xs
xsm
sm
md
lg

ถลุงไม่เลิก!! มท.3 เล็งใช้งบฯ เหลือ แจกแท็บเล็ต “กำนัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สงสัยจะเหลืองบประมาณไว้ให้ถลุงเล่นอีกเยอะ หลังจาก “ประชานิยมวัยเยาว์” แจกแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาของเด็กๆ ไปแล้ว มาถึงคราวนี้ยังไม่ได้เอาใจผู้ใหญ่ แต่หันมาเอาใจกำนัน หลังมีแผนแจกแท็บเล็ตไปเลย 10,000 เครื่อง แบบไม่ต้องส่งฉลาก ส่งฝา ให้วุ่นวาย เอามาให้กำนันใช้เซย์ฮัลโหลแบบเห็นหน้า เห็นตา มาวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์กันในเวลาเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้างบจะเหลือกินเหลือใช้จนไม่ต่างจากตำน้ำพริกละลายแม่น้ำได้ขนาดนี้ เอามาแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้านตาดำๆ ก่อน จะดีกว่าไหม!?

กำนันยุคใหม่ต้องไฮ-เทค

ปล่อยแนวคิดสวนกระแสอีกแล้ว หลังเมื่อวันพุธที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา วิสาร เตชะธีราวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอแนวคิดแจกแท็บเล็ต 10,000 เครื่อง ให้กับกำนันทั่วประเทศไทย โดยกล่าวว่า ในฐานะกำกับดูแลกรมการปกครอง ตนมีแนวคิดที่จะเสนอนโยบายนายกรัฐมนตรีเรื่องการแจกแท็บเล็ตราคาถูกจำนวน 10,000 เครื่องให้แก่กำนันทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณที่เหลือจ่ายของกรมการปกครอง เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรง เมื่อเกิดเหตุการณ์ปัญหาต่างๆ เช่น สาธารณภัยในพื้นที่ ก็จะสามารถรายงานให้ทราบได้ในทันที

ทั้งนี้ มอบหมายให้อธิบดีกรมการปกครองดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ อยากจะปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจากการประชุมที่ผ่านมาพบว่าการสื่อสารล่าช้า รวมถึงอยากใช้ระบบคอนเฟอเรนซ์ไปยังกำนันที่ได้รับแท็บเล็ตด้วย เพื่อใช้สื่อสารหรือแจ้งปัญหาด่วนในพื้นที่กับนายกฯ โดยตรง

หลังข่าวนี้กระจายออกไปก็เริ่มมีเสียงตอบรับกลับมาบ้างแล้ว ซึ่งยืนยันไปในทำนองเดียวกันว่า “ไม่เห็นด้วย”

“บอกเลย เดี๋ยวก็ใช้ไม่เป็น เอาไปขายอีก สุดท้ายแจกไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ทราบพวกคุณคิดแต่จะโกงกันอย่างเดียวหรือครับ ปวดหัวกับรัฐบาลชุดนี้”

“งบฯ เหลือ น่าจะเอาไปช่วยภาคใต้ หรือ แถวระนอง น้ำท่วม สะพานขาด ซ่อมแซม บ้านชาวบ้าน จะดีกว่าไหม เก็บไว้ใช้ยามประเทศลำบากดีมั้ย จะได้ไม่ต้องกู้

“นโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถม กู้มา แจก ผลาญเงินภาษีคนไทย พูดได้ไงเงินเหลือ ถ้าเหลือก็เก็บไว้เป็นงบประมาณปีหน้าได้นี่ สร้างนิสัยคนไทยให้ประหยัดหน่อย”

“ผลาญงบอีกแล้ว ได้ไม่คุ้มเสียคิดเหรอว่ากำนันจะเล่นแท็บเล็ต ส่วนมากไม่รู้เลยว่าใช้อย่างไรเปลืองงบฯ เปล่าๆ การติดต่อสื่อสารโดยตรงควรใช้โทรศัพท์มือถือ จะพูดหรือส่งข้อความก็ได้ง่ายดี โถ! อ้าปากแล้วเห็นลิ้นไก่เลยอย่าบอกนะว่าไม่มีค่าคอมมิชชัน”

“แล้วประเมินความรู้กำนันทั้งประเทศหรือยัง อย่าให้บอกเลยว่ารัฐมนตรีโง่ ระดับกำนันที่เค้ามีความรู้ไม่ต้องรอให้รัฐชื้อให้หรอก มีกันแล้วทุกคน ทุเรศความคิดสิ้นดี”

วิจารณ์ยับ แนวคิดสิ้นเปลือง

ทั้งนี้ ก่อนหน้าความคิดแนวคิดแจกแท็บเล็ตที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียยับก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังมีมติเห็นชอบทุ่มงบกว่า 50 ล้าน แจก ‘ไอแพด-ไอโฟน’ สเปกที่ดีที่สุดแก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมกว่า 700 เครื่อง เมื่อปีที่ผ่านมา ดร.นักรบ เถียรอ่ำ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ก็ได้เคยแสดงทัศนะต่อแนวคิดนี้ว่า

“มันก็ไม่แน่ว่าจะนักการเมืองจะใช้ไอแพดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และมันจะยุ่งยากอีกในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอุปกรณ์หรือทักษะการใช้งานที่อาจต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอีก ในส่วนการใช้งาน อายุกับเทคโนโลยีมันค่อนข้างไปด้วยกันไม่ได้ ยิ่งอายุเยอะ เทคโนโลยีก้าวไกล คนจะใช้ได้ไม่เต็มที่ แต่ตรงนี้มันเป็นอคติ ไม่แน่ว่าข้าราชการบางคนอาจจะใช้ แต่ตอนนี้ผมเชื่อว่าทุกคนไม่ได้ใช้เต็มประสิทธิภาพแน่นอน”

รวมไปถึง พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรรายการไอทีชื่อดังก็ตั้งข้อสงสัยว่า พวกเขาจะสามารถใช้งานอุปกรณ์ไฮเทคได้อย่างสมเกียรติภาษีของประชาชนหรือเปล่า ซึ่งจะว่าไปแล้วแท็บเล็ตก็ไม่ได้มีราคาค่างวดสูงนัก บุคคลระดับสมาชิกรัฐสภาเงินเดือนระดับนี้น่าจะสามารถซื้อเองได้โดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณแผ่นดินด้วยซ้ำ ถึงเหมาะสมในเรื่องของการใช้งานแต่ดูจะขัดในเรื่องการจัดซื้อ พร้อมทั้งเสนอแนะว่าหากจะซื้อแท็บเล็ตให้สมาชิกรัฐสภาจริงๆ ก็ควรเป็นเครื่องสเปกเดียวกับของเด็ก ป. 1 เพราะจะได้เรียนรู้ถึงสภาพกระบวนการศึกษาในปัจจุบัน

ครั้งนี้กลับมาอีกครั้งด้วยการแจกให้เหล่ากำนัน ถึงแม้จะยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนมากนัก ว่าจะแจกเครื่องรุ่นใด ยี่ห้อใด สเปกแบบไหน แต่ประชาชนก็คิดกันไปไกลเสียแล้ว

โลกออนไลน์แชร์ “แท็บเล็ต” ห่วย

ส่วนโครงการที่เริ่มไปแล้วอย่าง แท็บเล็ตของเด็กนักเรียน “วันแท็บเล็ตพีซีเปอร์ชายด์” (One Tablet Pc per Child) ที่กว่าจะคลอดออกมาได้ก็ลุ้นกันตัวโก่ง กว่าสเปกจะลงตัวและจัดซื้อจัดจ้าง จัดส่งให้กับนักเรียนได้ ก็เล่นเอาเหงื่อตก แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ว่ายิ่งนาน งานยิ่งดี เพราะทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครเห็นประโยชน์ที่แท้จริงของแท็บเล็ตสเปกน้อยเพื่อการศึกษาของนักเรียนเลย

ขณะเดียวกัน ในโลกออนไลน์กำลังมีภาพๆ หนึ่งถูกแชร์ว่อนเน็ต โดยเป็นภาพของแท็บเล็ตวางกระจายรวมกัน พร้อมคำบรรยายภาพที่ว่า “ยังจำกันได้หรือไม่กับโครงการแจกแทปเลตให้เด็ก ป.1 นี่คือสภาพของจริงบางส่วนจากการลงไปสำรวจในพื้นที่จริงของนิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่ง โดยจากการลงพื้นที่พบว่า เด็กไม่ค่อยได้เอามาใช้ในการพัฒนาความรู้แต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่จะเอาไว้ดูการ์ตูนกับดูเว็บโป๊ รูปโป๊........ ในฐานะครูคนหนึ่ง ผมรับไม่ได้จริงๆ กับโครงการนี้ เด็กควรจะโตตามวัย การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ไม่ต้องรีบร้อน... ยังมีอะไรอีกมั้ยที่รัฐบาลชุดนี้ยังไม่ได้ทำลาย ยังเหลืออะไรอีกมั้ยครับ !!!”

นอกจากนั้น การที่แท็บเล็ตสเปกต่ำเกินไป ยังทำให้ส่งผลกระทบในการเรียนอีกด้วย อย่างคุณครูท่านหนึ่งก็เผยว่า บางเครื่องสามารถใช้งานต่อเนื่องเพียงแค่ 1-3 ชั่วโมงเท่านั้น แบตเตอรี่ก็หมดทั้งๆ ที่ใช้งานพร้อมกัน มีนักเรียนบางรายต้องเลิกใช้กลางคัน และเมื่อแบตเตอรี่หมดก็ต้องนำมาชาร์จพร้อมกันทั้งห้อง รวมไปถึงนักวิชาการแวดวงการศึกษาอย่าง รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังเคยกล่าวถึงความไม่เหมาะสมกับการแท็บเล็ตมาใช้ เช่นกัน

“การนำแท็บเล็ตมาใช้ในวงการศึกษาของบ้านเรา อาจจะยังไม่มีความเหมาะสมมากนัก หากพิจารณาจากหลายภาคส่วนที่ออกมาแสดงความเห็นถึงความเป็นไปได้ หากมีการนำมาใช้ แต่ตอนนี้ปัญหาที่ทางรัฐบาลควรเร่งดำเนินการแก้ไข เกี่ยวกับการศึกษา เห็นจะเป็นเรื่องการส่งเสริมให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้มากกว่า”

อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นเชิงลบดังกล่าวกลับค้านกับผลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เมื่อต้นเดือนได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร ครูผู้สอน ในโครงการแจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1 พบว่า แท็บเล็ตเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย จูงใจให้เด็กสนใจเรียน แต่มีผลเสียในเรื่องสายตา สุขภาพ และออกกำลังกายน้อยลง พร้อมควรแจกเครื่องที่มีคุณภาพมากกว่านี้ โดยผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนเห็นว่านโยบายการแจกเครื่องแท็บเล็ตมีผลดี 3 อันดับแรก ได้แก่ มีสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย จูงใจให้เด็กอยากเรียนรู้ และสนใจการเรียนมากขึ้น ร้อยละ 93.1 และร้อยละ 87.5 ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้พื้นฐานในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวนร้อยละ 85.8 และร้อยละ 83.4 และทำให้เด็กเรียนรู้ก้าวทันโลกโลกาภิวัตน์ การเรียนรู้ไม่จำกัด เวลาและสถานที่ ร้อยละ 82.5 และร้อยละ 78.9

ส่วนผลเสีย 3 อันดับแรก ได้แก่ มีปัญหาเรื่องสายตา ปัญหาด้านสุขภาพ ออกกำลังกายน้อยลง ร้อยละ 56.5 และร้อยละ 59.4 ไม่เหมาะกับวุฒิภาวะของเด็กนักเรียนชั้น ป.1 เพราะจะทำให้ทักษะการใช้มือ เขียนไม่เป็น ร้อยละ 53.6 และร้อยละ 53.2 และมีโอกาสอยู่ในโลกไซเบอร์ (Cyber) มาก ทำให้ขาดมนุษยสัมพันธ์ ลดการเล่นกับเพื่อน ๆ ร้อยละ 45.0 และร้อยละ 44.6 ทั้งนี้ ผู้บริหารของโรงเรียนได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการใช้เครื่องแท็บเล็ตให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ ควรเพิ่มเนื้อหาสาระ แบบฝึกหัดลงในโปรแกรมให้มากขึ้น ควรแจกเครื่องแท็บเล็ตที่มีคุณภาพ และจัดอบรมครูผู้สอนในเรื่องการใช้เพิ่มเติม

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live





กำลังโหลดความคิดเห็น