ปัญหาเรื่องพื้นถนนในเมืองกรุง เป็นเรื่องที่ยังน่าห่วง และสร้างความหวาดผวาให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้นทุกวัน ทั้งถนนทรุดตัว ท่อประปาแตก ความชุ่ยของผู้รับเหมาก่อสร้างจนทำให้รถที่สัญจรไปมาได้รับอุบัติเหตุ นับเป็นสัญญาณอันตราย และกำลังเป็นสิ่งเตือนภัยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรีบทำการสำรวจ วางแผน และแก้ไขก่อนจะมีคนบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากความเสี่ยงนี้..
ถนนกรุง ทรุดมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง!
เรื่องถนนทรุดตัวในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมาหลายครั้งของหลายพื้นที่ เห็นได้จากข่าวในรอบปี 2555 พบเหตุการณ์ถนนทรุดหลายครั้งด้วยกัน
- ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม บริเวณถนนพระราม 4 ฝั่งขาเข้า ใกล้ไฟแดงแยกวิทยุ ใต้สะพานไทย - เบลเยี่ยม เยื้องสถานีรถไฟใต้ดินลุมพินี (ประตู 2) พื้นถนนเกิดการยุบตัวเป็นหลุมขนาดใหญ่ กว้าง 5 เมตร ลึก 2 เมตร
- วันที่ 2 เมษายน ทางเดินเท้าทรุดตัวบริเวณหน้าร้านอาหารไก่ย่างกลางกรุง ระหว่าง ซอย 21 - 23 ถ.พระราม 3 เขตบางคอแหลม เป็นหลุมลึก 3 เมตร กว้าง 5 เมตร ยาว 22 เมตร เกิดจากกำแพงกันดินทรุดตัว ถล่มจน
ดึงทางเท้าลงไปด้วย
- วันที่ 11 เมษายน เกิดหลุมขนาดกว้าง 60 ซม. ยาว 60 ซม. ลึก 1 เมตร บริเวณหน้า หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ถนนพญาไท ขาออก ใกล้แยกปทุมวัน สาเหตุมาจาก ท่อระบายน้ำเกิดการทรุดตัว
- วันที่ 3 สิงหาคม ถนนสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ข้างห้างสรรพสินค้าไอที สแควร์ ทรุดตัวเป็นหลุมขนาดใหญ่ กว้าง 3 เมตร ลึก 1.5 เมตร เกิดจากชั้นทรายใต้ผิวถนน ถูกน้ำกัดเซาะ
- วันที่ 9 สิงหาคม เกิดหลุมขนาดใหญ่ลึก 1 เมตร กว้าง 1 เมตร ยาวกว่า 3 เมตร บริเวณกลางแยกสวัสดี ซ.สุขุมวิท 31 หน้าโรงเรียนสวัสดีวิทยา เนื่องจากระหว่างที่เจ้าหน้าที่การประปานครหลวง (กปน.) วางท่อส่งน้ำประปา ใช้เครื่องขุดเจาะถนนทำให้ท่อประปาแตก แล้วนำดินกลบทับบริเวณที่เกิดเหตุโดยไม่ได้ระบายน้ำออก เมื่อฝนตกดินจึงอ่อนตัวและทรุดเป็นหลุม
ปัญหานี้ ร้อนไปถึง กทม. ต้องเร่งดำเนินการสำรวจโดยใช้เครื่อง Ground Penetrating Radar (GPR) พบถนนและทางเท้าที่มีความเสี่ยงยุบตัวถึง 155 จุด อาทิ ถนนเสรีไทย ลาดปลาเค้า ลาดพร้าว - วังหิน โชคชัย 4 นาคนิวาส สุคนธสวัสดิ์ นิมิตใหม่ รามคำแหง ซอย 24 ศรีนครินทร์ ราษฎรพัฒนาตัดถนนรามคำแหง ปลายซอยรามคำแหง 118 สหบุรานุกิจ ราชวงศ์ เยาวราช เจริญกรุง พระรามที่ 1 พระราม 3 พระราม 4 สุขุมวิท เพชรบุรี พหลโยธิน บำรุงเมือง สุขสวัสดิ์ พระราม 5 และพระราม 6 โดยหากพบบริเวณใดเป็นโพรงอยู่ใต้ดินก็จะเปิดผิวถนนปรับปรุงซ่อมแซมทันที
ส่วนในปี 2556 เกิดเหตุถนนทรุดมาแล้วหลายครั้งเช่นกัน โดยระยะหลังๆ มานี้ มักจะเห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ
เห็นได้จาก ในวันที่ 25 ก.ย. 56 วันนี้วันเดียว ถนนใน กทม.ทรุดตัวถึง 3 แห่งด้วยกัน หลังเจอฝนตกหนัก ท่อประปาแตก ซ่อมท่อ ซึ่งคาดกันว่า การสร้างรถไฟฟ้ามีเอี่ยว โดยจุดแรกที่สถานีมังกร รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ลึกกว่า 3 เมตร จุดที่ 2 ที่ถนนพระราม 5 หน้าปากซอยดุสิตคอนโด ทรุดตัว 2 เมตร อีกที่คือหน้าเทคโนโลยีสยาม ถนนจรัญสนิทวงศ์
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 56 เกิดเหตุรถพ่วงตกบ่อพักท่อร้อยสายกลางถนนรามอินทรา คานคอนกรีตทรุด ทำรถพ่วงตกลงบ่อลึก 7 เมตร
ถนนทรุด..ความเสี่ยงที่ต้องเร่งตรวจสอบ
สำหรับเหตุการณ์ถนนยุบตัว อาจเกิดขึ้นได้ตลอด ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการหลายๆ ท่านก็เห็นพ้องตรงกัน เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีการก่อสร้างขนาดใหญ่ทั่วไปตลอดเวลา ทั้งก่อสร้างตึกสูง วางท่อประปาขนาดใหญ่ ก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น ไม่นับรวมการซ่อมแซมต่อเติมและลงทุนของเอกชนรายย่อยอีกจำนวนมาก
ต่อกรณีนี้ รศ.ดร.อิทธิ ตริสิริสัตยวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ติดตามปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุดมาอย่างต่อเนื่อง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แผ่นดินทรุดเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบ 2 สาเหตุหลัก คือ การสูบน้ำบาดาลมาใช้เร็วเกินกว่าที่น้ำในธรรมชาติจะไหลไปทดแทนได้ทัน ส่วนสาเหตุที่สอง คือน้ำหนักของสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือน ถนน ที่เพิ่มขึ้น และกดทับลงไปบนชั้นดิน
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมปฐพี สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เคยวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาถนนทรุดเอาไว้ โดยนักวิชาการท่านนี้แยกออกเป็น 3 สาเหตุหลักๆ คือ
- ดินทรุดตัวตามธรรมชาติ เนื่องจากชั้นดินใต้กรุงเทพฯ เป็นดินอ่อนที่มีการทรุดตัวสะสมจากการใช้น้ำบาดาล แม้ว่าขณะนี้จะไม่มีการขุดบ่อบาดาลแต่ยังส่งผลอยู่ และเมื่อมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่วางทับซ้อนกันและค้ำพื้นถนนไว้จึงมีการทรุดตัวตามและทำให้เกิดโพรงใต้ถนนขึ้น
- ความบกพร่องในการก่อสร้าง และการปรับปรุงสาธารณูปโภค เช่น การเปิดหน้าดินเพื่อลงไปซ่อมปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและไม่มีการซ่อมกลับให้เหมือนเดิมทั้งในเรื่องของคุณภาพและความแข็งแรง เช่น ไม่บดอัดทรายให้แน่น ทำงานด้วยความเร่งรีบ ถนนเดิมเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่เมื่อมีการซ่อมกลับไม่ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเทเพียงแอสฟัลต์ เป็นต้น
- อายุการใช้งานของถนนและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ทำให้ความแข็งแรงลดน้อยลงตามอายุการใช้งานและการเสื่อมสภาพของวัสดุ
สอดรับกับ ข้อมูลของสำนักการโยธา โดยกองวิเคราะห์และวิจัย หลังจากเกิดมหกรรมถนนยุบหลายแห่งในปี 2555 ก็ได้นำเครื่อง GPR มาใช้ในการตรวจสอบถนนที่มีความเสี่ยงต่อการทรุดตัว หรือถนนที่มีประวัติการซ่อมบำรุงบ่อยครั้ง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทรุดตัวได้อีก โดยมีข้อสรุปสาเหตุที่เป็นไปได้โดยทั่วไปดังนี้
- พื้นที่ที่มีการขุดรื้อย้ายหรือก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับท่อระบายน้ำใต้ดินถือเป็นจุดล่อแหลมต่อการสูญเสีญวัสดุทรายถมลงไปในท่อระบายน้ำ และทำให้เกิดโพรงใต้ผิวถนน เนื่องจากการขุดรื้อย้ายดังกล่าว อาจทำให้เกิดความเสียหายกับท่อระบายน้ำหรือบ่อพักได้
- การทรุดตัวต่างกันของท่อระบายน้ำกับบ่อพัก อาจทำให้เกิดช่องว่างที่วัสดุทรายถมจะไหลลงไป ทำให้เกิดโพรงใต้ดิน
- จุดที่มีการรั่ว หรือแตก ของท่อประปาเป็นประจำมีโอกาสที่จะเกิดโพรงใต้พื้นดินสูง
- กำแพงกันดินที่อยู่ริมทางระบายน้ำหรือคลองอาจมีการรั่วไหลของดินทรายถมหลังกำแพง ทำให้เกิดโพรงได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ทางสำนักการโยธาโดยกองวิเคราะห์ และวิจัยยังได้เคยเสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวไว้ด้วย โดยเสนอให้หน่วยงานที่มีระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ควรจัดทำระบบฐานข้อมูลเชิงสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือระบบที่คล้ายกันเพื่อให้สามารถสืบค้นข้อมูลแบบการก่อสร้างแนวและตำแหน่ง รวมไปถึงการซ่อมแซมและบำรุงรักษา โดยอยู่ในรูปแบบที่หน่วยงานต่างกันสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ เมื่อต้องทำงานเกี่ยวข้องกันเป็นรายกรณีไป
นอกจากนี้ ควรมีการทบทวนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ "คู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค" ที่จัดทำโดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่นในปี 2550 ทั้งนี้ควรทบทวนการดำเนินการระหว่างหน่วยงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ
- การป้องกันการเกิดโพรงใต้ดินอันเนื่องมาจากความบกพร่องในการก่อสร้าง
- การรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคให้กลับตามสภาพการใช้งานเดิม ซึ่งรวมถึงผิวจราจร
- การร่วมกันควบคุมคุณภาพงานก่อสร้าง
อีกทั้งยังฝากไปถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโพรงใต้ดิน เช่น บริเวณที่มีระบบท่อสาธารณูปโภคที่ซับซ้อนและมีการซ่อมแซม รื้อย้ายบ่อย ควรพิจารณาศึกษาเพื่อใช้แผ่น GEOGRID เพื่อเสริมการยืดตัวและความแข็งแรงให้กับผิวทางแอสฟัลต์ เพื่อจะได้ไม่เกิดการยุบตัวแบบทันทีทันใด สุดท้ายคือ การสำรวจรูโพรงใต้ดินด้วยเครื่อง GPR ควรดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญทางธรณีฟิสิกส์ร่วมกับผู้ที่ทราบข้อมูลระบบสาธารณูปโภคเป็นอย่างดี เพื่อการแปลผลที่ถูกต้อง
กระนั้น แม้จะมีการเสนอแนวทางต่างๆ ออกมา แต่ทุกวันนี้ พื้นถนนในกรุงเทพฯ กลับยังคงมีข่าวการทรุดตัวให้เห็นอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใต้ถนนที่มองไม่เห็น
อย่ารอให้วัวหาย แล้วล้อมคอก!
ถึงวันนี้ แม้จะยังไม่มีผลกระทบรุนแรง และยังไม่ใครเสียชีวิตจากถนนทรุด หรือยุบตัว แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ เรื่องนี้ ธรรมมา เจียรธราวานิช อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในฐานะนักวิชาการด้านคมนาคม บอกไว้ว่า อย่ารอให้วัวหายแล้วค่อยมาล้อมคอก แต่ควรเร่งลงไปตรวจสอบควบคุมการทำงานของผู้รับเหมาในการดำเนินการเกี่ยวกับสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้าง
"ปัญหาถนนทรุด แน่นอนว่า มาจากการรับน้ำหนักปริมาณการจราจรบนท้องถนน รวมไปถึงปัญหาการระบายน้ำ และน้ำท่วม นอกจากนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างตึกรามบ้านช่อง หรือโครงการก่อสร้างใต้ดินต่างๆ ที่ขาดการวางแผน และมองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา"
"สำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ผมอยากให้มองก่อนหน้านั้น ไม่ใช่มองว่าแก้อย่างไร ยกตัวอย่าง ถ้าโครงการก่อสร้างใต้ดินที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม เราควรจะต้องศึกษาให้ดีก่อนว่า ในแนวทาง หรือระดับที่จะก่อสร้างส่งผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้างข้างเคียงที่มีอยู่หรือไม่ รวมไปถึงสาธารณูปโภคต่าง ๆ ใต้ดินด้วย ถ้าทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการวางแผน พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบก่อนลงมือทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน ผมเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาตามมา หรือถ้าเกิดก็เกิดขึ้นน้อย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูแล แก้ไขโดยตรง และโดยด่วน" นักวิชาการด้านคมนาคมให้ทัศนะ
เมื่อถามถึงปัญหาถนนทรุดในต่างประเทศ นักวิชาคนเดียวกันนี้บอกว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยเมื่อเทียบกับประเทศไทย
"ในต่างประเทศ เราต้องยอมรับว่า การก่อสร้างของเขาค่อนข้างมีมาตรฐาน ซึ่งจริงๆ บ้านเราก็มีมาตรฐานนะ แต่ในทางปฏิบัติก็ที่รู้ๆ กันอยู่ ซึ่งมาตรฐานที่เรามี ทำได้จริงอย่างที่มาตรฐานกำหนดได้แค่ไหน ซึ่งก็มีบางโครงการที่ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร หรืออย่างเวลาเกิดเหตุถนนทรุดตัว เขาจะมีหน่วยงานที่คอยเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อเข้าไปจัดการปัญหาดังกล่าวโดยตรง
ผิดกับบ้านเรานิดนึงก็คือ หน่วยงานบ้านเรามีเยอะมาก บางคนอาจจะมองว่าดี แต่ในทางกลับกัน มันมีผลเสียนะ พอหน่วยงานมีเยอะ ก็จะเริ่มมีอาการแบบว่า นี่มันหน้าที่เราหรือไม่ เกิดการเกี่ยงงานกันขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาของบ้านเราจึงต่างกับหลายๆ ประเทศที่จะวางผังองค์กร โดยแบ่งแยกหน้าที่ไว้ชัดเจน" นักวิชาการด้านคมนาคมท่านนี้ขยายความ
ส่วนกรณีท่อประปาแตกที่มีข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่เพียงแต่ประเด็นเรื่องความไม่ระมัดระวังในการขุดเจาะ รวมไปถึงความเสื่อมสภาพของตัวท่อ และไม่ได้รับการปรับปรุงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ นักวิชาการท่านนี้มองก็คือ การประสานงานที่ดีระหว่างองค์กร
"การก่อสร้างถนน กับการวางท่อประปา บ้านเราก็คนละหน่วยงานกันอ่ะครับ ตัวผมเองก็ไม่ได้อยู่ในส่วนงานดังกล่าว เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้หรอกว่า ในทางปฏิบัติพวกเขามีการพูดคุย หรือมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากน้อยแค่ไหน เช่น ท่อประปา ควรวางระดับอยู่ตรงนี้นะ การสร้างถนนควรสร้างให้อยู่ระดับ หรือตำแหน่งตรงนี้นะ แล้วถ้าวันหน้ามันทรุด ซึ่งมันทรุดได้ทุกวันอยู่แล้ว มันจะทรุดได้แค่ไหน ทรุดไปโดนจุดที่วางท่อประปาหรือไม่
ซึ่งตรงนี้มันเป็นการสื่อสารระหว่างองค์กรในการก่อสร้าง นับเป็นสิ่งที่วงการก่อสร้างบ้านเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับจุด ๆ นี้เท่าที่ควร อีกทั้งการบำรุงรักษา เป็นเรื่องที่ต้องเข้ามาดูแลด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เก่า และชำรุดตามกาลเวลาจนได้รับความเสียหาย และสร้างความเดือดร้อนตามมา" นักวิชาการด้านคมนาคมให้ความเห็น
เรื่องความปลอดภัยของพื้นถนนกทม. ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะปล่อยเอาไว้ แล้วค่อยมาทำเมื่อมีปัญหา และถึงแม้การเกิดถนนทรุดในวันนี้ จะยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต แต่ก็ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความวิตกกังวล เพราะไม่รู้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นอีกเมื่อไร และไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่า ถนนทรุดตัวครั้งหน้า จะสร้างความเสียหายแก่ผู้คนมากน้อยแค่ไหน อาจจะร้ายแรงถึงขั้นเลือดตกยางออก..ก็เป็นได้
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ LIVE