ในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการชุมนุมทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะมีประชาชนมาร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทยถึงกว่า 5 ล้านคน จนสื่อต่างประเทศถึงกับกล่าวว่าไม่เคยมีการประท้วงครั้งไหนที่จะเต็มไปด้วยความสงบเรียบร้อยและปราศจากอาวุธเหมือนการชุมนุมครั้งนี้เลย
และในช่วงนี้เองที่นิตยสาร TIME ได้จัดอันดับ 10 การประท้วงของโลกที่เป็นสันติวิธีได้อย่างน่าสนใจ
มาดูกันว่ามีภาพไหน เหตุการณ์ใดที่กลายเป็นภาพความทรงจำประทับใจของชาวโลกมาจนถึงทุกวันนี้บ้าง
1. แคมเปญเพื่อสันติภาพ
ภาพนี้เป็นภาพที่จอหน์ เลนอน นักร้องชื่อดังจากวงเดอะ บีทเทิลส์หรือวงสี่เต่าทอง และภรรยาคนที่สองของเขา คือ โยโกะ โอโน่ ได้ใช้เวลาช่วงฮันนีมูนของพวกเขา 7 วันที่โรงแรม Amsterdam Hilton ( 25-31 มีนาคม 1969) เผยแพร่ภาพแคมเปญที่เรียกว่า “Bed-in” เพื่อเป็นการต่อต้านสงครามเวียดนาม
ในภาพทั้งคู่กำลังสวมชุดอาบน้ำอยู่บนเตียง พร้อมแปะข้อความบนกำแพงว่า “Hair Peace” และ “Bed Peace” ตอนหลังทั้งคู่ยังได้ทำแคมเปญนี้อีกครั้งที่เตียงในโรงแรม Montrea ซึ่งเป็นสถานที่จอห์น เลนนอนและกลุ่มผู้สนับสนุนได้ทำการบันทึกเสียงเพลง "Give peace a chance" ซึ่งเพลงนี้เองที่ต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสงครามเวียดนาม
2.ผู้ทรงอิทธิพลทางปัญญา
เฮนนี่ เดวิด ทอโร่ นักปรัชญา-นักกวี ชาวอเมริกันแห่งยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้อย่างสันติสุข เพราะผลงานของเขาเรื่อง "Civil Disobedience" ได้ตั้งคำถามว่าทำไมคนจะต้องเคารพรัฐบาล เนื่องจากเขาคิดว่ากฎหมายไม่เป็นธรรมและไม่เห็นด้วยกับนโยบายทาส เขาจึงปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาล ทำให้ทอโร่ถูกจำคุกหนึ่งคืนในปี 1846 แต่ภายหลังญาติก็ได้ประกันตัวเขาออกไป
3.หญิงในชุดขาว
หนึ่งในภาพของขบวนพาเหรดของวันที่ 3 มีนาคม 1913 โดยมีเนส มิลฮอลแลนด์ บอสเซเวียน (nez Milholland Boissevain) นักกฎหมายหญิงเป็นผู้นำที่ทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาร่วมเดินขบวนมากกว่า 50,000 คนในเมืองวอชิงตันดี.ซี. โดยสมาคม The National American Woman Suffrage” สามารถหาเงินบริจาคได้มากกว่า 14,000 ดอลลาร์เพื่อจัดอีเวนต์สำคัญในการโปรโมตให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ออกเสียงเสียงเลือกตั้ง กระทั่งทำให้ผู้หญิงสามารถมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งใน 7 ปีต่อมา
4.เกลือสันติภาพ
ในวันที่ 12 มีนาคม ปี 1930 มหาตมะ คานธี ในวัย 61 ปีพร้อมอาสาสมัครอีก78 คน ได้เดินทางไปที่ชายทะเลในตำบลฑัณฑีซึ่งเป็นระยะทางกว่า 241 ไมค์ เพื่อทำการผลิตเกลือ เพราะต้องการประท้วงอังกฤษที่ห้ามคนอินเดียผลิตเกลือกินเอง เนื่องจากเกลือเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมด้วยรัฐบาลอังกฤษในสมัยนั้น ว่ากันว่าสิ่งที่คานธีทำนี้เองได้กลายเป็นสัญลักษณ์และจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่าอินเดียต้องการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช
5.การนั่งประท้วงของพลเมืองฟลินท์
สหภาพ the United Auto Workers (the UAW) เป็นสหภาพที่ก่อนตั้งในปี1935 เนื่องจากเป็นสหภาพที่เพิ่งก่อตั้งจึงมีวาระที่จะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาตามแผนของสหภาพมากมาย ซึ่งในช่วงภาวะแห่งความตึงเครียดนี้เอง ผู้บริหารของบริษัทเจเนอเรชันมอเตอร์ได้เริ่มแจกจ่ายงานให้แก่บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกของสหภาพเพื่อสกัดกั้นการทำงานของ the UAW ดังนั้นในเดือนธันวาคม ปี 1936 คนงานจึงได้มานั่งรวมตัวกันประท้วงที่หน้าตึก Fisher Body ซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัทเจเนอเรชันมอเตอร์ในเมืองฟลินท์ โดยมีคนงานร่วมประท้วงทั้งหมดกว่า 135,000 คนใน 35 เมืองทั่วอเมริกา ตามมาด้วยเหตุการณ์จลาจล
อย่างไรก็ตาม ภาพของวงดนตรีที่เล่นดนตรีและกลุ่มชายที่นอนหลับอยู่ก็จารึกอยู่ในความทรงจำของผู้คนว่ามีความเข็มแข็งที่ผาสุก สงบ อยู่เบื้องหลังของการเคลื่อนไหวของสหภาพอเมริกาเหนือที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
6.นั่งเพื่อต่อสู้สิทธิของคนดำ
แม้ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจะมีจำนวนมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้โดยสารรถบัสในเมืองมอนต์เกอเมอรี่ รัฐแอละแบมา ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่ชื่อ “โรซ่า พาร์คส” ก็เจอปัญหาในการนั่งรถเมล เนื่องจากเธอฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการไม่เสียสละที่นั่งของเธอให้แก่ชายผิวชาว ทำให้เธอถูกจับกุม เป็นเหตุให้คนดำรวมตัวกันต่อต้านไม่ขึ้นรถเมล์เป็นเวลา 381 วัน แต่หนึ่งปีหลังจากนั้นศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกายืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าการจัดที่นั่งให้เฉพาะคนบางกลุ่มเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และประกาศกฎหมายไม่ให้มีการแบ่งแยกสีผิวขณะโดยสารยานพาหนะ
ภายหลังพาร์คส์จึงกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ "mother of the civil-rightsmovement." หรือ “แม่ของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง”
7.ประท้วงในวอชิงตัน
ในภาพนี้มีประชาชนมากกว่า 2 แสนคนมารวมตัวกันที่อนุสรณ์ลินคอล์นในวันที่ 28 สิงหาคม 1963 เพื่อเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน โดยครั้งนี้ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้กล่าวคำปราศรัยอันโด่งดังที่ชื่อว่า "ฉันมีความฝัน" ( "I have a dream") ซึ่งช่วยปลุกกระแสตื่นตัวให้คนทั้งชาติเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นผู้สนับสนุนการประท้วงปราศจากความรุนแรง โดยยึดหลัก “อหิงสา” ตามแบบฉบับของ “มหาตมะ คานธี” นอกจากนั้นยังสนับสนุนการร่างกฎหมายเพื่อให้เกิดสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมกันทุกสีผิวในสหรัฐอเมริกา จนทำให้ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1964
8. กำปั้นในอารยะขัดขืน
นักกรีฑาชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันสองคน คือ “ทอมมี สมิธ” (ผู้ชนะเลิศ)และ “จอห์น คาร์ลอส” (ผู้ชนะเลิศรองอันดับที่ 2) ได้ใช้ชัยชนะของพวกเขาในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เม็กซิโกซิตี้ในปี 1968 เป็นเวทีต่อต้านการกดขี่คนผิวดำในอเมริกา โดยทั้งคู่ได้สวมถุงเท้าดำเพื่อพรีเซ็นต์ความยากจนของคนดำ รวมถึงสวมถุงมือดำเพื่อเรียกร้องความเป็นอันหนึ่งเดียวของคนดำ ในขณะที่ผู้ชนะเลิศรองอันดับที่ 1 คือปีเตอร์ นอร์แมน ชาวออสเตรเลียก็ได้ร่วมสวมเสื้อที่มีตราคำว่า Human right หรือ “สิทธิมนุษยชน” จึงทำให้เขากลายเป็นเหมือนฮีโร่ เมื่อกลับถึงบ้าน
9.ดอกไม้กับปืน
ในวันที่ 21 ตุลาคม 1967 ได้มีผู้คนมาประชุมประท้วงสงครามเวียดนามที่หน้าเพตากอน (จัดโดย the National Mobilization Committee ) เพื่อต้องการให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกายุติสงครามในเวียดนาม เหตุการณ์ในครั้งนี้เองที่ได้เกิดภาพที่ประทับใจผู้คนทั้งโลกคือ ภาพผู้หญิงที่ถือดอกไม้ประจันหน้ากับตำรวจ นับเป็นภาพพลังดอกไม้ที่กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพได้อย่างน่าชมทีเดียว
10.ผู้ต่อต้านที่ไม่ปรากฏชื่อ
หลังการตายของผู้นำที่เรียกร้องประชาธิปไตย “หู เย่าปัง” ในปี 1989 นักเรียนจีนจำนวนมากได้มารวมตัวกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของเมืองปักกิ่ง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ รัฐบาลจีนจึงได้ใช้รถถังเพื่อหยุดจำนวนผู้ประท้วงและยิงปืนใส่ผู้คนล้มตายมากกว่าสองร้อยคน แต่แล้วก็ได้มีชายคนหนึ่งได้เดินเข้าไปในถนน เพื่อยืนประจันหน้ากับรถถังและพยายามปีนเข้าไปในรถถัง
ไม่มีใครรู้ว่าชายคนในภาพนี้เป็นใคร บางคนบอกว่าเขาถูกฆ่าตายไปแล้ว ในขณะที่บางส่วนก็เชื่อว่าเขาหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ไต้หวัน แต่ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม สิ่งที่เขาทำก็ได้เป็นภาพตราตรึงอยู่ในใจของคนทั้งโลกแล้ว แม้การประท้วงครั้งนั้นจะไม่สำเร็จก็ตาม
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากนิตยสาร TIME