กรณีดาราฮอลลีวูด แองเจลิน่า โจลี เผยข่าวการตัดสินใจครั้งสำคัญผ่านบทความ "My medical choice" ใน นสพ.นิวยอร์กไทมส์ เกี่ยวกับการผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้างเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมจาก 87% ให้ลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 5% ซึ่งมีหลายกระแสชื่นชมในการตัดสินใจ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ โอกาสที่เธอจะเป็นมะเร็งค่อนข้างสูง
จากผลการตรวจยีนส์ทำให้พบว่าเธอมีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA 1 และตัดสินใจตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง โดยเก็บผิวหนังทั้งหมดและหัวนมเอาไว้ หรือที่เรียกว่า bilateral prophylactic nipple-areolar complex sparing mastectomy โดยใช้เทคนิค nipple delay procedure ก่อนที่จะทำการผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมออกมาเพื่อเพิ่มโอกาสอยู่รอดของหัวนม จากนั้นก็ได้ใส่เต้านมเทียมชนิดชั่วคราวไว้ใต้กล้ามเนื้อหน้าอก และมาเปลี่ยนเป็นแบบถาวรในภายหลัง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ธงชัย ศุกรโยธิน ศัลยแพทย์ด้านมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี เผยว่า การตรวจหาความผิดปกติของยีน BRCA ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายและไม่ได้ใช้ประจำในปัจจุบัน การตรวจมีค่าใช้จ่ายสูงและยังไม่มีการศึกษาถึงประโยชน์ของการตรวจที่ชัดเจนในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศมีการศึกษารวมทั้งมีเกณฑ์ที่จะใช้คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะมียีน BRCA ที่ผิดปกติ จึงทำให้มีการตรวจที่แพร่หลาย
ส่วนเทคนิคในการผ่าตัดที่เลาะเอาเนื้อเยื่อเต้านมโดยเก็บหัวนมและผิวหนังด้านนอกเอาไว้ ยังไม่ถือว่าเป็นวิธีมาตรฐานของการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม ในต่างประเทศทั้งแถบยุโรปและอเมริกายังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย แต่ก็นำมาใช้ในการผ่าตัดรักษาผู้ที่พบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในบางกรณี โดยอาจจะต้องมีการฉายแสงที่บริเวณหัวนมที่เก็บไว้ ทั้งฉายแสงในห้องผ่าตัดเลยหรือฉายแสงภายหลัง เพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำ ในประเทศไทยก็เริ่มมีการผ่าตัดเทคนิคนี้เพิ่มมากขึ้นแต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก
สำหรับการตัดสินใจชิงตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการตัดเต้านมออกก่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่พบว่าเป็นมะเร็งนั้น นพ.ธงชัย กล่าวว่า เมื่อผลตรวจออกมาว่ามีความผิดปกติของยีน BRCA1 คนๆ นั้นมีความเสี่ยงถึง 65-81% บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมในอนาคต และถ้ามีความผิดปกติของยีน BRCA2 ก็จะมีความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม 45-85% ดังนั้นจึงควรป้องกันหรือให้การรักษาไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง ตามแนวทางซึ่งผู้ป่วยสามารถพิจารณาร่วมตัดสินใจกับแพทย์ ดังนี้ 1. ตัดเต้านมออกสองข้าง 2. ตัดรังไข่ออกสองข้าง และ 3.การบำบัดรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งจะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ป่วยประกอบกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา"
ทั้งนี้ ผู้ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ก็ต้องหมั่นสังเกตเต้านมด้วย ซึ่งวิธีที่สามารถดูได้ด้วยตนเองก็คือ การคลำเต้านมเพื่อตรวจหาความผิดปกติ โดยมีอยู่ 3 ขั้นตอนคือ
1. คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดเบาๆที่เต้านมจากยอดสู่ฐานโดยหมุนเป็นลักษณะก้นหอย
2. คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดเบาๆที่เต้านมตามแนวเส้นตรงขึ้น-ลงจากด้านข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งของแต่ละเต้า
3. คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดเบาๆที่เต้านมจากด้านข้างขึ้น-ลงซีกแซกต่อเนื่องจนทั่วเต้านม
ทั้งนี้วิธีดังกล่าวอาจเป็นการตรวจด้วยตัวเองแค่เบื้องต้น แต่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเต้านมมีก้อนมะเร็งหรือไม่ ทางที่ดีที่สุด จึงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการพิสูจน์ให้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันจะใช้วิธีการเจาะตรวจเนื้อเยื่อโดยอาศัยเครื่องแมมโมแกรมค้นหาพิกัดตำแหน่งที่ผิดปกติของเต้านม (Stereotactic Biopsy) โดยจะประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ จากนั้นจะใช้เข็ม ATEC เจาะเข้าไปจัดชิ้นเนื้อในตำแหน่งที่ผิดปกติ ซึ่งจะทำงานร่วมกับเครื่อง Suros ซึ่งเข็มชนิดนี้จะมีข้อดีตรงที่ สามารถดูดชิ้นเนื้อออกมาได้หลายชิ้นจากการเจาะเพียงครั้งเดียว เพราะเมื่อทำงานร่วมกับเครื่องตัวนี้จะสามารถหมุนได้ 360 องศา ทำให้ลดอาการเจ็บ อักเสบ และเนื้อเยื่อเต้านมช้ำ ของผู้ป่วยทั้งระหว่างและหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจึงสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ที่สำคัญขนาดของแผลนั้นเล็กเท่ารู้เข็มเท่านั้น ซึ่งการตรวจพิกัดก้อนมะเร็งนั้นต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์อย่างมาก ที่สำคัญต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์รังสีวิทยา
ด้านการรักษาที่ผ่านมา แนวทางการรักษาโรคนี้ก็คือการผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาต้านออร์โมน และการรักษาด้วยยาที่เป้าหมายมะเร็ง สำหรับในกลุ่มผู้หญิงที่อายุยังน้อย แต่เกิดเป็นโรคนี้ แน่นอนว่าการสูญเสียเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างไปจากการรักษา คงเป็นเรื่องที่ทรมานใจมาก เพราะผู้หญิงยังต้องการความสมบูรณ์ในสรีระของตัวเองอยู่ การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันนี้จึงมีทางเลือกใหม่ด้วยการเสริมเติมเต็มเต้านมจากการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกที่สามารถทำได้ทันทีในคราวเดียวกัน โดยใช้เนื้อส่วนแผ่นหลัง และท้องน้อยของผู้ป่วยมาใช้
ลึกลงไปถึงเทคนิคการผ่าตัด ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้อำนวยการ Breast Center โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่าเป็นการผ่าตัดด้วยเทคนิคการย้ายไขมัน และกล้ามเนื้อที่ท้องหรือแผ่นหลังของผู้ป่วยมาปลูกถ่าย เพื่อทดแทนส่วนที่เสียไปจะใช้เวลาในผ่าตัดประมาณ 4-5 ชั่วโมง ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ เป็นการถือโอกาสกำจัดไขมันส่วนเกินหน้าท้องไปพร้อมกัน แถมยังได้เต้านมที่สวยงามกลับมาทันที แต่ข้อเสียก็คืออาจใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นอย่างน้อย 5-7 วัน
ในส่วนของการเลาะกล้ามเนื้อแผ่นหลังเพื่อเสริมเต้านั้นที่ผ่านมาวิธีนี้มีข้อจำกัดในการเลาะกล้ามเนื้อ ทำให้ได้ปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญสูง ซึ่ง ผู้อำนวยการ Breast Center โรงพยาบาลเวชธานีได้อธิบายต่อว่า ศัลยแพทย์จะต้องมีความรู้เชี่ยวชาญตั้งแต่การประเมินปริมาณ และการทำงานของกล้ามเนื้อแผ่นหลัง เพราะจะสามารถประมาณขนาดของเต้านมที่เสริมสร้างมาใหม่ได้ ข้อดีของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 3-4 วันเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อแผ่นหลังมีการสมานและเลือดหล่อเลี้ยงได้ดีกว่า แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬา หรือผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหนักๆ หลังการผ่าตัดอาจไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่เหมือนเดิม
ทั้งนี้กล้ามเนื้อบริเวณหลังที่หนาประมาณ 2 เซนติเมตร สามารถสร้างเต้านมใหม่ขนาดกลางได้ ยิ่งถ้าหนากว่านี้ และมีเนื้อมากก็ยิ่งสร้างเต้านมขนาดใหญ่ได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีรูปร่างผอมบาง อาจสร้างเต้านมได้ขนาดเล็กเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อมีไม่เพียงพอ
การผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่พร้อมกับการกำจัดเนื้อร้ายทั้ง 2 วิธีนี้แม้ว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและมีความสุขเหมือนเดิมแล้ว แพทย์ก็ยังต้องให้การรักษาร่วมกับวิธีอื่นเพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำในช่วง 2-3 ปีแรกของการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องหมั่นมาตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำหลังผ่านการรักษาโรคมะเร็งไปแล้วจะดีที่สุด
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE