อาจเป็นโรคที่ฟังแล้วดูไม่ร้ายแรงอะไร แต่รู้หรือไม่ว่า คนไทยป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ดังนั้น จึงควรรู้เอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคกรดไหลย้อนจะดีกว่า
ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ มีอาการจุกแน่นบริเวณหน้าอก หรือแสบหน้าอก เหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ หายใจไม่ออกเวลานอน กลืนอาหารลำบาก ถ้าเป็นมาก จะเจ็บคอมาก จนอาจจะกลืนอาหารแทบไม่ได้ คลื่นไส้ มีอาการเรอเปรี้ยว หรือรู้สึกถึงรสขมของน้ำดี รสเปรี้ยวของกรดในปากหรือลำคอ มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา
ทั้งนี้ ภาวะของโรคกรดไหลย้อน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ
1 - ผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนบ้างในบางครั้ง เป็นบ้าง ไม่เป็นบ้าง แล้วก็หายไป
2 - ผู้ป่วยจะมีอาการกรดไหลย้อนขึ้นมาเฉพาะที่บริเวณหลอดอาหาร
3 - ผู้ป่วยมีกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารมาก จนไหลขึ้นไปถึงกล่องเสียงหรือหลอดลม
สำหรับสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน อาจเกิดได้หลายสาเหตุ ได้แก่ หลอดอาหารส่วนปลายมีการคลายตัวอย่างผิดปกติ, กระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารบีบตัวอย่างผิดปกติ รวมถึงพฤติกรรมบางอย่างของผู้ป่วยเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดโรคกรดไหลย้อนด้วย เช่น รับประทานอาหารเสร็จยังไม่ถึง 4 ชั่วโมงแล้วนอน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม รับประทานอาหารประเภทของทอด ของมัน หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัดเผ็ดจัด
ข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th