รอยเตอร์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สำนักข่าวรอยเตอร์ชี้ สังคมไทยซึ่งมีความเปิดกว้างต่อคนรักร่วมเพศจะดึงดูดเม็ดเงินจากตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มได้ หากรัฐบาลออกกฎหมายรับรองการสมรสของคนเพศเดียวกันเป็นชาติแรกในเอเชีย
ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นพม่า, มาเลเซีย, สิงคโปร์ หรือบรูไน ล้วนมีกฎหมายต่อต้านความสัมพันธ์แบบ “ชายรักชาย” ทั้งสิ้น ส่วนคนไทยมีทัศนคติเปิดกว้างในเรื่องนี้มากกว่า จึงทำให้ไทยเป็นประเทศที่คู่รักร่วมเพศจากทั่วภูมิภาคต้องการเดินทางมาพักผ่อน
อาชีฟ ฮัสซัน พร้อมคู่รัก เดินทางจากมาเลเซียมาท่องราตรีที่ย่านพัฒนพงษ์ เขาบอกว่า “คืนนี้เรามาฉลองกัน การเป็นเกย์ผิดกฎหมายในประเทศเรา แต่อยู่ที่นี่เรารู้สึกเป็นอิสระ”
กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรส เพราะถือเป็นการผูกพันทางกฎหมายระหว่าง “หญิง” และ “ชาย” เท่านั้น ซึ่งนิยามที่ว่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อคู่รักเกย์ที่ต้องการจะขอสินเชื่อธนาคาร หรือทำประกันสุขภาพแบบคู่ชีวิต
เมื่อปีที่แล้ว องค์กรเพื่อสิทธิเกย์ และ ส.ส.กลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเลสเบียน, เกย์, ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศในไทย ได้รับสิทธิเสรีภาพในการแต่งงานเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์กฎหมายชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ “แฟร์” นัก เพราะกำหนดอายุที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้ (age of consent) ไว้ที่ 20 ปี ขณะที่กฎหมายสำหรับหญิงชายทั่วไปกำหนดไว้ที่ 17 ปีเท่านั้น
นักสิทธิมนุษยชนยังชี้ถึงปัญหาสำคัญที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะบีบให้บุคคลข้ามเพศต้องแจ้งเพศโดยกำเนิดของตนเองในทะเบียนสมรส เนื่องจากกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้พลเมืองเปลี่ยนข้อมูลเพศในเอกสารทะเบียนราษฎร
นอกจากอุปสรรคทางกฎหมายแล้ว หลายคนก็ยังไม่มั่นใจว่า คนไทยซึ่งยังมีแนวคิดอนุรักษนิยมในหลายๆ ด้าน จะยอมเป็นชาตินำร่องในการปฏิรูปกฎหมายสมรสได้หรือไม่
ความผิดฐาน “กระทำชำเราผิดธรรมดา” ถูกยกเลิกไปตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังมองว่าพวกรักร่วมเพศคือ “ผู้ป่วยทางจิต” มาจนถึงปี 2545 เป็นอย่างน้อย
ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยยังมีความเชื่อว่า การเกิดมารักเพศเดียวกันเป็นผลจาก “บาปกรรม” ที่กระทำมาในชาติปางก่อน
เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เกิดคดีฆาตกรรมที่โด่งดัง เมื่อ น.ส.นูรีซัน เจ๊ะดือราแม วัย 24 ปี ถูกพบเป็นศพอยู่ตรงทางเข้าบ่อทิ้งขยะในหมู่บ้าน ต.ตะลุโบ๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี สภาพศพถูกไม้หน้าสามตีเข้าที่ใบหน้าเป็นแผลเหวอะหวะ ซึ่งทางตำรวจเชื่อว่า สาเหตุของการสังหารน่าจะเกิดจากผู้ตายมีพฤติกรรมเป็นทอม และคบหาอยู่กับหญิงสาวรายหนึ่ง
ปีเดียวกันยังเกิดคดีหญิงสาว 2 คน ซึ่งน่าจะเป็นเลสเบียน ถูกยิงเสียชีวิตในนาข้าวนอกเขตกรุงเทพมหานคร
ความรุนแรงที่เกิดกับกลุ่มคนรักร่วมเพศ ทำให้คณะกรรมาธิการสิทธิเกย์และเลสเบียนสากล (IGLHRC) ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทยในปีที่แล้ว โดยเรียกร้องให้ตำรวจไทยหยุดมองว่าความรุนแรงที่เกิดจากรสนิยมทางเพศเป็นเพียง “ตัณหาอาชญากรรม” (crime of compassion)
อัญชนา สุวรรณานนท์ ประธานกลุ่มอัญจารี ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์สิทธิคนรักร่วมเพศ ระบุว่า ความรุนแรงต่อเลสเบียนมักถูกสังคมโยนให้เป็นความผิดของเหยื่อ หลายคนรู้สึกอัดอั้นจนต้องอาศัยสื่อสังคมออนไลน์เป็นที่ระบาย
“มีผู้หญิงหลายคนส่งข้อความมาหาเราทางเฟซบุ๊ก เพื่อระบายความทุกข์ที่ถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกับผู้ชาย” อัญชนา เผย
เธอเล่าว่า ตอนที่เพื่อนของเธอล้มป่วยอาการโคมา โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครใช้เวลาทำเรื่องนานหลายชั่วโมงกว่าจะลงมือรักษาได้ “เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าต้องให้สามีมาเซ็นอนุญาตเท่านั้น พอเราแจ้งว่าคู่ของเธอเป็นผู้หญิง พยาบาลก็ไม่ยอมรับฟัง”
เปรมปรีดา ปราโมช ณ อยุธยา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศและเจ้าหน้าที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) สำนักงานกรุงเทพมหานคร ชี้ว่า แม้ละครโทรทัศน์ของไทยจะไม่เคยขาดสีสันจากเหล่านักแสดงสีม่วง แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมยังให้การยอมรับคนกลุ่มนี้อย่าง “ผิวเผิน” เท่านั้น
“วงการบันเทิงเปิดรับพวกเราด้วยความเต็มใจ เพราะเห็นเราเป็นตัวตลกที่ทำให้คนหัวเราะได้ แต่ถ้าเราไปประกอบอาชีพที่จริงจังอย่าง แพทย์ เราจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีนักแน่นอน” เปรมปรีดา ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ พร้อมเล่าว่า เพื่อนของเธอหลายคนยังลังเลว่าจะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตหรือไม่ เพราะไม่สบายใจที่จะถูกระบุเพศโดยกำเนิด
วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จากจังหวัดสงขลา ยอมรับว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มีมุมมองเกี่ยวกับการแต่งงานแบบอนุรักษนิยม
“ช่วงแรกๆ พวกเขาก็ว่าผมเสียๆ หายๆ เตือนผมว่าระวังจะถูกฟ้าผ่าตายที่สนับสนุนกฎหมายแบบนี้”
อย่างไรก็ดี วิรัตน์ ระบุว่า ทุกวันนี้ ส.ส.หลายคนเริ่มเห็นประโยชน์จากการชูนโยบายเอาใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวสีม่วง และเชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาได้ “ในเวลาไม่ถึงปี”