xs
xsm
sm
md
lg

“ตุ๊กตา – จมาพร” นางฟ้าเสียงสวรรค์แห่งเวทีเดอะวอยซ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในรายการเดอะวอยซ์ ซีซั่น 2 มีบทเพลงภาษาญี่ปุ่นถูกขับบรรเลง เป็นสุ้มเสียงอ่อนโยนกระทบใจ แน่นอนว่าหลายคนไม่เข้าใจความหมายบทเพลง หากแต่เพลงนี้กลับส่งความรู้สึกถึงคนดูรวมถึงกรรมการได้อย่างเต็มความหมาย และ “ตุ๊กตา - จมาพร แสงทอง” คือเจ้าของสุ้มเสียงนั้น

“เพลงนี้เป็นเพลงประกอบโฆษณา ที่เราเคยได้ยินตอนเด็กๆ ประจวบเหมาะกับเราเคยร้องคาราโอเกะเพลงจีนตอนเด็กๆ เลยอยากย้อนเวลาช่วงนั้น มันทำให้เรารู้สึกสนุก รู้สึกเป็นเด็ก ที่ได้กลับไปร้องคาราโอเกะอีกครั้ง แล้วเพลงนี้ก็มีความหมายที่ดีมาก”


เพียงชั่วข้ามคืน บทเพลงของเธอกลายเป็นที่พูดถึง และความสามารถของเธอก็ราวกับดวงดาวที่รอวันจรัสแสง จากผลงานด้านดนตรีที่ผ่านมามากมาย ตั้งแต่อยู่ในวงซียูแบนด์ ช่วงเรียนอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมงานกับกลุ่ม Leisure songs ของค่ายสมอลรูม เธอยังเป็นหนึ่งในสมาชิกวง Apple girls band ที่โด่งดังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เธอยังอยู่เบื้องหลังงานเพลงอีกมากมาย

“ตอนนี้เราก็ร้องอยู่ 5 วันที่ route66 ช่วง ตี 1 ร้องมาเกือบ 4 ปีแล้ว route66 สอนให้เราเป็น Professional มากขึ้น เพราะพี่ๆ นักดนตรีเป็นนักดนตรีรุ่นใหญ่ เป็น Back up ในแกรมมี่กันหมด ทำให้เราต้องคอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา”

ประสบการณ์ของชั่วโมงบินในฐานะนักดนตรีของเธอรอเพียงวันที่แสงไฟจะหันมาหาเท่านั้น และเมื่อโอกาสมาถึง เธอก็ฉายประกายเสน่ห์ในแบบของเธอ และความสามารถที่แฝงอยู่ในท่วงทำนอง น้ำเสียงในการร้องเพลง วันนี้ ทีมงาน M - Lite ได้พูดคุยกับเธอถึงเส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรค หากแต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งที่เธอรัก เพราะมันเป็นเส้นทางสายดนตรี

ทางชีวิตบนถนนดนตรี
ความรักในเสียงดนตรีของเธอ เริ่มต้นตั้งแต่สมัยเด็ก โดยมีพ่อที่จมตัวเองอยู่ในยุครุ่งเรืองทางดนตรีของ The Eagles, The Carpenter ขณะที่แม่เปิดคอนเสิร์ตของ Madonna ให้เธอดูทุกคืนแทนเพลงกล่อมเด็ก

“ถ้าไม่เปิดเราจะนอนไม่หลับนะ” เธอเล่าถึงช่วงวัยเด็กกับดนตรี "ตอน 3 ขวบ แม่จะชอบให้ร้องเพลงคาราโอเกะภาษาจีนทุกวัน ส่วนพี่ชายก็เรียนเปียโนมาด้วยกันตั้งแต่เด็กๆ พี่ชายเคยเรียนร้องเพลง มีซ้อมมีแข่งขัน เราก็ติดสอยห้อยตามไปด้วยเสมอ ทำให้แม้เราจะไม่ได้เรียนแต่ก็ได้คลุกคลีกับดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ”

และเพราะไม่เคยเรียนร้องเพลงอย่างจริงจังได้แต่ฟังพี่ชาย เธอจึงยังไม่กล้าออกไปร้องเพลงสักเท่าไหร่ จนกระทั่งครูที่โรงเรียนชวนให้ไปประกวดร้องเพลงตอน ม.2 เธอเผยว่า นั่นคือการประกวดร้องเพลงครั้งแรกของเธอ และเธอก็ได้ที่ 1 มาครอง!!

“เป็นการประกวดร้องเพลงภาษาอังกฤษ ก็ไม่รู้ว่าเขารู้ได้ยังไงว่าเราร้องเพลงพอได้แต่ก็ไปประกวดได้ที่ 1 มาค่ะ แต่ตอนนั้นมีคนประกวดแค่ 2 คน” เธอเอ่ยถึงความทรงจำในการประกวดร้องเพลงครั้งแรกพร้อมเสียงหัวเราะ

“หลังจากนั้นคุณครูก็ไว้วางใจให้ประกวดเรื่อยๆ จากแค่ในโรงเรียนก็เริ่มออกนอกโรงเรียนกระทั่งเรามาเรียนที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราเข้ามาสมัครคัดเลือกเข้าชมรมดนตรีสากลซียูแบนด์”

การคัดเลือกของซียูแบนด์นั้นถือว่าโหดหินใช่เล่น เธอเผยว่า มีการคัดเลือกถึง 3 รอบแล้วยังมีสอบสัมภาษณ์อีกด้วย แต่ในที่สุดเธอก็ทำสำเร็จ และซียูแบนด์ก็เป็นจุดพลิกผันหนึ่งของชีวิตในเส้นทางดนตรีของเธอ มันกลายเป็นที่ที่ทำให้เธอได้รู้จักกับดนตรีมากขึ้น

เมื่อถามว่า ทำไมเธอถึงชอบดนตรี เธออมยิ้มก่อนตอบว่า
“อาจจะเป็นเพราะครอบครัวที่ชอบดนตรีเหมือนกัน เลยทำให้เราซึมซับเรื่องเพลงมาตั้งแต่เด็ก คนที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญเลยคือ พี่ชาย เพราะตามเล่นแบบเขาทุกอย่าง เขาทำอะไรเราก็ทำตาม ตอนมาแข่งเดอะวอยซ์นี่เขามาให้กำลังใจ ความชอบมันเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัวมาตลอดชีวิต จนกลายเป็นความรักแบบแยกไม่ได้ ตอนนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ถ้าไม่ได้ร้องเพลงก็ไม่รู้จะไปทำอะไรแล้วตอนนี้”

เรียนรู้จัก “ดนตรี” และความหมายของ “มืออาชีพ”
“ซียูแบนด์” เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นแหล่งรวมตัวคนที่มีความรักและจริงจังกับดนตรี หลังจากเธอผ่านการคัดเลือกมาได้ในช่วงที่เธอเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เธอก็เริ่มเดินเข้าไปในเส้นทางสายดนตรีที่เป็นมากกว่าแค่งานอดิเรก ดนตรีซึมซับเข้ามาเป็น “ส่วนหนึ่ง” ไม่ใช่เพียงแค่ “ส่วนนึง” ของชีวิตเธออีกต่อไป

“ชมรมสอนอะไรเราเยอะมาก จากคนที่ไม่เคยเรียนดนตรี ไม่เคยเรียนร้องเพลง ที่นี่มีเวิร์กชอปจากรุ่นพี่เก่งๆ เช่น พี่ลูกหว้า (พิจิกา จิตตะปุตตะ) พี่รัดเกล้า อามระดิษ พี่โอ๋ ซีเปีย ทำให้เรามีความรู้เรื่องดนตรีมากขึ้น ได้ออกงานกับซียูแบนด์ก็เป็นเวทีที่ทำให้เราฝึกปรือวิชาร้องเพลงและสั่งสมประสบการณ์”

เธอสารภาพว่า ในช่วงนั้นเธอไปที่คณะอักษรศาสตร์น้อยมาก จนเพื่อนทักว่า เรียนคณะซียูแบนด์แล้วอยู่ชมรมอักษรใช่ไหม? นอกจากนี้เพื่อนๆ ในซียูแบนด์ก็ทำให้เธอมีทัศนคติกับดนตรีและการร้องเพลงที่ดีขึ้น ซียูแบนด์จึงเป็นเหมือนโรงเรียนสอนร้องเพลงที่อบอุ่นมากสำหรับเธอ

“อยู่ซียูแบนด์แค่ 3 ปี แต่เป็น 3 ปีที่คุ้มค่ามาก สิ่งที่เราเรียนรู้ไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคการร้องเพลง แต่การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น การรักดนตรีในแบบที่ดี การให้ความเคารพผู้ใหญ่ การให้ความเคารพดนตรี เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เราได้เรียนรู้จากที่นี่ด้วย”

ช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในคณะอักษรศาสตร์ของเธอจึงแตกต่างจากคนอื่นๆ ดูเหมือนเธอมีชีวิตอยู่นอกห้องเรียนมากกว่า

“ตอนเรียนไม่อยากทำอะไรเลย อยากให้ถึงตอนเย็นจะได้ไปซียูแบนด์ ไปอยู่กับเพื่อนๆ แอบนอนในชมรมด้วย” เธอนึกขำตัวเองเมื่อนึกถึงชีวิตช่วงนั้น ใช้ชีวิตตลอดเวลาในซียูแบนด์จนไม่ได้กลับบ้าน แม่น้อยใจเลย (หัวเราะ) ตอนนี้จบมาจากมหาวิทยาลัยเกือบ 3 ปีแล้ว ก็ยังสนิทกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ซียูแบนด์อยู่ สิ่งหนึ่งที่เหนือกว่าการสอนเทคนิคของซียูแบนด์คือ ความรักและความอบอุ่นที่เรามีให้กับเพื่อนและดนตรีที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วในชีวิต”

ในช่วงปี 2 เธอก็ได้เริ่มเล่นดนตรีกลางคืนครั้งแรกซึ่งได้ค่าตัวน้อยมาก เธอสารภาพว่า เล่นห่วยมาก และเอ็นเตอร์เทนคนไม่เป็น ทำเพียงแค่ร้องอย่างเดียว แต่ด้วยใจรักอยากหาประสบการณ์เธอจึงได้ไปร้องอีกในหลายๆ ที่เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และพัฒนาฝีมือ

ระหว่างนั้นเอง เธอได้มีโอกาสไปร่วมงานกับ Smallroom ค่ายเพลงอินดี้จากการชักชวนของ พ๊อยท์ (ปนัสฐ์ นาครำไพ มือเปียโน) วง Klear โดยเธอได้มาร่วมโปรเจกต์ที่ชื่อ Leisure songs เป็นโปรเจกต์ที่จะเอาศิลปินนอกสังกัดมาร้องเพลงคนละ 1 เพลงจากการแต่งของศิลปินในค่าย หลังจากเทสต์เสียงไป 2 ครั้งเธอก็ได้ร้องเพลง "รู้นะ" ในอัลบั้มนั้นซึ่งเป็นโปรเจกต์พิเศษที่มีขายในวงจำกัดทำให้เธอไม่ได้บรรจุเป็นศิลปินในค่าย

“แต่หลังจากนั้นพี่ๆ ที่ smallroom ก็ชักชวนมาทำโปรเจกต์อยู่เรื่อยๆ เช่น ร้องไกด์ให้น้องมารีญาเพลง "บุ๋ง" ร้องคอรัสให้วง Tattoo colour เล่น Mv เพลงทุกวัน ของ Lemonsoup เพลง ร้องคอรัสในเพลง จาระบี (ลื่นขั้นเทพ) ของพี่โต้ - สุหฤทธิ์ สยามวาลา”

อย่างไรก็ตาม กับงานที่ภาคภูมิใจที่สุดที่ได้ร่วมงานกับ Smallroom เธอยกให้การได้ร่วมร้องเพลง เมฆใต้น้ำ ของ เล็ก Greasy cafe

“เพลงนี้ได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ด้วย อยู่กับสมอลรูมมาเกือบๆ 6 ปี ช่วยงานพี่ๆ ในค่ายอยู่เรื่อยๆ ได้คลุกคลีกับพี่ๆ ศิลปิน ทำให้เขากลายเป็นไอดอลของเราในเรื่องการทำเพลงแต่ที่ชอบที่สุดคือร่วมงานกับพี่เจ-วงพราว (เจตมนต์ มละโยธา) หรือ พี่เจ penguin villa รักการทำงานกับพี่เจมาก พี่เจเป็นพี่ที่แต่งเพลงเก่งแล้วก็มีเมโลดี้ที่สวยงาม พี่เจเป็นคนใจดีและมอบความรู้สึกดีๆ กับการแต่งเพลงและเรฟเฟอเรนซ์ในการฟังเพลงที่ดีตลอดมา

ในด้านของพัฒนาการทางดนตรี ค่ายเพลงอินดี้แห่งนี้ก็เป็นแหล่งความรู้ทางดนตรีที่เธอเปรียบให้เป็นห้องสมุดแห่งบทเพลงที่ทำให้หนังสือเพลงในสมองและหัวใจของเธอเพิ่มมากขึ้นอีกเป็น 100 เล่ม

“ความรู้สึกที่เรามีให้กับดนตรีมันทั้งกว้างขึ้นและลึกขึ้น ต้องขอบคุณพี่ๆ ที่ให้โอกาส ว่าไป Smallroom ก็เป็นเหมือนบริษัทแรกที่เริ่มทำตั้งแต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัย เราได้มากกว่าแค่เงินเดือน มันคือประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมให้ตุ๊กตาเป็นตุ๊กตาในวันนี้”

หนึ่งชีวิตต้องเลือกเพียงสิ่งเดียว
เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัย เธอต้องเลือกเส้นทางชีวิตที่จะดำเนินต่อไป จะเป็นนักดนตรีหรือ...? เป็นคำถามที่วิ่งวนอยู่ในหัว แม้ช่วงเวลาดังกล่าวเธอจะเริ่มทำงานเป็นนักร้องเพลงกลางคืนแล้วก็ตาม แต่ด้วยความชอบในงานสายนิเทศและการจัดการ ทำให้หลังเรียนจบเพียง 2 อาทิตย์ เธอได้เริ่มชีวิตวัยทำงานเต็มตัวกับบริษัท Index creative village บริษัทอีเวนต์รายใหญ่ของเอเชีย

“เราได้ทำงานในตำแหน่ง Project-coordinator ช่วงนั้นมีงาน Shanghai world expo (2010) พอดี เราเลยได้ทำโปรเจกต์นี้เป็นงานแรกซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่มาก”

เธอต้องพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้ทันต่อความรับผิดชอบที่ใหญ่เกินตัว การทำงานครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่มากสำหรับเธอ

“ตอนนั้นเข้าไปดูแลเรื่องเอกสารในงาน world expo ซึ่งไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่” เธอเล่าถึงชีวิตการทำงานด้วยท่าทีจริงจัง “แต่ด้วยความอยากทำงานประจำ คืออยากได้เงินเดือนนั่นแหละ เราก็เลยตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่”

ทว่าช่วงที่ทำงานอยู่นั้นเธอก็ยังคงร้องเพลงกลางคืนอยู่ และเธอเผยว่า มันเป็นช่วงพีคของการเล่นกลางคืนของเธออีกด้วย

“เล่นดนตรีเสร็จก็เกือบตี 2 ต้องตื่น 8 โมงเพื่อไปทำงานต่อ ทำให้เราทุ่มเทกับงานบริษัทได้ไม่เต็มที่ เราพักผ่อนน้อยมากทำให้ป่วยบ่อยมาก”

แม้ในหนึ่งเดือนเธอจะได้เงินเยอะมาก เพราะรับจ็อบพิเศษร้องเพลงพร้อมทำงานบริษัททำให้เหมือนมีรายได้ 2 เท่า แต่สุดท้ายด้วยความที่พักผ่อนน้อย เงินจึงไปลงกับการรักษาตัวเอง ท้ายที่สุดเธอก็รู้สึกไม่ไหว ทำรัายตัวเองมากเกินไปจึงได้ขอลาออกจากบริษัทเพื่อมาร้องเพลงอย่างเดียว

“เราทำงานให้บริษัทได้ไม่เต็มที่ด้วย ทั้งๆ ที่เขาก็ให้เงินเดือนเราเพียงพอสำหรับเด็กจบใหม่ เราเลยรู้สึกว่าเราเอาเปรียบเขาเกินไป จึงขอลาออก แต่การทำงานบริษัทครั้งนั้นก็สอนอะไรเราเยอะมาก สุดท้ายทำให้เราได้รู้ว่า ทำอะไรที่เราถนัด ทำที่เรารักมันจะเหมือนไม่ทำงาน ทำสิ่งๆ นั้นได้เต็มที่ ถึงแม้เงินอาจจะไม่ได้มั่นคง แต่ถ้าแลกกับความสุขของชีวิตก็ต้องเลือก เลยเลือกที่จะทำตามความรัก เลยร้องเพลงเป็นอาชีพตั้งแต่นั้นมาค่ะ”

หลังจากปรากฏการณ์ Apple girls band
หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเธอจากปรากฏการณ์ Apple girls band วงดนตรีหญิงล้วนที่ใช้ไอแพด-ไอโฟนเป็นเครื่องดนตรี ซึ่งเป็นกระแสโด่งดังจากโลกโซเชียลเน็กเวิร์ก จากซิงเกิลเพลง จักวาลวิทยา ของ วอลนัท - สายทิพย์ วิวัฒนปฐพี เพื่อนร่วมซียูแบนด์ของเธอ

“ผลปรากฎว่าผลตอบรับดีมาก ช่วงเวลาไม่กี่วันยอดวิวขึ้นถึงหลักหมื่นหลักแสน จนมีรายการหลายรายการมาขอสัมภาษณ์ มีงานอีเวนต์เข้ามา Apple girls band จึงถึงจุดจริงจังหลังจากนั้นมา”

เธอได้เข้ามาร่วมวงในตำแหน่งมือเบส ต่อมาเมื่อมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเธอก็เปลี่ยนมาตีกลอง และจากความสนุกแบบไม่ได้คิดอะไรแต่กลับกลายเป็นความโด่งดังนี้ มันกลายเป็นโอกาสและกลายเป็นงานที่มอบรายได้ให้เธอเยอะมาก

“ถึงตอนนี้ Apple girls band ก็เกือบ 3 ปีแล้ว มีสมาชิกผลัดเปลี่ยนกันไปมาเยอะเหมือนกัน นั่นเพราะเราเริ่มจากความสนุก และสมาชิกหลายคนยังเรียนอยู่ ทุกคนจึงยังมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบกับชีวิตตัวเองอยู่เยอะ”

โดยตัวเธอเองที่อยู่กับ Smallroom มาตลอดได้ถูกชักชวนให้ไปทำอัลบั้มเป็นวง JIDA ทำให้ช่วงนั้นเธอคิดว่าอาจจะทำ Apple girls band ได้ไม่เต็มที่

“เพราะออกงานแต่ละครั้งเราต้องซ้อมกันค่อนข้างเยอะ ถ้าเราเล่นแบบไม่ได้ซ้อมก็ดูจะเอาเปรียบเพื่อน แถมได้ค่าตัวเท่ากันอีก มันเป็นประสบการณ์เดิมกับตอนทำงานประจำ เลยขออนุญาตออกจากวง เพราะช่วงนั้นสมาชิกวงก็เพียงพออยู่แล้วด้วย ตอนนี้จึงไม่ได้อยู่ในวง Apple girls bandแต่วงยังคงมีอยู่นะคะ โดยมี วอลนัทเป็นนักร้องนำ ตอนนี้ก็ยังคงคิดถึงความสนุกที่ได้ร่วมงานกับเพื่อนๆ ใน Apple girls bandอยู่”

ทั้งนี้ ในช่วงที่เธออยู่วง Apple girls band ก็เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการทำงานประจำ ทำให้เธอมี 3 งานในช่วงเวลาเดียว งานประจำที่บริษัท งานร้องเพลงกลางคืน และงานรับจ็อบกับ Apple girls band เธอเผยว่า ทุกอย่างที่ทำมันทำได้ไม่เต็มที่ เธอรู้สึกว่า ทำไมต้องฝืนตัวเองขนาดนี้เธอจึงเลือกสิ่งที่เธอรักที่สุดเพียงอย่างเดียว

“หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ร้องเพลงกลางคืนอย่างเดียว route66 จึงเป็นบริษัทเดียวที่ทำอยู่ตอนนี้ ทำมาเกือบ 3 ปีแล้ว รายได้ของเราเพียงพอกับการเลี้ยงตัวเอง ไม่ต้องพึ่งครอบครัว ได้ทำสิ่งที่รัก ได้มอบเสียงเพลงให้คนอื่น จึงเป็นชีวิตที่มีความสุขมากตอนนี้”
ดนตรีในห้วงราตรี
เส้นทางสายนักดนตรีกลางคืนของเธอเริ่มต้นช่วงที่เธออยู่ปี 2 เธอเล่นแนวอะคูสติกโดยมีเพื่อนอีกคนเล่นกีตาร์ให้ เธอได้ค่าจ้างจากการเล่นดนตรี 2 ชั่วโมงเพียง 500 บาทเท่านั้น แต่ด้วยไฟของความอยากเล่นดนตรีกลางคืนและอยากได้เงิน เธอจึงยังคงเล่นอยู่ที่เดิมนานเกือบ 1 ปี

“แต่ด้วยความที่เราไม่เจนเวที วงที่เข้ามาออดิชั่นเรื่อยๆ ก็เก่งมากจึงหยุดเล่นไป ต่อมาพี่บู๊ skykick ranger ก็ชวนเราไปร้องที่ร้าน indy trees bar ซึ่งพี่บู๊เป็นคนที่เอ็นเตอร์เทนคนดูได้เก่งมากๆ เวลาเราร้องด้วยเลยซึมซับการเอ็นเตอร์เทนไปด้วย ทำให้เรารู้ว่า คนดูสำคัญมาก เรามีหน้าที่มอบความสุขทางด้านเสียงดนตรีให้กับคนดู”

เธอได้รู้เรียนการเล่นดนตรีกลางคืนจากประสบการณ์ช่วงนั้น และทำให้เธอเริ่มที่จะต้องพูดหรือเอ็นเตอร์เทนลูกค้า แม้ว่าจะเป็นคนพูดไม่เก่งก็ตาม เธอยิ้มพร้อมเผยว่า ตัวเองมักจะเล่นมุกแสดงความโก๊ะของตัวเอง หรือทำท่าตลกๆ หรือเล่นมุกในเพลงเสียมากกว่า

“ลูกค้าก็จะชอบความเป็นธรรมชาติของเรา ยิ่งมาร้องที่ route66 ยิ่งต้องเอ็นเตอร์เทน แต่เราก็ไม่ได้จะเอ็นเตอร์เทนอย่างเดียวจนลืมเรื่องร้อง เราต้องรู้จักสมดุลของมัน ความเป็นตัวเองจึงเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุด เวลาเราร้องเพลงจึงแสดงความเป็นตัวเองออกมา”

ในร้านหากเพลงสนุกเธอก็สนุกสนานไปกับบทเพลงได้ แต่หากมีเพลงเศร้าที่ถูกผู้ผิดหวังจากความรักมาขอ เธอก็พร้อมจะเศร้าไปกับภาวะตรงนั้น

ชีวิตนักร้องกลางคืนซึ่งเป็นงานประจำของเธอในตอนนี้แตกต่างจากชีวิตปกติมาก เธอเผยว่า ด้วยเวลาทำงานที่ไม่เหมือนคนอื่น แม่ทำงานกลางวันตื่น 8 โมงเช้ากลับบ้าน 6 โมงเย็น เข้านอนตอน 3 ทุ่ม ขณะที่เธอนอน 8 โมงเช้า ตื่น 6 โมงเย็นและทำงาน 3 ทุ่ม เธอจึงไม่ได้เจอแม่เลย

“ช่วงหลังก็เกรงใจแม่ เพราะเรานอนกับแม่ เวลากลับบ้านมา เขาจะตื่นตลอดไม่ได้นอน จึงขอแม่แยกออกมาอยู่เอง แต่ช่วงเสาร์อาทิตย์ก็เจอกันเรื่อยๆ”

ขณะที่เพื่อนๆ ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยซึ่งทำงานประจำก็จะนัดเจอกันยาก ทั้งช่วงวันปกติและวันหยุดเทศกาลที่กลุ่มเพื่อนมักนัดรวมตัวไปเที่ยวต่างจังหวัด เพราะช่วงเทศกาลถือเป็นช่วงขายดีของร้านอาหาร เธอจึงมีแต่เพื่อนที่เป็นนักดนตรี

“ไลฟ์สไตล์ก็จะเปลี่ยนไป จะซึมซับความเป็นผู้ชายเยอะ (หัวเราะ) ไม่ค่อยได้เดินห้าง ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามร้านอาหารฟังเพลง หาความรู้จากพี่ๆ นักดนตรีกันเอง ชีวิตอยู่กับเสียงเพลงตลอด”

ทั้งนี้ การมาเป็นนักดนตรีกลางคืน แน่นอนว่าผู้ใหญ่หลายคนหรือกระทั่งแม่และครอบครัวเธอเองก็ไม่สนับสนุน แต่ด้วยความที่เธอพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เธออยู่ได้ด้วยตัวเองจากอาชีพนี้แถมเลี้ยงดูครอบครัวได้อีกด้วย

“เราก็ไม่ได้ทำอะไรนอกลู่นอกทาง มันคืออาชีพที่เรารักและเป็นอาชีพที่ตั้งใจมอบความสุขให้กับทุกคน เรามีความสุขกับมันมาก เขาจึงไว้ใจที่จะให้เราทำตามที่เราชอบ สิ่งที่เขากลัวน่าจะเป็นความไม่มั่นคงมากกว่า จะร้องไปได้กี่ปี แต่ตอนนี้ตุ๊กตาก็มีร้านอาหารที่ทำกับเพื่อน (ร้านโซฟาแดง) เผื่อว่าวันหนึ่งเราเกิดอุบัติเหตุหรือถ้าเราไม่สามารถร้องเพลงได้อีกแล้ว เราก็ยังมีร้านอาหาร ที่มีเสียงดนตรีมอบให้กับทุกคนอยู่”

ครอบครัวที่แตกแยก, ความรักที่มั่นคง
ท่ามกลางครอบครัวที่รักเสียงดนตรี เธอในวัยเด็กอาศัยอยู่บ้านที่เป็นครอบครัวใหญ่ ประกอบด้วยพ่อ แม่ พี่ชาย น้องสาว และอาม่า เธอเป็นลูกคนกลางที่ไม่ค่อยได้รับการตามใจมากนัก อยากได้อะไรต้องมีเหตุผล

“แต่หลังจากที่พ่อแม่แยกกันอยู่ เราก็เปลี่ยนตัวเอง จริงจังกับชีวิตมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เกเรตามประสาวัยรุ่น หลังจากเกิดเหตุการณ์นั้น เราก็เปลี่ยนตัวเองตั้งใจเรียนมากขึ้น จนสอบเข้าจุฬาฯได้”

จากนั้นเหมือนชีวิตเข้าร่องเข้ารอยจากความผิดพลาดและความล้มเหลวที่ผ่านมา เธอมองว่า หากตอนนั้นเข้าไม่จุฬาฯ ไม่ได้ก็คงไม่ได้รู้จักซียูแบนด์ที่ทำให้เธอเดินทางบนเส้นทางดนตรีมาถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ในครอบครัวเธอ แม่คือคนสำคัญที่ทำให้เธออยากจะเข้มแข็งขึ้นเพื่ออยากเลี้ยงชีวิตแม่ต่อไป ขณะที่พ่อเป็นแรงบันดาลใจแม้จะไม่ค่อยได้เจอนักก็ตาม

“พ่อจะเป็นคนสนุกสนามอยู่เสมอ เอาแผ่นเสียงมาให้ฟังตลอด” เธอเอ่ย “ที่บ้านเลี้ยงเรามาแบบ ไม่อวย ไม่ด่า ให้คิดเอาเอง เรียนรู้จากความผิดพลาดเอาเอง ถ้าล้มก็ปล่อยล้มเลยจะได้ลุกขึ้นมาได้ แล้วก็จะจดจำความเจ็บปวดนั้นได้ เราจึงค่อนข้างเข้มแข็งแล้วก็กล้าที่จะเดินไปในเส้นทางที่ตัวเองวางไว้ มากกว่าพี่ชายและน้องสาวที่เขาค่อนข้างทะนุถนอมกว่า”

จากการทำงานเป็นนักร้องกลางคืน ทำให้ตอนนี้สิ่งที่ครอบครัวเป็นห่วงเธอคงจะหนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพ อีกอย่างคือตัวเธอเองเป็นคนทำงานเยอะ เป็นมนุษย์บ้างานชนิดที่อยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ดังนั้นพ่อแม่จนถึงอาม่าจะคอยพูดตลอดว่า รักษาสุขภาพด้วย หาแต่เงินไม่ใช่เอามารักษาตัวหมด

ด้านพี่ชายและน้องสาวที่ทั้ง 2 อายุห่างจากเธอ 6 ปีเท่ากัน ในช่วงยังไม่มีน้องสาว เธอเผยว่าสนิทกับพี่ชายมาก เดินไปเรียนเปียโนกับพี่ชายตลอด พี่ชายเล่นดนตรี แข่งดนตรีก็ตามดู เขาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญมากสำหรับเธอ ส่วนน้องสาวจะเป็นตัวแสบ

“น้องสาวจะรักเรามาก แต่ไม่ได้พูดหรือแสดงออก มีใครมาทำร้ายเราน้องจะปกป้องก่อนเลย แต่น้องเราไม่เอาดนตรีเลยนะ น้องเป็นสาวเปรี้ยวชอบแต่งตัว พี่น้องเราก็อยู่ด้วยกันแบบ ทำงานของตัวเอง เจอกันบ้าง มีโอกาสอะไรที่ต้องสนับสนุนหรือช่วยกัน เขาจะยื่นมือเข้ามาทันที ทำให้เราไม่ต้องมาบอกกันว่ารักกัน แต่มันรับรู้ได้เอง”

“ถ้าล้ม...ก็ปล่อยล้ม อย่าไปกลัว”
ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาของเธอ แน่นอนว่าต้องมีการตัดสินใจหลายอย่างในชีวิต และการเลือกทางเดินของการเป็นนักร้องเพลงกลางคืน ความกังวลทดท้อใจย่อมเกิดขึ้นได้ เธอผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาด้วยดวงใจเดียวกับที่ครอบครัวหล่อหลอมมาเป็นเธอ ดวงใจที่บอกว่า “ถ้าล้ม...ก็ปล่อยล้ม อย่าไปกลัว”

“เวลาท้อกับชีวิต จะนึกถึงสิ่งที่ครอบครัวสอนเรามาตลอด คือถ้าล้ม...ก็ปล่อยล้ม อย่าไปกลัว เพราะชีวิตคือการเดินทาง เวลาเดินมันต้องหยุดบ้าง รู้สึกอยากกลับหลังหันบ้าง ตกหลุมบ้าง แต่มันทำให้เราก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้เพราะฉะนั้นถ้าเรากลัวที่จะผิดพลาด เราจะหยุดอยู่กับที่ เราคิดแบบนี้มาตลอด เวลามีเรื่องอะไรมากระทบกระเทือนใจ เราเสียใจได้ ร้องไห้ได้ แต่ก็ต้องหยุดร้องและเดินต่อไป”

ทั้งนี้ ช่วงชีวิตที่รู้สึกท้อแท้ที่สุดเธอเผยว่า คือตอนที่ไปประกวดร้องเพลงแล้วถูกปฏิเสธ และคำปฏิเสธนั้นไม่ได้วิจารณ์ถึงการร้องหากแต่เป็นตัวเธอ

“เราเสียเซลฟ์มาก เราอยากหยุดทำอะไรซักอย่างเลยตอนนั้น แต่ด้วยความที่ต้องเดินต่อไป และเรารักดนตรีพอ เราเลยเดินข้ามผ่านจุดนั้นมาได้”

เคล็ดลับสำคัญในการพัฒนาตัวเองของเธอคือ การร้องเพลงอย่างเต็มที่ทุกครั้งที่ร้อง ทุกคืนที่ผ่านพ้นไปในฐานะนักร้องกลางคืนเป็นการฝึกฝนตัวเอง ทำให้เหมือนขึ้นคอนเสิร์ตของตัวเองทุกครั้ง

“สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับคำติชมและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เสพดนตรีเยอะๆ เรียนจากรุ่นพี่ รุ่นน้อง ทุกคนเป็นครูเราได้หมด ความรู้มีอยู่ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมาจากบทเรียนอย่างเดียว แค่ใส่ใจก็จะรู้ว่า สิ่งดีๆ มีให้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โรงเรียนของตุ๊กตาคือ นักดนตรีตามร้านอาหารนี่แหละค่ะ”

นอกจากนี้เธอยังเผยว่า เมื่อเธอเปิดร้านเป็นของตัวเอง หากอยากดูใครเธอก็ให้มาเล่นที่ร้าน ทำให้ได้เสพดนตรีที่ชอบ ชีวิตทุกวันนี้จึงกลายเป็นรูปแบบชีวิตที่สมบูรณ์สุขสำหรับเธอ

อย่างไรก็ตาม ตัวตนในลักษณะเฉพาะก็เป็นสิ่งสำคัญของศิลปิน เธอเผยว่า การเป็นนักร้องกลางคืนที่ร้องแต่เพลงของคนอื่นทำให้สร้างความเป็นตัวเองได้ยาก ทว่าไอดอลคนหนึ่งของเธออย่าง เจ penguin villa ก็มีส่วนช่วยให้เธอค้นพบตัวเอง จากการทำงานร่วมกัน

พี่เจแต่งเพลงเพราะเนื้อหากินใจ มีเสียงที่สื่อเข้าถึงหัวใจคนฟัง โดยที่ไม่สนใจว่าจะดังรึเปล่า เขาแค่รักในสิ่งที่เขาทำ พี่เจคอยบอกเรฟเฟอเรนซ์ในการฟังเพลงให้เรา ทำให้เราเริ่มเรียนรู้คาแรกเตอร์ตัวเองมากขึ้น เพราะเราเป็นนักร้องกลางคืน มันยากมากที่จะสร้างตัวตนเพราะต้องร้องเพลงทุกแนว แต่ศิลปินต้องมีตัวตนที่ชัดเจน พี่เจก็เป็นคนนึงที่แนะนำแนวเพลงให้เรา ทำให้เราเรียนรู้สั่งสมเพลงมากยิ่งขึ้น”

แม้จะร้องเพลงมากมายขนาดไหน ก็คงต้องมีวันหยุด สำหรับเธอแล้ว ชีวิตในวันหยุดมักจะไปอยู่ตามร้านอาหารเพื่อเสพดนตรี แต่บางทีก็ไปดูหนัง ขณะที่กีฬาที่ชื่นชอบนั้นเธอบอกว่า ช่วงนี้หันมาปั่นจักรยานและตีแบตมินตัน

“ว่างๆก็ชอบไปเที่ยวภูเขาค่ะ ไม่ค่อยชอบทะเลมันเวิ้งว้าง ภูเขาทำให้เราอยู่กับธรรมชาติ อีกที่ที่ชอบไปมาก ไปแล้วไม่อยากกลับคือ เชียงใหม่ เพราะมีที่ให้เสพศิลปะกับดนตรีตลอดเวลา ชอบไปมาก”

ทว่าในส่วนของหัวใจนั้น เธอสารภาพว่าเป็นคนนิสัยไม่ค่อยดีเรื่องความรัก
“เป็นเพราะเราฝังใจเรื่องครอบครัวแยกกัน เราเลยไม่เชื่อในเรื่องการแต่งงาน ไม่เชื่อเรื่องรักแท้ขนาดนั้น ไม่ค่อยอินเท่าไหร่ เราจะอยู่แต่กับแค่โมเมนต์นั้น จะชอบเพื่อนที่อยู่เป็นเพื่อนกับเรา เข้าใจเรามากกว่า ถ้าอยู่ด้วยกันได้ เข้าใจเราได้ เราก็จะชอบอยู่กับเขา ผู้ชายที่ชอบส่วนใหญ่จะเป็นคนเซอร์ๆ ติสท์ๆ หน่อย เรียบง่าย ติดดิน แล้วก็ใจดีค่ะ"

สุ้มเสียงกระทบใจจากเวทีเดอะวอยซ์ ซีซั่น 2
ที่ผ่านมาในชีวิตการร้องเพลง เธอมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเวทีประกวดต่างๆ ทำให้เธอเลือกที่จะไม่ไปประกวดเดอะวอยซ์ในซีซั่นแรก แม้ที่ผ่านมาจะติดตามรายการประกวดนี้ตั้งแต่เวอร์ชั่น USA แล้วก็ตาม จนซีซั่น 2 มาถึง เธอก็คิดกับตัวเองว่า คงต้องลองดู ไม่อย่างนั้นชีวิตนี้ก็คงไม่ได้ทำอีกต่อไปแล้ว

โดยเพลง Kimi Ga Ireba Sorede Ii เพลงญี่ปุ่นที่เธอเลือกร้องในรอบ Blind Audition นั้นเป็นเพลงเก่าในแบบที่เธอชอบ ซึ่งเคยร้องมาแล้วในรายการทางเคเบิ้ลทีวีรายการหนึ่ง ซึ่งเธอร้องออกมาได้ดีและหลายคนที่ได้ยินเธอร้องก็ชอบมาก

“แล้วเพลงนี้ก็มีความหมายที่ดี พูดถึงความรักแบบรักสุดขั้วหัวใจ อยากจะตะโกนบอกรัก มันเหมือนตุ๊กตาที่เข้ามาแข่ง ไม่ใช่เพราะอยากจะได้รับรางวัลแต่มาแค่อยากตะโกนบอกทุกคนว่า เราชอบร้องเพลง”

และหลังจากเทปของเธอได้ออกอากาศ วันนั้นเธอดูอยู่กับเพื่อนๆ พี่ๆ ซียูแบนด์ที่มารวมตัวกันที่ร้าน โซฟาแดง ของเธอ

“ไม่คิดเลยว่าจะเป็นกระแส เพราะตอนแข่งตื่นเต้นมาก ไม่รู้ว่าร้องอะไรไปบ้าง รู้แต่มีความสุขมากตอนร้อง หลังจากนั้นเพื่อนบอกว่า กระแสมาแรงมาก เราก็ยังไม่ได้เข้าไปติดตามดูอะไร เพราะเราอยากโฟกัสกับการแข่งรอบต่อไป ชีวิตเลยยังเหมือนไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

หลังจากกระแสมากมาย ทว่าเธอก็ยังคงเป็นตัวเอง ในร้านอาหารก็ยังคงเดินเสิร์ฟลูกค้าเหมือนเดิม ไม่ได้มองว่าตัวเองโด่งดัง คิดเพียงว่ามีคนมาชื่นชอบผลงานนั้นเอง

เรายังอยากเป็นตัวเองที่ตะโกนบอกว่ารักการร้องเพลงอยู่ ไม่อยากให้กระแสอะไรมันมากดดันเรา แต่ถือว่าดีใจมากที่มีคนชื่นชอบเสียงเรา เคยบอกกับทางรายการว่า ที่เข้ามาแข่ง เพราะอยากแค่ให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะกลุ่มเล็กๆ ก็ได้ ชอบในเสียงเพลงของเราก็เพียงพอแล้ว เพราะฉะนั้นกระแสครั้งนี้ไม่ว่าจะดังมากหรือเงียบไปยังไง ก็ถือว่าเป็นบทพิสูจน์ของเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ว่า เราร้องเพลงให้ทุกคนมีความสุข

ประวัติส่วนตัว

ชื่อ : จมาพร แสงทอง ชื่อเล่น : ตุ๊กตา
การศึกษา - คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คติประจำใจ - ใช้ชีวิตให้เป็น อยู่กับตัวเอง และอย่าทำร้ายผู้อื่นค่ะ
งานอดิเรก - ดูหนัง, ร้องเพลง
กีฬาที่ชอบ - วอลเล่บอล, ปั่นจักรยาน, แบตมินตัน
ผลงานที่ผ่านมา - อดีตสมาชิกวง Apple girl band , เล่น Mv เพลงทุกวัน ของ Lemonsoup,ร้องคอรัสเพลง จาระบี(ลื่นขั้นเทพ) ของโต้ - สุหฤทธิ์ สยามวาลา,เพลง เมฆใต้น้ำ ของ เล็กGreasy cafe ,ประกวดเดอะวอยซ์ ซีซัน 2

....................
เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ
ขอบคุณภาพประกอบ IG@jamaporn, FB@thesofadang, FB@The voice thailand และอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น