หลังจาก “เอ็กซ์ - จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม” อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติถูกมือปืนลอบสังหาร ทิ้งเป็นปมปริศนาถึงเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปมปัญหากับสมาคมยิงปืน วงการพระเครื่อง จนถึงเรื่องครอบครัว
ในขณะที่ความเศร้าถาโถมเข้าสู่ครอบครัว “หมอนิ่ม - พญ.นิธิวดี ภู่เจริญยศ” คู่ชีวิตของผู้ตายกลับตกเป็น 1 ในผู้ต้องสงสัยของปมเหตุสังหาร จนล่าสุดเมื่อคดีคลี่คลายถึงตัวผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง สุรางค์ ดวงจินดา แม่ของหมอนิ่ม กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สะท้อนภาพหลายแง่มุมของปมปัญหาที่ฝังรากอยู่
เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยน...เหตุผลที่นำมาสู่คำสั่งสังหารครั้งนี้ เป็นปมปัญหาครอบครัวที่แฝงฝังอยู่นานเพียงใด และกรณีที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนภาพรวมของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมไทยอย่างไร
สางปมสังหาร
หลังจากคดีทั้งหมดคลี่คลายโดยเจ้าหน้าที่สามารถจับ 2 มือปืนที่สังหารเอ็กซ์ - จักรกฤษณ์และซัดทอดจนไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังคือสุรางค์ ดวงจินดา แม่ของหมอนิ่ม ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดขึ้นคือ ความรุนแรงในครอบครัวที่เอ็กซ์ จักรกฤษณ์เคยลงมือกระทำต่อภรรยา
โดย มานพ พณิชย์ผาติกรรม พ่อของเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่ผิดขนาดสั่งฆ่า เรื่องตบตีเมียอะไรพวกนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่ซาดิสต์ด้วยกันมันอยู่กันไม่ได้หรอกถึง 6 ปี” สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ของเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ที่เห็นว่าการตบตีภายในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ
และเมื่อคดีคลี่คลายจนถึงตัว สุรางค์ ดวงจินดา แม่ของหมอนิ่ม เธอก็ได้ให้สัมภาษณ์กับเดลินิวส์ยอมรับว่า ตนเป็นคนจ้างวานหามือปืนมายิงเอ็กซ์ - จักรกฤษณ์จริงและทำเพียงผู้เดียว ทั้งยังเผยว่าสาเหตุมาจากการที่ลูกสาวถูกกระทำรุนแรงมาตลอด 6 ปี!
เธอเผยเพิ่มเติมว่า ตนมีลูกสาวเพียงคนเดียวสามีก็เสียชีวิตไปนานแล้ว ที่ผ่านมาตัวเองต้องทนเห็นลูกสาวถูกทุบตีและทำร้ายร่างกายมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เคยพยายามห้ามปราม แม้แต่ขอร้อง ยังถูกเอ็กซ์เอาปืนมาขู่ รวมทั้งยังดูถูกเหยียดหยามลูกสาวต่อหน้า แต่ลูกสาวก็ขอให้แม่อดทนและให้อภัยสามี
“แม่ทราบมาตลอด เราทนไม่ไหวที่เห็นลูกสาวโดนทำร้าย แม่เจ็บมากกว่าลูกหลายเท่า แม้ว่าจะไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับน้องนิ่ม แต่บ่อยครั้งที่ไปหานิ่มที่บ้าน ก็จะได้ยินตลอดว่า น้องนิ่มโดนทำร้ายอีกแล้ว ที่ผ่านมาเคยให้เวลาเอ็กซ์มามากแล้ว แต่ก็ไม่ดีขึ้นเลย” แม่ของหมอนิ่มกล่าว
โดยล่าสุดแม่ของหมอนิ่มยังบอกอีกว่า หมอนิ่มท้องลูกคนที่ 3 แต่เอ็กซ์ก็ทำร้ายร่างกายจนกระทั่งแท้งลูก ทำให้ตนเองคิดว่า จะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ลูกสาวพ้นจากทุกข์ทรมานได้ เคยพูดไปหลายครั้ง แต่ลูกสาวก็ยังรักสามีมาก และคิดว่าจะกลับไปใช้ชีวิตด้วยกันใหม่ได้ แต่ระหว่างที่สามีออกจากคุกและกลับมาง้อขอคืนดี ก็ยังมีเรื่องเกิดขึ้นมาอีกซ้ำซาก จนทำให้คิดได้ว่า สามีเขาคงไม่มีทางเปลี่ยนแปลงตัวเองได้จึงเป็นที่มาของการลงมือครั้งนี้
“ผู้ชายมีกำลัง แต่อย่าทำกับผู้หญิงอย่างนี้อีกเลย ยาเสพติดด้วย ถ้าพี่เอ็กซ์ไม่ติดยา พี่เอ็กซ์จะไม่ทำแบบนี้ครอบครัวดิฉันพังแล้ว ครอบครัวดิฉันเป็นอุทาหรณ์ให้อีกหลายๆ ครอบครัวได้ไหม อย่าให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีกเลย ส่วนตัวของลูกดิฉัน ดิฉันสอนตลอดว่าให้รักพ่อ ไม่ว่าพ่อจะเป็นอย่างไรก็ตาม และสิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้ ดิฉันเข้าใจแล้วว่า ความรักของแม่ยิ่งใหญ่แค่ไหน ตลอด 6 ปีที่ผ่านมาแม่ดิฉันต้องร้องไห้เพราะดิฉันมาตลอด ถ้าเป็นไปได้ดิฉันอยากจะรับผิดแทนแม่” หลังจากเรื่องราวทั้งหมดหมอนิ่มกล่าวทั้งน้ำตาทิ้งท้าย
ปมฝังรากของความรุนแรง
กรณีฝ่ายภรรยาจ้างวานฆ่าสามีเคยมีเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน ตั้งแต่ความหึงหวงจนถึงประเด็นเรื่องทรัพย์สมบัติ โดยในปีที่ผ่านก็มีเกิดขึ้นหลายคดี โดยในเดือนตุลาคมที่มีกรณีเมียจ้างฆ่าผัว 1.5 แสนบาทจากเหตุไม่พอใจถูกตบตีและแบ่งสมบัติไปให้ผู้หญิงคนอื่น
ในส่วนของความรุนแรงในครอบครัวนั้น เมื่อไม่นานมานี้ ยังมีข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รายการว่า กรุงเทพฯครองแชมป์สามีก่อเหตุฆ่าภรรยาสูงที่สุด
โดย สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการเก็บสถิติการให้บริการและให้คำปรึกษาของมูลนิธิในปี 2555 พบว่า มีการขอรับคำปรึกษาปัญหาทั้งหมด 234 ราย เป็นกรณีความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 70% ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวคือ 20% สามีไม่รับผิดชอบ 19% นอกใจหึงหวง 16% การทำร้ายร่างกาย 8% สื่อลามก และมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงนี้คือ สารเสพติด แอลกอฮอล์ และความกดดันที่เกิดจากการวางกรอบเกณฑ์ของกันและกันจนมากเกินไป เมื่อรวมกับปัจจัยกระตุ้นเช่นความหึงหวง ก็ยิ่งเป็นชนวนขัดแย้งให้เกิดขึ้น โดยความรุนแรงจะสั่งสมมากขึ้นเรื่อยๆ”
โดยความรุนแรงในครอบครัว เธอเผยว่า มีให้เห็นในครอบครัวไทยหลายครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยเอง หรือชาวต่างชาติที่มาแต่งงานกับหญิงไทย โดยในกรณีที่ฝ่ายหญิงเก็บกดความกดดันที่มาจากการถูกวางกรอบจนปะทุ เกิดเป็นคดีทำร้ายสามีกลับจนถึงขั้นเสียชีวิต ในปีที่ผ่านมามีถึง 3 รายด้วยกัน
“กรณีหนึ่งที่อยู่ในชั้นศาลคือสามีเป็นราชการมีอาวุธปืน มักจะเอาปืนมาขู่ฝ่ายภรรยาบ่อยๆ ไม่ให้ภรรยาออกไปไหน พบปะใครก็ไม่ได้ จนวันหนึ่งเมื่อภรรยาเป็นฝ่ายหึงหวง สามีไปกินดื่มกลับบ้านดึก พอภรรยาตามบ้างถามบ้างก็ถูกว่ากลับ ภรรยาจึงหยิบปืนขึ้นมาขู่กลับ แต่สามีไม่สนใจคำขู่ สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ปะทุออกมา ภรรยาเป็นฝ่ายลั่นปืนฆ่าสามีของตัวเอง”
เธอเผยว่า หนทางในการแก้ไขปัญหาคือการใช้กระบวนการที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น การขอคำปรึกษา ปรับพฤติกรรมทัศนคติของทั้ง 2 ฝ่ายให้เข้าหากัน เรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนการใช้กระบวนการในชั้นศาล
ทางด้าน ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองกรณีที่เกิดขึ้นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการเสพไอซ์ โดยเป็นพฤติกรรมที่มักเกิดขึ้นตามมาของผู้เสพที่จะใช้ความรุนแรงกับคนใกล้ตัว รักมาก-หึงแรง ทั้งนี้หากมองในภาพรวมแล้วกรณีของผู้เสพไอซ์นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย
“จะสังเกตได้ว่าบางครั้งเขาจะเป็นคนอ่อนโยน รักลูกรักเมียมาก แต่เมื่อยาออกฤทธิ์โดยทั่วไปแล้วผู้เสพก็จะมีการแสดงออกที่ก้าวร้าวมากขึ้น จะรักแรงหึงแรง เวลารักจะหวงมาก แต่ผู้เสพไอซ์มักจะเกิดความระแวงขึ้นได้ง่าย พอระแวงก็มักจะแสดงออกด้วยความก้าวร้าวด้วยการทำร้ายร่างกายคู่ของตนเอง”
โดยปัญหาของผู้เสพติดไอซ์นั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการทำวิจัยก็พบว่า ผู้เสพไอซ์มักจะมีลักษณะเป็นคนที่อ่อนแอ ไม่สามารถทนกับการสูญเสียได้ เมื่อเสพไอซ์ก็ยิ่งจะมีความก้าวร้าวมากขึ้น จะใช้ความรุนแรงทั้งต่อตัวเองเช่นการต่อยกระจก และคนใกล้ตัว แม้ในกลุ่มวัยรุ่นก็พบกรณีที่ผู้เสพไอซ์ใช้ความรุนแรงกับคู่ของตนเองอยู่บ่อยครั้ง
เธอเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ก็มีถึงเด็กแว้นที่เสพไอซ์ขับมอเตอร์ไซค์ไล่ชนคู่ของตัวเองเพราะความหึงหวง ดังนั้นเธอจึงมองว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติดในส่วนของผู้เสพด้วย
“ที่ผ่านมารัฐบาลเล็งไปที่การสร้างผลงานด้วยการจับผู้ค้า จับยาล็อตใหญ่ตลอด แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการจับผู้เสพ หรือทำอย่างไรให้ผู้เสพลดจำนวนลง ปัจจุบันนี้แม้ว่าจะมีการจับผู้ค้าได้มากขึ้น แต่จำนวนผู้เสพกลับเพิ่มมากขึ้น การวัดความสำเร็จของนโยบายด้านยาเสพติดจึงควรวัดจากจำนวนผู้เสพที่ลดลงมากกว่า”
โดยประเด็นนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของตำรวจ แต่เป็นปัญหาในระดับนโยบายระดับชาติที่ตั้งเป้าหมายไว้ไม่ถูกต้อง ในส่วนของสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นผลพวงกลายเป็นความรุนแรงนั้น ในเชิงสังคมศาสตร์เธอเห็นว่า การที่ฝ่ายหญิงถูกกระทำการคุกคามอยู่บ่อยครั้งเป็นการสร้างภาวะกดดันอย่างหนักหน่วง สะท้อนให้เห็นว่ากลไกของกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถช่วยให้ฝ่ายหญิงรอดพ้นจากสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ได้
“การกระทำในลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรงในครอบครัว สุดท้ายมักจะจบลงด้วยการไกล่เกลี่ย กรณีที่ถูกจำคุกถือว่าน้อยมาก ซึ่งสุดท้ายแล้วกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ก็ไม่ช่วยให้เหยื่อรอดพ้นจากภาวะที่เกิดขึ้นนี้ได้”
เมื่อท้ายที่สุดเรื่องราวที่จบลงด้วยการตายของเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ เธอมองว่าสิ่งนี้สะท้อนภาวะความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมและจัดการกับยาเสพติด ด้วยเพราะกฎหมายไม่สามารถปกป้องผู้ที่ได้รับผลกระทบจากผู้เสพยาได้
“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาจากที่การที่เขาหมดศรัทธาในกฎหมาย หมดศรัทธาที่ว่ากฎหมายจะสามารถคุ้มครองเขาจากภาวะที่เป็นอยู่ได้ ดังนั้นเขาจึงต้องเลือกหนทางที่เกิดขึ้นนี้”
….
ความรุนแรงในครอบครัวจนถึงปัญหายาเสพติด...เมื่อรวมเข้ากับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ ท้ายที่สุดการลุกขึ้นมาใช้วิธีนอกกฎ หยิบปืนขึ้นมาสังหารด้วยตัวเองจึงกลายเป็นตัวเลือกที่ถูกบีบคั้นเพื่อทวงถามความยุติธรรมในชีวิตของแต่ละคน
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE