“ที่นี่ ไม่ใช่บ้านของเราอีกแล้ว” เสียงซุบซิบของคนไทยกลุ่มหนึ่งดังอื้ออึงภายในรถตู้ ขณะกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดที่ผู้อาศัยกว่าครึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นชาวพม่าผู้อพยพมาจากอีกฟากฝั่งของชายแดนตะวันตก จนใครหลายคนเรียกขานดินแดนแห่งนี้ว่า ‘เมียนมาร์ ทาวน์’
นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้าสู่ตัวเมืองมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร กลิ่นเหม็นคาวปลาและอาหารทะเลสดคล้ายเป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่นคอยต้อนรับผู้มาเยือนไปแล้ว แต่นั่นกลับกลายเป็นเพียงข้อกังขาเล็กๆ เมื่อเทียบกับความรู้สึกที่ว่า.. ระยะทางห่างจากเมืองหลวงเพียง 36 กิโลเมตร จะมีเมืองทั้งเมือง ที่ทำให้เรารู้สึกราวกับว่า กลายเป็นคนแปลกหน้าในบ้านของตัวเองได้เชียวเหรอ ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหน ทุกทิศทางล้วนเต็มไปด้วยผู้คนปะแป้งหน้าขาว พูดภาษาไม่คุ้นหู แถมตามมุมตึก อาคารบ้านเรือนยังมีแผ่นป้ายโฆษณาภาษาที่ไม่รู้จักอีกด้วย ทีมข่าวฯ ขอบุกสู่ใจกลาง ‘เมียนมาร์ ทาวน์’ ตีแผ่เรื่องราวการกลืนกลายกับคำถามที่ยังคงไร้คำตอบ การย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวพม่าจำนวนมาก กำลังเป็นปัญหาคุกคามสังคมไทยหรือไม่??
ร้านไทยทยอยเจ๊ง!! ต่างด้าวเปิดแข่ง!!
“เมื่อก่อนยังขายดีค่ะ แต่เดี๋ยวนี้ขายไม่ค่อยได้เลย พม่าแย่งลูกค้าไปหมดแล้ว”
ลึกเข้าไปในชุมชนตลาดกลางกุ้ง อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร คำวิงวอนของป้าสุจินต์ มากรักษา เจ้าของร้านค้าชำ ยังคงดังขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่กิจการของเธอ เริ่มซบเซาลงเมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภายหลังแรงงานพม่าผู้เคยเป็นลูกค้า เริ่มผันสถานะเป็นคู่แข่งขัน “ที่นี่ร้านป้าเปิดเป็นร้านแรกๆ เมื่อก่อนขายดีมากค่ะเพราะมีแรงงานเยอะ แถวนี้ก็มีไม่กี่ร้าน แต่เดี๋ยวนี้พอพม่าเริ่มเปิดร้านขายกันเอง เลยแย่งลูกค้าไปหมดเลย เขาซื้อกันเอง ไม่ซื้อเรา เพราะพูดภาษาเดียวกันได้ เป็นคนบ้านเดียวกัน”
ถัดมาอีกไม่ไกล เจ้าของร้านอาหารตามสั่งชาวไทย วัย 42 ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน “ก็พออยู่ได้นะ แต่ไม่ได้ขายดีเหมือนเดิม พอต่างด้าวเริ่มเข้ามาอยู่กันเยอะเข้า คนไทยก็เริ่มทยอยหนีออกไปหมด พอคนไทยออกไป เราก็ไม่ค่อยมีลูกค้า เพราะพวกแรงงานต่างด้าวเขาไม่ค่อยซื้อสำเร็จกินกัน เขาชอบทำกินกันเองมากกว่า หรือไม่ส่วนใหญ่ก็ซื้อแต่ของพวกเดียวกันเอง เมื่อก่อนน้องสาวก็เคยเปิดร้านขายขนมอยู่ใกล้ๆ นี้ ก็ขายไม่ได้ต้องออกไปทำอย่างอื่น"
ตามหลักข้อกฎหมาย พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ฉบับ พ.ศ. 2522 คือห้ามไม่ให้คนต่างด้าวขายของหน้าร้าน งานเร่ขายสินค้า อีกทั้งใน พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ยังได้ระบุไว้ว่า “ห้ามคนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากงาน 2 ประเภท คือ 1.งานกรรมกร และ2.งานบริการ” ทว่า ตอนนี้จากสภาพที่พบเห็น คนต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาคร กลับเปิดกิจการขนาดย่อมของตัวเอง ตั้งแต่รถเข็น ตั้งแผง ฯลฯ ราว 5,000 ร้าน เข้าข่ายผิดกฎเกณฑ์ จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า “พวกเขาขายได้อย่างไร?”
“ขายได้ ขายดี ขายเป็นปีแล้ว” นายแดง (นามสมมติ) หนึ่งในชาวพม่าผู้ตั้งโต๊ะขายหมากภายในชุมชนตลาดกุ้ง ให้คำการันตีกับเรา ในขณะมือทั้งคู่หยิบสินค้าใส่ถุงยื่นให้ลูกค้าที่ยืนคอย เมื่อถามต่อไปว่า “ไม่กลัวถูกจับเหรอ? เขาห้ามขายนะ” เจ้าตัวจึงยิ้มโชว์ฟันดำ ก่อนเผยว่า “ไม่กลัว ให้ตังค์แล้ว”
แม้จะพูดภาษาไทยได้ไม่คล่อง แถมบางประโยคก็ต้องชูไม้ชูมือขึ้นประกอบ แต่เขาก็พยายามเล่าให้ฟังว่า ทุกๆ เดือน จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแวะเวียนเข้ามาเก็บเงินกับผู้ค้าชาวพม่าในชุมชนที่เปิดร้านตั้งแผงขายสินค้าทุกชนิด ไม่ว่าจะของกินหรือของใช้ โดยเฉลี่ยต่อเจ้าต้องจ่ายค่าหัวรายละประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งลิสต์ราคาจะปรับเพิ่ม-ลดตามขนาดของกิจการ ส่วนร้านใดขัดขืนจะถูกปรับ-ถูกจับไปเข้าคุกรอดำเนินคดีตามกฎหมาย และถูกส่งตัวกลับบ้านเกิดในท้ายที่สุด
เมื่อเรื่องนี้มีส่วนโยงใยไปถึงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไทย การติดต่อไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่ จนได้ความจาก ดาบตำรวจวิเชียร ชมบ้านแพ้ว ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรสาครว่า
“การกระทำแบบนี้มันผิดกฎหมาย เข้าข่ายจงใจลักลอบกระทำผิดต่อข้อตกลง แต่เพราะพวกเขาเริ่มไม่มีทางเลือกจากงานที่ทำๆ กันอยู่ เลยอยากประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น อยากได้ค่าครองชีพสูงขึ้น จึงสมยอมให้เงินกับหน่วยงานที่เข้าไปตรวจสอบดูแลตรงนั้น เพื่อผ่อนปรนโทษหรือไม่ให้ถูกจับ อีกอย่างยังมีเรื่องของมนุษยธรรมรวมอยู่ด้วย เขาต้องหาเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน หาเงินเลี้ยงครอบครัว จะให้เราไปจับเลยอย่างเดียว แล้วลูกเมียเขาจะอยู่ยังไง ลองคิดดูสิว่า ถ้าเขาเป็นเรา เราจะอยากทำหรือเปล่า ไอ้งานแกะหัวกุ้ง ทำงานแพปลา หรือกรรมกรในเรือประมง ทำเหนื่อย แต่ยังได้เงินไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำ
แล้วที่มีข่าวว่าตำรวจไปเก็บส่วย หาช่องทางทำมาหากินกับคนพวกนี้ ก็ไม่ได้บอกว่าทุกวันนี้มันจะไม่ผิด ไม่ได้บอกว่ามันไม่มี ถ้ารู้ตัวคนทำก็จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย แล้วจริงๆ เท่าที่ผมพอทราบมา ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการปกครอง หรือพวกหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ทำด้วย แต่คนต่างด้าวเขาไม่รู้ คิดว่าเป็นตำรวจอย่างเดียวที่ทำ ตรงนี้มันพูดยาก มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์”
และแน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ลดหย่อนผ่อนปรนจนแรงงานต่างด้าวผุดขึ้นราวดอกเห็ด จึงนำไปสู่ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการชาวไทยในพื้นที่ ทว่าในมุมมองของ สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ หรือ LPN สำนักงานสมุทรสาคร กลับมองว่า
“ที่ร้านค้าถูกแรงงานพม่าแย่งลูกค้า เป็นเพราะคนไทยขายของไม่ตรงตามความต้องการของตลาดเอง “ เวลา เราไปต่างประเทศ คนไทยก็จะพกปลาร้าอะไรพวกนี้ไปด้วย เพราะหาซื้อยาก แล้วพอไปถึงถ้าเจอของของบ้านเรา ก็อยากจะซื้อไว้กินซื้อไว้ใช้เป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกัน ถ้าคนไทยอยากให้เขาซื้อของเรา เราก็ต้องขายของที่เขาต้องการ ไม่ใช่เราต้องการ ส่วนประเด็นที่แรงงานพูดว่าผม ไม่กลัว ผมให้ตังค์แล้ว นั่งหมายถึงอะไร เราจะให้สังคมไทยเป็นอยู่อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องแก้กฎหมายที่มันไม่เอื้อต่อการทำมาหากินอย่างสุจริตของคนในแถบอาเซียนนี้ให้ได้ มิฉะนั้น ผลประโยชน์ใต้ดินดินตกอยู่กับคนบางกลุ่มที่อาศัยช่องว่าง หรือการที่ไม่มีกฎหมายมารองรับ คนไทยบ้านเรายังพยายามหาโอกาสไปเปิดธุรกิจในพม่าและประเทศเพื่อนบ้าน"
"อย่าเอาภาวะจำยอมของแรงงานมาเป็นเครื่องต่อรองเรียกรับเงิน เพราะจริงๆ เขาไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมาก” นายสมพงค์ สระแก้ว กล่าวเสริม
อนาคตเด็กไทยดับมอด พม่าช่วยสอนหนังสือ
แม้จะได้ยินคำพร่ำบ่นของผู้ประกอบการชาวไทยจำนวนมากในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเกี่ยวกับผลกระทบด้านการค้า แต่เรื่องนั้นกลับน่าหวาดวิตกน้อยกว่าด้านการศึกษาซึ่งกำลังเข้าสู่ “จุดวิกฤต” เพราะทุกวันนี้เด็กไทยในพื้นที่ต้องให้เด็กพม่าอบรมสั่งสอนเสียแล้ว!! ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่มีหลายคนยืนยันว่า “เด็กต่างด้าวฉลาดกว่ามาก ถ้าเทียบกับเด็กไทย”
ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ กับโรงเรียนหลวงแพทย์โกศลอุปถัมภ์ 1 ใน 4 โรงเรียนภายในจังหวัดสมุทรสาครที่เปิดให้เด็กข้ามชาติเข้าเรียนร่วมกับเด็กไทยได้ ทุกๆ วัน หน้าที่นำสวดมนต์ ร้องเพลงชาติ กล่าวคำขวัญ-คำปฏิญาณตน ไปจนถึงดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของนักเรียนหน้าเสาธง กลายเป็นกิจวัตรประจำของเด็กสาวชาวพม่า อย่างเด็กหญิง เกเวีย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อรู้เช่นนี้ หลายคนคงตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงยอมปล่อยให้เด็กพม่าขึ้นมาอยู่เหนือเยาวชนไทย คุณครูคมชนะ อินทรีย์ อาจารย์ประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนหลวงแพทย์ มีคำอธิบาย
“ต้องมาลองดูครับตอนเช้าๆ เด็กไทยแทบจะไม่เคยมาเข้าแถวกันทันเลย ส่วนใหญ่จะมากัน 9 โมง 10 โมง ไม่เหมือนกับเด็กพม่าที่มากันตั้งแต่ 6 โมง 6 โมงครึ่ง ขยันอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียน มีระเบียบวินัย แถมยังมาช่วยกันกวาดขยะในโรงเรียน ช่วยงานอาจารย์ด้วย พูดว่าหาได้ยากจริงๆ ในเด็กไทยโรงเรียนเรา”
อาจฟังแล้วน่าใจหายที่คำบอกเล่าของผู้เป็นครู เหมือนกำลังเอนเอียงไปทางด้านเยาวชนข้ามชาติมากกว่าเยาวชนไทย แต่กรณีนี้ มีเหตุผลน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
“พูดกันตามตรงนะครับ ในความเป็นครู วิชาชีพนี้ก็มีจรรยาบรรณคล้ายๆ แพทย์ คือไม่เลือกรักษาคนไข้ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนไม่ดีต้องช่วยชีวิตหมด ก็เหมือนกัน เราเป็นครูเราก็เลือกสอนนักเรียนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือข้ามชาติ แต่เท่าที่ผมเห็น คือในส่วนของเด็กไทยกำลังน่าเป็นห่วงมาก เพราะพวกเขาจะชอบโดดเรียน ชอบมาเรียนสาย ไม่สนใจอ่านหนังสือ หรือทำการบ้าน ผิดกับเด็กพม่าเลย พวกเขาตั้งใจเรียน น่าจะเป็นเพราะเด็กข้ามชาติเขาระลึกตัวเองอยู่เสมอว่าเขาด้อยกว่าเด็กไทยเลยต้องขยัน ถ้ามองจากภาพรวม ตอนนี้ก็เฉลี่ยได้เลยว่าเด็กข้ามชาติในโรงเรียนจะมีผลการเรียนเฉลี่ยในระดับดีถึงดีมาก ส่วนเด็กไทยจะอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง อาจจะมีดีบ้างแต่น้อยมาก”
“ส่วนเรื่องของปัญหาเวลาเรียน ก็ใช่ว่าเด็กข้ามชาติจะไม่มีนะครับ ยังมีเรื่องของการใช้คำพูด เรื่องของการตั้งคำถาม และการตอบคำถาม ที่ยังใช้กันผิดบ่อยๆ อยู่ อย่างเด็กข้ามชาติจะชอบสลับคำจากหลังไปไว้หน้าประโยค อย่างคำว่า เจ็บๆ เขาจะออกเสียงไม่ชัดเป็น เจะๆ จึงทำให้มีอุปสรรคต่อการเรียนวิชาภาษาไทย แต่ถ้าเป็นวิชาภาษาอังกฤษ หรือวิชาที่ต้องคิดต้องคำนวณ เด็กข้ามชาติจะทำได้ดีกว่าเด็กไทยมาก”
“Can you Speak English ?” สำเนียงฝรั่งชัดถ้อยชัดคำ บวกกับใบหน้ายิ้มแย้มของเด็กหญิงเกเวีย นักเรียนชาวพม่าผู้ได้รับตำแหน่งประธานโรงเรียน ช่วยยืนยันสิ่งที่พ่อพิมพ์ของชาติพูดเอาไว้ได้เป็นอย่างดี เธอทักทายด้วยท่าทีละมุนละไมต่อแขกผู้มาเยือน ก่อนจะยกมือไหว้ตามมารยาทแบบไทยๆ แล้วเลือกใช้ภาษาไทยในการสนทนาแทน ด้วยรู้ว่าผู้ถามไม่ค่อยสันทัดภาษาอังกฤษ
“เพื่อนๆ คนไทยก็ดีค่ะ แต่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ชอบหนีเรียน เวลาเรียนในห้องก็ไม่ค่อยตั้งใจ เขาจะมาขอลอกการบ้านคนอื่นถ้าทำไม่ได้ แต่จะไม่ยอมถามคุณครู”
เรื่องนี้ นักเรียนหัวโจกชั้นป.4 พร้อมสภาพเสื้อผ้าหลุดออกนอกกางเกง น่าจะการันตีได้ เพราะเห็นกับตาว่าทั้งคู่กำลังรอลอกการบ้านของเพื่อนร่วมห้องอยู่
“พวกผมได้เกรด 2 ครับ พวกเขาได้เกรด 3 เกรด 4 กัน” เมื่อถามต่อไปว่าเพราะอะไรถึงเป็นอย่างนั้น ทั้งสองได้แต่อมยิ้ม เกาหัวแกรกๆ แล้วตอบว่า “เพราะไม่ตั้งใจเรียนครับ”
สร้างเรื่อง หรือ สร้างเมือง?
“ถ้าไม่มีพวกเขา เราแย่แน่” รณฐกฤษ สืบชมภู หนึ่งในเจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติหรือ LPN ยอมรับความจำเป็นของชาวพม่าในพื้นที่แถบนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะทุกวันนี้หลายๆ ธุรกิจในจังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะการประมง และอาหารทะเลสด ที่เป็นตัวสร้างเม็ดเงินอันมหาศาลให้กับประเทศ ล้วนต้องพึ่งแรงงานพม่าในการขับเคลื่อน เนื่องจากอาชีพนี้ คนในพื้นที่พากันเมินหน้าหนี
“คนไทยเขาไม่ทำกันหรอกอาชีพแบบนี้ เงินน้อย งานหนัก วันๆ หนึ่งต้องอยู่ในห้องเย็น อุณหภูมิติดลบทีละหลายๆ ชั่วโมง หรือต้องนั่งแกะหัวกุ้ง คัดหอยคัดปลา อยู่กับกลิ่นเหม็นคาวทั้งวัน พูดก็พูดเถอะ เป็นผม ผมก็ไม่ทำ”
เหตุผลจากฝั่งเจ้าหน้าที่สอดคล้องกับ คนงานรับเหมาก่อสร้างชาวไทยผู้มาจากภาคอีสานคนหนึ่ง ที่กล่าวว่า “จริงๆ เมื่อก่อนคนไทยก็พอมีนะ แต่พอเถ้าแก่เริ่มรับพม่ามาทำ คนไทยก็ทยอยออกกันไป เพราะมีปัญหาเรื่องภาษา คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วเถ้าแก่ชอบพม่ามากกว่าด้วย เพราะพวกนี้สู้งาน อีกเรื่องคือลึกๆ แล้วคนไทยไม่ค่อยชอบพม่าตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว มองว่าพวกนี้ต่ำบ้าง อันตรายบ้าง เชื่อถือไม่ได้บ้าง เขาก็เลยย้ายไปหางานอื่นทำ”
ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวไทยพื้นถิ่นจะรู้สึกหวาดระแวงแรงงานต่างด้าว ประการหนึ่ง น่าจะมาจากสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่มักประโคมข่าวความโหดเหี้ยมของพวกเขา ประกอบกับข้อมูลจากมูลนิธิ LPN ที่ระบุเอาไว้ว่า ในจำนวนแรงงานพม่าทั้งหมดราว 4 แสนคน มีเพียง 240,000 คนเท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานจากทางภาครัฐ นั่นก็หมายถึง “จำนวนที่เหลืออีกเกือบครึ่ง มีสถานะเป็นคนเถื่อน หรือเรียกง่ายๆ ว่าบุคคลนอกกฎหมาย” และสิ่งนี้ย่อมชักนำให้นึกถึงคดีอาชญากรรม ปล้น จี้ ฆ่า ได้ไม่ยาก และหนทางการเข้าจับกุมตัวก็ไม่ง่าย ด้วยไม่มีข้อมูลส่วนตัว ไม่รู้ที่อยู่อาศัยของพวกเขา ช่างลึกลับอย่างกับบุคคลล่องหน
ทว่า ดาบตำรวจวิเชียร ชมบ้านแพ้ว ผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม สภ.เมืองสมุทรสาคร กลับมีความคิดในมุมต่างให้ลองเปิดใจว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องไม่มีใบอนุญาต เล่นหวย ไม่ก็เมาทะเลาะวิวาทบ้างแต่ก็น้อย คดีจี้ปล้นนี่นานๆ ทีจะเจอสักครั้ง แต่ไม่ได้เกิดกับคนไทยนะ จะเกิดกับพวกเดียวกันมากกว่า เพราะสังเกตได้เลยว่าที่ไหนที่คนไทยอยู่ พวกเขาจะไม่ค่อยชอบ แต่อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ต้องการเข้ามาหาเงินมากกว่ามาหาเรื่อง พวกเขาจะไม่ค่อยสุงสิงกับใครนอกจากคนบ้านเดียวกัน ทำงานแล้วกลับบ้าน หาเช้ากินค่ำ จริงๆ ผมว่ามันเป็นผลดีกับบ้านเรามากกว่านะ”
ตึกสูง บ้านหรู อาหารทะเลสดในจังหวัดสมุทรสาคร ทุกสิ่งเหล่านี้หากสืบย้อนไปถึงต้นกรรมวีธีการผลิต ล้วนต้องแลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรงขอและหยาดเหงื่อของแรงงานพม่าทั้งสิ้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีมีเรื่องราวที่คนภายนอกอาจไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินมาจากที่ไหนๆ อีกเรื่อง นั่นก็คือ ชาวพม่าสามารถคืนชีวิตให้กับโรงเรียนหลวงแพทย์ และโรงเรียนวัดเกาะ ที่กำลังจะถูกรัฐบาลยุบเพราะจำนวนนักเรียนมีน้อย ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย เนื่องจากมีแรงงานพม่าในละแวกนั้น พาลูกพาหลานเข้ามาสมัครเรียนกันจำนวนมาก ถึง 137 คน จนสามารถรักษาสถานศึกษาเก่าแก่ ประจำชุมชนทั้ง 2 แห่งนี้ไว้ได้ในท้ายที่สุด
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
เรื่อง : ธิติ ปลีทอง
ภาพ : ภคินัย ฟักฉ่ำ