ภาพศพผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บนอนกระจัดกระจายบนท้องถนนคงไม่ใช่ภาพที่น่าพิสมัยนัก ทว่าก็ปรากฏให้เห็นอยู่ไม่เว้นวาย เพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนอาจเป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกับการขนส่งสาธารณะอย่างรถตู้ที่ถูกฟ้องด้วยภาพเหตุการณ์ชนเละย่อยยับหลายต่อหลายครั้ง เพราะขับแบบตีนผี ซิ่ง ทราม โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร อีกทั้งรถตู้เถื่อนไร้ความรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เห็นทีก้าวขึ้นรถตู้เมื่อไหร่ คงต้องคิดหนักว่ากำลังเอาชีวิตไปแขวนบนเส้นด้ายหรือเปล่า?
ชนซ้ำซาก 4 ครั้ง ใน 2 วัน!
สัญญาณเตือนถึงความปลอดภัยในชีวิตที่หาได้ยากยิ่งกับการขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถตู้ ยานพาหนะอันดับหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน หลังเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อุบัติเหตุรถตู้พรากชีวิตผู้คนไปถึง 9 ศพ! ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นับรวมไปถึงอุบัติเหตุร้ายแรงในอดีตอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ซิ่งตกทางด่วนพระราม 6 จนถังแก๊สระเบิดคลอกผู้โดยสารเสียชีวิต 9 ศพ (ปี 2553) รถตู้ซิ่งอัดท้ายรถบรรทุกผู้โดยสารดับสยอง 6 สาหัส7 บนถนนสายมอเตอร์เวย์ (ปี 2555) รถตู้โดยสารกรุงเทพฯ-เพชรบุรี ซิ่งยางระเบิดพลิกคว่ำ จังหวัดราชบุรี เสียชีวิต 3 ราย (ปี 2555) เหตุการณ์สยองทั้งหลายนี้ คงสร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้โดยสารที่ต้องฝากชีวิตกับรถตู้ตีนผีได้ไม่น้อย
ทั้งนี้ จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2556 พบว่า รถตู้ครองแชมป์อุบัติเหตุถึง 83 ครั้ง มีคนตาย 119 ราย บาดเจ็บ 638 คน เหตุใด? จำนวนตัวเลขเหล่านี้ถึงไม่ลดลงเป็นคำถามน่าคิด ความสูญเสียจากโศกนาฏกรรมรถตู้เหล่านี้ที่นับวันกลับยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ อย่างภายในระยะเวลาสองวันที่ผ่านมา (วันที่ 26 และ 27 สิงหาคม) มีอุบัติเหตุจากรถตู้ขึ้นมา 4 ครั้ง ได้แก่
วันที่ 26 สิงหาคม จังหวัดฉะเชิงเทรา
รถตู้ผีป้ายดำสายปราจีนบุรี-อนุสาวรีย์ฯ พุ่งเสยท้ายพ่วง 18 ล้อ จอดพักหลับริมทาง ดับสยองคาที่ 9 ศพ เจ็บสาหัส 7
วันที่ 27 สิงหาคม จังหวัดกรุงเทพฯ
รถตู้โดยสาร พุ่งชนรถเมล์ สาย 29 ย่านรังสิต ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ 9 ราย หนึ่งในนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส
วันที่ 27 สิงหาคม จังหวัดฉะเชิงเทรา
รถตู้โดยสาร บขส.สายแปดริ้ว-กรุงเทพฯ พุ่งชนท้ายรถบัสรับส่งคนงาน มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย โชคดีไม่มีผู้เสียชีวิต
วันที่ 27 สิงหาคม จังหวัดฉะเชิงเทรา
รถตู้โดยสารพุ่งชนท้ายรถบัส ถนนสุวินทวงศ์ อ.เมืองฉะเชิงเทรา ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย
นอกจากนั้น ข่าวความสูญเสียจากรถตู้ที่ปรากฏรายวันแล้ว ยังมีอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ สถิติที่ไม่น่าภาคภูมิใจสักเท่าไหร่ เมื่อประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉลี่ยทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีคนตาย 2 คน และส่วนมากสาเหตุหลักๆ คือ หลับใน เมาสุรา ความประมาทและการทำผิดกฎจราจร (อ้างอิงจากรายงานความปลอดภัยทางถนนของโลก พ.ศ. 2556 หรือ Global Status Report on Road Safety 2013)
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกรมการขนส่งทางบกก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการส่งผู้ตรวจออกจับกุมรถตู้โดยสารเถื่อนที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัดอยู่เสมอๆ ตามคำร้องเรียนของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางที่เสียผลประโยชน์จากรถตู้เถื่อนที่ดึงผู้โดยสารไปใช้บริการนั่นเอง โดยพบว่าส่วนมากรถตู้เถื่อนจะวิ่งในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร อย่าง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลเกินไปนักทำให้จำนวนรถตู้ถูกกฎหมายมีบริการไม่เพียงพอต่อความต้องการ รถตู้เถื่อนจึงมาสวมรอยนั่นเอง
นอกจากนั้น เมื่อมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ การแข่งขันทางธุรกิจและการแข่งขันทำเวลาบนท้องถนนจึงเกิดขึ้น กลายเป็นความเสี่ยงของผู้โดยสารที่คนขับรถตู้คิดง่ายๆ ขับรถเร็วเพียงเพื่อทำเวลา ขับขี่อย่างไม่ระมัดระวัง ไม่แยแสถึงความปลอดภัย รวมถึงบางครั้งการที่สภาพร่างกายไม่พร้อมของคนขับ การขับในระยะไกล ก็เป็นหนึ่งในที่มาของอุบัติเหตุที่ไม่ใครอยากให้เกิดขึ้น
ผู้โดยสารโอด ไร้ทางเลือก
“รถตู้ ไม่มีการควบคุม ผู้โดยสารไม่มีทางเลือก ซื้อหวยผิดใบก็ซวยไป จะเลือกไปนั่งบขส. รถโดยสารใหญ่ ก็ปิดตัวลงเรื่อยๆ เพราะโดนรถตู้แย่งหมด ลองไปดูเถิดว่าคิวรถตู้เป็นของใครบ้าง” หนึ่งเสียงของประชาชนระบายถึงความอัดอั้น เพราะไม่มีทางเลือก
ด้านเหยื่อผู้รอดชีวิตจากรถตู้ผีซิ่งวิ่งรับส่งผู้โดยสารในคิวเถื่อนสายปราจีนบุรี-อนุสาวรีชัยฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา บุษบา สุขโขพันธ์ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า จำเป็นต้องยอมทนใช้บริการเพราะต้องไปทำงาน และภาวนาขอให้ตนเองปลอดภัยทุกวัน
“เหตุที่ต้องใช้บริการนั้นเพราะว่ามีความจำเป็น เนื่องจากจะให้คนทางบ้านไปคอยรับส่งอยู่บ่อยๆ เป็นประจำในทุกๆ ครั้งก็ไม่ไหว เพราะเขาก็ต้องทำงาน และมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางรับส่งมาก จึงต้องยอมทนที่จะใช้บริการรถตู้ความเร็วสูงสายนี้ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมานั้น ขณะตนนั่งโดยสารมาในรถก็ได้แต่ภาวนาอยู่ในใจว่า ขอให้เดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากรถตู้สายนี้ทุกคัน คนขับใช้ความเร็วสูงมาก และที่สังเกตก็เห็นเป็นเหมือนกันในทุกคิว”
ส่วนเรื่องของความปลอดภัยยิ่งน้อยนิด เมื่อผู้โดยสารเองก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองทำได้ อย่างที่สาวออฟฟิศจังหวัดนครปฐมที่ต้องขึ้นรถตู้มาทำงานในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ตนเองอยากคาดเข็มขัดเพื่อความปลอดภัย แต่คนขับกลับเอาไปพันกับเบาะที่นั่งจนแกะออกมาใช้งานไม่ได้
“ตั้งแต่นั่งมาก็ไม่เคยเห็นคนขับเหยียบต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยนะ แล้วตอนก่อนที่มีมาตรการให้ผู้โดยสารรถตู้คาดเข็มขัด สุดท้ายก็ไม่เห็นมีอะไร คือใจเราก็อยากจะคาดนะ เราก็กลัว เราก็อยากป้องกันตัวเอง แต่คนขับเค้าก็เก็บเอาไปพันกับเบาะจนเราแกะไม่ออก ของแบบนี้ก็ต้องทำใจค่ะ มันไม่มีทางเลือกนี่เนอะ”
ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาของการโดยสารรถตู้ในประเทศไทยทุกวันนี้ ผศ.ดร.จิตติชัย รุจนกนกนาฏ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยได้กล่าวคำอธิบายไว้ว่า เพราะคนขับต้องซิ่งเพื่อทำรอบ และอีกอย่างคือคนขับเหล่านี้ขาดจิตสำนึกที่ดีในเรื่องของความปลอดภัย
“ปัจจัยสำคัญนั้นมาจากตัวคนขับที่ต้องการทำรอบ ซิ่งเกินไป คนขับแทบไม่ได้ผ่านการเทรนหรือลงทะเบียนใดๆ วิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ได้ ยิ่งเร็วก็ยิ่งได้เงินเยอะขึ้น อีกอย่างคือทุกวันนี้ใบขับขี่สาธารณะเมืองไทยทำง่ายมาก คนขับรถไม่ได้ยังสอบผ่านเป็นแถว มันก็เลยทำให้ขาดจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย ดังนั้นต่อไปก็ควรจะมีกฎออกมาชัดเจนว่า ใครขับรถไม่ดีก็งดใบขับขี่ไปเลยกี่ปี แบบนี้ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้”
รถตู้เถื่อนไร้ประกัน ชน-ตายฟรี
สิ่งที่พึงแก้ไขโดยด่วนอีกประการคือการผุดขึ้นของวินรถตู้เถื่อน หรือรถตู้ผี ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุใดๆ ขึ้นก็ตาม ผู้โดยสารอาจจะเจ็บตัวฟรี หรือตายฟรี เพราะรถตู้ผีไม่ถือเป็นรถร่วมบริการถูกกฎหมาย ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น เราอาจจะไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามความเหมาะสมเท่าที่ควรจากเจ้าของวิน หรือผู้ให้สัมปทานทั้ง ขสมก. และบขส. เนื่องจากตามหลักแล้วคนขับรถหรือเจ้าของรถจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบนั่นเอง รวมถึงการนำรถตู้มาดัดแปลงและใช้ผิดประเภท จากที่จดทะเบียนเอาไว้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 7 คนไม่เกิน 12 คน เมื่อนำรถมาแปลงเป็นรถตู้โดยสารรับ-ส่ง ผิดเงื่อนไขไขกรมธรรม์ ประกันภัยก็อาจไม่รับผิดชอบใดๆ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีรถตู้โดยสารสาธารณะถูกกฎหมายที่วิ่งให้บริการประชาชน ประเภทรถหมวด 1 (รถตู้ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล) 128 เส้นทาง จำนวน 5,400 คัน และรถหมวด 2 (รถตู้ของบริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.วิ่งให้บริการระยะทาง 300 กิโลเมตร จากกรุงเทพมหานคร) มีทั้งหมด 61 เส้นทาง จำนวน 5,000 คัน ส่วนรถตู้เถื่อนนั้น บขส.ระบุว่า จากการสำรวจเบื้องต้นมีไม่ต่ำกว่า 500 คัน
สำหรับจุดสังเกตรถตู้เถื่อนนั้น ผู้โดยสารสามารถสังเกตได้จากตราสัญลักษณ์ของรถร่วมบริการ ไม่ว่าจะเป็นรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัด ที่สำคัญคือ ป้ายทะเบียนสีเหลือง หมวดอักษรและเลขทะเบียนสีดำ ขณะที่รถตู้ผี แผ่นป้ายทะเบียนสีขาว หมวดอักษรและเลขทะเบียนสีดำหรือฟ้า อย่างที่เรียกว่าป้ายดำ
ถือว่ายังโชคดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงมาดูแลกำกับการได้อย่างรวดเร็วสำหรับเหตุการณ์อุบัติเหตุรถตู้สยองครั้งนี้ โดยระบุว่า เป็นปัญหาที่กระทรวงคมนาคมต้องเร่งเข้าไปดูว่าสาเหตุที่ยังมีรถตู้เถื่อนวิ่งให้บริการประชาชนอยู่เป็นจำนวนมากมาจากอะไร
“ข้อเสียของรถตู้เถื่อนคือจะไม่มีการตรวจสภาพตามระเบียบเหมือนรถถูกกฎหมายป้ายเหลืองที่ต้องตรวจสภาพทุก 6 เดือน และคนขับต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ต้องติด RFID ทุกคันเพื่อจำกัดความเร็ว จำกัดที่นั่งไม่เกิน 15 คน พอเป็นรถเถื่อนไม่ต้องปฏิบัติตาม ไม่ต้องมีประกันภัยเพิ่มเติม ต้นทุนต่ำกว่ารถถูกกฎหมาย ซึ่ง ขบ.ต้องไปดูแล สาเหตุที่ทำให้รถเถื่อนมีจำนวนมาก รถตู้ที่ทำผิดกฎจราจร ทั้งขับเร็ว รับผู้โดยสารเกิน และบางส่วนมีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง ขบ.ต้องร่วมมือกับหน่วยงานฝ่ายปกครองและตำรวจเข้ามาช่วย”
ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างง่ายที่สุด คงไม่พ้นการปลูกจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยของคนขับ ดังที่ รศ.ดร.ชวเลข วณิชเวทิน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคม ได้เคยแนะว่า “วิธีการแก้ไขสำคัญตรงเรื่องการเคารพกฎ ระเบียบ มีวินัย ซึ่งในต่างประเทศที่เค้ามีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุในการขนส่งสาธารณะน้อยเนี่ย ก็เพราะไม่ว่าจะทั้งตัวผู้บริหารเองหรือตัวของผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ และผู้ให้บริการ เค้ามีวินัย เชื่อฟังในกฎระเบียบ ไม่มีการมาแหกกฎพวกนี้เพราะรู้ว่ามันอาจทำให้เกิดอันตราย”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live