มีที่ไหน? เกณฑ์ “เด็กกำพร้า” มาเป็น “โล่กำบังม็อบ!!” ทันทีที่รู้ข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนพลไปบุกยึด “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็สั่งยกพลเด็กๆ จากสถานสงเคราะห์มารวมตัวในห้องประชุม รอม็อบมาถึงค่อยสั่งประจันหน้า ยังดีที่มีข้าราชการชั้นผู้น้อยทนดูไม่ได้ ถ่ายภาพประจาน ฟ้องนักสิทธิฯ เด็ก จนเรื่องแดง กลายเป็นประเด็นถกเถียงครั้งใหญ่บนโลกออนไลน์ ถามหา “สามัญสำนึก” ว่ามีเหลืออยู่บ้างมั้ย สำหรับคนสั่งการภายใต้กระทรวงนี้!!
“กันชนเด็ก” ข้อเท็จจริงจากคนในกระทรวง!
“เด็กกำพร้า มากมาย ทั้งชายหญิง
คือภาพจริง นั่งนิ่งๆ พิงรอท่า
ม็อบมาถึง กระทรวง พัฒนาฯ
เร่งขนมา เป็นกันชน ให้รัฐมนตรี... โอ้! ยุควิปริตทางจิตสำนึกมาถึงแล้ว”
ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมการเลขาธิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก โพสต์ภาพลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “ครูหยุย มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก” พร้อมแต่งกลอนบรรยายภาพแสดงความรู้สึกเอือมระอาอย่างสุดทนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โพสต์นี้ได้รับการแชร์ออกไปในวงกว้างมากขึ้นๆ เรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ดูแลเรื่องสิทธิเด็ก และแน่นอนว่าคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ “เป็นเรื่องจริงเหรอ?” เจ้าของโพสต์ได้แต่หัวเราะในลำคอ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ไม่ต้องให้ฟันธงว่าจริง-ไม่จริงกี่เปอร์เซ็นต์หรอก เพราะมันคือข้อเท็จจริงครับ” นอกจากจะมีหลักฐานฟ้องด้วยภาพเป็นอย่างดีแล้ว ครูหยุยยังบอกว่าที่เรื่องมันแดงขึ้นมาได้ก็เป็นเพราะคนในกระทรวงเอง
“พอเห็นว่าม็อบกำลังจะมา เขาไปเกณฑ์เด็กมา ให้เด็กตื่นกันแต่เช้าเลยแล้วก็ให้ไปรอในห้อง และจะให้เด็กเดินออกไปตอนม็อบมา เจ้าหน้าที่กระทรวงที่เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยในนั้นเขารู้ เขาก็ทนไม่ได้ โห! ไปเกณฑ์เด็กมาแล้วเอามาใช้แบบนี้ เขาไม่เห็นด้วย แต่ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยโทร.หาผมหลายคนเลย โทร.หากรรมการสิทธิมนุษยชนด้วย บอกว่าเด็กมาอยู่ที่นี่กันเต็มเลย จะให้ทำยังไงดี
เราก็เลยส่งตัวแทนมูลนิธิแต่ละองค์กรเข้าไป ไปบุกห้องนั้นเลย ยังไงก็จะไม่ให้เด็กออกจากห้อง พอหลังจากนั้น พอม็อบมา ระดับผู้ใหญ่ก็เข้ามาในห้อง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บอกว่าห้ามให้เด็กออกไป เพราะถูกคณะกรรมการสิทธิฯ โทร.มาขู่เอาไว้แล้วไงครับ บอกว่าทำอย่างนี้ได้ยังไง จะส่งคนไปตรวจสอบ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็เลยเปลี่ยนแผน โทร.หาใครก็ไม่ทราบ ผมเลยบอกน้องที่อยู่ที่นั่นให้ถ่ายรูปเก็บเอาไว้เป็นหลักฐานเลย เลยได้เป็นภาพนั้นออกมา”
NGO ที่เข้าไปช่วยระงับเหตุการณ์เอาไว้ได้คือตัวแทนจากทั้ง 4 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก, มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และศูนย์พัฒนาเยาวชน YPDC จึงทำให้สังคมไม่ต้องเห็นภาพ “ม็อบผู้ใหญ่” ปะทะ “กันชนเด็ก” อย่างที่จอมบงการวาดภาพเอาไว้
ถือว่าโชคยังดีที่หลายฝ่ายไหวตัวทัน ไม่อย่างนั้น จะมีเด็กๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรกับเรื่องการเมืองต้องตกเป็นเหยื่อมากกว่านี้อีกไม่รู้กี่เท่า เพราะคำสั่งให้เกณฑ์เด็กมากระทรวง ไม่ใช่แค่น้องๆ จาก “สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี” อย่างที่เห็นในภาพเท่านั้น แต่ยังมีสถานสงเคราะห์แห่งอื่นๆ ด้วย “แต่ที่นั่นอยู่ใกล้กระทรวงสุดในตอนนั้น ก็เลยได้เห็นเท่านั้น บ้านหลังอื่นมาไม่ทัน เรารู้ข่าวก่อน
ถามหน่อย เขาจะเอาเด็กไปทำไมตั้งแต่เช้าๆ สุดท้ายก็เอากลับมาที่เก่า พอม็อบเคลื่อนกลับก็เอาเด็กกลับคืนบ้านราชวิถี ถามว่าจะเอาเด็กไปทำไม? ถ้าบอกว่ามานั่งรอพบรัฐมนตรี ท่านจะพาไปเที่ยว อันนี้ก็ว่าไปอย่าง แต่นี่ไม่ได้พาไปเที่ยว พอม็อบกลับก็เอาเด็กกลับบ้านราชวิถีคืน เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าเอาเด็กมาเพื่อม็อบโดยเฉพาะ”
หลบอยู่หลังเด็ก “จิตสำนึก” มีมั้ย?
“คิดว่าเด็กๆ เหล่านี้ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ หรือไม่มีผู้ปกครอง แล้วพวกคุณจะทำอย่างไรกับเขาก็ได้ตามอำเภอใจเช่นนั้นหรือ พวกเขาก็มีสิทธิเสรีภาพในฐานะคนไทยเท่ากันกับพวกคุณทุกประการ มิได้น้อยไปกว่าพวกคุณสักนิดเดียว จงอย่าได้เอาเด็กเหล่านี้มาเป็นโล่แทนพวกคุณ ปวีณา เจ้ากระทรวงที่มักออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพเด็กและสตรี จะปฏิเสธไม่รู้เห็น ไม่รับผิดชอบ ไม่ได้นะคะกรณีนี้
เพื่อนๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ กรุณาช่วยแชร์ด้วยค่ะ ให้พวกนั้นรู้ว่า เรารู้นะว่าคุณกำลังทำอะไร เพื่อที่จะได้ทบทวนและเลิกการกระทำดังกล่าว ขอบคุณค่ะ ขอให้เยาวชนได้กลับไปอย่างปลอดภัยทุกท่านค่ะ” นี่คือตัวอย่างความคิดเห็นที่มีคนกดไลค์และแชร์มากที่สุดโพสต์หนึ่งของ “วิรังรอง ทัพพะรังสี” จากกรณีนี้
ไม่ต่างไปจากทัศนะของ “สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์” กรรมการและเลขานุการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มากนัก ที่มองว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อ “ปวีณา หงสกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างหนัก และควรออกมาแสดงความรับผิดชอบอะไรบางอย่าง
“การกระทำแบบนี้ ละเมิดสิทธิเด็กอยู่แล้วครับ คุณใช้เด็กเป็นเครื่องมือได้อย่างไร และเท่าที่รู้มา การเกณฑ์เด็กมากระทรวงครั้งนี้ เป็นการเรียกอย่างกะทันหันนะครับ และจริงๆ แล้วผมเองก็เป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นะ แต่ผมก็ไม่ทราบเลยว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้น เขาไม่ได้แจ้งเลย พอมารู้แบบนี้ ผมก็ต้องขอให้คำแนะนำเขาว่าเขาทำไม่ถูกครับ ไม่มีการปรึกษากันเป็นเรื่องเป็นราวเรื่องสิทธิเด็ก และครั้งนี้ก็ละเมิดสิทธิเด็กหลายด้าน ประการแรก Abuse เด็ก ประการที่สองคือ ทำให้ความเป็นส่วนตัวของเด็กเสียไป ดึงเด็กมายุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายของผู้ใหญ่
จริงๆ แล้ว ผมว่าตัวคุณปวีณาคงจะมีปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเด็กนะ เพราะที่ผ่านมาแกก็ชอบจับเด็กมานั่งสัมภาษณ์ แถลงข่าว ให้นักข่าว-ช่างภาพ ไปสัมภาษณ์-ถ่ายรูปเด็กในโรงพยาบาล ซึ่งผมว่าไม่เหมาะเลย เพราะเด็กเขาก็ถูกทำร้ายมาอยู่แล้ว อันนี้เป็นพื้นฐานที่ทำไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก
พอเกิดเรื่องนี้ ผมเลยคิดว่าแกอาจจะไม่ได้คิดมาก คงคิดแค่ว่าเอาเด็กมาจะได้ทำให้กระแสของม็อบเบาบาง ซึ่งจริงๆ แล้วม็อบเขาไม่ได้ต้องการเข้ามายึดกระทรวงหรือมาบุกแล้วทำให้เกิดความรุนแรงอย่างที่ว่า มันเป็นแค่สัญลักษณ์ทางการต่อสู้ของเขาเท่านั้นเอง เขาแค่อยากจะให้มีการร่วมมือจากข้าราชการที่จะไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่พอเอาเด็กมา มันก็ไม่เหมาะครับ ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์เลย”
ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็ไม่เห็นแง่ดีของการใช้เด็กมาเป็นโล่กำบังม็อบ “จะดียังไง เขามีแต่จะด่าคุณน่ะสิว่าใช้อะไรคิด” ครูหยุย กรรมการเลขาธิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก พูดด้วยน้ำเสียงมีน้ำโห “ยิ่งเด็กเขาด้อยโอกาส เด็กเป็นกำพร้า คุณก็ต้องยิ่งปกป้องดูแลเขาสิ แต่นี่กลับไปคิดตาลปัตร อาจจะคิดว่าเด็กไม่มีผู้ปกครองมาคัดค้าน อย่างนี้มันละเมิดเด็กชัดๆ เลย นี่คือปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิเด็กเลยล่ะ เด็กต้องได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากความรุนแรงในทุกลักษณะ ตัวคุณเองยังแถลงข่าวเรื่องยุติความรุนแรงแท้ๆ แล้วจะเอาเด็กมาเผชิญหน้ากับม็อบได้ยังไง เอาสมองคิดสิ ในโลกนี้ไม่มีใครเขาทำกันหรอก สงครามเขายังห้ามเอาเด็กไปเป็นทหาร ในความรุนแรงทุกอย่างห้ามไม่ให้มีเด็กอยู่”
ลงโทษด้วยการ “สาปแช่ง”
ลองให้วิเคราะห์ดูว่า เหตุใดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงวางหมากเกมนี้มาสู้ม็อบ ครูหยุยมองว่าไม่น่าจะเป็นเกมการเมืองที่วางหมากไว้อย่างแยบคาย แต่น่าจะเกิดจาก “ความตื่นกลัว” และ “การประจบ” เสียมากกว่า
“เกณฑ์เด็กมาเพราะอาจจะกลัวเกิดความรุนแรง และอาจจะบวกกับความต้องการประจบของข้าราชการบางคนด้วยหรือเปล่า แต่คิดว่าไม่น่าจะมีแผนอะไรหรอก คงต้องการเอาเด็กมากัน ประมาณว่าม็อบมาทำไม เด็กๆ เขากำลังอยู่สบายๆ ทำไมต้องมากวนเด็ก คงอยากให้ภาพออกมาแบบนั้น
ส่วนตัวผมเอง ที่โพสต์รูปไปในเฟซบุ๊กและบอกให้คนแชร์ต่อกันไปเยอะๆ เพราะต้องการให้กระทรวงที่ดูแลเรื่องเด็ก คือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับรู้ว่าหน้าที่เขาคืออะไร คือต้องคุ้มครองเด็ก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งมาจากไหนก็ตามที่ให้เด็กไปเกี่ยวข้อง เราต้องอย่าไปยอมอย่างเด็ดขาด! ต้องมีจิตสำนึกเรื่องนี้ ไม่ว่ารัฐมนตรีสั่งหรือเจ้านายคุณสั่งเพื่อไปเชลียร์ (เชียร์+เลีย) รัฐมนตรีก็ไม่ได้ ข้าราชการทุกคนต้องมีสำนึกข้าราชการในตัวสิ”
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ครูหยุยไม่ต้องการเห็นเด็กๆ มายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมเลย โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรมาร่วมกับม็อบ “เพราะถ้ามันเกิดอะไรขึ้น มันควบคุมยาก พ่อแม่เด็กบางคนบอกจะพาลูกไปเรียนรู้ อันนั้นก็แล้วแต่ครับ ผมก็ได้แต่เตือนไว้ โดยเฉพาะครั้งที่รุนแรงมากๆ อย่างม็อบราชประสงค์ ยิงกันตูมๆ ต้องบอกว่าจะฆ่ากันฆ่ากันเองเถอะ อย่าเอาเด็กกับคนแก่เข้าไปเกี่ยวเลย จนเขายอมให้เอาเด็กและคนแก่ออกมา พอเคลียร์ม็อบเสร็จ เด็กหายไปเต็มเลย ผมก็รู้มาว่าส่วนหนึ่งถูกเอาไปขังไว้ในสถานพินิจ ขังลืม ผมก็โกรธ เอาเด็กไปขังลืมได้ยังไง รัฐบาลก็บอกว่าไม่มีๆ ไม่ได้ขัง แล้วก็แอบปล่อยเด็กออกมา
แล้วก็มาครั้งนี้ เด็กมันไปเกี่ยวอะไรด้วย เอาเด็กมากระทรวง เอามากันม็อบเหรอ เอามาทำไม ยิ่งแย่ใหญ่เลย ขนาดผมเคยโดนขู่ว่าจะมีม็อบบุกมาที่มูลนิธิ ผมยังประกาศเลยว่าให้เอาเด็กออกจากมูลนิธิไปให้หมดเลย อย่าให้อยู่ในที่ที่มันอันตราย จะมาเจอก็ให้มาหาผมอย่างเดียว คนที่เขาอยู่กับเด็ก เจออันตราย เขาไม่เอาเด็กมาอยู่กับตัวหรอกครับ”
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ม็อบ ไม่ปรากฏว่ามีครั้งไหนเลยที่ผู้ชุมนุมใช้เด็กเป็นกันชน ผศ.ตระกูล มีชัย นักวิชาการด้านการเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยวิเคราะห์ “ก่อนหน้านี้อาจจะมีเด็กอยู่ในภาพการชุมนุม พ่อแม่พาลูกหลานมา พอเริ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง เขาก็พาลูกกลับ แต่ไม่ได้เอาเด็กๆ มาเป็นโล่ มันต่างกันนะกับการที่ทางกระทรวงรู้ข่าวว่าจะมีผู้ชุมนุมเดินทางมาปิดล้อม จึงพาเด็กๆ มาสกัดกั้นพื้นที่ตรงนั้น ผมถือว่าเป็นเจตนากระทำ ต้องดูที่เจตนาครับ
ส่วนเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นการเตรียมเด็กมาชนม็อบ หรือถึงจะเป็นแค่การจัดกิจกรรมในวันที่ม็อบมาพอดี ยังไงมันก็ไม่สมควรทำทั้งสิ้น ยิ่งสภาวะทางการเมืองเป็นแบบนี้แล้วคุณมาจัดกิจกรรมและเอาเด็กมาเสี่ยง ผมถือว่าเลวมากนะ ถ้าเกิดข้าราชการทำหรือนักการเมืองทำ คุณควรจะหยุดและพาเด็กไปที่อื่นด้วยซ้ำ อย่าให้มายุ่งเกี่ยวกับทางการเมืองเลย”
อาจารย์ตระกูลแนะให้ฝั่งรัฐบาลมองสถานการณ์ให้แตกว่า การบุกยึดกระทรวงต่างๆ ของผู้คัดค้านเป็นเพียงสัญลักษณ์การต่อสู้เท่านั้น
“ม็อบเขาก็ไม่ได้เข้าไปยึดกระทรวงเหมือนลักษณะกองโจรเสียเมื่อไหร่ เพียงแต่การกระทำเหล่านี้เป็นสันติวิธีเพื่อแสดงการยับยั้งการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ราชการภายใต้รัฐบาลที่เขาไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าการยับยั้งนั้น ถึงขนาดมีการปล้นสดมภ์ ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทรัพย์สินอย่างรุนแรง ผมขอเน้นคำว่า “อย่างรุนแรง” นะ เพราะแค่กดดันแล้วประตูหลุด เป็นธรรมดาของการกดดัน เล็กน้อยมาก ขณะนี้ยังอยู่ในขอบเขตของสันติวิธี
สมมติว่าม็อบไปยึดกระทรวงมหาดไทย ในนั้นมีหน่วยงานอยู่ 2 หน่วยเท่านั้น คือ กรมการปกครอง กับสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนกรมที่ดินอยู่ข้างนอก กรมป้องกันภัยพลเรือน กรมโยธาธิการและผังเมือง ก็อยู่ข้างนอก ก็ยังมีหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ในตัวกระทรวงทำงานอยู่ข้างนอก ผู้ชุมนุมเขาแค่ต้องการทำให้เห็นว่าได้เข้าไปประท้วง ไม่ได้ต้องการให้การทำงานทั้งหมดถูกยุติลงทั้งหมด ต่างจากตอนปฏิวัติรัฐประหาร อันนั้นผู้ทำการปฏิวัติจะยึดกุมทุกอย่าง การทำงานทุกอย่างต้องหยุดหมด และสั่งให้ปลัดกระทรวงมารายการตัวต่อคณะผู้ปฏิวัติ แต่ที่ทำอยู่นี้มันไม่ใช่ คนละแบบเลย ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เท่านั้นเอง
แต่มาใช้เด็กแบบนี้ ใครที่มันคิดและอยู่ในกระทรวงนี้ ต้องบอกว่ากระทรวงนี้ควรยุบ ไม่ว่าใครจะออกกำลังอะไรก็แล้วแต่ ผมถือว่าเลวมาก เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงนี้ซึ่งมีคุณปวีณาเป็นรัฐมนตรี ถ้าท่านมีส่วนรู้เห็น ผมถือว่าเลวมาก หรือถ้าไม่รู้และคนอื่นทำ ปวีณาที่มีภาพเป็นแม่พระ จะต้องสั่งสอบสวนและหาผู้กระทำโดยด่วน
ต้องดูว่าเด็กที่ถูกเกณฑ์มาเหล่านั้น อยู่ภายใต้การดูแลของใคร ถ้าอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานราชการ ต้องตั้งกรรมการสอบผู้ที่มีอำนาจดูแลเกี่ยวข้องว่า ทำไมคุณไม่ดูแลเด็กให้ปลอดภัย เมื่อรู้ว่ามีปัญหาตรงนั้น ยังเอาเด็กมาทำกิจกรรม คุณต้องพยายามรักษาความปลอดภัยแก่เด็กให้มากที่สุดสิ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ตรงนั้นถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่อย่างหนัก และเตรียมรับบทลงโทษที่หนักที่สุดเอาไว้ได้เลย คือการลงโทษจากคนในสังคม ชาวโซเชียลมีเดียต้องช่วยกันสาปแช่ง”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE