“อาจารย์มาทำงานที่ภาคอีสานก็ยี่สิบกว่าปีแล้วนะ แต่พบว่าคนไข้เป็นไวรัสในตับ ไม่เคยลดลงเลย” คำกล่าวของ รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ ประธานชมรมรักษ์ตับ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านตับ ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ชวนให้นึกถึงการแพร่ระบาดอันยาวนานจนน่าหวั่นวิตกของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ชนวนเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง ภัยคุกคามชีวิตอีกชนิดที่ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบเชียบในหมู่คนไทย จนถึงขั้นสถิติทางการแพทย์ ระบุชัดว่าโรคนี้คือโรคที่ทำให้คนไทยต้องสังเวยชีวิตมากที่สุด!
“ไวรัสตับอักเสบ” ต้นเหตุแห่งมหันตภัยร้ายคร่าชีวิต!
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แม้วงการแพทย์จะงัดกลเด็ดเคล็บลับ ทั้งสูตรยารักษา ทั้งฉีดวัคซีน ทั้งฉายเคมีรังสีเฉพาะที่หรือทำคีโม ฯลฯ เพื่อชุบชีวิตใหม่ให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับ แต่กลับพบว่าตัวเลขการตายด้วยโรคดังกล่าว ไม่เคยลดลงไปเลย หากยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และมากเป็นอันดับ 8 ของโลก ถ้าเฉลี่ยกันชัดๆ ก็คือเสียชีวิต 2 คนต่อชั่วโมง และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ตัวเลขจะเพิ่มเป็น 3 คนต่อชั่วโมงด้วย” นพ. ธีรวุฒิ เคหะเปรมะ ประธานมูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ การันตีอัตราการสูญเสียด้วยโรคดังกล่าวให้ฟัง ก่อนจะแจกแจงที่มาของเซลล์มะเร็งตับว่า
มะเร็งตับสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ชนิดแรกคือ “มะเร็งตับชนิดเซลล์ตับ” มีปัจจัยเสี่ยงมาจากไวรัสตับอักเสบบีและซี การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ รวมถึงการได้รับสารอะฟลาท็อกซินจากเชื้อรา หรือมีผลมาจากโรคตับแข็ง และโรคตับอื่นๆ ส่วนชนิดที่สองคือ “มะเร็งเซลล์ท่อน้ำดี” มะเร็งชนิดนี้จะส่งผลมาจากพยาธิใบไม้ในตับและอาหารก่อมะเร็ง อย่างปลาร้า ไส้กรอก และอาหารดิบ เป็นต้น ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการทำเคมีบำบัดเฉพาะที่ และโรคมะเร็งตับทั้งสองชนิดนี้ ซ้ำยังเน้นด้วยว่า “พบมากที่สุดในคนไทยทางภาคอีสาน”
แน่นอนว่าเมื่อถูกโรคมะเร็งเกาะกุมชีวิต หลายคนคงทราบดีว่า “โอกาสรอดมียาก” โดยเฉพาะมะเร็งชนิดนี้ ข้อมูลทางการแพทย์ชี้แจงว่า ผู้ป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบที่มาพบแพทย์ ส่วนใหญ่จะเข้ามารับการรักษาในระยะลุกลามแล้ว ทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างยากเย็น มากกว่านั้นค่ารักษาในการทำเคมีบำบัดเฉพาะที่ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายก็ยังสูงลิบคงที่ หากแต่ข้อดีคือสามารถยืดอายุให้ผู้ป่วยไปได้อีก 4 ปี ส่วนกรณีคนไข้ที่ปล่อยปละละเลย ไม่เข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจะมีชีวิตได้อีกเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น
เปรียบไปแล้ว โรคนี้ก็ไม่ต่างไปจาก “มหันตภัยร้ายทำลายล้างแดนอีสาน” ด้วยอัตราการปลิดชีวิตผู้คนที่เพิ่มขึ้นๆ จนสั่นสะเทือนวงการแพทย์ ทำให้เกิดเป็นโครงการใหญ่ ภายใต้การร่วมมือขององค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์โรคตับอักเสบแห่งโลก เพื่อตรวจสอบจำนวนผู้ติดเชื้อและให้ความรู้ในการรักษาผู้ป่วยที่ถูกวิธี ย่นระยะเวลาการตายให้ห่างออกไป แนวทางนี้ รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคตับ ผู้ดำเนินโครงการตรวจตับสัญจร เผยว่า
“ทางเรามีการจัดโปรเจกต์ตรวจตับสัญจรในภาคอีสาน ปีนี้จัดเป็นปีที่ 4 แล้ว เพราะเป็นภาคที่อาจารย์กังวลมากที่สุด ทุกภาคจะมีคนเป็นโรคนี้แค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แต่ภาคอีสานจะสูงถึง 8 เปอร์เซ็นต์ บางแห่ง ยกตัวอย่างเช่น หนองคาย, กาฬสินธุ์ สูงถึงเกือบ 10 และ 12 เปอร์เซ็นต์ นี่ยังไม่รวมกับขอนแก่นกับอุดรฯ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงเหมือนกัน พอเป็นแบบนี้ มันเริ่มทำให้เราคิดหนัก เพราะประชากรในภาคอีสาน 22 ล้านคน มีคนเป็นไวรัสตับอักเสบ 3 แสนคน และตายต่อปีไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน!”
ข้อมูลดังกล่าวชวนให้เกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดวงการแพทย์ไทยจึงยังไม่มีแนวทางเยียวยาและชะลอพิษเซลล์มะเร็งชนิดนี้ออกมา เพื่อลดอัตราผู้ป่วยซึ่งมียอดสูงขึ้นทุกๆ ปี กรณีนี้ รศ.พญ.วัฒนา จึงช่วยละลายความสงสัย
“จริงๆ แล้ว ในการรักษาโรคมะเร็งตับระยะเริ่มต้น เราต้องป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีก่อน โดยใช้ยารักษาด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนเรื่องวัคซีนมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2535 ส่วนไวรัสตับอักเสบซี ตอนนี้ทางเราอาจยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่เราก็สามารถยับยั้งไม่ให้เกิดได้ ด้วยการให้ความรู้ชาวบ้าน เช่น การใช้เข็ม, การสัก และการกินของดิบๆ ซึ่งปัจจุบันมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ” ส่วนสาเหตุที่ทำให้โรคยังคงลุกลามไม่หยุดนั้น แพทย์หญิงเปิดเผยว่า
“มันยังมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เช่น อาจจะเกิดจากที่เรายังให้ความรู้ไม่ทั่วถึง, ประชาชนไม่เข้าใจ ทำให้โอกาสที่จะเข้ามาสู่การรักษามีน้อย ที่น่าห่วงมากที่สุดคือคนกลัวที่จะรักษา”
การตรวจสมัยนี้ ไม่โหดเหมือนสมัยก่อน
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการรักษาในมุมมองของ รศ.พญ.วัฒนา ย่อมเป็น “การป้องกัน” ควบคู่กับการหมั่นตรวจเช็ก โดยก่อนที่จะได้รับผลยืนยันจากแพทย์ว่าปลอดภัยไร้เชื้อหรือไม่ ต้องผ่านกระบวนการดังต่อไปนี้เสียก่อน คือต้องขึ้นนอนบนเตียงแล้วให้แพทย์เจาะเลือด, เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจสอบด้วยการแทงเข็มฉีดยาทะลุชายโครงเข้าสู่ตับโดยตรง แน่นอนว่าผู้ถูกตรวจคงเจ็บปวดไม่เบา จึงไม่แปลกใจที่ผู้เข้าข่ายการติดเชื้อไวรัสจะหวาดระแวง ต่างพากันหลีกเลี่ยงการพบแพทย์ จนนำมาซึ่งความตายในภายหลัง
“ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ไม่กล้ามาตรวจ ส่วนหนึ่งเพราะกลัววิธีการตรวจ ต้องเจาะตับ เจาะเลือด ซึ่งวิธีนี้มันก็ไม่ได้ตอบคำถามทั้งหมดนะ เพราะบางรายที่เขามีตับที่มันพังเยอะแล้ว เช่น เกล็ดเลือดต่ำ แล้วก็มีผลการทำงานตับไม่ดี อย่างนี้การเจาะก็จะมีอันตรายมาก และพอมันมีอย่างนี้แล้วเนี่ย คนไข้หลายคนก็ต้องชะลอการรักษา เพื่อจะฟื้นฟูตับให้มันบำรุงขึ้นมาก่อน หรือบางราย อาจจะใช้การรักษาแบบว่า สุ่มเดาไปเลย เพราะว่ามันมีข้อระมัดระวังว่า ถ้าเจาะตับแล้วจะเกิดอันตราย”
ดังนั้น “เครื่องเช็คชีวิตตับ” จึงเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า “เครื่องไฟโบร สแกน” นั่นเอง ถือเป็นนวัตกรรมล้ำยุคจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งวงการแพทย์ในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สเปน, อังกฤษ, อิตาลี และสหรัฐอเมริกา การันตีเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ผลการตรวจที่ถูกต้อง แม่นยำ ชัดเจน และไม่สร้างความเจ็บปวดต่อผู้ป่วย จึงถูกนำเข้ามายังประเทศไทยโดยบริษัท แปซิฟิก เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องไฟโบรสแกน จากฝรั่งเศสแต่เพียงผู้เดียว
ในประเทศไทยเอง บรรยากาศที่เกิดขึ้นในโครงการตรวจตับสัญจร ภาคอีสาน จ.มหาสารคาม ก็ชี้ชัดได้ว่าขั้นตอนการตรวจไม่น่ากลัว เพราะมีผู้สนใจมาเข้าร่วมในครั้งล่าสุดมากถึง 500 คน ผู้ตรวจที่มีโอกาสได้ใช้เครื่องดังกล่าว รวมถึงแพทย์พยาบาลผู้เข้าร่วมโครงการ ต่างยิ้มและพูดเป็นเสียงเดียวว่า ใช้งานง่าย เห็นผลชัด รวดเร็ว และไม่เจ็บ ด้านแพทย์ผู้เป็นประธานโครงการ ให้บรรยายความรู้สึกเพิ่มเติมว่า
“เครื่องตัวนี้มันช่วยได้เยอะนะ เพราะที่ผ่านมา มีคนไข้หลายคนเหมือนกันที่กลัว จะเป็นลมเป็นแล้ง ทำใจไม่ได้ ขอกลับไปบ้าน ยอมที่จะไม่รักษา ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้มีข้อห้ามอะไรที่จะเจาะตับ แต่พอมีเครื่องตัวนี้ ก็จะทำให้เขารู้สึกมีทางเลือก อีกอย่างหนึ่ง ก็คือการเจาะตับอย่างที่บอกว่ามันอาจเห็นผลได้ไม่ทั้งหมด และมีข้อจำกัดกับผู้ป่วยบางรายที่ตับแย่มากๆ แล้ว ซึ่งตรงนี้ ไฟโบร สแกน สามารถช่วยได้”
เครื่องต่ออายุ หรือ วัสดุดูดทรัพย์?
แม้เจ้าเครื่องดังกล่าวจะได้รับคำการันตีกันปากต่อปากถึงข้อดีในการใช้งาน ทว่า ในด้านราคาก็ถือว่าสูงใช่เล่นเช่นกัน “ในภาคทั่วไป ตามโรงพยาบาล การเข้าตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน ก็จะตก 2,500-3,000 บาท ตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่า เพราะราคาเครื่องมันค่อนข้างที่จะแพงมาก และกรมบัญชีกลางก็ยังไม่ได้มี code ที่ยอมรับชัดเจน” รศ.พญ.วัฒนา ชี้แจง ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่? แพทย์หญิงจึงช่วยแสดงทัศนะเอาไว้เพิ่มเติม.
“มันก็คุ้มในบางกรณีนะ แต่ก็ไม่ทั้งหมด อย่าลืมว่าบางครั้ง การทำ ไฟโบร สแกน ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ อย่างยกตัวอย่างเช่นว่า คนไข้ที่เป็นไวรัสซี ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอนุญาตให้รักษาฟรี แต่ก็ต้องบอกว่าถูกจำกัดการ ไฟโบร สแกน ในการวัดค่าบางอย่าง เพราะฉะนั้น บางครั้งคนไข้ที่ไม่ได้เป็นตับแข็งหรือยังไม่แข็ง เราก็จะตอบคำถามได้ไม่หมด แต่นี่คือในกรณีของโรงพยาบาลรัฐที่ผู้ป่วยขอรักษาฟรีนะคะ”
ในฟากผู้ป่วยซึ่งเข้ามาทดลองใช้ ได้ส่งเสียงระบายความในใจเกี่ยวกับเรื่องราคาเอาไว้อย่างน่าสนใจ สมผล พูนพวง ชาวไร่จังหวัดมหาสารคาม วัย 57 ปี บอกว่าอยากให้ทางโรงพยาบาลมีการปรับราคาลดลง เนื่องจากโดยมากผู้ป่วยเป็นชาวภาคอีสาน เป็นชาวนา-ชาวไร่ ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ หากมีราคาค่าตรวจตับต่อครั้งสูงถึง 2,500-3,000 บาท ก็ถือว่ายังเป็นไปได้ยากที่พวกเขาจะสามารถจ่ายได้
“ถ้ายอมเสียเงินมาตรวจ แล้วไม่พบมันก็เหมือนเสียฟรี แต่ถ้าตรวจแล้วพบ ก็ทำให้เครียดเข้าไปอีกว่าจะต้องเสียค่ารักษาอีกเท่าไหร่ ลุงแก่แล้ว เก็บเงินไว้ให้ลูกหลาน ถ้าจะตายก็ปล่อยให้ตายไปตามธรรมชาติดีกว่า” น้ำเสียงเรียบเฉย นัยน์ตาอมทุกข์ของลุง ช่างน่าสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่าอาจเพราะเหตุผลเรื่องสตางค์นี้เองที่ทำให้ชาวอีสานเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับมากที่สุดในประเทศ และมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ท้ายที่สุด หากทางการแพทย์เอง ยังไม่มีการปรับราคาให้เหมาะสมกับสภาพคนท้องถิ่นและวิถีชีวิตผู้คนในภาคอีสาน ถึงแม้จะมีวิทยาการทางการแพทย์ที่เจริญสักเพียงใด แต่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึง-จ่ายไม่ได้ อีก 20 ปีข้างหน้า จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตจากมหันตภัยร้ายนี้ คงไม่มีทางลดลงเป็นแน่
หรือแม้แต่ตัวประชาชนเอง ต่อให้มีวิธีการรักษาโรคที่มีประสิทธิภาพมากเพียงใด มีเครื่องมหัศจรรย์ขั้นเทพแค่ไหน หรือมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนำวัคซีนมาประเคนให้ถึงบ้านแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากคุณยังคงไม่ใส่ใจ ละเลยที่จะรักษาสุขภาพ ภัยเงียบนี้ก็อาจคืบคลานเข้ามาคุณในไม่ช้า ขอให้รู้ไว้ว่า ไม่มีใครจะช่วยเหลือสุขภาพของตัวคุณเองได้ นอกจากตัวคุณเอง...
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ธิติ ปลีทอง