xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองเขม็งเกลียว รักชาติแต่ถูกปิดกั้น-ไล่ออก แบบนี้ก็มีด้วย?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยังคงเขม็งเกลียว และดูท่าว่าจะหนักขึ้น สำหรับการเมืองไทยเวลานี้ที่ดึงทั้งสังคมให้ใส่ใจและจดจ่อจนต้องออกมาชุมนุมแสดงพลังขับไล่ระบอบชั่ว ด้วยเหตุผลเดียวคือ "เพื่อชาติ" แต่ก็มีกระแสหนาหูว่าบางองค์กรจำกัดสิทธิการแสดงออกทางการเมืองของพนักงาน เพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทฯ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

บริษัทยักษ์ใหญ่ ห้ามพนักงานชุมนุม?!

ในวันที่สถานการณ์การเมืองร้อนระอุ และมีประชาชนจำนวนมากออกไปร่วมชุมนุม เพราะเริ่มรู้ทัน และทนไม่ได้กับความอัปยศ และไร้ความสามารถในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลชุดนี้ ทว่ายังมีกระแสอื้ออึงจากวงในด้วยว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท.-การบินไทย-ซีพี ออลล์ พยายามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของพนักงาน จนถูกจัดหนัก จัดเต็มบนเวทีปราศรัยที่ ถ.ราชดำเนิน

เรื่องนี้ร้อนไปถึงบริษัทฯ ดังกล่าว จนต้องออกมาชี้แจงกันยกใหญ่ เริ่มจากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กร และกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ออกมาชี้แจงว่า ตามที่มีผู้ส่งข้อความบิดเบือนผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กเกี่ยวกับการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของพนักงานกลุ่ม ปตท.และครอบครัวนั้น ปตท.ใคร่ขอชี้แจงว่า การร่วมชุมนุมแสดงข้อคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ตามครรลองของกฎหมาย เพื่อแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย

โดยในคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาตรฐานทางจริยธรรม และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของ ปตท.ระบุไว้ชัดเจนว่า ปตท. เป็นองค์กรที่เป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือนักการเมืองคนใด ไม่ว่าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก ปตท. สนับสนุนการดำเนินการใดๆ ที่เป็นไปตามระบอบการปกครองในประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ ปตท. สนับสนุนให้บุคลากรของ ปตท. ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และใช้สิทธิทางการเมืองของตนตามครรลองของกฎหมาย

นอกจากนี้ ปตท.ขอยืนยันว่า ปตท.ไม่เคยดำเนินการใดๆ ที่เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ยังเปิดให้บริการตามปกติมิได้มีการปิดกั้นสำหรับลูกค้ากลุ่มหนึ่งกลุ่มใด โดยยินดีให้บริการและต้อนรับลูกค้าของ ปตท.อย่างต่อเนื่อง

ทางด้าน ดีดีการบินไทย ก็โดนกับเขาด้วยเหมือนกัน เพราะมีแถลงการณ์ว่อนโลกโซเชียลฯ ว่าด้วยเรื่องข้อห้ามการใช้พื้นที่ภายในองค์กร เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่ สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.การบินไทย (THAI) ได้ออกมาปัดว่า ยังไม่เห็นแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว

ส่วน ดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ก็ออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้ว่า ไม่มีประกาศออกมาให้พนักงานหยุดงาน เพราะบอร์ดผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองทั้งสิ้น หากพนักงานคนหนึ่งคนใดหยุดงานก็สามารถทำได้ แต่จะถือว่า เป็นการใช้สิทธิ์ลางาน

ฟาก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้บริหารแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย ก็มีกระแสวงในแว่วออกมาด้วยว่า ห้ามพนักงานโพสต์ แชร์ หรือเข้ามาร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีการออกมาชี้แจงใดๆ ทั้งสิ้น จึงยังไม่ทราบได้ถึงท่าทีของบริษัทฯ ดังกล่าว

ว่อนเน็ต คนรักชาติ แต่ถูกไล่ออก?

ไม่ใช่ว่าไม่เคยมี สำหรับกรณีคนรักชาติ แต่ถูกไล่ออก ซึ่งมีการแชร์กันสนั่นในโลกออนไลน์อยู่พักหนึ่ง

"ผมเห็นเธอนะ ในวันที่เธอมายืนถือป้ายที่แยกอุรุพงษ์ คนเสื้อแดงโจมตีเธอ ก่อกวนเธอ ตอนนี้ทางบริษัทพรีมาโกลด์ไล่เธอออก โทษฐานที่เธอรักประเทศไทย! (ภาพจากเพจของควายเสื้อแดง)" นี่คือข้อความที่ถูกโพสต์ระบุไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวของชาวเน็ตท่านหนึ่งถึงกรณีพนักงานสาวรักชาติที่ถูกไล่ออกเพราะเหตุผลทางการเมือง กลายเป็นเรื่องดรามาในโลกออนไลน์ โดยมีชาวเน็ตให้กำลังเธอคนนี้กันมาก ยกตัวอย่างเช่น

"แย่จัง ทำดีเพื่อชาติทำไมต้องไล่ออกด้วย" Jirawan Tankeaw

"งั้นก็ออกมาเถอะค่ะ เพราะชีวิตคุณจะเจริญขึ้นแน่นอน ผลบุญที่คุณทำเพื่อชาติเพื่อสังคมแต่ที่ทำงานคุณไม่นานก็ต้องถูกผลกรรมและแรงบรีฟจากผลที่มันทำให้คุณต้องออกจากงานค่ะ ยกย่องคุณนะคะ" Font Suphapith

"น่าเห็นใจครับ ความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องและสิทธิส่วนบุคคล ถ้าทางบริษัททำถูกต้องตามกฎหมายแรงงานก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหา คนเรายังมีช่องทางและโอกาสอีกมากมายซึ่งอาจเป็นแรงขับให้ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใครอีกต่อไปก็ได้ ไปเป็นนายจ้างของตัวเองก็อาจเป็นได้ สู้กันต่อไปครับ ทุกชีวิตบนโลกนี้ล้วนต้องต่อสู้เพื่อให้ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยกันทั้งสิ้นไม่ว่าสัตว์หรือคน แต่ที่สำคัญต้องสู้บนความถูกต้องในทางธรรมและทางโลก" Kampanat Boonyakong

"เป็นกำลังใจให้ค่ะ คุณมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะคุณเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ทนไม่ได้กับรัฐบาลชุดนี้ สู้ๆ ค่ะ" Ladda Apple

"ต้องถามไปยัง prima gold เชื่อไหม ยังมีอีกหลายบริษัท ที่สั่งห้ามพนักงานอกไปชุมนุม" Mary Plathong

อย่างไรก็ดี จากการเข้าไปสืบดูจากเฟซบุ๊กของบริษัทฯ ดังกล่าว ได้เคยโพสต์ข้อความระบุไว้ว่า "ทางบริษัทฯ ได้ทำการพิจารณาหาข้อยุติ โดยพนักงานท่านนี้จะขอแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออกเพื่อไม่ให้การแสดงตัวทางการเมืองเกิดผลกระทบต่อองค์กร"

จริงเท็จอย่างไร คงต้องรอให้ทางบริษัทฯ ออกมาชี้แจง แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้ดูเหมือนจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังอยู่ไม่น้อย

สิทธิต้องมาคู่กับความรับผิดชอบ

แน่นอนว่า การออกไปร่วมชุมนุมทางการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงออกทางประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ ซึ่งการถูกปิดกั้นจากองค์กร หรือหน่วยงานถือเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่อีกหนึ่งประเด็นที่ควรให้ความสำคัญด้วยก็คือ "สิทธิต้องมาคู่กับหน้าที่ และความรับผิดชอบ"

บอกเล่าได้จาก "ปอม" พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถ้าอยู่ในบริษัทฯ ที่ไม่ให้ไปร่วมชุมนุมเลย ไม่ว่าจะในหรือนอกเวลางาน ตรงนี้ลิดรอดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางประชาธิปไตย ซึ่งไม่เหมาะสม แต่ถ้าไม่ให้ไปเวลาทำงาน แต่นอกเวลางานไปได้ ตรงนี้ธรรมดาของบริษัททั่วไป

"เขาจ่ายเงินเดือนเรา เราก็ต้องทำงานให้เขาเต็มกำลัง และเต็มเวลา ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ เพื่อความสบายใจ อยากไปมาก ก็ลางานเลยดีกว่า แต่ถ้าบริษัทใจดีมาก ให้ไปแม้ในเวลางาน พนักงานก็ควรเคารพตัวเอง และบริัษัทฯ ด้วยการทำงานในหน้าที่ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนจะไป อย่าให้เสียสมดุล เราเป็นคนทำงาน

ดังนั้น การเป็นคนไทย ควรแสดงสิทธิในการรักษาประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วม แต่การที่เราเป็นคนไทย แต่กินเงินเดือนองค์กร ก็ควรจะไม่เอาเปรียบองค์กร ไม่ใช่ไม่รักษาหน้าที่พนักงาน เพื่อจะออกไปตะบี้ตะบันชุมนุมอย่างเดียว ทิ้งทุกอย่างเป็นภาระเพื่อนร่วมงานหรือบริษัท ก็ไม่ถูก" ปอมให้ทัศนะ

ด้าน "ริต้า" พนักงานสาวหัวใจรักชาติประจำเว็บไซต์สนุก ดอทคอม บอกว่า บริษัทไม่มีสิทธิ์ห้ามไม่ให้พนักงานไปชุมนุม ซึ่งตามกฎหมายแล้ว หากการชุมนุมนั้นไม่ไ่ด้ใช้เวลางาน ก็สามารถทำได้

"เรื่องการเมืองเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล คล้ายๆ เรื่องเพศค่ะ ส่วนตัวมองว่า หากเราไม่ได้ทำผิดกฎของบริษัทฯ บริษัทฯ ก็ห้ามเราไม่ได้ แต่การจะหยุดงานไปม็อบ เราก็ควรดูว่างานเรามีใครรับผิดชอบแทนไหม และเราสามารถใช้สิทธิข้อไหนได้ เช่นว่าลาพักร้อน หรือว่าลากิจ เพราะเท่าที่ทราบมาไม่มีกฎหมายข้อไหนให้บริษัทห้ามพนักงานไปชุมนุมนะคะ เพียงแต่ว่าต้องไม่ขัดต่องานที่ทำอยู่ หรืออยู่ในช่วงเวลางาน หรืออยู่ในชุดเครื่องแบบของบริษัทฯ" ริต้าขยายความ

เมื่อถามต่อไปในกรณีถ้าอยู่ในบริษัทที่ลิดรอนสิืทธิ ไม่ให้ไปชุมนุมใดๆ หรือไม่ให้ยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมืองเลย จะอยู่เฉยๆ และทำงานต่อไป หรือลาออกไปทำที่ใหม่ เธอตอบด้วยท่าทีแน่วแน่ว่า ไม่ลาออกแน่นอน เพราะไม่ได้ผิดอะไร และยังคงแสดงจุดยืนของตัวเองต่อไป

"ไปนอกเวลางาน ใครจะมาทราบได้ล่ะค่ะ ยกเว้นไปขึ้นเฟซบุ๊ก แล้วมีเพื่อนที่หวังร้ายไปฟ้องเจ้านาย นั่นก็ถือว่าซวยไป แต่จริงๆ แล้วบริษัทฯ ไม่มีสิทธิเอาพนักงานออกในเรื่องแบบนี้นะคะ ยกเว้นว่าการชุมนุนนั้นส่งผลเสียแก่บริษัทฯ ที่ทำอยู่" ริต้าให้ทัศนะส่วนตัว

เช่นเดียวดับ "ปอนด์" พนักงานประจำหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง บอกว่า ส่วนตัวไปร่วมชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไปในฐานะประชาชน ไม่ได้ไปในนามองค์กร และการไปแต่ละครั้งจะไม่ทำให้เสียการเสียงาน

"ถ้าตั้งใจขาดงาน เพื่อไม่ม็อบอันนี้ไม่เห็นด้วย เพราะอย่างไรก็ตาม หน้าที่ต้องมาก่อน ถ้างานที่ตัวเองรับผิดชอบ แต่เรายังไม่รับผิดชอบ แล้วการที่เราแสดงออกเรื่องสิทธิจะน่าเชื่อถือได้อย่างไร ทางที่ดี ไปแล้ว ก็อย่าให้กระทบงาน อีกอย่างบริษัทฯ ไม่มีสิทธิ์ห้าม โดยเฉพาะนอกเวลางาน" ปอนด์เผย

ปิดท้ายที่ความเห็นของ "เค" พนักงานรัฐวิสาหกิจท่านหนึ่ง บอกว่า บริษัท หรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแต่ละที่จะมีข้อกำหนด ระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งการแสดงสิทธิของพนักงาน ถ้าไม่มีความเสียกับหน่วยงาน และไม่ขัดกับระเบียบก็สามารถทำได้

"แต่เรื่องไหนที่ผู้บริหารมองว่าจะส่งผลเสียในภาพรวม เขาอาจไม่เห็นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรแยกแยะนะ อะไรสำคัญไม่สำคัญคุณไปแสดงออกเกินกรอบ ใช่ว่าจะมีประสิทธิผล จะหาข้ออ้างว่า ไปช่วยชาติ ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลยก็ได้ แต่ถ้าเห็นผลเสียเยอะ ผลลัพธ์ว่าจะชนะก็ไม่เห็นฝั่ง เราไม่เอาด้วย" เค กล่าวปิดท้าย

"ความรักชาติ" ของพนักงาน แต่ถูกลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง แสดงให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยในตัวผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กรคนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่หากมีสิทธิแล้ว กลับบกพร่องในหน้าที่ และความรับผิดชอบในงานของตัวเองจนส่งผลกระทบต่อองค์กร หรือส่วนรวม เรื่องนี้คงไม่ต้องถามว่า ใครกันแน่ที่ควรจะพิจารณาตัวเอง เพราะสิทธิต้องมาคู่กับหน้าที่ และความรับผิดชอบส่วนตัว มิใช่หรือ...

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live







กำลังโหลดความคิดเห็น