ท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลายครั้งที่เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่าผู้ที่ประสบเหตุร้ายในจุดที่อันตรายที่สุดคือ “ทหารชั้นผู้น้อย” หลังจากเหตุปะทะที่รุนแรง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ยากลำบากเท่านั้น
1 ในทหารผู้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการลงปฏิบัติภารกิจคือ จ.ส.ต.อุเทน แก้ววิเชียร ที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จนได้รับบาดเจ็บส่งผลให้พิการขาซ้ายเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 และเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการแชล์ข้อความบนหน้าเฟซบุ๊กของเขาถึงความยากลำบากของการใช้ชีวิตที่เจ้าตัวถึงขั้นบอกว่า ตัวเองกลายเป็น “ขยะสงคราม” ไปแล้ว
ความเจ็บปวดที่เกิดจากสงครามแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ระบบสวัสดิการทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่อันตรายจึงต้องทำหน้าที่เยียวยาความเจ็บปวดและความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่เมื่อสิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับ จ.ส.ต.อุเทน
เขาถึงขั้นออกปากบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกเห็นว่าบ้านเมืองไม่ปกติ จึงไม่เซ็นเอกสารต่างๆ กลายเป็นคำถามที่ค้างคาใจหลายคนที่เบื้องลึกเบื้องหลังแล้ว ในกองทัพที่มียศตำแหน่งใครกันแน่คือฮีโร่ผู้ปกป้องชาติตัวจริง!
ความในใจของทหารผู้น้อย
สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารถึงสิ่งที่ตัวเองคิด จ.ส.ต.อุเทน แก้ววิเชียร เลือกที่จะสื่อสารหลายถ้อยความที่แสดงออกถึงความเป็นทหารที่หยั่งลึกลงไปในจิตวิญญาณของเขา แม้จะเสียขาข้างซ้ายของตนเองไปเขาก็ยังคงนับวันรอที่จะกลับไปปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอยู่เสมอ
“ขาขาดหยุดผมไม่ได้หรอก นอกจากคอขาดเท่านั้นถึงจะหยุดจ่าเทนคนนี้ได้” นี่คือข้อความหนึ่งที่บอกเล่าถึงเจตนาอันแน่วแน่ของเขา
นอกจากนี้ระหว่างที่พักฟื้นที่โรงพยาบาลด้วยจิตวิญญาณของทหารที่ต้องการให้สงครามครั้งนี้ถึงจุดสิ้นสุดเสียที เขาถึงขั้นแฉถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในกองทัพโดยเขามองว่า นี่คือสงครามของผลประโยชน์ที่ความสูญเสียคงเกิดขึ้นอีกอย่างไม่มีวันจบแน่ๆ
“พอมีเหตุระเบิดที จนท.ไม่ว่าทหาร ตร. อส. ก็แห่กันไปเป็นโขยงถ้ากูเป็นโจรกูจะวางไว้ซัก 10 ลูก ไปยืนออกัน ทหารก็ขี้เก๊ก ตร.ก็ขี้แอ็ก บอกว่ากำลังพลไม่พอ ระดับ ผบ.ร้อย ผบ.พัน ใช้คนไม่เป็นเอาพลขับไปเดิน ลว. เอาหัวหน้าชุด ผู้หมู่ไปขับรถให้พระมันคงจะบรรลุหรอกงาน มี100ก็ตาย100 หวังแต่ผลประโยชน์ มันเป็นสงครามผลประโยชน์ของใครปากก็อยากสงบส่วนใจก็อยากจะได้ กูขี้เกียจตอบคำถามคนที่มาเยี่ยมแล้วกูบอกได้3คำเหมือนกันว่า กู - เบื่อ - แล้ว”
หลังจากที่ได้ขาเทียมเขาเร่งทำกายภาพบำบัด เขาหวังอยู่เสมอว่าจะกลับมารับใช้ชาติได้อีกครั้ง สิ่งนี้สะท้อนผ่านหลายข้อความที่โพสต์ “กูขาขาดเพื่อประเทศชาติของกูไม่ได้ขาขาดเพื่อประเทศชาติของคนอื่น” และ “เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง...กูอยากกลับไปทำงาน...”
ยังมีข้อความที่สื่อถึงความต้องการเห็นสันติภาพและการอยู่ร่วมในความหลากหลายของคนไทยอีกด้วย
“ถึงผมจะไม่มีสวนยางแต่ผมก็มีเพื่อนคนใต้เยอะแยะมากมาย ไม่เหนือ ไม่ใต้ ไม่อีสาน ไม่กลาง ไม่ไทยพุทธ ไม่ไทยมุสลิม ไม่โปรแตสแตนต์ ไม่คาทอลิก ไม่มหายาน ไม่เถรวาท ไม่สุหนี่ ไม่ชีอะห์ เราคือคนไทยทั้งนั้นมันแตกต่างกันที่สำเนียงแต่สรรพเสียงเราคือคนไทยถึงผมจะกินข้าวเหนียวกับน้ำปลาผมก็ไม่เคยลืมน้ำบูดูของลุงนะครับ...”
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงความคิดเห็นของทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่งที่ปัจจุบันน้อยเนื้อต่ำใจถึงขั้นใช้คำว่าตัวเองถูกปฏิบัติราวกับเป็น “ขยะสงคราม” หากแต่แท้จริงแล้วความดีงามของตัวตนในความเป็นทหารที่รักชาติยิ่งชีพก็ยังคงมีอยู่เต็มเปี่ยมในตัวของเขา
สวัสดิการทหารผ่านศึก
ในภาวะไม่สงบความสูญเสียเกิดขึ้นแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ หน่วยงานที่ดูแลด้านสวัสดิการทหารผ่านศึกนั้น ถือว่ามีอยู่หลายหน่วยในประเทศไทย ตั้งแต่ส่วนกลางอย่าง เหล่าทัพต่างๆ มูลนิธิสายใจไทย จนถึงองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ ทว่าปัญหาก็ยังคงมีเกิดขึ้น
พ.อ. วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกอธิบายถึงสวัสดิการทหารไว้ว่า มีโครงสร้างที่ให้สิทธิประโยชน์ในด้านกำลังพลที่มาจากหลายหน่วยงานซึ่งไล่เรียงแล้วได้ถึง 20 รายการด้วยกัน ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับนั้นก็ขึ้นอยู่กรณีแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นกับทหารคนนั้นๆอีกด้วย
เขายกตัวอย่างเงินที่รับเพื่อช่วยเหลือทหารผ่านศึกว่า มีเงินจากกระทรวงการพัฒนาสังคม เงินบำรุงขวัญจากกองทัพบก เงินเยียวยาจากสำนักนายกรัฐมนตรี 5 แสนบาท เงินช่วยเหลือจากมูลนิธิสายใจไทยเดือนละ 2,050 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ เขายืนยันเลยว่า สิ่งที่กองทัพบกสามารถดำเนินการได้เลยก็มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยไม่ขาดตกบกพร่องมาเสมอ
“กรณีนี้แก้ไขปัญหาไปแล้ว เหลือในส่วนน้อยเท่านั้นที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ ทางกองทัพบกเองก็พยายามเร่ง การสร้างความมั่นคงให้อย่าง การบรรจุญาติหรือบุตรเข้ารับราชการเอง ทางกองทัพบกก็ทำอย่างรวดเร็ว แต่พอไปอยู่ในหน่วงงานอื่น งานเกี่ยวกับงบประมาณบางทีไปอยู่ในหน่วยงานอื่นด้วย มันก็เลยอาจจะยุ่งยากขึ้น”
โดยในส่วนของกรณีที่เกิดขึ้นกับ จ.ส.ต.อุเทน เขาบอกเลยว่า ในด้านตัวเงินได้ดำเนินการทุกอย่างแล้ว เหลือบางส่วนเท่านั้นเช่นเงินบำนาญพิเศษ ซึ่งอาจมีขั้นตอนอยู่พอสมควร ซึ่งหากมองในภาพรวมก็บอกได้ว่า 90 เปอร์เซ็นต์ถูกจ่ายให้กับผู้เสียหายอย่างรวดเร็วที่สุดแล้ว
“เงินค่าสินไหมทดแทน เงินประกันชีวิตของกระทรวงกลาโหมพวกนี้เร็ว มันวางหลักเกณฑ์กันไว้แล้ว แต่อย่างเงินบำนาญเกษียณพิเศษมันจะได้รับจนหมดอายุขัย มันเป็นธรรมดาที่การตรวจสอบจะมีขั้นตอนอยู่บ้างครับ”
ดังนั้น การอนุมัติเงินที่ต้องมีหน่วยงานอื่นร่วมตัดสินใจจึงอาจมีความล่าช้าจากการดำเนินงานในส่วนของงานธุรการอยู่บ้าง ซึ่งรองโฆษกกองทัพบกยืนยันว่า ทางกองทัพมีการดำเนินการให้โดยเร็วที่สุดอยู่แล้ว
“พิจารณาจากผลตอบแทนก็ถือว่ารัฐดูแลทหารผ่านศึกได้ดีพอสมควรเลย นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยก็ให้ความสำคัญกับทหารผ่านศึก ทุกคนก็จะมารวมให้ความช่วยเหลือร่วมกันอยู่แล้ว กองทัพก็พยายามทำให้คนได้ประโยชน์สูงสุดจากการปฏิบัติหน้าที่”
ผู้น้อยเสี่ยงตาย
ประเด็นที่หลายคนพูดกันมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ผู้สูญเสียมักจะเป็นทหารชั้นผู้น้อยเสมอ จากความเป็นไปตรงนี้เอง พ.อ. วินธัย สุวารี บอกเลยว่า มาจากอัตราส่วนที่ใน 1 กองร้อย ทหารชั้นผู้น้อยย่อมมีมากกว่า อันตรายที่เกิดจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดกับทหารผู้น้อยมากกว่าด้วย
“ผมว่านานาทัศนะ คำพูดคำกล่าวมีหลากหลาย ใครพูดอย่างไรมันหลากหลายมาก ดูอัตราส่วน ก็ในกองร้อยมี 50 นายทหารมีอยู่ 3-4 คนเอง นายสิบเองมีสัก 20 จ่ามี 10 สัดส่วนแบบนี้อยู่แล้ว เทียบเปอร์เซ็นจ์ไม่น่าต่าง ไม่ได้ขึ้นกับปัจจัย ในภาคใต้บางครั้งมียศกลับเป็นเป้าหมายสำคัญกว่าด้วยซ้ำไป”
ขณะที่ทางด้านของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มองว่า ทหารชั้นผู้น้อยมีความเสี่ยงมากกว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะหน้าที่ส่วนอย่างการลาดตระเวน คุ้มกันครูพระมักจะเป็นหน้าที่ของทหารชั้นผู้น้อย ทหารชั้นประทวน
“แต่บางทีก็มีทหารชั้นสัญญาบัตรมาบ้าง แต่ทหารชั้นผู้น้อย ชั้นประทวนมีความเสี่ยงมากกว่า สังเกตจากข่าวเหตุการโจมตีหรือความสูญเสียก็มักจะเป็นทหารชั้นผู้น้อย อาจมีทหารระดับหัวหน้าชั้นสัญญาบัตรแทรกอยู่บ้างเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานในภาคใต้นั้น เขายังมองว่ามีการจัดการหมุนเวียนเปลี่ยนกำลังพลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีเบี้ยเลี้ยงพิเศษรวมถึงอายุราชการที่คูณเพิ่มให้ซึ่งถือว่า สามารถสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเหล่าทหารที่จะลงไปปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
“เบี้ยเลี้ยงก็มีส่วนต่างกันอยู่ แต่ทางภาคใต้รู้สึกว่าเบี้ยเลี้ยง เงินพิเศษที่จะให้กับทหารเขาจะได้มากเป็นพิเศษหน่อยในกรณีที่มาภาคใต้ ชั้นผู้น้อยก็ได้มาก เทียบกับปฏิบัติภารกิจอื่นๆ สิ่งที่ดีอีกอย่างคือการหมุนสับเปลี่ยนกำลังเขาจะทำอย่างมีระบบ ทหารมีช่วงพักที่เยอะ 30 วัน ทำงานจริงๆ 25 วันเป็นต้น เขาจะมีการผลัดเปลี่ยน ทุกคนจะได้พัก เพราะเขาไม่ต้องการให้เกิดความเครียดในการทำงาน ทหารจะไม่เครียดทุกคนได้พัก”
ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่หลายคนพูดถึงคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผลประโยชน์มากขึ้น อย่างคำกล่าวที่ว่า เหตุสงบ งบไม่มา ผศ.ดร.ศรีสมภพ เผยว่า สถาณการณ์ความรุนแรงไม่ได้มีส่วนให้การจ่ายเบี้ยมีมากขึ้น เพราะมีมาตรฐานที่เท่ากันอยู่แล้ว
“ขึ้นอยู่กับภารกิจมากกว่า เพราะว่าเบี้ยเลี้ยงระบบค่าตอบแทนพิเศษจะเป็นมาตรฐานซึ่ง อันนี้เป็นแรงจูงใจมาก อย่างน้อยมีความเสี่ยง ก็ได้เบี้ยพิเศษหรืออัตราอายุราชการที่ทวีคูณขึ้น”
ในส่วนของการเบิกจ่ายที่ล่าช้า เขาเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ทำให้การจัดการในการเยียวยา ชดเชยความเสียหายต่างๆ มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเบิกจ่ายในระยะแรกที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขาจึงมองว่า กรณีที่มีปัญหาอาจพบไม่บ่อยนัก
“เท่าที่ทราบการช่วยเหลือมันจะเร็ว ดูจากในส่วนของพลเมืองทั่วไป ระบบชดเชยเยียวยาทำได้เร็ว ในส่วนของตำรวจก็น่าจะเร็วด้วย เพราะในส่วนของภาคใต้มันเกิดมาหลายปีแล้ว ระบบก็มีการปรับปรุง ค่องข้างดีและดีขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านก็มีระบบรองรับ”
เขามองปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดจากการชดเชยในระยะยาว ทั้งการเยียวยาในส่วนของการบาดเจ็บ แม้แต่ผลกระทบทางจิตใจซึ่งเกิดจากภาวะสงครามที่เป็นปัญหาอยู่ในหลายประเทศ
“ส่วนที่เป็นปัญหา ผมว่าเป็นเรื่องการจัดการระยะยาว บาดเจ็บพิการ การช่วยเหลือส่งผลระยะยาว ครอบครัวแตกแยก ความขัดแย้งภายในครอบครัว การสูญเสีย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาส่วนตัวด้วย แต่เรื่องการชดเชยค่าตอบแทนในช่วงแรกคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว”
สวัสดิการทหารเป็นสิ่งที่จำเป็น แม้จะมีการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน หากทว่าความเดือดร้อนขึ้นครั้งนี้อาจเป็นเพียงยอดของปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่เท่านั้น
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ภาพจาก facebook.com/จ.ส.ต.อุเทน แก้ววิเชียร