต่ก็เป็นสิ่งที่เธอทำแล้วรู้สึกสบายใจ มันคือการทำกุหลาบประดิษฐ์จากกระดาษย่น ในวิชางานประดิษฐ์หรือศิลปะเธอจึงเป็นที่พึ่งของเพื่อนที่ไม่ชอบงานประดิษฐ์

“เราเป็นคนชอบทำดอกกุหลาบจากกระดาษย่น พวกงานประดิษฐ์มันทำแล้วสบายใจ เหมือนโรงเรียนมีสอนตอนอยู่ม. 3 พวกวิชาประดิดประดอย วิชาศิลปะแล้วเราชอบมาก รู้สึกมีความสุขทำแล้วมันสวยดี บางคนทำไม่ได้ แต่เราชอบ เพื่อนก็จะมาให้เดียร์น่าทำให้หน่อยต้องเพราะส่งอาจารย์คนละ 20 ดอก เราก็จะทำ ถึงตอนนี้ก็ยังจำได้อยู่ ชอบทำแต่ต้องมีเวลาว่างจริงๆ”

ทว่ากับคนสวยอย่างเธอ ไม่แปลกที่รุ่นพี่หรือครูจะทาบทามให้มาช่วยงานที่ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของโรงเรียนอย่างงานถือป้ายวันกีฬาสี บอกได้ว่า แม้เธอจะไม่ได้เด่นด้านกิจกรรมแต่หากมีงานให้ช่วย เธอก็ยินดีช่วยเสมอ

“จริงๆ มันก็เป็นกิจกรรมที่สนุกดี เราได้ทำร่วมกับเพื่อนๆ เป็นความทรงจำที่เวลานึกย้อนกลับไปก็ตลกดีนะ ผ่านอะไรมา มันกลายเป็นมิตรภาพที่แน่นแฟ้น เขามักจะบอกกันว่า เพื่อนแท้เรามักจะเจอช่วงมัธยม แม้จะไม่เสมอไป แต่เรารู้สึกว่ามันจริง ตอนนี้เราก็ยังคุย ยังปรึกษา ยังโทร.หากันตลอด”

และด้วยความเป็นเด็กช่วยกิจกรรมตลอดในมุมมองของอาจารย์ เธอจึงเป็นนักเรียนตัวอย่างคนหนึ่ง ยิ่งเธอได้เข้าวงการ อาจารย์ก็เอ่ยถึงเธอบ่อยครั้งในฐานะรุ่นพี่ที่รุ่นน้องควรเอาเป็นแบบอย่าง เธอกลายเป็นไอดอลของโรงเรียนขึ้นมาทั้งที่ยังไม่มีผลงานในวงการบันเทิง

“เราเป็นเด็กเรียนดี แต่ก็ไม่ได้เป็นลูกศิษย์คนโปรดของอาจารย์ขนาดนั้น อาจจะจำได้ว่า เออคนนี้โอเคนะ ให้ช่วยงานอะไรก็ช่วย และอาจารย์จะชอบเล่าให้น้องๆฟัง ดูพี่เขาตั้งใจเรียนมากๆ รุ่นน้องก็มาเล่าให้ฟัง เราก็บอกว่า พี่ไม่ได้ดีขนาดนั้นหรอก อาจารย์คงอยากให้น้องๆมีกำลังใจ ตัวเราเองได้ฟังก็รู้สึกดี เหมือนอาจารย์เขานึกถึงเราและเห็นว่าเราเป็นลูกศิษย์ที่ดีของเขา”

คุณแม่ขาลุยกับคุณพ่อเจ้าระเบียบ

โลกนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ประกอบขึ้นจากสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน ชาย - หญิง, แสงสว่าง - ความมืด, หายใจเข้า - หายใจออก กระทั่งความเป็นคุณแม่ขาลุยกับคุณพ่อเจ้าระเบียบ แม้จะตรงข้ามกันแต่ก็ประกอบขึ้นมาเป็นเธอ สำหรับการใช้ชีวิตเธอมองว่า ตัวเองถูกเลี้ยงแบบลุยๆ เรียนรู้เอง อยากทำอะไรก็ทำเลย

“แม่เป็นคนเลี้ยงแบบลุยๆ อยากให้ลูกทำอะไรเอง เรียนรู้เอง ไม่ได้ดูแลแบบตัวติดกัน ไม่มีคำพูดประเภท อันนี้ไม่ได้นะลูก ไม่ๆ แม่จะไม่ค่อยว่าอะไร อาจจะตามใจแต่ก็ไม่ได้ตามใจในเรื่องเสียหาย เหมือนสอนให้เราช่วยเหลือตัวเองได้”

การเลี้ยงแบบลุยๆ ของแม่ด้านหนึ่งอาจมองว่า ไม่เอาใจใส่ แต่เธอกลับเห็นว่า การได้มีอิสระกลายเป็นสิ่งที่เพื่อนๆ อิจฉาเสียด้วยซ้ำ หากขอไปดูหนัง ไปร้องคาราโอเกะ ไปเดินห้างกับเพื่อนๆ แม่จะบอกเพียงว่า เออ ไปสิ ขณะที่บางคนต้องตรงกลับบ้านอย่างเดียว เธอเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า เพื่อนๆหลายคนอยากมีแม่ที่เข้าใจลูกอย่างเธอ

“แม่ไม่เคยห้ามเลย กลับดึกไม่เป็นไร บอกมาอยู่ไหนเดี๋ยวแม่ไปรับ คือเพื่อนทุกคนก็จะบอกว่า แม่เราใจดีมากเลย อยากมีแม่แบบนี้เหมือนเป็นแม่ที่เข้าใจลูกเป็นเพื่อนลูก เราก็สบายใจคุยกับแม่ได้ทุกเรื่อง เข้าใจเราตลอด”

แม้แต่กับการเดินทางไปไหนมาไหนคนเดียว หากไม่ว่างไปส่ง แม่ก็ให้เธอเดินทางไปเอง ขึ้นรถเมล์ รถสองแถว ตัวเธอเองก็ไม่ได้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแต่กลับชอบเสียอีกที่ได้ประหยัด จนติดเป็นนิสัยเข้ามาอยู่กรุงเทพฯแล้วก็ยังนั่งรถเมล์ไป - กลับอยู่เสมอ

“เด็กๆ ขึ้นรถเมล์ไปเรียนเอง แต่เวลากลับคุณแม่จะมารับเพราะว่ามันอาจจะดึกเกินไป แม่ก็เป็นห่วงบ้าง”

ทว่ากับขั่วตรงข้ามอย่างคุณพ่อที่เป็นคนเจ้าระเบียบ ก็เป็นส่วนเติมเต็มให้เธอ ทั้งในส่วนของการใช้ชีวิต การเก็บกวาดห้องของตัวเองที่มีความหมายมาถึงการจัดระเบียบชีวิตการทำงาน

“พ่อจะค่อนข้างเข้มงวด เป็นคนเจ้าระเบียบ เราก็ต้องมีระเบียบอย่างห้องนอนก็ต้องเก็บเอง ไม่ให้คนมาเก็บให้”

แต่กับการใช้ชีวิต ด้วยความเป็นฝรั่งพ่อก็จะชอบให้เธอดูแลตัวเองอยู่แล้ว สิ่งที่เข้มงวดเป็นพิเศษจึงมักจะเป็นเรื่องของการดูแลความสะอาดของพื้นที่ส่วนตัว หลายครั้งพ่อจะเช็คความสะอาดตามซอกตามมุม หากยังไม่เป๊ะก็ต้องทำความสะอาดอีกครั้ง

“พ่อจะชอบบอก ดูสิ...ภายนอกดูเป็นผู้หญิงสะอาดแต่ถ้าคนอื่นมาเห็นห้องรกๆ มันคงไม่ดี พ่อจะไม่ชอบให้ห้องรกแม้จะไม่ใช่ห้องของเขาเอง พ่อจะตรวจดูฝุ่น จับตามตู้ หาตามซอก หากยังเจอเราก็ต้องทำความสะอาดใหม่ จนถึงตอนนี้เราอยู่บ้านพี่เอ ดูแลห้องเองเราก็อยู่ไม่ได้ถ้ามันสกปรกมากๆ บางคนเข้าห้องเราจะได้สบายตาไม่รกเป็นผลดีกับภาพลักษณ์ของเราด้วย”

อีกคนที่ถูกเลี้ยงดูมาพร้อมกับเธอ ถูกให้จัดห้องเป็นระเบียบชนิดห้ามมีฝุ่นก็คือน้องชายฝาแฝด เธอเล่าถึงน้องชายด้วยรู้สึกคิดถึง แม้ตอนเด็กๆ จะชอบทะเลาะกันก็ตาม

“ตอนเด็กๆก็ทะเลาะกันเป็นธรรมดาแต่ตอนโตกลับเป็นห่วงกัน เมื่อก่อนไม่ได้สนใจทำอะไรก็เรื่องของแกสิ เดี๋ยวนี้ถามกันบ่อยๆ จะทำอะไร เป็นยังไงบ้าง สบายดีมั้ย เพราะถึงจะเรียนอยู่กรุงเทพฯ เหมือนกันแต่ห่างกันและพอไม่ค่อยได้เจอเลยกลับกลายเป็นคิดถึงกันมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม หลังเข้าวงการ เธอต้องเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้แม่ของเธอห่วง ทว่าความเป็นห่วงในแบบของแม่ที่เลี้ยงดูลูกสาวแบบให้เผชิญโลกเองคือการสั่งสอนแนะนำเพียงว่า ต้องรู้จักมองโลกให้รอบด้านมากขึ้น

“แม่บอกว่า ตัวเดียร์น่าบางทีมองโลกในแง่ดีเกินไป อย่าไปคิดว่าทุกคนจะคิดดีกับเราเสมอไป ต้องมองเผื่อๆไว้ด้วย แม่เป็นห่วงเพราะบางทีเราโดนคนพูดอะไรมาก็เชื่อ กลัวเราจะเชื่อคนง่ายไป แม่ก็เลยบอกว่า ลูกต้องเด็ดขาดกว่านี้ อย่าเชื่อใจใครง่ายๆ มองโลกให้มันเป็น 2 ด้าน”

สาววรรณคดี

หลายคนอาจมองว่า วรรณคดีเป็นเพียงเรื่องแต่งประโลมโลก บ้างอาจเห็นถึงขั้นว่า ไม่มีอาชีพใดๆ รองรับแน่นอน กับตัวเธอที่เลือกเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ เอกวรรณคดีไทย เผยว่า ตัวเองเลือกคณะเรียนตามความชอบและความอยากรู้ของตัวเองมากกว่า

“เป็นคนชอบอ่านหนังสือคะ เพราะว่าทุกวันเกิดหรือวันคริสต์มาสพ่อจะต้องซื้อหนังสือมาให้ทุกครั้ง” เธอเผยถึงต้นต่อของความรักในตัวหนังสือ “อาจจะมีอย่างอื่นแต่ต้องมีหนังสือรวมมาด้วยเสมอ พ่ออยากให้เรารักการอ่านเราก็เลยได้ตรงนั้นมา คือต้องอ่านให้จบด้วย พ่อจะมาเช็กด้วยว่าอ่านหรือเปล่า เป็นยังไงบ้าง ชอบมั้ย สนุกหรือเปล่า เราก็เลยต้องอ่าน ไม่อ่านเดี๋ยวตอบไม่ได้ (หัวเราะ)”

โดยหนังสือที่เธอชื่นชอบนั้น เธอมักจะอ่านหนังสือวรรณกรรมจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อซึ่งแน่นอนว่าเป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่พิมพ์วรรณกรรมอมตะที่เป็นงานคลาสสิกของโลกออกมาอย่างต่อเนื่อง

“ต้องอ่าน 2 - 3 รอบกว่าจะเข้าใจลึกซึ้ง เพราะบางทีมันต้องวิเคราะห์ตีความด้วย แต่ถ้าว่างๆ เราอ่านเล่นๆ ก็ไม่จริงจัง อ่านไปชิลชิล เบื่อก็เปลี่ยนเล่มเลิกอ่าน แต่มันก็จะมีหนังสือที่ใช้สอบนะ เรื่องนี้ต้องสอบก็อ่านจริงๆ วิเคราะห์อันนี้คืออะไร”

หนังสือแนวโปรดของเธอคือแนวผจญภัยที่เธอมีเป็นเล่นต่อเนื่องหลายเล่มด้วยกัน อีกแนวที่เธอแอบชอบคือแนวโรแมนติกน่ารัก

“อ่านแล้ว มันเขิน(ยิ้มเขินๆ) แนวน่ารักก็มี แต่ไม่เยอะเพราะส่วนมากจะเป็นนางในวรรณคดีมากกว่า คือเราไม่ได้อ่านนิยายแบบวัยรุ่นมากด้วย เราจะชอบบทของนางในวรรณคดีแต่กุ๊กกิ๊กก็มีอยู่ เราจะจับพวกงานวรรณกรรมมากกว่าเพราะมันได้ใช้กับการเรียนด้วย”

หากจะให้เอ่ยถึงท่อนความที่ประทับใจจากการอ่าน เธอคิดอยู่พักหนึ่งก่อนเล่าถึงฉากหนึ่งของหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ จากต้นส้มแสนรักเป็นฉากของเด็กคนหนึ่งที่พูดแทงใจดำพ่อที่ตกงาน

“เขาพูดประมาณว่า ทำไมพ่อไม่มีเงิน! โดยที่พ่อเขาแอบฟังอยู่ก็เสียใจมาก เขารู้สึกผิดเลยออกไปทำงานขัดรองเท้าเพื่อเอาเงินไปซื้อของที่พ่อชอบ แล้วบอกกับพ่อว่า ผมขอโทษนะ ที่พูดอย่างนั้นไป มันซึ้งดี น่ารัก ระหว่างเรื่องมันทำให้เห็นถึงความคิดจิตใต้สำนึกของตัวละครในเรื่อง”

ทั้งนี้ กับงานการแสดงที่ผ่านมาเธอก็นำเอาความรู้จากวิชาที่เรียนมาปรับใช้ ทั้งการตีความบทถึงสิ่งที่ตัวละครต้องการ จนถึงการเลือกคำพูดในการแสดงที่จะสามารถสื่ออารมณ์ได้เต็มความหมายมากขึ้น

“เราก็นำมาปรับใช้ทั้งการอ่านบทที่ต้องตีความให้รู้ว่าตัวละครต้องการอะไร และการเลือกใช้คำเพราะบางทีพูดความหมายเดียวกันแต่หากใช้คำศัพท์ให้ถูกต้องคนฟังก็จะรู้สึกประทับใจมากขึ้น”

ผืนผ้าไหมกับวัยเด็ก

เมื่อเอ่ยถึงความฝันในอนาคต เธอมองว่า อยากกลับไปทำธุรกิจสานต่อกิจการของครอบครัว กิจการผ้าไหมที่บ้านของเธอเป็นโรงงานทอผ้าไหมแท้

“ปัจจุบันนี้มันก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ อย่างที่บ้านก็จะทำผ้าไหมแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ทำเป็นชิ้นๆบ้าง ทำผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าถุงบ้าง ส่วนใหญ่คนที่มีอายุหน่อยจะชอบ เราก็อยากอนุรักษ์ไว้”

ตั้งแต่เด็กเธอเติบโตมากับกระบวนการทำผ้าไหม ตั้งแต่การถักทอที่เธอมักไปแย่งคนงานทำอยู่เสมอ แม้ในขั้นตอนของการย้อมจะถูกแม่สั่งห้ามไว้ก็ตาม แต่หลายสิ่งหลายอย่างยังคงอยู่ในความทรงจำสนุกสนานที่มีโรงงานทอผ้าไหมเป็นเหมือนสนามเด็กเล่น

“ตั้งแต่เด็กจะเห็นตลอดทุกขั้นตอน ตอนนี้กลับไปก็ต้องไปที่ร้านช่วยคุณแม่บ้าง ตอนเด็กๆ ก็เคยไปทอเล่นแล้วก็จะโดนว่า ไปแย่งงานคนงาน”

ผ้าไหมแต่ละผืนต้องใช้เวลานาน การจับกระสวยสอดไปตามราวทอผ้าผสานออกมาเป็นผืนกลับเป็นงานที่สนุกสำหรับเธอในวัยเด็ก

“คนงานก็จะชอบ เด็กๆน่ารัก มาทอผ้าเล่นเขาก็จะกวักมือเรียก เราทำทุกอย่างเลย ชอบ ขอเขาทำด้วย เป็นขั้นตอนตั้งแต่เอาไหมไปย้อม ปั่นไหมให้เป็นหลอด ทอผ้าแต่ตอนย้อมผ้าไม่ให้ทำสงสัยแม่กลัวตกหม้อ(หัวเราะ) มันอันตรายด้วย”

แต่กับความฝันในฐานะนักแสดง เธอไม่ได้มองไกลมาก เพียงคิดว่า ทำให้ดีที่สุด แล้วก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เท่านั้น “ปรับปรุงตัวเองไปเรื่อยๆ ในสิ่งที่เราอาจจะทำพลาด ยังไม่คิดว่าเราจะต้องไปถึงจุดไหนในวงการ”

ในส่วนของบทบาทที่อยากเล่น เธออมยิ้มพร้อมเปรยว่า อยากได้บทท่านหญิงที่ดูนิ่งๆแต่สง่างาม เป็นบทในฝันที่คงยากจะได้รับโอกาสเล่น

“เราอยากแต่งตัวแบบเป็นเจ้าหญิงคงอลังการน่าดู (หัวเราะ) แต่กับเรื่องนี้สามีตีตรานี่ก็ถือว่าแต่งตัวสวยนะคะ ทุกคนทุกตัวละครเลย”

น้องเล็กไฟแรง...น่าตบ!

“เล่นได้น่าตบมาก!” จุ๋ย - วรัทยา นักแสดงรุ่นพี่เอ่ยกับเธอหลังฉากปะทะคารม แน่นอนมันเป็นคำชมสำหรับน้องเล็กที่รับบทเฉือดเฉือดอารมณ์ในผลงานชิ้นแรกกับก้าวแรกในวงการ

“ตอนนั้นก็ตื่นเต้นเหมือนกัน ต้องไปพูดแบบนั้น อารมณ์เหมือนพูดแดกดันกัน ต่อปากต่อคำ เราไม่มีทางไปเขาจะพูดยั่วโมโหเราแต่เราฉลาดกว่านั้นต้องไม่ตกหลุดเขาแล้วพูดกลับไป เป็นคำพูดเจ็บๆ พี่จุ๋ยก็บอก ตอนเล่นพี่โกรธมากนะ เดียร์น่าเล่นได้น่าตบมาก พี่ชอบนะ” เธอเล่าด้วยความดีใจ

เธอเผยว่า ไม่กล้าคาดหวังกับการแสดงครั้งแรกด้วยเพราะยังไม่มีประสบการณ์ในการแสดง ทว่าเธอก็พยายามทำการบ้านอย่างหนัก และใส่ใจกับบทที่ได้มา

“ตอนนั้นแบบไม่ทำอะไรเลย กลับบ้านมาก็ไม่ได้แวะไปคุยกับเพื่อนข้างๆห้อง เข้าห้องตัวเองอ่านบท เราก็ต้องอ่านทั้งเรื่องก่อนแล้วค่อยๆ มา เออ วันนี้ต้องเล่นฉากนี้ก็ต้องอ่านล่วงหน้าไป ต้องคิดว่าเราจะเล่นยังไง แต่พอเข้าฉากจริงๆ ผู้กำกับก็ช่วยตลอด”

การได้ร่วมงานกับนักแสดงเจ้าบทบาททั้งพลอย - เณอมาลย์ และนก - จริยาที่เล่นเป็นครอบครัวเดียวกัน แม้จะทำให้เธอรู้สึกเกร็งในช่วงแรก แต่ความเป็นมืออาชีพของทุกคนก็ช่วยให้เธอผ่านฉากยากๆมาได้ ทั้งยังช่วยให้คำแนะนำจนการแสดงของเธอเป็นที่ประทับใจคนดู

“อาจจะมีเกร็งๆ กับนักแสดงที่เราเล่นด้วย เพราะเขาเป็นรุ่นใหญ่มีแต่คนเก่งหมดเลย ทั้งพี่พลอย พี่จุ๋ย พี่นก แล้วต้องเข้าฉากกับเขาบ่อยเพราะเราเป็นครอบครัวกัน บางทีเราพูดผิดก็ไม่มีใครว่าอะไรเพราะว่าเขาก็ยังให้โอกาส ให้กำลังใจ บอกไม่เป็นไรลองใหม่นะ”

กับผลตอบรับที่หลายคนชื่นชมเธอจากผลงานแรก เธอยังคงมองตัวเองในจอทีวีและตั้งคำถาม ทำไมพูดแบบนี้ น่าจะพูดแบบนี้ดีกว่า บอกได้ว่า เธอยังคงต้องการปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ

“กระแสในไอจีเขาก็จะบอกว่า น่ารักมากๆเลย เล่นดีจังเลยคะ ชอบกันตามากๆ เราเห็นแล้วเราก็รู้สึกเป็นกำลังใจ แต่เราก็รู้ว่า จริงๆเรายังต้องพัฒนาตัวเองไปอีกเยอะเลย ก็ขอบคุณสำหรับคำชมทำให้เราอยากจะทำให้ดียิ่งขึ้นๆ”
....



...

ชื่อ : เดียร์น่า ฟลีโป (Diana Flipo)
ชื่อเล่น : เดียร์น่า (Diana)
เกิด : 11 สิงหาคม 2537
นํ้าหนัก : 46 กก. ส่วนสูง : 170 ซม.
การศึกษา : ม.3โรงเรียนดอนบอสโกวิทยา ม.4โรงเรียนอุดรพิทยากูล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ เอกวรรณคดีไทย
สีที่ชอบ : สีแดง สีเหลือง สีขาว
อาหารจานโปรด พิซซ่า, ข้าวหมูทอด,มัสมั่นไก่
idol : แอน ทองประสม, พลอย เฌอมาลย์
งานอดิเรก : อ่านหนังสือ, เล่นบาสเกตบอล

เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพโดย ปวริศร์ แพงราช














กำลังโหลดความคิดเห็น