อยู่ๆ ก็ถูกจุดกระแสขึ้น เมื่อ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ออกตัวแรงกับกรณี “หมิ่นผ่านเน็ต” หากผู้ใดกระทำเจ้าหน้าที่สามารถจับได้ทันที ไม่ต้องมีการฟ้องร้อง พร้อมโทษจำคุก 5 ปี
จุดชนวนถึงการปฏิบัติหน้าที่และนัยของการออกมาประกาศเน้นย้ำถึงการบังคับใช้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ท่ามกลางกระแสร้อนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองบนอินเทอร์เน็ต ไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่า การกระทำครั้งนี้เป็นไปเพื่อปกป้องคนบางกลุ่ม
ล่าสุดวรวีย์ มะกูดี ที่ปัจจุบันเป็นรักษาการนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยก็ออกมาขู่จะฟ้องร้องผู้ที่ติดต่อภาพตัวเองเพื่อล้อเลียนอีกด้วย
ออกตัวแรง “หมิ่น - จับ - ขัง 5 ปี”
ทุกวันนี้บนอินเทอร์เน็ต สิ่งที่ถูกพูดถึงและเป็นที่สนใจของประชาชนมากที่สุดสิ่งหนึ่งคือการเมือง เพราะการเมืองถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชน ทำให้ทุกวันนี้เมื่อมีนักการเมืองปฏิบัติงานการเมืองที่ไม่ชอบมาพากล ส่อพิรุธ กระทั่งดำเนินนโยบายใดๆก็ตาม ไม่แปลกที่จะมีความเห็นต่างทางการเมืองดังมาจากฟากประชาชน
และหลายครั้งก็ปรากฏภาพตัดต่อล้อเลียน ซึ่งก็มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองเสียเอง กรณีของชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมืองชื่อดังที่ถูกฟ้องหมิ่นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นที่พูดถึงในแง่ของการแสดงความเห็นทางการเมืองต่อบุคคลสาธารณะอย่างนายกรัฐมนตรี
มาถึงตอนนี้ ภาพตัดต่อและข้อความล้อเลียนกับบุคคลสาธารณะนั้นแทบจะเป็นของคู่กัน ยิ่งกับนักการเมืองที่ทำงานโดยมีพื้นฐานที่ประโยชน์ของสาธารณะยิ่งจะมีแพร่หลายไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ทั้งคำพูดเชิงล้อเลียนที่แฝงนัยทางความคิดเห็นที่มีต่อหน้าที่ในฐานะนักการเมือง
ล่าสุด หลังจากพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ออกมาพูดถึงกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นผ่านอินเทอร์เน็ตเพียงไม่กี่วัน ฟากฝั่งที่ทำงานด้านการเมืองอย่างวรวีร์ มะกูดี ที่กำลังมีปัญหาอยู่กับประเด็นการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลคนใหม่ก็ออกตัวจะฟ้องร้องผู้ที่ตัดต่อภาพตัวเองฐานหมิ่นประมาททันที โดยมีการเตรียมทีมกฎหมายฟ้องร้องกว่า 100 คดี
“คุณทำงานสาธารณะ ก็น่าจะต้องยอมรับให้สาธารณะวิจารณ์บ้าง...ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่หงุดหงิดง่าย อย่างคุณเฉลิมแกก็อารมณ์เสียง่าย นักข่าวถามอะไรก็ขู่ฟ้อง เอะอะอะไรก็ฟ้อง มันเด็กๆ เกินไปหรือเปล่า” อาทิตย์ วุริยรงค์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต กลุ่มเครือข่ายที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิของประชาชนในการใช้อินเทอร์เน็ต แสดงความเห็นถึงกรณีฟ้องร้องของนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะที่เกิดขึ้น
“คือคุณทำงานการเมือง ทำงานสาธารณะ ดังนั้นก็ต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นธรรมดา มีเสียงบ่นว่าเมื่อคุณทำผลงานได้ไม่ดี เพราะมันเป็นเรื่องสาธารณะ มันเกี่ยวข้องกับพวกเขา แฟนบอลที่ไม่พอใจ บ่นว่าคุณวรวีร์มันก็เพราะการทำหน้าที่ของเขา ไม่ได้ด่าที่ตัวบุคคล”
กับกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาประกาศย้ำถึงการใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น เขามองใน 2 แง่มุมซึ่งขึ้นอยู่กับท่าทีของการพูด หากพูดในเชิงข่มขู่ เขาเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะจะเป็นการปกป้องคนบางกลุ่ม แต่หากไม่แล้ว มุมที่เป็นประโยชน์ก็คือ การให้ความรู้กับสาธารณชนว่า กฎหมายนี้มีอยู่ และหากเกิดการฟ้อง เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ
“ในทางหนึ่งก็ดีเป็นการให้ความรู้กับประชาชน มีกฎหมายนี้อยู่นะ ควรระวังตัวไว้ อาจจะมีคนอื่นที่เขาคิดว่าเขาเสียหายมาฟ้องคุณได้นะ ฟ้องมาเราก็ต้องดำเนินคดี ถ้าเกิดว่า พูดมาในลักษณะแบบนี้ก็โอเค แต่ถ้าน้ำเสียงปราม ข่มขู่ อันนี้ก็ไม่เหมาะเท่าไหร่ เฮ่ย อย่าโพสต์นะ จับได้นะ อันนี้ไม่เหมาะ”
ทั้งนี้ กรณีที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยใช้กฎหมายดังกล่าวนั้น เขาเห็นว่ามีอยู่เรื่อยและมักจะเป็นเรื่องการเมืองระดับชาติหรือการกลั่นแกล้งกันระหว่างบุคคล โดยจะมีการไปฟ้องตำรวจ ซึ่งตำรวจก็จำเป็นต้องทำ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า การเป็นบุคคลสาธารณะก็ควรจะมีความอดทนเพื่อให้การทำงานต่างๆ สามารถเป็นไปได้มากขึ้น
การออกโรงมาเตือนว่า หากพบการหมิ่นจะจับทันทีนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีความสามารถที่จำกัด อย่างไรก็ไม่มีทางดูแลได้ทั่วถึง จึงไม่แปลกหากจะมีหลายฝ่ายมองว่า สิ่งนี้มีขึ้นเพื่อปกป้องบุคคลทางการเมือง
“ใช่ครับ มันจะกลายเป็นว่ามีแค่คนดัง คนมีอำนาจทางการเมืองเยอะหน่อยที่จะได้รับการคุ้มครองหรือเปล่า แบบนี้ ผมมองว่าบุคคลทางการเมืองมีการออกแอกชั่นมาก หงิดหงุดง่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายก็ต้องแสดงท่าที ซึ่งตรงนี้มันก็ทำให้การทำงานอะไรๆ มันลำบากขึ้น”
กับประเด็นเรื่องการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น เขาเห็นว่า จะต้องให้ความยุติธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย โดยมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการให้ลำดับความสำคัญมากกว่า
“จริงๆ ก็ต้องแฟร์กับตำรวจด้วยว่าเขามีกำลังแค่นี้ ฉะนั้น อาจจะต้องเลือกตามลำดับความสำคัญ คนนี้อาจจะมีประเด็นอ่อนไหวทางสังคมมาก และถ้าเขาไม่ทำอะไร เขาก็ถูกเด้งได้”
มาถึงปัจจุบันนี้ เขาเห็นว่า การตรวจสอบทางการเมืองควรจะมีอยู่ หากสื่อและประชาชนทำหน้าที่แล้วจะมีการฟ้องร้องทุกครั้ง การทำงานด้านการตรวจสอบก็เป็นไปได้ยาก
“ตอนนี้สังคมมันเปลี่ยนไป มันมีความคาดหวังมากขึ้นว่า บุคคลสาธารณะจะต้องมีความรับผิดชอบ จะต้องโปร่งใสมากขึ้น กฎหมายอย่างหมิ่นประมาท กฎหมายที่เกี่ยวกับชื่อเสียงของบุคคลสาธารณะ มันก็อาจจะต้องปรับไปตามความคิดความอ่านของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ว่าว่าอะไรไม่ได้เลย แตะอะไรไม่ได้เลย”
ปัญหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีเเละปรับไม่เกิน 1 เเสนบาท เป็นพ.ร.บ.แรกที่เกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ซึ่งประกาศใช้หลังจากการรัฐประหาร 2549 ท่ามกลางเหตุการณ์ทางการเมืองที่โลกอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยคิดเห็นที่แตกต่าง
แต่เดิมทีพ.ร.บ.ดังกล่าวก็มีการพูดถึงในแง่ของปัญหาจากการบังคับใช้อยู่แล้ว ในฐานะที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมาตลอด อาทิตย์ เผยถึงข้อกฎหมายเป็นที่ปัญหาซึ่งมีอยู่มาตราหลักนั่นคือ มาตรา 14 15 และ16
โดยมาตรา 14 นั้นจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อมูลที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตแล้วจะผิดกฎหมาย อย่าง ข้อมูลอันเป็นเท็จ หมิ่นประมาท หรือความมั่นคง ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะเป็นลักษณะของผู้ใช้บริการ โดยจะเป็นคดีอาญา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีแล้วไม่สามารถยอมความได้ มีโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี
ขณะที่มาตรา 15 นั้นจะเกี่ยวกับผู้ให้บริการ ตัวอย่างเช่น เว็บข่าวต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานโพสต์ความเห็น หากความเห็นเหล่านั้นผิดตามมาตรา 14 ก็จะผิดฐานเหมือนเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด โดยระบุโทษเท่ากันคือจำคุก 5 ปี ขณะที่มาตรา 16 นั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพตัดต่อ แต่เป็นคดีที่ยอมความได้
“เดิมที เจตนาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คือการป้องกันความผิดที่จะกระทำผ่านคอมพิวเตอร์ เป็นการออกกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น การขโมยรถ รถหายไป เราไม่สามารถใช้รถได้ แต่การขโมยข้อมูลนั้นไม่เหมือนกัน เรายังมีข้อมูลนั้นอยู่ แต่คนขโมยก๊อบปี้ข้อมูลของเราไป ซึ่งถ้าเป็นกฎหมายเดิม ศาลฎีกาตีความออกมาแล้วว่า ไม่ผิด ดังนั้น มันจึงต้องมีการออกกฎหมายมาเพื่อทำอะไรสักอย่างกับกรณีแบบนี้”
ในส่วนของข้อมูลเท็จนั้น มีการออกแบบตามเจตนาเดิมให้ใช้กับกรณีอย่างการปลอมแปลงข้อมูลบัตรเอทีเอ็ม หากมีใครปลอมแปลงบัตรแล้วนำไปกดเงิน ข้อมูลที่เข้าสู่ตู้เอทีเอ็มซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์นั้นถือว่าเป็นเท็จ ดังนั้นจึงผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทว่าการนำมาใช้ในปัจจุบันนั้นกลับผิดต่อเจตนาเดิมของตัวบทกฏหมาย
เขาเผยถึงหลายกรณีที่มีการให้พ.ร.บ.ดังกล่าวในทางที่ผิด นักต่อสู้ด้านสิทธิผู้ป่วยคนหนึ่งถูกกลุ่มแพทย์ฟ้อง จากที่การทำแคมเปญรณรงค์ว่า ปีหนึ่งมีผู้เสียหายจากความผิดพลาดในการรักษาพยาบาลเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลยังไม่มี แต่การรณรงค์นั้นได้นำตัวเลขจากอเมริกาแล้วเปรียบเทียบว่า หากคุณภาพการรักษาพยาบาลของประเทศไทยเท่ากับอเมริกา ประเทศไทยจะมีผู้เสียหายจากกรณีเหล่านี้เท่าไหร่ ซึ่งกลายเป็นช่องให้กลุ่มแพทย์ให้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในการฟ้องร้อง
“ตัวแทนสหภาพแรงงานก็มีกรณีที่ถูกบริษัทแห่งหนึ่งฟ้องด้วยมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แม้ว่าบริษัทจะมีการเจรจายอมความแล้ว แต่ตามพ.ร.บ.มันเป็นคดีอาญาเลยไม่สามารถยอมความได้”
เมื่อเทียบกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป หมิ่นผ่านสื่อจะเห็นว่ามีโทษไม่เกิน 2 ปี ยอมความได้ด้วย ทำให้เห็นว่าไม่ยุติธรรม
“จนถึงตอนนี้ มันก็ผ่านมา 6 ปีแล้วนับจากที่เริ่มใช้กฎหมายนี้ ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ที่เป็นคนออกแบบกฎหมายนี้ก็เห็นว่า มันถูกนำไปใช้ผิดเจตนา ตอนนี้ก็มีการดำเนินการยกร่าง ทำประชาพิจารณ์สำรวจความคิดเห็นประชาชนกันเพื่อแก้ไขกฎหมายนี้”
บอกได้ว่า หลายภาคส่วนเริ่มมีนโยบายที่เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวนั้นมีปัญหา และก่อให้เกิดความอยุติธรรมขึ้น
แม้แต่ภาครัฐเองก็ยังขานรับ เขาจึงเห็นว่า หากเป็นภาครัฐเหมือนกันก็ควรจะคุยกันบ้างว่านโยบายควรดำเนินไปในทางใดกับกฎหมายที่ปัญหาอยู่นี้
ส่วนของการแก้กฎหมายนั้น เขาเห็นว่า โลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่ขยายตัวไป ทำให้ข้อมูลหลายอย่างเดินทางเร็วขึ้น ผู้อ่านก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น การออกฎหมายจึงควรคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย
“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับที่ใช้อยู่มันคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงพฤติกรรมของผู้คน การแสดงออกของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ในต่างประเทศอย่างอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้สื่อสามารถทำให้คนไม่พอใจได้ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อสาธารณะต้องมาก่อน
“กับสังคมไทยมันมีความคาดหวังมากขึ้น เราเรียกร้องกันว่า นักการเมืองต้องไม่คอร์รัปชัน กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาล หรือนักการเมือง มันต้องโปร่งใส แต่มันจะโปร่งใสได้ไงละ เมื่อประชาชนจะลุกขึ้นมาตรวจสอบ แล้วก็ฟ้องกันหมด มันไปกันไม่ได้ไง ผมคิดว่ากฎหมายมันต้องเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงไปของสังคมตรงนี้ด้วย”
….
การตัดต่อ - ล้อเลียน - วิพากษ์วิจารณ์กับบุคคลสาธารณะ และยิ่งกับคนทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างนักการเมือง การตรวจสอบถือเป็นความดีงามหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย หากทว่ามาถึงตอนนี้ดูเหมือนนับวันความดีงามที่เป็นเสมือนแสงไฟอันริบหรี่กำลังจะถูกดับลงทุกที มีเพียงประชาชนเท่านั้นที่จะลุกขึ้นปกป้องสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ
ข่าวโดย ASTV ผุ้จัดการ LIVE