xs
xsm
sm
md
lg

เผยชีวิตหนีตาย-ข้ามแดน-ค้ามนุษย์ ผ่านปากคำ “โจซู วิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่อยู่อาศัยของแรงงาน ที่เรียกว่า บ้าน ได้ไม่เต็มปาก
แทบไม่มีใครไม่รู้จักความโหดเหี้ยมทารุณของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติที่ตีแผ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นวันเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มาตรการการจับกุมแสนคุมเข้มภายใต้บทลงโทษอันเด็ดขาดของทางการ ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคม จนไม่มีผู้ใดล่วงรู้เลยว่าแท้จริงแล้วพวกเขาไม่ได้ไปไหน หากยังคงแฝงเร้นตัวอยู่ในคราบคนธรรมดา เป็นแรงงาน เจ้าของธุรกิจ เจ้าหน้าที่ ซุ่มกระทำการล่อลวงเป้าหมายรายวัน อยู่ในดินแดนที่ใช้ล่าเหยื่อมาแล้วเป็นพันๆ รายตลอดช่วง 4-6 ปีมานี้ ดินแดนที่มีชื่อเรียกว่า "สมุทรสาคร"

และเรื่องราวต่อจากนี้คือประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ โจซูวิน แรงงานชาวพม่าวัย 46 ปี ผู้ซึ่งภรรยาตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติเมื่อ 3 ปีก่อน และย่อหน้าต่อจากนี้คือภาพเหตุการณ์ที่เขาถ่ายทอดเอาไว้ทั้งหมดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า... "เหตุการณ์วันนั้น ผมไม่มีวันลืม!"



วินาทีลักลอบข้ามแดน!
ปลายเดือนพฤษภาคม 2554 ท่ามกลางบรรยากาศมืดฟ้ามัวฝน วันที่สายลมเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมชายฝั่งทางตอนเหนือของจังหวัดตะนัดปิน รัฐพะโค(หงสาวดี) ประเทศพม่า เรือประมงสีดำทะมึนความยาวราว 16 เมตร ที่แล่นอยู่ใจกลางความมืด กำลังถูกคลื่นทะเลลูกแล้วลูกเล่าซัดปะทะเข้าอย่างหนักในระหว่างมุ่งหน้าสู่ชายแดนทิศตะวันตกของประเทศไทย

"ตูมมม!! ตูมมม!!" เสียงดังกึกก้องขณะท้องเรือกระทบผืนน้ำ ทำให้เรือทั้งลำสั่นไหวราวกับว่า มันกำลังจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ทว่า บรรยากาศภายในเรือยามนั้นกลับยังเงียบเชียบ มีเพียงเสียงหัวใจของชาวพม่า 40 ดวงเท่านั้น ที่ยังคงเต้นดังระงมสะท้อนให้เห็นถึงความหวั่นวิตกหวาดระแวง ด้วยทุกคนรู้ดีว่า "นี่คือการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายที่ต้องใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน เป็นการเดินทางข้ามดินแดนเพื่อมาแสวงหางานทำที่ต้องอาศัยโมงยามแห่งความมืดมิดและช่วงฤดูมรสุมคอยเป็นเกราะกำบัง ให้รอดพ้นจากสายตาของกองกำลังเจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ ผู้เคยยิงสกัดกั้นเรือลักลอบมาแล้วกว่าครึ่ง ให้ไม่เคยไปถึงจุดหมายปลายทาง.."

ทว่า 11 ชั่วโมงของการเดินทางแห่งความทรมานหลังจากนั้นก็ล่วงผ่านไปด้วยดี ทั้ง 40 ชีวิต ผู้ลาถิ่นเกิดมาเพราะความจนบีบบังคับ ถึงที่หมายโดยปลอดภัย ไม่มีด่านสกัดใดขอตรวจสอบ และได้มายืนอยู่บนแผ่นดินไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในท้ายที่สุด ก่อนจะขึ้นรถตู้ที่มาคอยจอดรับตรงจุดนัดพบเพื่อส่งตัวไปอีกทอด ยังดินแดนในฝันที่เคยได้สัมผัสจากเพียงคำบอกเล่า นั่นก็คือ "มหาชัย” อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร" และที่นี่เองที่จะทำให้ความหวัง ความฝัน ของโจซู วินและอีกหลายๆ ชีวิต "พังทลาย"



ไม่มีทางเลือก จำยอมต้องตกเป็น “เหยื่อ”
เมื่อรถเเล่นมาจนถึงที่หมาย ทุกคนจะพบกับนายหน้าชาวพม่า รวมถึงนายจ้างจากโรงงานต่างๆ มารอเลือกกำลังในการผลิตหน้าใหม่ และชาวพม่าในวันนั้นจะไม่สามารถเลือกงานเลือกนายจ้างได้ ด้วยเหตุเพราะทุกคน ไม่มีใบอนุญาตเข้ารับทำงานภายในประเทศหรือ (work permit) ไม่มีวีซ่า ไม่มีพาสปอร์ตใดๆ ติดตัวมาเลย ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนภาวนา คือการหางานให้ได้เร็วสุด เพื่อให้นายจ้างที่รับตนเข้าทำงาน ช่วยจ่ายหนี้ค่าผ่านทางข้ามประเทศให้กับนายหน้าเป็นจำนวนเงิน 15,000 บาทไปก่อน แล้วค่อยมาหักจากค่าแรงในแต่ละเดือนตามแต่ผู้ว่าจ้างจะกำหนด

ในวันนั้น โจซู คือหนึ่งในผู้โชคดีที่ได้รับเข้าทำงานยังโรงงานเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับเขา มันคือภาพความประทับใจแรกนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่แผ่นดินที่เขาไม่รู้จักผืนดินนี้เลย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความดีใจ เขากลับไม่เคยล่วงรู้เลยว่าชีวิตของเขาตอนนั้น เหมือนหมูตัวหนึ่งที่กำลังเดินทางสู่โรงฆ่าสัตว์



โรงเชือดมนุษย์!
เพราะการตกเป็นลูกหนี้ของนายจ้างตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน เป็นสิ่งที่ชีวิตแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ไม่เห็นชอบกับอะไรที่ผู้จ้างเสนอ แต่ทางเลือกมีข้อเดียวคือจำยอมแม้กล้ำกลืนฝืนทน

โจซู เดินทางมายังบ้านหลังใหม่ที่โรงงานจัดเตรียมให้ มันเป็นตึกแถวซอมซ่อในชุมชนแออัดที่มีแรงงานข้ามแดนหลายพันชีวิตอาศัยอยู่ แต่ละห้องจะถูกแบ่งสัดส่วนให้นอนกันร่วม 10 คน ทั้งเหม็นกลิ่นน้ำเน่า ทั้งสกปรก ตามทางเดินเต็มไปด้วยคราบน้ำลาย น้ำหมาก รอยมือ รอยเท้า และกองขยะ เท่านั้นยังไม่พอ ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่เขาทำงานอยู่ภายในโรงงานแห่งนี้ เขายังต้องถูกทำร้ายร่างกายอย่างทารุณซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“เถ้าแก่ไม่ดี ใช้งานไม่ได้ดั่งใจก็ตี เคยโดนกระทืบที่หน้าอกหลายครั้ง โดนตีหัวหลายครั้ง และพอตีเสร็จ ถ้ามีคนงานอื่นๆ มอง หรือมีคนจะช่วย เถ้าแก่ก็จะแจ้งตำรวจจับ บอกตำรวจลงข้อหาก่อเรื่องในโรงงาน” โจซูถ่ายบรรยายเรื่องราวทั้งหมดผ่านล่าม แววตาของเขาขณะเล่าแดงก่ำคล้ายกับว่ามีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่เต็มเปี่ยม

เขาเริ่มถูกทำร้ายร่างกายจากนายจ้างหนักขึ้น เนื่องจากผลผลิตของเขาไม่ได้ตามเป้าหมาย ด้วยไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน หนำซ้ำอายุยังไม่ใช่วัยหนุ่มสาว แต่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ เกือบวันละ 15 ชั่วโมง จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า "ทำไมไม่หาใครมาช่วย?"

สิริวัณ ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ให้เหตุผลว่า “เป็นเพราะช่องทางการเข้าถึงที่จะไปร้องเรียนของแรงงานต่างด้าวมีน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย จะยิ่งน้อยมากกว่าแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกต้อง สังเกตได้จากการถูกทำร้าย ถูกเอาเปรียบ ส่วนใหญ่จะก็มักจะเกิดขึ้นกับแรงงานที่ผิดกฎหมายเท่านั้น

เพราะตัวนายจ้างเองรู้ว่าคนพวกนั้นยังไงก็ต้องทน โวยไม่ได้ แจ้งความไม่ได้ ถึงไปแจ้งก็แล้วไง นายจ้างแค่ถูกปรับ แต่ตัวเองต้องถูกส่งตัวกลับประเทศไปลำบากเหมือนเดิม เลยไม่มีใครกล้า แล้วเรื่องที่นายจ้างรับลูกจ้างผิดกฎหมายเข้าทำงาน หรือรังแกลูกจ้าง จริงๆแล้วมันผิดนะ นายจ้างเองก็ถูกจับ ถูกปรับตั้งเยอะตั้งแยะไป ไม่ใช่ว่าจะไปจับแต่ลูกจ้างที่ผิด แต่ที่ยังมีให้เห็นในโรงงานหลายๆแห่งซึ่งยังไม่ถูกปรับ ไม่ถูกกวาดล้าง ดิฉันว่าเรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์มากกว่า เหมือนงูกินหาง




เมื่อความหวังเดียวถูกเหยียบ
ระหว่างนอนพักรักษาตัวภายในห้องด้วยสภาพร่างกายที่บอบช้ำทั้งกายและจิตใจ กำลังใจเดียวที่โจซูเหลืออยู่ก็คือ "มะเอมา" หญิงชาวพม่าวัย 36 ปี ผู้เป็นภรรยาของเขาที่พบรักกันขณะทำงานในโรงงานที่เเห่งนี้ ทุกๆเย็นหลังเลิกงาน มะเอมาจะกลับมาดูแลเขา ซื้อข้าวซื้อน้ำมาให้ ทำอยู่อย่างนั้นราวหนึ่งสัปดาห์ จนเขาทั้งคู่ตกลงปลงใจจะไปจากที่นี่

วันรุ่งขึ้น ทั้งคู่ตัดสินใจนำเรื่องขอลาออกนี้ไปบอกกับนายจ้าง พร้อมกับนำเงินที่หยิบยืมจากเพื่อนฝูงที่รู้จักไปจ่ายหนี้ค่าผ่านทางที่เคยติดค้างอยู่จนหมด แต่เหมือนในวันนั้น นายจ้างก็ดูไม่ค่อยพอใจ ซ้ำยังพูดจาในเชิงข่มขู่ ดูถูก เย้ยหยัน จนโจซูและภรรยาต้องเดินหนี เลือกจะไม่ทนฟัง และไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น เรื่องราวไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น "มะเอมา หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย"



นี่แหละ! “การค้ามนุษย์"
ถึงจะรู้ดีว่าการหายตัวไปของภรรยาเกิดขึ้นเพราะใคร แต่สถานที่ที่เปิดรับปัญหาของคนชั้นแรงงาน มีไม่มากนัก และที่สำคัญครั้งนี้ มันไม่ใช่โรงพัก!

เมื่อเวลาเที่ยงตรงของวันที่ 19 มิถุนายน 2555 มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติหรือ LPN สำนักงานสมุทรสาคร ได้รับแจ้งว่า มีคนงานพม่าหายตัวไป ผู้แจ้งคือ นาย โจซู วิน ที่เชื่อว่าภรรยาของตนถูกนายจ้างส่งค้ามนุษย์ เพราะหลังจากที่นายจ้างทำร้ายร่างกายจนความอดทนถึงขีดสุด เขาจึงตัดสินใจลาออก และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ภรรยาของผู้แจ้งเรื่อง ก็ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ

“พอผมเก็บของที่ห้องเสร็จ ผมก็รีบกลับมารับเอมา (ภรรยา) แต่พอมาถึงที่โรงงาน เถ้าแก่ไม่ให้ผมเข้าไป บอกว่าจะแจ้งตำรวจจับ ผมเลยโทรบอกเพื่อนที่อยู่ในโรงงานให้ช่วยตามหา แต่เถ้าแก่กลับแจ้งตำรวจจับเพื่อนของผม ผมเครียดมาก ไม่รู้จะไปบอกให้ใครช่วย เลยมาที่นี่เพราะมีคนแนะนำ” โจซู ย้อนเหตุการณ์ตอนเกิดเหตุผ่านล่ามของมูลนิธิด้วยน้ำเสียงกระวนกระวายใจ

ภาพแรงงานต่างด้าวถูกทำร้ายร่างกายและถูกส่งค้ามนุษย์ อาจเป็นเรื่องช็อกหัวใจของคนในสังคมทุกครั้งที่มีข่าวขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ แต่สำหรับ นายปิยะไกร สีละโคตร เจ้าหน้าที่คุ้มครองสิทธิและป้องกันการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ของมูลนิธิส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ หรือ LPN ผู้รับเรื่องของโจซูในวันนั้นแล้ว กลับมองเห็นเหตุการณ์เช่นนี้เป็นภาพเจนตา

"ในเคสของโจซู ขั้นต้นเชื่อว่าเมียของเขาถูกส่งค้ามนุษย์จริง ๆ เพราะโรงงานที่โจซูทำ ผมเคยนำทีมงานมูลนิธิประสานงานกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอโคกขามเข้าจับกุมข้อหาขบวนการค้ามนุษย์มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่รู้ทำไมถึงยังไม่เข็ด เสียดายที่ครั้งนี้เราไม่มีหลักฐานพอ เลยได้แต่รอดูไปก่อน”

เพราะกรณีการถูกค้ามนุษย์ เป็นสิ่งที่รุนแรงต่อความรู้สึกของผู้ถูกกระทำอย่างมาก และแบ่งความรุนแรงออกได้เป็นหลายระดับ บางรายถูกทารุณจนถึงแก่ชีวิตเลยก็มี ผู้ต่อต้านการค้ามนุษย์อย่าง ปิยะไกร สีละโคตร ช่วยวิเคราะห์จากประสบการณ์

“การค้ามนุษย์ มีหลายประเภท แต่หลักๆ ที่พบบ่อยมี 3 อย่าง อย่างที่ผมเคยเจอ มันมีทั้งเคสแรงงานต่างด้าวที่ถูกบังคับให้ลงไปค้าประเวณีบนเรือประมงโดยได้ค่าแรง 20 บาทต่อครั้ง บังคับให้ไปขายตัวตามซ่อง บังคับให้ทำงานอย่างหนัก ขนสินค้าผิดกฎหมายในเรือก็มี บางเคสถึงกับโดนบังคับให้ขายอวัยวะภายในร่างกายเพื่อแลกกับชีวิต กฎหมายที่ออกมาคุ้มครองคนต่างด้าวเหล่านี้ยังมีช่องโหว่อยู่มาก คงไม่มีใครอยากช่วยคนที่ไม่ใช่ชาติเดียวกันหรอก”

ล่วงเลยมาแล้ว 2 ปีหลังจากที่ภรรยาโจซูหายไป จนถึงวินาทีนี้ แฟ้มคดีของโจซู ภายในมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ ก็ยังไม่มีการกรอกข้อมูลใหม่ๆ เข้าไป แม้ทางเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติงานสืบสาวราวเรื่องตลอดก็ตาม ซึ่งข้อนี้ ทูน ล่ามวัย 50 ปี ชาวพม่า เจ้าหน้าที่แปลภาษาและฝ่ายลงบันทึกปากคำประจำวันของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ ชี้แจงว่า

"LPN ไม่เคยถอดใจ ไม่ว่าจะเคสโจซู หรือเคสไหน เราพยายามตามอยู่ตลอด แต่ที่ไม่เจอส่วนใหญ่ คือคาดว่าน่าจะโดนส่งออกนอกประเทศไปแล้ว” ล่ามแปลภาษาของมูลนิธิฯ กล่าวพรางถอนหายใจ

เครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์เติบโตขึ้นทุกวัน ไม่ใช่แค่ในจังหวัดสมุทรสาคร แต่ในจังหวัดภูเก็ต, สงขลา ระนอง ชลบุรี เชียงใหม่ ฯลฯ ก็มี ส่วนใหญ่จะมีเมืองที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เพราะพวกคนเหล่านี้ ไม่รู้ภาษา ไม่มีทางเลือก ง่ายต่อการถูกล่อลวง ซ้ำพวกขบวนการยังฉลาด มีการวางแผนอย่างแยบยล และเป็นคนในกลุ่มแรงงานด้วยกันเอง มีทั้งพม่า มอญ กัมพูชาที่ตั้งตนเป็นมาเฟีย ที่ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่า ผู้อยู่เบื้องหลังของขบวนการเหล่านี้ มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลอย่างคนในเครื่องแบบรวมอยู่ด้วย การจับกุมตัวและดำเนินคดีเอาผิด จึงเป็นเรื่องยาก

“ปีที่แล้วเราช่วยคนที่ถูกขายได้มากกว่า 500 กว่าราย เรารู้ผู้กระทำผิดแต่ยังจับไม่ได้ เพราะหลักฐานไม่พอนะ ถ้าโชคดีมีหลักฐานเอาผิดได้ ก่อนที่เหยื่อพวกนั้นจะถูกส่งออกนอกประเทศ หรือตาย ก็ดี”

สิ้นเสียงคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ ชวนให้ย้อนนึกถึงชะตากรรมของภรรยาโจซู และผู้กำลังตกเป็นเหยื่อเหล่านั้นขึ้นมาจับใจ

"เราจะช่วยกันทำงานเก็บเงิน แล้วกลับไปสร้างชีวิตใหม่ที่บ้านเกิดของเรา" ดูเหมือนว่าถ้อยคำเหล่านี้จะเป็นได้เพียงฝันลมๆ แล้งๆ ของแรงงานต่างด้าวภายในประเทศไทยไปเสียแล้ว ถ้อยคำที่พวกเขามักหยิบมาปลอบประโลมให้กำลังใจกันและกันในวันที่เหน็ดเหนื่อยแทบขาดใจ จากการใช้แรงกายและแรงใจทำงานแลกเศษเงิน หรือคำเหล่านั้นจะกลายเป็นเพียงความทรงจำ

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE
ธิติ ปลีทอง


นั่งมองดวงตะวันลับของฟ้าในทิศถิ่นเกิด นับเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของชาวแรงงานพม่า
ภารกิจการตรวจค้นดำเนินไปอย่างเคร่งเครียด ละเอียด  และจริงจัง
ใบผ่านทางข้ามแดนที่ชาวพม่าจำเป็นต้องมีไว้ในครอบครอง
เพื่อสะดวกแก่การซ่อนตัว การลักลอบข้ามแดนมักเกิดขึ้นในฤดูมรสุมเวลากลางคืน





เคี่ยวกรำให้ทำงานหนัก สถานที่เกิดเหตุโดยมาก คือตามเรือประมง
การทำงานภายในเรือประมง

กำลังโหลดความคิดเห็น