xs
xsm
sm
md
lg

โชว์พลัง ผิดที่ ผิดทาง!! ณวัฒน์ ชวนนางงามท้วง “No Mob”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฮือฮาไม่น้อย หลังสาวๆ บนเวทีขาอ่อน มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลุกขึ้นมาชูป้าย No Mob, Stop The War. สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูถึงความไม่เหมาะสม โดยต้นเรื่องคือ ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ผู้ก่อตั้งการประกวด ที่ทำเอาต้องวิ่งโร่อออกมาชี้แจงพัลวันว่าไม่ได้พาดพิงม็อบที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้แต่อย่างใด แต่ก็ช้ากว่าชาวเน็ตที่ไม่พอใจ จวกเสียยับไปแล้ว งานนี้คงสอนให้รู้ว่า ก่อนจะทำอะไร คิดไตร่ตรองให้ดี ทำอะไรผิดที่ ผิดเวลา แล้วมันจะยุ่งอย่างนี้แหละ!!

สาวงามร่วมชูป้ายไม่เอาม็อบ

ตกตะลึงกันเลยทีเดียว หลังเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เวทีสาวงาม มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบหมายให้นางงามหลากเชื้อชาติมาชูป้ายข้อความ No Mob, Stop The War. เหตุด้วยสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้กำลังมีการปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณถนนราชดำเนิน และพื้นที่รอบข้าง งานนี้ทำเอาชาวม็อบสะอึก เหตุใดผู้จัดงานอย่าง ณวัฒน์ อิสรไกรศีล กลับมาทำป้ายที่คลับคล้ายคลับคลาจะเหน็บแหนมการชุมนุมอยู่ในตอนนี้ โดยคอนเซปต์ของการประกวดมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล STOP THE WAR ได้ถูกชี้แจงไว้แล้ว ดังนี้

“ที่เป็นคอนเซปต์นี้เพราะว่าอย่างที่เห็นเมืองไทยมีการออกมาเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตยกันมากขึ้น แต่บ้านเมืองเราเป็นประเทศที่รักสงบคงไม่มีใครอยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ก็เลยเกิดเป็นคอนเซปต์นี้ขึ้นมา อีกอย่างเรามาจัดการประกวดซึ่งก็ตรงกับม็อบใหญ่พอดี เราได้ยินข่าวว่าอาจจะมีมือที่สาม หรืออะไรเราก็เลยไม่อยากจะเห็นความรุนแรงอีกเลยตั้งเป็นม็อบยุติความรุนแรงขึ้นครับความขัดแย้ง และความรุนแรงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา ทุกฝ่ายควรหันมาคุยกันด้วยวิธีสันติ”

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันสาวงามนานาชาติ 75 ประเทศ ได้รวมตัวแถลงข่าว และร้องขอให้ทุกฝ่าย ยุติความขัดแย้งที่เริ่มทวีความรุนแรง เพื่อความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการประกวดภายใต้คอนเซปต์ STOP THE WAR รวมถึงผู้ที่ได้รับตำแหน่ง มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จะต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจยังพื้นที่มีความขัดแย้ง และความรุนแรงทุกรูปแบบ

ชาวม็อบยี้ “ณวัฒน์” เลือกข้าง??

แต่ถึงจะมีเหตุผลรองรับขนาดไหน ก็ไม่ทำให้ความขุ่นข้องใจจากใครหลายๆ คน ลดน้อยลง การชูป้าย No Mob เป็นสิ่งที่ถูกเคลือบแคลงสงสัยว่าดูเหมือนเป็นการเลือกข้างอยู่ลึกๆ หรือไม่ โดยชาวเน็ตต่างออกมาแสดงทัศนะต่อสิ่งที่เวที มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล กระทำกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะในทางแง่ลบ

“หากินบนความแตกแยกบนสังคม ถามหน่อยสังคมได้ประโยชน์อะไร?”

“แทนที่จะเขียนว่า "หยุดโกหก" "หยุดคอรัปชั่น" คิดได้แค่นี้เอง น่าเวทนาจริงๆ พวกรวยแต่โง่”

“เข้าใจว่าคุณต้องอยู่รอด เข้าใจว่าคุณก็ห่วงธุรกิจของคุณ แต่คุณน่าจะแหกตาดูบ้างนะว่าเท่าที่ผ่านมาตั้งแต่สามเสนจนมาถึงราชดำเนิน มันมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วหรือยัง??? หรือคุณคิดว่าการเป่านกหวีดเป็นการกระทำที่รุนแรง???



นอกจากนั้นแล้ว แม้กระทั่ง กูรูนางงามไทยอย่าง ประเสริฐ เจิมจุติธรรม ก็แสดงความคิดเห็นว่า ตนเองนั้นไม่เห็นด้วยต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยกล่าวว่าในการประกวดเวทีระดับนางงามนานาชาติ เรื่องเปราะบางที่ไม่ควรแตะต้องคือเรื่องการเมืองและศาสนา ที่ต่างคนต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง การใช้สาวงามนานาชาติทั้งหลายมาเป็นเครื่องมือในการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเท่าไรนัก

โดยส่วนตัวก็คิดว่าไม่เหมาะสมนะ ไม่เหมาะสมตรงที่ประการแรก ในเวทีการประกวดนางงามระดับนานาชาติเลยนะ จะไม่พูด ไม่แตะถึงสองเรื่องก็คือเรื่องการเมืองและเรื่องศาสนา ประการที่สอง นางงามที่มาถือป้ายหรือนางงามจากชาติต่างๆ ที่ถูกมอบหมายมาให้ช่วยถือป้าย พวกเค้าเนี่ยอาจจะไม่ทราบว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ อย่างแท้จริง นึกออกมั้ยว่า เค้าไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองที่เขาเดินทางเข้ามาประกวด คือบางทีเค้าอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าป้ายที่เค้าถือมันหมายถึงอะไร คำว่า No Mob เนี่ย ก็อาจจะไม่รู้ว่าม็อบอะไร บางทีก็อาจจะไปแปลคำว่า Mob ไปตามสากล แต่เค้าไม่รู้ว่าม็อบในที่นี้เกิดจากอะไร อะไรเป็นสาเหตุ แล้วจะ No Mob ไปเพื่ออะไร จะมีม็อบเพื่ออะไร อันนี้ตัวเค้าเองอาจจะไม่ทราบ ดังนั้น ก็ไม่ควรที่จะลากบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาด้วย

แล้วตามสิทธิของนางงามเค้าเนี่ย ก็ขอประท้วงไม่ถือได้นะ แต่ว่าคนที่มาขอให้เค้าช่วยถือป้ายเนี่ยเป็นถึงผู้อำนวยการของกองประกวด ก็จำเป็นที่จะต้องทำ แล้วยิ่งทุกคนมาอยู่ในกองประกวดก็ต้องทำตัวเป็นเด็กดี ก็เลยคงไม่มีโอกาสได้เลือกหรือไม่ถือ แล้วจริงๆ แล้วนางงามก็คงคิดว่า พอถือป้ายแล้วได้ออกสื่อ ก็อาจจะรู้สึกดีใจที่ได้ออกสื่อมากกว่าการที่จะไปคิดว่าป้ายที่ตัวเองถือมันคือป้ายอะไร”

เหตุการณ์ครั้งนี้คงเป็นอุทาหรณ์ชั้นดีว่า การทำอะไรแบบไม่ชัดเจน คลุมเครือ อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ลุกลามไปถึงการเกลียดชังเลยก็มี ซึ่งกูรูนางงามคนเดิมกล่าวยกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าถือเป็นกรณีศึกษาของเวทีนางงามครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้

“ถ้าถามว่า เหตุการณ์ครั้งนี้มีผลกระทบอะไรต่อเวทีนางงามโดยรวมคงไม่มีอะไร แค่เป็นกรณีศึกษาเท่านั้นว่า ณ วันที่มีภาพออกมาแล้วก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อันนี้เราต้องยอมรับนะว่าครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในวงกว้าง ดังนั้นมันจึงเป็นกรณีศึกษาว่า การประกวดนางงามเนี่ยไม่ควรจะเข้าไปแตะเรื่องการเมืองและศาสนาจริงๆ เพราะเอาแค่เรื่องอาหารการกิน สาวงามต่างชาติมารวมกัน 60 คน ยังรับประทานไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น ความคิดทางด้านการเมืองเนี่ย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ก็เลยอยากจะให้เวทีประกวดนางงาม เป็นไปในลักษณะการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศของนางงามแต่ละคนมากกว่า”

เบี่ยงประเด็น Stop The War

เมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง ภาพลักษณ์ของเวทีการประกวด มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล นี้ อาจกลายเป็นว่าติดลบ ในการใช้ผู้เข้าประกวดมาถือป้ายแสดงออกแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ทั้งนี้ ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้วิเคราะห์ในเชิงการประชาสัมพันธ์ว่า บางครั้งการจัดเวทีประกวด หรือกิจกรรมอื่นๆ ก็ตาม ไม่เหมาะสมเท่าไรนักที่จะมีข้อความบ่งบอกหรือแสดงถึงนัยทางการเมือง

“ประเด็นแรก ในแง่ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือการสื่อสารออกไป แน่นอนว่าผู้จัดงานก็คงมีความประสงค์อยากจะให้สังคมหรือสาธารณะได้รับรู้ หรือว่าได้รับทราบข่าวสารจากการจัดงานครั้งนี้ เพราะฉะนั้น จะเป็นวิธีไหนอย่างไรเนี่ยก็คือมีเป้าหมายหลักคือเพื่อให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างเท่าที่จะทำได้ แต่ว่าในประเด็นที่สองก็คืออยากจะมองต่อไปด้วยว่า บางทีกิจกรรมที่เป็นเรื่องของความบันเทิง หรือว่ามีจุดมุ่งหมายที่เฉพาะจริงๆ อย่างเช่น การแสดงด้านบันเทิงอย่างดนตรี หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ หรือแม้แต่การแข่งขันกีฬา จริงๆ แล้วในทางสากลก็ไม่น่าจะเหมาะนักที่จะมี ข้อความหรือเนื้อหาที่บ่งบอกนัยทางการเมืองอย่างชัดเจนเกินไป

จริงๆ แล้วที่ผ่านมา เราจะมองเห็นเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่บ้าง โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาใหญ่ๆ อย่าง โอลิมปิก ในสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ควรนำมาปะปนกัน เพราะฉะนั้น ผมก็เลยอยากจะเทียบเคียงว่า กรณีการประกวดนางงามก็เช่นเดียวกัน โดยจุดมุ่งหมายแล้วมันไม่มีความเกี่ยวโยงกับประเด็นทางการเมือง เพราะฉะนั้น การส่งสารหรือข้อความใดๆ ออกไปเนี่ย ก็ดูจะผิดที่ ผิดทาง ผิดเวลา ไปนิดหน่อย เพราะว่ามันก็เป็นการจัดงานอีเวนต์หนึ่งสำหรับการประกวดความงามกัน ตัวผู้เข้าร่วมก็เป็นสาวงามต่างชาติ มาจากหลายๆ ประเทศเนี่ย ซึ่งจะว่าไปแล้วมันแทบไม่มีความเกี่ยวโยงใดๆ กับปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศ”

ตามที่ระบุไปแล้วว่า สำหรับคอนเซปต์การประกวดในปีนี้ที่ว่า Stop The War แต่ข้อความที่ปรากฏในป้ายข้อความที่ให้เหล่าสาวงามถือนั้น กลับมีข้อความที่ว่า No Mob เลยอาจเป็นการเบี่ยงประเด็นทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ ผศ.ดร.อัศวิน ได้อธิบายว่า ความผิดพลาดตรงนี้ ทำให้สารที่ส่งออกไปสู่ประชาชนเลยบิดเบี้ยวไป

“ต้องบอกว่าในแง่ยุทธศาสตร์ของการวางเป้าหมายในภาพใหญ่ของการจัดงานเนี่ยก็ถือว่าไม่มีปัญหาใดๆ ไม่มีข้อผิดพลาด เพราะว่าเรื่องของสงครามเป็นเรื่องที่ทั่วโลกและทุกคนก็เห็นพ้องว่าต้องยุติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ถ้ามองในแง่กลวิธีในการสื่อออกไป อันนี้อาจจะเป็นประเด็นนิดหน่อย เพราะว่าเหมือนเป็นการเจาะจงเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุม ตัวเนื้อหา สารที่สื่อออกไปมันก็เลยดูเบี้ยวนิดหน่อยจากความหมายที่ต้องการจะบอกเรื่อง Stop The War

พอมาเจาะจงเรื่องม็อบเนี่ย มันเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการต่อต้านสงคราม มันไม่ใช่สถานการณ์เข้าสู่สนามรบ แค่เรื่องม็อบที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ทั้งนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงไปใช้คำว่า Violence หรือลดความรุนแรงอันนี้ก็อาจจะพอรับได้ แต่ว่าพอมาเจาะจงใช้คำว่าม็อบเนี่ย มันก็เลยเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะว่าในประเทศเสรีจริงๆ แล้วเนี่ย การชุมนุม การประท้วงก็เป็นส่วนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายทางตัวผู้อำนวยการกองประกวดอย่าง ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ก็ต้องรีบออกมาชี้แจงผ่านสื่อ โดยระบุว่า ตนเองนั้นเห็นใจทุก ๆ ฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหว และเคารพการตัดสินใจของทุกฝ่ายๆ เหตุการณ์ครั้งนี้ คงเป็นบทเรียนที่ดีในสังคมไทยอีกชิ้นหนึ่งว่า การโหนกระแสหยิบจับประเด็นทางการเมืองขึ้นมาเล่นแบบผิดที่ ผิดเวลา อาจจะทำให้กลายเป็นตัวตลกได้!!

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


กำลังโหลดความคิดเห็น