xs
xsm
sm
md
lg

“รักร่วมเพศแต่งงานกันได้!” รักเร้นลับอันหลากหลายในสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่จะเปิดโอกาสให้คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนแต่งงานกันได้ ล่าสุดกับการเสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้นพิจารณาโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการสภา ส่งต่อถึงฝ่ายนิติบัญญัติ

หากผ่านพ้นไปได้ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้! และจะเป็นประเทศที่ 19 ของโลกที่มีกฎหมายอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้

แต่สังคมที่ยังคงเต็มไปด้วยทัศนคติแง่ลบต่อความหลากหลายทางเพศ จนมองปรากฏการณ์เหล่านี้ว่าเป็น “ความเบี่ยงเบนทางเพศ” จุดเปลี่ยนจากการเสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดทัศนคติทางเพศของสังคมไทยได้หรือไม่!!!?

ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต

ในสังคมไทยที่มีรากความเชื่อของพุทธศาสนา มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่มองว่า การรักเพศเดียวกันถือเป็นตราบาปที่มาจาก “กรรมเก่า”

หากแต่ย้อนกลับไปในช่วงวันวาเลนไทน์ของปีมีคู่รักเพศเดียวกันหลายคู่ตบเท้าเข้าไปจดทะเบียนสมรมแม้จะรู้ไม่สามารถทำได้เพราะขัดต่อกฎหมาย แต่ก็มีนัยแสดงถึงการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของพวกเขา สิทธิในการที่จะได้รับการรับรองทางกฎหมายในฐานะคู่ชีวิตโดยไม่จำกัดเพศ เป็นการเรียกร้องให้เกิดพ.ร.บ.คู่ชีวิต

แม้ปัจจุบันในทางพิธีกรรมแล้ว งานแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันจะมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง หลายคู่อยู่กินเหมือนคู่ชาย - หญิงปกติ แต่สิทธิในฐานะคู่ชีวิตกลับไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย พงษ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ร่วมผลักดันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเผยกับกรุงเทพธุรกิจไว้ว่า ทั้งหมดเป็นความพยายามให้สังคมเข้าใจว่า คู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันมีอยู่จริงในสังคม

"ในชีวิตประจำวันพวกเขาใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและเต็มไปด้วยอุปสรรค เช่น การจะทำนิติกรรมร่วมกัน การจัดการทรัพย์สินต่างๆ อันถือเป็นเรื่องสำคัญ กรณีหญิง - ชายที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสกันแล้วก็เสมือนเป็นคนคน เดียวกัน เขาสามารถทำนิติกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ แต่สิทธิเหล่านี้กลับไปไม่ถึงคนที่มีคู่ชีวิตเป็นเพศเดียวกัน ดังนั้นเราจึงพยายามบอกกับสังคมว่า "ได้โปรดหันมามองพวกเราเถิด" จริงๆ แล้วเราก็เป็นคนในสังคมไทย เป็นพลเมืองหนึ่งในสังคมไทย ทำไมเราได้สิทธิไม่เท่ากัน เรายังถูกเลือกปฏิบัติในเชิงกฎหมายอยู่"

ด้าน ผศ.ดร.พรรณรายรัตน์ ศรีไชยรัตน์ หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า ประเด็นการผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นเรื่องของการแสดงออกเรื่องการยอมรับในความแตกต่างของคน เป็นการยอมรับในสิทธิที่จะพัฒนาบุคลิกภาพของแต่ละคนไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ

"ข้อโต้แย้งที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ เมื่อเราพูดถึงสิทธิในการสมรสของคนที่มีหลากหลายทางเพศ มักจะมีคนโต้แย้งว่าเป็นการทำลายสถาบันครอบครัว เป็นการทำลายวัฒนธรรม ซึ่งมันสะท้อนถึงวิธีคิดของคนกลุ่มใหญ่ที่พยายามให้โลกเป็นอย่างที่ตัวเองเป็นอยู่ ไม่เคารพสิทธิของคนที่มีจำนวนน้อยกว่า เมื่อคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นผู้หญิงและผู้ชายทำการสมรสกัน ชายหญิงก็มีความคาดหวังว่าสถาบันครอบครัวจะต้องมีลักษณะตามวิถีแบบเพศตรงข้าม มีพ่อแม่ลูก เมื่อไหร่ก็ตามที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศไม่เดินตามวิถีชีวิตแบบที่คนส่วนใหญ่คาดหวัง กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ก็จะคิดว่ามันเป็นการทำลายวัฒนธรรม ทำลายโลกที่เขาคิดว่ามันควรจะเป็น"

ปัจจุบันนี้ หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายฯ มองว่า ควรยอมรับได้ว่าคนมีความหลากหลายมากขึ้น มีการเลือกการดำรงชีวิตตามวิถีของตัวเองมากขึ้น สำหรับคนที่จดทะเบียนสมรสผู้หญิงกับผู้ชาย คุณก็มีสถาบันครอบครัวของตัวเอง ส่วนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เขาก็มีสิทธิในสถาบันครอบครัวตามรูปแบบของเขาเอง

การยอมรับที่แท้จริง

ความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยหลายคนมองว่ามีการยอมรับกันมากขึ้นแล้ว จนเมื่อกลุ่มเรียกร้องสิทธิทางเพศออกมาเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย ก็มักจะมีสุ้มเสียงตอกกลับว่า “ได้คืบแล้วจะเอาศอก” พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็ไม่ต่างกัน โดยฝ่ายที่เห็นค้านก็ยังคงมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น

ยลลดา สวยยศ นายกสมาคมสตรีข้ามเพศในฐานะคนทั่วไปเห็นด้วยพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมองว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงสิทธิเสรีภาพทางเพศที่มีมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศจริงๆ เสียที

“วันนี้เราแค่คิดว่าสังคมไทยเปิดแล้วกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ทำไมคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันถึงยังไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังไม่มีกฎหมายมารับรองสิทธิของเขาในการทำอะไรต่างๆ เรามีเพียงแค่สิ่งที่เรามองเห็นว่า ในสังคมเปิดเผยตัวตนกันเยอะ สังคมก็หยิบความเยอะนั้นมาบอกว่า สังคมยอมรับแล้ว

“แต่เรามองว่า มันไม่สามารถใช้วัดอารมณ์ความรู้สึกของคนได้ แค่มองว่าไม่แปลกไม่ได้แปลว่ายอมรับ สำหรับเราสังคมจะยอมรับมากขึ้นเมื่อมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนอย่างการรับรองสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้ไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเลย”

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตเหมาะกับความต้องการของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน กลุ่มชายรักชาย และกลุ่มหญิงรักหญิง โดยอาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคนข้ามเพศบางคนที่ไม่มีทางเลือกเท่านั้น เธอให้เหตุผลว่า กลุ่มคนข้ามเพศของเธอนั้นมีความต้องการที่จะแต่งงานในฐานะเพศหญิงแต่งกับเพศชายโดยได้รับการรับรองสิทธิ์ทางเพศให้ตรงกับที่ร่างกายซึ่งอาจเปลี่ยนไปไม่ตรงกับเพศกำเนิด

“ต้องเข้าใจก่อนว่า ความหลากหลายทางเพศมันไม่ได้มีแค่กลุ่มเกย์ กะเทย ทอม ดี้อีกแล้ว มันมีความหลากหลายมากขึ้น และความต้องการก็มีลักษณะที่หลากหลายด้วย”

ทั้งนี้ เธอเผยถึงร่างพ.ร.บ.รับรองสิทธิเพศใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการของกลุ่มเคลื่อนไหวของเธอได้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีใช้กว่า 88 ประเทศแล้ว โดยในอาเซียนนั้นมีเพียง 3 ประเทศได้แก่ พม่า กัมพูชา และประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่มีกฎหมายนี้ บอกได้ว่ากฎหมายดังกล่าวมีใช้ในหลายประเทศมากกว่าพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ได้รับการเสนอร่างกันอยู่ในตอนนี้ด้วยซ้ำ โดยพ.ร.บ.รับรองสิทธิเพศใหม่จะรับรองสิทธิของเพศให้ตรงกับร่างกายที่ผ่านการผ่าตัด

“ปัญหาคือการที่หน้าที่กับสิทธิของเพศไม่ตรงกัน ทำให้วิถีชีวิตหลายอย่างไม่เท่าเทียมกับคนอื่น ตัวอย่างเช่น การถูกข่มขืน ตอนนี้กฎหมายก็เอาผิดคนที่ข่มขืนคนข้ามเพศไม่ได้อย่างเต็มที่ ผู้พิพากษาจะบอกว่าคนคนนั้นมาข่มขืนอีกคนที่เป็นผู้ชายแล้วมีอวัยวะเพศหญิง ในทางกฎหมายมันไม่ได้ กฎหมายยังไม่มีคำเรียกอวัยวะเพศที่ผ่านการผ่าตัดมา ยังคงใช้คำเรียกว่า รอยแผลจากการผ่าตัดอยู่”

นอกจากนี้ การเข้าเรือนจำของคนข้ามเพศยังคงต้องไปเข้าเรือนจำตามเพศกำเนิด และการทำงานราชการเธอก็ยังต้องแต่งชุดตรงกับเพศกำเนิดแม้ว่าแต่งกายเป็นผู้หญิงจะดูเหมาะสมกว่าก็ตาม

“คนที่บังคับใช้กฎก็ต้องทำตามเพราะกฎหมายมันถูกออกแบบมาแบบนี้ มันมีจุดอ่อน แม้ว่าคนบังคับใช้กฎหมายจะเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดแต่ก็ไม่สามารถทำอะไร กฎหมายถึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะบ่งบอกการยอมรับอย่างแท้จริงที่มีต่อความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย”

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ LIVE





กำลังโหลดความคิดเห็น