xs
xsm
sm
md
lg

ศิษย์มธ.ฉะแหลก วอนผู้ใหญ่เลิกหลอกใช้ “อั้ม เนโกะ”!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


3 แกนนำประชาคมธรรมศาสตร์ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดี เพื่อให้คัดชื่อ “อั้ม เนโกะ” หรือ นายศรัณย์ ฉุยฉาย ออกจากการเป็นนักศึกษา บอกถ้าอั้ม เนโกะ ยอมรับกติกาของสังคมไม่ได้ ก็ควรไปอยู่ป่า พร้อมฉะผู้ใหญ่ที่หนุนหลังเด็กว่าอย่าใช้เด็กเป็นเครื่องมือ เกิดเป็นคนทั้งทีก็ควรรู้จักสำนึกบ้าง!




เมื่อวันนี้ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา 3 นักศึกษา มธ. ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจุบันนำทีมโดย องค์อร ภูอากาศ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองและนักศึกษาปริญญาโทคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี พร้อมเพื่อนสาวประเภทสองรวม 3 คน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดกับ นายศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ อั้ม เนโกะ ในกรณีที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น เรื่องแต่งกายไม่สุภาพ, ใช้คำพูดที่หยาบคายแก่อาจารย์ ,พยายามชักธงสีดำขึ้นยอดเสาโดมแทนธงชาติ โดยมีศิษย์เก่าและปัจจุบันร่วมลงชื่อให้พิจารณาโทษนายศรัณย์จำนวน 3,050 คน

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมคิด ได้รับมอบจดหมายเปิดผนึก พร้อมกล่าวว่ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมานายศรัณย์แต่งกายไม่เหมาะสม และใช้วาจาไม่สุภาพกับอาจารย์ ทางมธ.ก็ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและเสนอบทลงโทษพักการเรียน 1 ปี แต่ผู้ปกครองและนายศรัณย์ ได้ขอให้ลดโทษเหลือ 1 ภาคเรียน ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยมีนายปริญญา เทวานฤมิตร รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาเป็นผู้พิจารณา คาดว่าน่าจะมีการตัดสินพิจารณาโทษในเร็วๆนี้ ส่วนกรณีที่นายศรัณย์ไปปลดธงชาติลงมานั้น ทางมหาวิทยาลัยก็จะตั้งกรรมการสอบสวนในเร็วๆ นี้ เพื่อหาข้อสรุปเช่นกัน
      
3 แกนนำผู้กล้าแห่งธรรมศาสตร์
การเคลื่อนไหวของประชาคมธรรมศาสตร์ครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย เพราะมีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันร่วมลงชื่อขับไล่อั้ม เนโกะ ถึงสามพันกว่าคน นับเป็นผลงานของ 3 แกนนำที่กล้าลุกออกมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาคมธรรมศาสตร์ โดย องค์อร ภูอากาศ ได้กล่าวว่า

“การที่ลุกออกมาเอาผิดกับอั้ม เนโกะ ครั้งนี้ไม่ใช่ความกล้า แต่มันคือความสามัญสำนึกของความถูกต้อง เพราะผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก แล้วการที่ อั้ม เนโกะ บอกว่ามีเสรีภาพและมีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้นั้น ทั้งเรื่องการแต่งกายไม่เหมาะสม การพยายามชักธงชาติสีดำขึ้นสู่ยอดเสา กอดรูปเคารพรูปท่านปรีดี พนมยงค์ ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะเสรีภาพและกฎทุกอย่างต้องมีขอบเขต ดังนั้นถ้าอั้ม เนโกะไม่อยากยอมรับกติกาของสังคม เขาก็ควรไปอยู่ป่า เพราะคุณเป็นเสียงส่วนน้อยที่พยายามเปลี่ยนแปลงเสียงส่วนใหญ่ ทั้งจารีต ประเพณี เพื่อให้เกิดการสร้างค่านิยมที่ไม่ดี

“ปกติธรรมศาสตร์ไม่ได้บังคับว่านักศึกษาต้องใส่ชุดนักศึกษาหรือไม่ใส่ แต่อย่างน้อยๆ ผู้ที่มีการศึกษาหรือผู้ที่เจริญแล้ว ควรสำเหนียก รู้จักให้เกียรติสถานที่และผู้อื่นที่อยู่ร่วมในสังคมด้วย ต่อให้อั้ม เนโกะไปอยู่ในทุ่งซาฟารี แล้วตกลงกับสัตว์อย่างสิงโตเสือ ว่าแกอย่ามากินชั้นนะ เพราะชั้นมีเสรีภาพ ถามว่าสิงโตจะฟังเขาไหมล่ะ

“แล้วกรณีที่อั้มชักธงชาติไทยลงมาจากยอดเสาในธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และใส่ธงสีดำเข้าไปแทน เพื่อประท้วงอธิการบดีว่าเอนเอียงทางการเมือง โดยอ้างว่าเคยมีเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนในช่วง 14 ตุลาฯ ถามว่าต่างกรรม ต่างวาระ สถานการณ์ตอนนั้นไม่ได้เหมือนกับตอนนี้ เรากำลังสู้กับสถานการณ์การเมืองภายใน ซึ่งเป็นความเห็นของนักศึกษา แต่อย่าพยายามเอาชื่อของสถาบันไปแอบอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง

ด้าน “ภูมิใจ ชุมพร” หรือ “รี่” หนึ่งในแกนนำที่เป็นสาวประเภทสองเหมือนกันบอกว่าการกระทำของอั้ม เนโกะ ทำให้ภาพลักษณ์ของนักศึกษาธรรมศาสตร์เสียหาย รวมถึงทำให้คนมองเพศทางเลือกหรือสาวประเภทสองไม่ดีตามไปด้วย

“รี่เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และตอนนี้กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่ธรรมศาสตร์ค่ะ ได้รับคำถามจากคนเยอะพอสมควร เพราะอั้มเป็นเพศทางเลือก และเราเป็นหนึ่งในเพศทางเลือกเหมือนกัน เราจบการศึกษามาแล้ว มีหน้าที่การงานที่ดี แต่เราถูกเหมารวมว่าทำไมกะเทยถึงทำตัวแบบนี้ ทำไมธรรมศาสตร์ปล่อยให้กะเทยมีบทบาทมาเรียกร้องเสรีภาพถึงขนาดนี้

“อั้มไม่ได้ผิดที่เป็นเพศทางเลือก แต่เวลาที่อั้มถูกคนอื่นคอมเมนต์ เขาก็จะถูกว่า “กะเทยแม่งเป็นแบบนี้” แล้วเมื่อไหร่กะเทยในสังคมจะได้รับการยอมรับ กว่ารี่จะพิสูจน์ตัวเอง ทั้งเรียนและทำงานจนได้รับการยอมรับ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่การกระทำของอั้ม เนโกะ ทำให้ภาพลักษณ์ของเพศทางเลือกถูกทำลายไปง่ายดาย เขาชอบอ้างปรัชญาเกี่ยวกับประชาธิปไตยมากมาย แต่สิ่งที่เขาอาจมองไม่ถึงคือ การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยนั้น เขาจะต้องยอมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน อันนี้อยากฝากอั้มว่าเขาจะรับผิดชอบการกระทำของเขาครั้งนี้ต่อสังคมธรรมศาสตร์และสังคมไทยอย่างไร

ส่วน “นิยม มาชมภู” แกนนำอีกคนกล่าวว่าการที่ออกมาดำเนินการเช่นนี้ เพราะเห็นว่านายศรันย์ ฉุยฉาย ทำตัวไม่เหมาะสม โดยระบุว่าชื่อเสียงของนายศรัณย์มีผลต่อชื่อเสียงของธรรมศาสตร์ เพราะจากเดิมที่เคยบอกว่าจบจากธรรมศาสตร์แล้วภาคภูมิใจ แต่ตอนนี้ทำให้หลายคนไม่กล้าบอกว่าจบจากธรรมศาสตร์

ตอกกลับ “เนติวิทย์” อุดมการณ์ฟันน้ำนม และฉะผู้ใหญ่ที่หนุนหลังอั้ม!
ด้านองค์อรยังบอกว่าอีกว่า หลังจากที่ตนเองออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วยการตั้งแฟนเพจเฟชบุ๊กที่ชื่อว่า “จดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดี มธ กรณีอั้ม เนโกะ” ก็ได้เจอกระแสโจมตีจากกลุ่มที่เข้าข้างนายศรัณย์ ฉุยฉาย โดยบอกว่า

“มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มเสรีนิยม ชื่อ “น้องเนติวิทย์” ออกมาคอมเม้นต์ในหน้าเฟซบุ๊คและมาปั่นป่วนว่า ธรรมศาสตร์ไม่มีเสรีภาพ ธรรมศาสตร์มีอธิการบดีที่เผด็จการ อยากถามกลับว่าเผด็จการของเขาคืออะไร ซึ่งเขาก็ตอบไม่ได้ สิ่งที่น้องเขาอยากได้จากสังคมคือ ไม่ต้องยืนตรงเคารพธงชาติ ไม่ต้องไหว้พระสวดมนต์ ไม่ต้องยืนสรรเสริญ คุณอาจทำได้ แต่ทำไมต้องขัดขวางการกระทำของส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมให้ทุกคนในสังคมเป็นคนดี

นอกจากฝืนกระแสสังคมไม่พอยังตราหน้าว่าพวกดิฉันเป็นเผด็จการ เลยอยากถามว่าถ้าพี่เป็นเผด็จการ แล้วน้องล่ะคะเป็นอะไร เหมือนเขาพูดมาลอยๆ เป็นอุดมการณ์ที่เรียกว่าฟันน้ำนม”

นอกจากนั้น องค์อรยังแสดงความคิดเห็นต่อว่า ตัวเองเชื่อว่าการกระทำของอั้ม เนโกะ มีผู้ใหญ่หนุนหลัง พร้อมตำหนิว่าอย่าหลอกใช้เด็กเป็นเครื่องมือ

อั้มเป็นแค่หมากตัวหนึ่งที่ให้ผู้ใหญ่เดินเกม ความที่อั้มยังเด็กเลยอาจไม่ได้ยั้งคิด เกิดความคึกคะนอง ไม่ได้นึกถึงผลดีผลเสียของสังคม เขาคิดว่าเขาได้ทำสิ่งที่เรียกว่ามีเสรีภาพแล้ว แต่ความจริงเป็นบ่อนทำลายสิ่งที่เป็นเรื่องที่ดีของสังคมไปจึงอยากฝากบอกผู้ใหญ่ที่หนุนหลังอั้มว่า เกิดมาเป็นคนดีๆ ก็ควรทำตัวให้เป็นคนที่รู้จักสำนึกบุญคุณคน

“ผู้ใหญ่อยากเป็นเสรีชน อยากมีเสรีภาพ แต่มาหลอกใช้เด็ก เลยอยากขอวิงวอนให้ท่านเหล่านี้ซึ่งน่าจะรู้ตัวดีอยู่แล้วหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น การเห็นต่างเป็นเรื่องดี แต่ควรอยู่ในกรอบที่สังคมส่วนรวมยอมรับได้ พ่อแม่ใคร ๆ ก็รัก โดนด่าพ่อด่าแม่ ใครจะไม่โกรธ แล้วผู้ใหญ่ที่ดีควรรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูกแล้วควรสอนเด็ก อย่ามาหลอกใช้เด็กเพื่อสนองความต้องการและสนองกิเลสตัณหาตัวเอง”

ผู้ใหญ่ที่หนุนหลังอั้ม เนโกะ?
ที่ผ่านมา สังคมบนโลกออนไลนได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีอาจารย์หลายคนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของอั้ม เนโกะ เพราะมักมีอาจารย์หลายท่านออกมาให้สัมภาษณ์สนับสนุนพฤติกรรมของอั้ม เนโกะ เป็นประจำ เช่น “รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร" อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยประกาศตัวว่าปฏิเสธ “เครื่องแบบ” และมักเชิญชวนให้นักศึกษาตั้งคำถามและท้าทายกรอบอำนาจนิยม โดยครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า

การที่เราไปจับเขาใส่ชุดนักศึกษาเรายิ่งไปทำให้เขาเป็นเด็ก การที่เขาท้าทาย มันก็คงเป็นเพราะเขาอยากแสดงให้เห็นว่าเขาอยากพูดในประเด็นที่ผู้ใหญ่พูดกัน เพราะแม้กฎหมายหลายอย่างจะลักลั่น ระบุความเป็นผู้บรรลุนิติภาวะไว้ต่างกัน แต่ถ้าเรายึดเรื่องการมีสิทธิ์เลือกตั้งเมื่อมีอายุ 18 ปี วันนี้ เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกตั้งแล้วและสามารถที่จะถูกเลือกได้ด้วยนะ

เขาเป็นวัยที่ก้าวเข้ามาสู่สาธารณะ ดังนั้น เมื่อเขาก้าวเข้ามาแสดงเรื่องนี้ ถ้าถามว่าความไม่เหมาะสมคืออะไร การรณรงค์ทางสังคมมันก็มีทางเลือกหลายๆ แบบ คือถ้าเป็นผมทำประเด็นนี้ ผมก็ไม่ใช่คนที่จะทำอะไรแบบนั้น เรามีวิธีการสื่อสารที่ต่างกันไป แต่ถ้าวิธีนี้มีคนมองว่ามันหยาบโลน ล่อแหลม เราก็ยังเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมใช้คำหยาบด่าทอกัน

เมื่อถูกถามว่าภาพโปสเตอร์ของอั้มเนโกะถือว่าเกินเลยขอบเขตความเหมาะสมหรือไม่ รศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่า “ผมว่าเราแสดงความคิดเห็นได้ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการแสดงออกแบบนี้ แต่ถ้าถามว่าเกินเลยขอบเขตไหม ผมมองว่าไม่เลยเพราะไม่ได้เกินขอบเขตของกฏหมาย เมื่อไหร่ที่เกินเลยกรอบกฎหมายนั่นแหละเกินขอบเขต ตราบใดที่ไม่เกินเลยกฎหมายก็ไม่เกินขอบเขต”

ส่วน ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เคยแสดงความเห็นเรื่องการรณรงค์ค้านการบังคับแต่งชุดนักศึกษาของอั้ม เนโกะ ว่า  

“ถ้าเราพูดถึงการรณรงค์ ของ อั้มเนโกะ ผมว่า เขา/เธอ เก่งมาก ที่ใช้รูปเพียง 4 รูป แล้วผู้คนวุ่นวายกันไปหมด ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย แสดงว่า “ตกหลุม” อั้มเนโกะ หมดเลย รวมทั้งบรรดาอาจารย์ทั้งหลาย ซึ่งผมว่ามันกลายเป็นเรื่องตลก คือในแง่ของธรรมศาสตร์ มีเครื่องแบบก็จริง แต่ธรรมศาสตร์ ก็มีทางออกให้นักศึกษา ด้วยการบอกให้แต่งตัวสุภาพ แต่ในธรรมศาสตร์ อาจารย์ก็จะเข้มงวดไม่เท่ากัน บางคณะ บางอาจารย์ จะเข้มงวดเป็นพิเศษ บางคณะบางอาจารย์ ก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ อย่างตัวผมเอง ผมก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะ ผมเองก็ไม่ได้แต่ง เครื่องแบบอาจารย์” ไปทำงาน ไปสอนหนังสือ ฉะนั้น เราจะไปเรียกร้อง ให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบ ก็เป็นเรื่องตลก ถ้าเราไม่ทำ เราก็ไม่ควรจะไปเรียกร้องให้คนอื่นเขาทำ”

ด้านกรณีที่อั้ม เนโกะออกมาประท้วงอธิการบดีในข้อหาเอนเอียงทางการเมือง โดยการชักธงชาติไทยลงมาและใส่ธงดำลงไปแทนนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่ามีอาจารย์หลายท่านในธรรมศาสตร์ที่มีความคิดเห็นเดียวกับอั้ม เนโกะ เช่น นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน ที่ได้ร่วมเสวนาธรรมศาสตร์บรรยายสาธารณะหัวข้อ "ห้องเรียนประชาธิปไตย" พร้อมกับอาจารย์อีกหลายท่าน เช่น นายยุกติ มุกดาวิจิตร อ.สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นายประจักษ์ ก้องกีรติ อ.คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง นายปิยบุตร แสงกนกกุล อ.คณะนิติศาสตร์ นายปกป้อง จันวิทย์ น.ส.สาวตรี สุขศรี อ.นิติศาสตร์ โดยนายวรเจตน์กล่าวไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของอธิการบดีที่ให้มีการปิดการเรียนการสอนในวันที่ 2 ธันวาคมว่า

“ที่ผ่านมา มธ.มีบทบาททางการเมืองอย่างมาก ทั้งเรื่องการคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งผมและอาจารย์นิติราษฎร์ก็ไม่เห็นด้วย แต่อ้างว่าข้อเสนอเป็นของประชาคมธรรมศาสตร์ ซึ่งการอ้างชื่อของทุกคนในมธ.นั้น ทำไม่ได้ อย่างน้อยต้องประชุมประชาคมก่อน ว่ามีคนเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งอธิการบดีและอาจารย์สามารถคัดค้านในฐานะส่วนตัวได้ แต่ไม่ใช่นำชื่อของมหาวิทยาลัยไปดำเนินการ บทบาทของ ทปอ.ที่จะให้หยุดเรียน สุ่มเสี่ยงจะถูกมองว่าเข้าไปเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย การมาในวันนี้เป็นเชิงสัญลักษณ์ เพื่อแสดงออกว่า มธ.ไม่ใช่ของอธิการบดีที่จะสั่งอะไรก็ได้”

นาทีนี้ไม่มีใครรู้ความจริงว่า อั้ม เนโกะ ต้องการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพหรือแสดงออกทางการเมืองจริงๆ หรือว่าเรื่องทั้งหมดดังกล่าวมีผู้ใหญ่ชักนำอยู่เบื้องหลัง เชื่อว่าเจ้าตัวน่าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


ตัวแทนประชาคมธรรมศาสตร์มอบจดหมายเปิดผนึกแก่อธิการบดี




3 แกนนำ องค์อร ภูอากาศ, ภูมิใจ ชุมพร, นิยม มาชมภู



กำลังโหลดความคิดเห็น