xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเน็ตรุมโห่ แคมเปญเหยียดผิว “ขาว-ใส-วิ้ง คว้าทุนการศึกษา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรนักกับแคมเปญใหม่ของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวชื่อดังในเมืองไทย “Citra ค้นหาสาวใสเด้งวิ้ง 3D” แต่ด้วยเงื่อนไขบางส่วนและเนื้อหาในสปอทโฆษณาครั้งนี้กลับผิดพลาดตรงที่มีจุดสะกิดต่อมคนไทยบางส่วนที่ไม่ได้ผิวขาวจั๊วะราวกระดาษให้ออกมาต่อต้านเรื่องของการเหยียดสีผิว รวมถึงการตั้งคำถาม แค่ขาวใส แต่ไม่ต้องมีสมอง ก็คว้าทุนการศึกษาได้แล้วใช่หรือไม่? หรือค่าของคนวัดกันที่สีผิวไปเสียแล้ว

โฆษณาเหยียดผิว

หลังวิดีโอแคมเปญโฆษณา “Citra ค้นหาสาวใสเด้งวิ้ง 3D” ถูกปล่อยออกมาก็ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากชาวโลกออนไลน์โดยทันควัน เนื่องด้วยคอนเซ็ปต์สาวนักศึกษาคนไหนขาววิ้งก็จะได้คว้าทุนการศึกษาไปครอง ทำให้กลุ่มคนบางส่วนคิดว่าการโฆษณาแบบนี้ ไม่ต่างอะไรกับการเหยียดสีผิว ยิ่งในคลิปวิดีโอแล้วมีภาพเปรียบเทียบกับสาวผิวคล้ำยิ่งจี้ใจดำคนไม่ขาวให้รู้สึกไม่พอใจไอเดียโฆษณาชิ้นนี้

ค่านิยมของสาวไทยในปัจจุบันต้องมีผิวขาวอมชมพู เปล่งปลั่งเป็นประกาย ดังนั้น เหล่าผลิตภัณฑ์ดูแลผิวต่างๆ จึงมักเน้นอวดอ้างสรรพคุณที่ว่า ใช้แล้วขาวใน 7 วัน, กินแล้วขาววิ้ง ไม่เป็นอันตราย, แค่ดื่มง่ายๆ วันละซอง ก็ขาวสวยดั่งใจ แม้กระทั่งดาราศิลปินก็ช่วยออกมาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าเหล่านี้ ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมคลั่งความขาว ใครขาวกว่าก็ได้เปรียบ

โฆษณาล่าสุดชิ้นนี้ของซิตร้าจึงตกเป็นผู้ร้ายเหยียดสีผิวคนไทยแท้ๆ กระแสที่ถูกตีกลับจากสังคมที่ไม่พอใจสำหรับทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาผิวขาวใส เลยเป็นประเด็นร้อนในตอนนี้ อย่าง thana clarks ผู้ใช้งานในเว็บไซต์ยูทิวบ์คนนี้ที่ได้รับเลือกเป็นความเห็นยอดนิยมจากคลิปวิดีโอแคมเปญครั้งนี้

“ในขณะที่หลายๆ ประเทศในโลกกำลังต่อต้านเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิว แต่ประเทศของเรากลับมีเรื่องแบบ­นี้กันมากขึ้น มากขึ้นทุกที ทั้งยังส่งเสริมการเหยียดผิวแบบไม่รู้ตัว มันน่าเศร้าจริงๆ ที่คนหลายๆ คน รวมถึงนักการตลาดและนักทำโฆษณางี่เง่าที่ส่งเสริมการเหยียดผิว หรือ ทัศนคติของคนในประเทศนี้คือ ผิวขาว = สวย, คนดี, เรียนเก่ง, มีการศึกษา ถึงได้เอามาผูกเป็นแคมเปญให้ทุน­การศึกษาแบบนี้”

“ทำไมไม่เปิดโครงการ ผิวดีเรียนเก่ง อะไรเถือกนั้น ไม่ก็ทุนสำหรับคนเก่งแล้วอยากขาว มอบให้น้องๆ ผิวคล้ำเรียนดี เพื่อเป็นกำลังใจ เก่งด้วยสวยด้วย ดูสร้างสรรค์มากกว่าเยอะ” ความคิดเห็นจากเว็บไซต์พันทิป

ทั้งนี้ ก็มีเสียงสะท้อนอีกด้านว่า ก็ไม่เห็นแคมเปญชิ้นนี้จะทำผิดตรงไหน แค่ให้ทุนกับกลุ่มเป้าหมายของบริษัทเท่านั้น ไม่เห็นจะเป็นการเหยียดผิวตรงไหน ซึ่งเกิดการโต้เถียงไป-มา ว่าแคมเปญนี้เหยียดผิวจริงหรือไม่??

“ติดใจตรงที่พิธีกรถามว่า ทำยังไงให้ดูโดดเด่นในชุดนักศึกษา แล้วก็ไปถามก็มี นศ .ที่เหมือนทาสีตัวดำๆ เลย มาตอบ ทำไงเหรอ? ความรู้สึกมันเหยียดตรงนี้แหละครับ!”

ไอเดียบูชาคนขาว

ความจริง ในแวดวงโฆษณาไทยเคยได้รับบทเรียนเรื่องการต่อต้านการเหยียดสีผิวเมื่อปี 2554 ไปแล้วครั้งหนึ่ง กับโฆษณาชุด “ขาวอมชมพู” ของเครื่องดื่ม Amino Plus Brighten ที่โฆษณาผลิตภัณฑ์โดยการติดสติกเกอร์ไว้ที่ภายนอกขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสด้วยคำว่า “ขาวอมชมพู ขึ้นตู้นี้” รวมถึงการติดสติกเกอร์ตัวใหญ่ไว้เหนือที่นั่งภายในรถไฟฟ้าบีทีเอส ด้วยคำว่า “สำรองที่นั่งสำหรับคนขาว” ทำเอาผู้โดยสารเหลือบตามองอย่างลังเลว่าจะควรนั่งดีหรือไม่ ซึ่งครั้งนั้นก็ถูกเอาไปตั้งเป็นกระทู้บนโลกออนไลน์ ทำให้เกิดประเด็นเหยียดสีผิวขึ้นมาทันที

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นทางบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ และรีบยุติการโฆษณาด้วยการรื้อถอนสื่อโฆษณาดังกล่าวโดยทันที และข่าวคราวเรื่องการเหยียดสีผิวก็กลับมาปรากฏอีกครั้ง เมื่อไม่นานมานี้มีการเปิดตัว โดนัทชาโคล ผลิตภัณฑ์ใหม่จากทางดังกิ้นโดนัท ที่ภาพโฆษณาปรากฏภาพของหญิงสาวที่ถูกทาหน้าสีดำสนิท ทาปากสีชมพู และถือโดนัทสีดำล้วน โฆษณาชิ้นนี้ไม่ได้มีปัญหาต่อความรู้สึกของคนไทยเท่าไรนัก แต่ทางองค์การสิทธิมนุษยชนรู้สึกว่าเป็นการเหยียดสีผิวในรูปแบบหนึ่ง เมื่อเรื่องถึงทางบริษัทแม่ในสหรัฐฯ จึงออกมาขอโทษและขอให้ทางไทยลบโฆษณาดังกล่าวออก

มาล่าสุดกับโฆษณาของซิตร้า แคมเปญที่จะแจกทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่มีผิวขาว ใส โดยมีกติกาว่า ให้ถ่ายภาพตัวเองในชุดนักศึกษาพร้อมถือผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ จะได้รับรางวัลทุนการศึกษา 100,000 บาท พร้อมได้ถ่ายแฟชั่นลงนิตยสาร Cheeze

คุณค่าไม่ได้วัดที่สีผิว

ทั้งนื้ เสียงโห่ไม่พอใจของคนบางส่วนยังไม่ดังพอต่อถึงบริษัทเจ้าของแคมเปญแต่อย่างใด แต่คาดว่าหากนักครีเอทีฟควรนำข้อผิดพลาดครั้งนี้มาเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ต่อต้านการเหยียดสีผิวในสังคมอีกต่อไป เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นมีมากมายเกินว่าที่คิด เพราะค่านิยมคลั่งความขาวทำให้หนุ่ม-สาวในยุคสมัยนี้เลือกใช้วิธีทางลัด ใช้ผลิตภัณฑ์ปรับสีผิวให้ขาว ใส โดยบางครั้งผลิตภัณฑ์นั้นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดังที่ นายแพทย์ประวิตร อัศวานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง ได้เคยแสดงความเป็นห่วงต่อกรณีที่คนอยากขาวกินกลูตาไธโอนเพื่อเร่งความขาว

“เราเกิดมาสีผิวอะไรก็ควรจะต้องภูมิใจในผิวของตัวเอง การที่จะพยายามเปลี่ยนสีผิวด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัย มันไม่สมควร วิธีทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นวิธีชั่วคราว ไม่ได้เปลี่ยนสีผิวเราได้ถาวร”

เช่นเดียวกับ นพ.ทวี ตั้งเสรี ก็กล่าวว่า ควรเน้นเรื่องของความดีงาม มากกว่าวัดความเป็นคนด้วยสีผิว

“ควรเน้นในเรื่องของการเป็นคนดีในสังคมมากกว่าเรื่องสีผิว เพราะสมัยนี้คนที่ตัวเล็กๆ ผิวดำ หรือคล้ำก็สามารถโด่งดัง มีที่ยืนในสังคมได้ เพราะเขามีจุดขายคือความสามารถ จึงอยากให้ใส่ในเรื่องของความดีและความสามารถซึ่งคงทนและยั่งยืน มากกว่าเรื่องสีผิวที่เป็นกระแสนิยมเพียงบางช่วงในสังคมเท่านั้น”

เห็นได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ค่านิยมคลั่งความขาว กลายเป็นสิ่งที่ซัดโหมเข้ามาในสังคมไทยจนน่ากลัว จากกระแสคลั่งไคล้อยากมีผิวขาวใสของผู้หญิงไทยลามไปถึงจุดซ่อนเร้น จนมาวันนี้ค่านิยมเหล่านี้ได้กลายเป็นการเหยียดสีผิว ใครไม่ขาวกลายเป็นคนแปลกในสังคมไปเสียแล้วหรือไร??






กำลังโหลดความคิดเห็น