xs
xsm
sm
md
lg

มาโนช พุฒตาล... กลับมาคราวนี้ “ผมเน้นขายครับ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ถ้า คู่สร้างคู่สม มีในทุกร้านเสริมสวย ผมก็จะทำให้ บันเทิงคดี มีในทุกรถแท็กซี่” ซัน-มาโนช พุฒตาล ประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ด้วยท่าทีทีเล่นทีจริง แต่จากน้ำเสียงทุ้มนุ่มลึกนั้น แฝงไปด้วยความมุ่งมั่นอะไรบางอย่าง

“คู่สร้างคู่สม เขาออกรายสัปดาห์ แจ้งไว้ว่าขายได้ประมาณ 4 แสนเล่มต่อฉบับ แต่ บันเทิงคดี เราออกรายเดือน ถ้าได้ตัวเลขสัก 10 เปอร์เซ็นต์ของคู่สร้างคู่สม ก็น่าจะสวยงามเลยล่ะครับ คือ 4 หมื่นเล่ม (ยิ้ม)






ขายก่อน ค่อยเก๋า
“บันเทิงคดี” ไม่ใช่ชื่อใหม่ แต่เป็นนิตยสารที่เคยวางแผงตั้งแต่เมื่อ 17 ปีที่แล้ว เป็นนิตยสารที่คอเพลงรุ่นนั้นคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะบันเทิงในสมัยนี้หลายๆ ฉบับเลยทีเดียว ด้วยข้อมูลที่อัดแน่น บวกกับปลายปากกาที่จัดจ้าน ทำให้เป็นที่กล่าวขวัญถึงในวงการ แต่ด้วยความที่เป็นนิตยสารเฉพาะกลุ่ม รวมถึงพิษเศรษฐกิจในยุคฟองสบู่รุมเร้า สุดท้ายชื่อ “บันเทิงคดี” จึงหายไปจากแผงหลังจากทำมาได้เกือบ 10 ปี

“ตอนนั้นเปิดเป็นบริษัทเลยครับ มีกิจการอยู่ 3 อย่าง คือทำรายการโทรทัศน์ ทั้ง รายการ เที่ยงวันอาทิตย์, บันเทิงคดี, เกมเปิดโลก แล้วก็มีบริษัทเทป มีศิลปินในสังกัด และส่วนที่ 3 ทำนิตยสาร แต่กลายเป็นว่าพอขายเทปได้กำไรมา ต้องเอาเงินมาโปะหนังสือ ทำให้รู้สึกว่าไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ ก็เลยเลิกทำไป”
ดำรง พุฒตาล พี่ชายผู้จุดประกายให้ คลานตามกันมา
นิตยสาร “คู่สร้างคู่สม” คือตัวจุดประกายความคิดให้มาโนชหยิบอดีตขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หลังจากได้ลงลายมือ-แลกทรรศนะเอาไว้ในคอลัมน์ประจำของนิตยสารยอดนิยมซึ่ง “ดำรง พุฒตาล” ผู้เป็นพี่ชายเป็นเจ้าของอยู่ แต่จะหยิบนิตยสารชื่อเดิมกลับมาทำทั้งที ก็ต้องทำให้แตกต่างออกไป โดยตั้งใจเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าต้อง “เน้นขาย” เข็ดแล้วกับความรู้สึกเก๋าไปวันๆ แต่กินไม่ได้-ขายไม่ออก

“ไม่อยากทำในสิ่งที่มองเห็นแล้วจุดหมายปลายทางจะเป็นยังไง ถ้าทำแบบเดิมแล้วคนอ่านมองว่า เฮ้ย! พี่เขาโคตรเก๋าเลยว่ะ แต่เก๋าแล้วต้องมาเก็บหนังสือกลับบ้านอย่างเงี้ย มันก็เป็นความเก๋าที่เสียทรัพยากรนะ แต่ตอนนี้คิดว่าทำให้มันไม่เสียทรัพยากรก่อนแล้วค่อยเก๋าก็ได้ ถ้ายังไม่ตายซะก่อนนะ เดี๋ยวก็เก๋าได้ (หัวเราะเบาๆ) เพราะถ้าเราเก๋าอยู่แล้ว ยังไงมันก็เก๋า แต่ในอดีตที่เราเคยทำ อาจจะเป็นการเก๋าปลอมๆ ที่เป็นภาพพจน์เดิมๆ ก็ได้”

และนี่คือสาเหตุที่ทำให้บันเทิงคดีเวอร์ชั่นปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องรูปลักษณ์และเนื้อหา จากปกมันใสกาว สีสันในเล่มสดใส กลายเป็นกระดาษปรู๊ฟเนื้อบาง ตัวหนังสือและภาพเน้นโทนขาวดำ ส่วนเหตุผลที่ยังคงใช้ชื่อนิตยสารชื่อเดิมอยู่นั้น เป็นเพราะมันตอบโจทย์ในตัวเองอยู่แล้ว เพราะคำว่า บันเทิงคดี = บันเทิง + สารคดี มีที่มาจากการเอาเรื่อง “บันเทิง” มาทำเป็น “สารคดี” นั่นเอง




เพื่อกลุ่มคนอ่าน “มีเมียเด็ก”
ยิ่งคุยยิ่งสงสัยว่าอะไรทำให้คนที่ดูไม่น่าจะสนใจเรื่องยอดขาย หัวเอียงซ้าย และมีความคิดของตัวเองชัดเจนอย่างคุณซันหันมาสนใจเรื่องตัวเลขกับคนอื่นเขาเหมือนกัน นึกว่าคำตอบที่ได้จะเกี่ยวพันกับเรื่องกำไร-ขาดทุน แต่กลับได้รับคำตอบเป็นเรื่องเล่าน่าประทับใจ ทำให้เข้าใจเลยว่าทำไมคนพูดถึงอยากให้หนังสือที่ทำออกไปสู่สายตาคนจำนวนมาก มันคือ “ความอบอุ่น” ที่ตอบกลับมาจากคนอ่านนั่นเอง

“เมื่อก่อนตอนทำบันเทิงคดีแบบเดิม จะมีกลุ่มวัยรุ่นมาทักกันบ้าง แต่พอผมเขียนคู่สร้างคู่สม ผมไปตลาด แม่ค้าก็ทัก บอกชอบอ่านมากนะ เรื่อง “ฉี่ข้ามโลก” ของคุณตลกดีนะ พอไปโรงพยาบาล พยาบาลก็คุยด้วย ซึ่งมันต่างกันมาก ทั้งเรื่องจำนวนคนและท่าทีที่เขาเข้ามาหาเรา เขาไม่ค่อยวางท่าเท่าไหร่ ผมเลยรู้สึกว่า เอ้อ! อย่างนี้น่าสนุกดีเว้ย ก็เลยมาทำหนังสือบันเทิงคดีใหม่ โดยตั้งใจจะสื่อสารกับคนเหล่านี้นี่แหละครับ

เรื่องของเรื่อง เริ่มต้นมาจากเหตุการณ์เล็กๆ จากทริปเวียงจันทน์ ในคืนหนึ่งระหว่างดีดกีตาร์ท้าลมหนาวอยู่กับกลุ่มเพื่อนใกล้รีสอร์ตที่พัก มีพนักงานสาวชาวลาวมาขอยืนฟังเสียงดนตรีของคุณซัน บอกว่าชอบมาก “ผมเลยถามว่าอยากฟังเพลงอะไรล่ะ ผมมาจากสายเพลงสากลก็เล่นแต่เพลงแนวนั้น พอเขาขอเพลง “มีเมียเด็ก” ของ พรศักดิ์ ส่องแสง ผมก็เล่นไม่ได้ มันเลยสะท้อนให้ผมได้คิดว่า เพลงที่ตอบสนองประชาชนส่วนใหญ่มันไม่ใช่ Pink Floyd แฮะ แต่มันคือ พรศักดิ์ ส่องแสง และไปไกลข้ามไปถึงฝั่งลาวด้วย

อีกอย่าง เวลาผมทำวิทยุแล้วขอความร่วมมือผู้ฟัง ผู้ฟังที่เป็นชนชั้นกลางหรือเป็นคนเมือง จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือแต่เป็นคนเรียกร้องมากกว่า มีครั้งหนึ่งพอผมขอเพลงมีเมียเด็กไป แฟนเพลงที่เป็นแท็กซี่ เป็นยามอยู่ตามโรงงาน เขาให้ความร่วมมืออย่างดีมาก ส่งซีดีมาให้เลย ผมเลยลองขอเพลงผ่านวิทยุอีกเรื่อยๆ เขาก็ส่งมาตรึมเลย แต่เวลาผมขอเพลงสากลที่ผมไม่มี ผมกลับไม่ได้ความร่วมมือ อันนี้ผมอาจจะคิดไปเอง แต่มันทำให้ผมคิดได้ว่า ถ้าเกิดผมกลับมาทำนิตยสารบันเทิงคดีใหม่ จะทำเพื่อคุยกับแฟนๆ กลุ่ม “มีเมียเด็ก” ดีกว่า (ยิ้ม)”



มักจะเขียนด้วยลายมือ ส่งให้ทีมงานพิมพ์
จุดกำเนิดของ “นักเล่า”
คนส่วนใหญ่รู้จักผู้ชายคนนี้ในนามนักจัดรายการวิทยุ นักเขียน และนักแต่งเพลง แต่ครั้งนี้ เขาอยากถูกเรียกว่า “นักเล่าเรื่อง” มากกว่า “ถ้า อุดม แต้พานิช เป็นนักเดี่ยวไมโครโฟน, วนิษา เรซ (หนูดี) เป็นนักอัจฉริยะ, บัวขาว เป็นนักสู้ไทยไฟต์, มาโนช พุฒตาล ก็จะเป็นนักเล่าเรื่อง” เขายิ้มกริ่มตบท้ายประโยค

หากใครติดตามรายการที่นักเล่าเรื่องคนนี้จัดบ่อยๆ จะรู้ว่าเขาสามารถหยิบเรื่องราวรอบตัวมาเล่าได้เป็นคุ้งเป็นแคว ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ และที่ทำให้กลายเป็นคนช่างเล่าแบบนี้ เพราะเคยเป็น “เด็กชายมาโนช” ที่โตมากับครอบครัวขยายนั่นเอง

“ครอบครัวที่ผมอยู่เป็นชุมชนนักเล่าเรื่องเลยล่ะ ญาติพี่น้องผมเป็นคนช่างพูดช่างคุย มีเรื่องให้เล่าเยอะ มีญาติๆ ทำอาชีพล่องเรือ ล่องตั้งแต่อยุธยาไปปราจีนบุรี ไปทั่วประเทศเลย ขายเครื่องเทศเต็มลำเรือ มีเรือเป็นบ้าน ค่ำไหนนอนนั่น กลับมาก็จะมาเล่าเรื่องที่ไปเจอมาให้ฟัง ล่องเรือแถวแม่น้ำแคว มีศพอยู่บนต้นไม้เต็มไปหมดเลย เขาเล่าให้ฟัง เราก็จินตนาการตามว่าศพมันไปอยู่บนต้นไม้ได้ยังไง

มันเป็นเพราะน้ำมีขึ้นมีลง พอน้ำขึ้น ศพเชลยศึกที่ลอยอยู่ตามน้ำก็ไปติดยอดไม้ พอถึงเวลาน้ำลง ศพไม่ได้ลงมาด้วย ก็เลยแขวนอยู่อย่างนั้น เราก็เลยชอบเรื่องเล่า ทำให้รู้ว่าการเล่าเรื่องต้องให้น่าสนใจ เริ่มด้วยความตื่นเต้น ให้คนฟังตั้งคำถาม แล้วสุดท้ายก็มีคำตอบให้ตอนหลัง

นึกภาพออกมั้ยครับ สังคมชนบทจะอยู่แบบครอบครัวใหญ่มาก ที่ผมอยู่เป็นบ้านไม้ พื้นบ้านจะติดกันหมดเลย มีใต้ถุน และตัวพื้นบ้านเชื่อมกันได้หมดทุกบ้าน เป็นเหมือนชุมชนหัวแหลม เกาะปันหยี เราสามารถวิ่งไปปากซอยได้โดยไม่ต้องลงพื้นดิน มีเสาบ้านนับเป็น 300 เสาได้ เดินไปหาบ้านลุง บ้านป้า ได้หมด มีเรื่องเล่าเต็มไปหมด


ส่วนเรื่องเล่าในเล่ม “บันเทิงคดี” นั้น แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบไปเสียแล้ว ไม่ได้มานั่งวิเคราะห์เรื่องเพลงกันอย่างออกรสอีกต่อไป แต่ตัวเนื้อในก็ยังเกี่ยวกับเพลงและคนในวงการเพลงอยู่ดี เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ผู้ชายที่ชื่อ “มาโนช พุฒตาล” ก็ยังคงมีดนตรีในหัวใจ และเป็น “นักเพลง” อย่างที่เป็นมาตลอดทั้งชีวิต

“ถึงที่สุดแล้ว เราก็ยังเป็นนักเพลงอยู่ดีแหละ รู้จักคนวงการเพลง เพราะฉะนั้น เรื่องราวก็เกี่ยวข้องกับคนเพลงเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเรื่องคุยแทน สมมติคุยกับ แหลม มอริสัน เราก็ไม่ได้คุยเรื่องโซโลกีตาร์แล้ว แต่คุยเรื่องร้านก๋วยเตี๋ยวของเขาแทน (ยิ้ม)”





เรื่องที่ไม่มีวันเล่า
แต่ถึงแม้จะเล่าให้สนุกได้ทุกเรื่องขนาดไหน แต่ก็ยังมีบางเรื่องบางมุมที่ไม่อยากจะเล่า หรือแค่คิดถึงก็ขนลุกแล้ว “คือเรื่องที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกขยะแขยงครับ ผมเคยอ่านแล้วรู้สึกไม่อยากกินข้าวไปเลย (ทำท่าทางไม่สู้ดี) ผมเลยเลือกจะไม่เล่าเรื่องแบบนี้ไปเลย หรือว่าเรื่องผีก็ไม่ชอบ เพราะไปแคมปิ้งบ่อย เวลาไปตั้งแคมป์ในป่า ตั้งเต็นท์ห่างๆ กัน พอตกดึกมันจะน่ากลัวนะ
แต่ถ้าเราไม่มีความกลัวเราจะสบายใจมาก เอ้อ... มันเงียบดีเว้ย มันมืดจริงๆ เสียงสัตว์-เสียงแมลงมันระงมมาก แต่ถ้าเกิดเรามีความกลัวอยู่ปุ๊บ ความสุขจะกลายเป็นเรื่องตรงกันข้ามไปเลย

อีกประเภทที่เลี่ยงได้ก็จะไม่เล่าคือ “การเมือง” ไม่ใช่เพราะไม่กล้าพูดหรือกลัวว่าพูดแล้วจะไปทะเลาะกับใคร แต่เป็นเพราะรู้สึกว่าไม่อยากพูดออกไปโดยไม่ได้รู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นจริงๆ

“ถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี แต่ว่าตั้งแต่เกิดมา ผมยังไม่เคยเห็นหน้าตัวจริงเขาเลย เราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งไหนจริงหรือเท็จ และการเมืองเป็นเรื่องที่เข้าถึงข้อเท็จจริงได้ยากมาก ก็เลยจะพูดถึงน้อย แต่อย่างเรื่องดนตรี เราสามารถสัมผัสไปถึงต้นตอของมัน เราได้เล่นมันจริงๆ

สมมติว่าฟังเสียงโซโลกีตาร์ของนักกีตาร์หนึ่งคน บางครั้งฟังแล้วเราสามารถพูดได้เลยว่า โห! มันดีจริงๆ ไม่ใช่คนธรรมดาจะทำได้นะ เพราะเราเคยลองทำไง เลยรู้ว่าไม่ใช่ของที่คนทั่วไปจะทำได้นะ แต่เรื่องการเมือง สภาฯ ผมยังไม่เคยเข้าเลย เราเลยไม่อยากพูดเรื่องที่ไม่ได้สัมผัสมันจริงๆ ยิ่งพูดยิ่งทำให้ความไม่จริงแพร่หลายไปใหญ่” ว่าแล้วเขาก็ยกตัวอย่างผลเสียของการพูดโดยไม่รู้จริงให้ฟัง

อีกบทของ นักเพลง
“มีผู้ชายซาอุดี้นั่งเครื่องบินแล้วมีเมียนอนหลับอยู่ข้างๆ แอร์โฮสเตสเอาน้ำมาเสิร์ฟ ชายชาวซาอุดี้สะกิดให้เมียตื่น ให้ขึ้นมาหยิบน้ำให้ แอร์โฮสเตสเห็นแบบนั้นต้องตำหนิผู้ชายคนนี้แน่นอน บอกว่าเลว เป็นผู้ชายที่เห็นแก่ตัว บ้าอำนาจ ทำไมต้องปลุกเมียขึ้นมา เมียกำลังหลับสบายๆ

แต่ข้อเท็จจริงคือ ถ้าเรารู้ว่าเขาเพิ่งอาบน้ำละหมาดมา เขาเลยไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิงอื่นที่ไม่ใช่เมียเขาได้ เพราะจะทำให้การละหมาดนั้นไม่เกิดผล เขาจึงไม่กล้าจะหยิบน้ำจากแอร์โฮสเตส กลัวจะไปโดนมือ เลยต้องให้เมียหยิบให้แทน แต่พอเราไม่รู้ข้อเท็จจริง แอร์โฮสเตสก็ไปนั่งนินทากันละ โห! ซาอุฯ คนนี้มันเลว นึกออกไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง เกิดความเข้าใจผิดศาสนา เหมารวมชนชาติไปเลย”

และนี่คือเหตุผลที่นักเล่าเรื่องคนนี้อยากเล่าทุกเรื่องราวจากสิ่งที่เขาได้พานพบมาจริงๆ “รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่แย่และเราก็จะไม่ทำอย่างนั้น เล่าโดยไม่รู้จริงแล้วสร้างความเข้าใจผิด แต่บางที การสร้างความเข้าใจผิดมันก็เป็นเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงเหมือนกันนะ คนส่วนหนึ่งก็เลยทำกัน สร้างความเข้าใจให้รู้สึกว่าคนไทยควรจะขาว เป็นความเข้าใจผิดให้สามารถขายครีมได้ บอกว่าต้องจั๊กกะแร้ขาว (ยิ้ม) ทั้งที่ความเป็นจริงอาจจะไม่จำเป็นก็ได้






บันเทิงคดี = นิตยสารที่มีในทุกรถแท็กซี่
ตอนนี้ผมคิดว่าจะทำคอลัมน์ใหม่ขึ้นมาอีกคอลัมน์ น่าจะใช้ชื่อ Taxi Driver ความคิดมันเริ่มมาจากที่ผมมีแฟนรายการวิทยุเป็นคนขับแท็กซี่ เขาโทร.เข้ามาเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟังบ่อยมาก ก็เลยคิดว่าจะเปิดพื้นที่ให้เขาครับ” ในมุมกลับกัน ถ้าทำได้ก็น่าจะดีต่อตัวนิตยสารเอง เรียกว่าน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า “คือถ้า คู่สร้างคู่สม มีทุกร้านเสริมสวย ผมก็อยากให้ บันเทิงคดี มีในทุกรถแท็กซี่” เจ้าของไอเดียแง้มโปรเจกต์เล็กๆ ให้ฟังด้วยสีหน้ามีความหวัง

เพราะเชื่อว่าทุกคนต่างมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง นิตยสารบันเทิงคดีจึงเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านเข้ามาร่วมสนุกกัน เพื่อให้มุมมองใหม่ๆ ต่อยอดออกไป อย่างที่ทีมงานและคุณซันได้พบเจอและมาบอกเล่าฝากเอาไว้เป็นตัวอักษรในหน้ากระดาษ ยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์หนึ่งที่ประทับใจมาก เกี่ยวกับวงดนตรีที่เปลี่ยนสมาชิกเยอะที่สุดในโลกที่ชื่อ “HIV Band”

“เราไปสัมภาษณ์พระอลงกต วัดพระบาทน้ำพุ เกี่ยวกับวงดนตรีที่เป็นเอดส์แล้วก็ตายกันไปเยอะเลย หลวงพ่อก็เล่าให้ฟังว่า คนพวกนี้อ่อนเพลียง่าย ท้องเสียบ่อย แล้วก็จะต้องตายกันไปในที่สุด ซึ่งในความเป็นจริง มันไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเป็นแบบนั้น เพราะถ้าเข้าถึงยา โรคเอดส์รักษาได้ ไม่ตายแน่นอน สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แข็งแรงได้เหมือนกัน แต่ถ้าเรานำเสนอออกไปแบบนี้ คนก็จะรู้สึกว่า เอดส์ก็เหมือนเป็นหวัดมั้ง ในฐานะคนเล่าเรื่อง เราก็เลยเลือกเล่าในมุมของเรา คือเลือกที่จะไม่บอกทั้งหมด

มันเหมือนเราสอนลูกว่า บุหรี่น่ะสูบได้ ถ้ารู้จักสูบ แอลกอฮอล์ดื่มได้ ถ้ารู้จักดื่ม ถ้าลูกยังเด็กอยู่ เราคงบอกแบบนี้ไม่ได้ หนังสือก็เหมือนกัน คนอ่านเขาไม่ได้มาฟังตัวต่อตัวกันแบบนี้ เพราะฉะนั้น อะไรที่มันล่อแหลม ผมก็จะไตร่ตรองให้เต็มที่ก่อน เผื่อคนที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างน้อยให้เขาระมัดระวังไว้ก่อนดีกว่า อันนี้เป็นความคิดเห็นของผมนะ”
คนรุ่นใหม่ชื่อดัง ตบเท้าเข้ามาช่วย เล่าเรื่อง
หนูดี มีเรื่องเล่า
คิดๆ ดูแล้ว ต้องถือว่าการกลับมาเริ่มต้นใหม่ของนิตยสารบันเทิงคดีสวนกระแสและเสี่ยงอย่างมากทีเดียว ในยุคสมัยที่ผู้คนแทบจะไม่แวะเวียนแผงหนังสือ อยู่กับโซเชียลมีเดีย และเอาแต่บอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง โดยที่อาจไม่ค่อยมีใครสนใจจะฟังหรืออ่านเรื่องราวของคนอื่นๆ ด้วยซ้ำ แต่คนที่นั่งอยู่ตรงหน้าก็ยังเชื่อว่ายังมีทางรอดอยู่

“อันนี้ผมไม่รู้ว่ามันเป็นความจริงหรือเปล่าที่คนสมัยนี้แทบไม่รับข้อมูล อย่างปรากฏการณ์ในเฟซบุ๊ก เขาแสดงความคิดเห็นกัน ก็ต้องมีคนอ่านด้วยสิ ไม่ใช่มีแต่คนเขียน ถ้าเกิดมันมีแต่คนเขียน ไม่มีคนอ่าน มันก็เกิดไม่ได้หรอก หรือการใช้โทรศัพท์เล่นไลน์ คุณจะตอบเขาได้ คุณก็ต้องอ่านก่อน ผมว่ามันกลับเป็นปรากฏการณ์สะท้อนเสียอีกว่า คนสมัยนี้อยากสื่อสารกันจังเลย และในเมื่อคนอยากสื่อสารกัน มันก็ต้องมีพื้นที่ที่เป็นส่วนรวมที่จะสามารถบันทึกการสื่อสารเอาไว้ได้ ให้กลับมาดู มาอ่าน จับต้องได้
ออกมาแล้ว 3 ฉบับ

ถามว่าจะไปได้มั้ย มันคงไปไม่ได้กับคนที่เขาไม่อยากอ่าน คนที่เขาอยากแต่จะเสนอน่ะครับ แต่เราก็จะไปได้กับคนที่เขาอยากรับฟัง ประเทศเรามีคนตั้ง 60-70 ล้านคนนะ ผมอยากมีแค่ 4 หมื่นคนมาอยู่ตรงนี้ จะกี่เปอร์เซ็นต์เชียว จริงมั้ย

ในคู่สร้างคู่สม คุณซันเขียนคอลัมน์ชื่อ “คลานตามกันมา” เอาไว้ และที่ตั้งชื่อไว้แบบนั้น เป็นเพราะมีนัยซ่อนเร้นแอบแฝงไว้นิดๆ “คิดไว้แล้วว่าจะทำนิตยสารบันเทิงคดีให้คลานตามพี่ดำรงมา คือเราคงยังไม่สามารถไปวิ่งให้ทันพี่เขาได้แน่ๆ ตอนนี้เลยเอาแค่คลานก่อนแล้วกัน แต่ก็คิดว่าวันหนึ่งจะลุกขึ้นเดินได้นะ

ครั้งนี้ ถ้าผมทำแล้วล้มเหลวอีก มันจะเป็นแผลมากๆ เลย เพราะเคยเลิกทำไปแล้วครั้งหนึ่ง แล้วดันไปรื้อฟื้นมันกลับมาอีก ถ้าดึงกลับมาแล้วและทำล้มอีกเนี่ย คงน่าเสียใจมาก ผมเลยตั้งใจอย่างยิ่งว่าจะทำเต็มที่ เหมือนมีลูกคนใหม่อีกหนึ่งคนเลย ต้องเลี้ยงดู อบรม ให้ดีที่สุด เพื่อให้เขาเติบโตได้” ส่วนจะเติบโตไปได้ดีขนาดไหนก็อยู่ที่คนอ่าน ถ้าอยาก “อ่านสนุก นั่งลุกสบาย” ตามคอนเซ็ปต์ของนิตยสารเล่มนี้ ลองแวะตามแผงแล้วโฉบมาสักเล่มก็แล้วกัน
เวอร์ชั่น เก่า และ ใหม่... ภาพโดย ทวีชัย ธวัชปกรณ์ (หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์)
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE
ภาพโดย ศิวกร เสนสอน
และขอบคุณภาพจาก แฟนเพจ "นิตยสารบันเทิงคดี" (คลิกเพื่อไปยังหน้าเพจ)




กำลังโหลดความคิดเห็น