xs
xsm
sm
md
lg

คลิป – แชร์ - แฉรายวัน ตำรวจเลวมาจากไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากปรากฏการณ์ในช่วงไม่นานมานี้ที่ตำรวจมักตกเป็นผู้ต้องสงสัยในหลายคดี โดยมักมีหลักฐานเป็นคลิปวีดีโอมากมาย กลายเป็นที่โจษขานจนหลายคนในสังคมปักธงว่า ตำรวจเป็นคนเลว

หลากหลายกรณีเหล่านี้ทำให้สังคมยิ่งจับจ้องการทำงานของตำรวจ เป็นผลสะท้อนให้เกิดคลิปอีกมากมายตามต่อกันมา เป็นปราฏการณ์คลิป - แชร์ - แฉแบบรายวัน ในที่สุดแล้วการลงโทษตำรวจที่กระทำผิดและการป้องกันตัวเองของประชาชนแบบกรณีต่อกรณีจะสามารถนำพาสังคมไปสู่ความสงบสุขได้จริงหรือ?

หรือสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมดาของสังคมที่วันหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องชาชิน แม้จะมีตำรวจที่ถูกลงโทษแต่ก็ยังคงมีตำรวจที่ยังคงกระทำผิดต่อไปกันแน่?

พลังสื่อในมือประชาชน

ปรากฏการณ์คลิปแฉพฤติกรรมเหล่านี้ แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนการตื่นตัวต่อการใช้เทคโนโลยีสื่อของคนไทยอย่างมาก ดร. อนุชา ทีรคานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากประชาชนที่เคยมีบทบาทเป็นผู้รับสารอย่างเดียว หันมาเป็นผู้สื่อสารด้วย

“จากแต่ก่อนประชาชนจะไม่ใช่ผู้กำหนดวาระข่าวสาร มาตอนนี้เขาสามารถกำหนดวาระข่าวสารของเขาเองได้ ในแง่ปัจเจกเขาสามารถสื่อสารประเด็นที่เขาอยากสื่อสารได้ พร้อมกันนั้นสื่อกระแสหลักในยุคนี้ก็มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นข่าวสารที่คนทั่วไปนำเสนอมากขึ้นด้วย”

ทว่าสิ่งหนึ่งที่ควรระวังคือความเป็นดาบ 2 คมของสื่ออินเทอร์เน็ตที่มาเร็วไปเร็ว เพราะธรรมชาติของสื่อคือการตัดทอนมานำเสมอ อาจารย์ประจำภาควิชานิเทศศาสตร์เห็นว่า จากกรณีการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตคนทั่วไปนั้น อาจมีการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง สิ่งที่สำคัญคือภูมิคุ้มกันในการเสพสื่อของสังคมที่ไม่ควรเชื่ออะไรง่ายๆ

“พอวาระข่าวสารมันกลายเป็นกระแส คนผิดก็จะถูกตราหน้า หากความจริงมันเป็นแบบนั้นก็ไม่เป็นไร แต่หากไม่ใช่ ข่าวที่ออกมาแก้มันก็ไม่ได้เป็นกระแสแล้ว มันตกกระแส สังคมก็ตราหน้าคนๆ นั้นไปแล้ว นั่นก็ข้อเสียของสิ่งที่เกิดขึ้น”

ทว่าในมุมสังคมศาสตร์ ผศ.ดร. ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและป้องกันตัวเองของประชาชน เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ประชาชนหันมาสร้างหลักฐานเพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกกดขี่โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นมาตลอด

“การใช้เทคโนโลยีมันก็แพร่หลายมากขึ้น ในทางสังคมศาสตร์มันเหมือนเป็นการพยายามหาเครื่องมือของผู้ที่เคยมีอำนาจน้อยกว่ามาต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจมากกว่า เดิมประชาชนมีอำนาจน้อยกว่าตำรวจ แต่ตอนนี้ประชาชนหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อโต้ตอบการกระทำที่เขาไม่พึงพอใจจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตำรวจ ฉะนั้นการใช้เทคโนโลยีตรงนี้ อาจารย์มองว่าเป็นสิ่งที่ดี”

กรณีของคลิปที่แนะนำให้คนติดกล้องไว้ในรถของตัวเองเพื่อดูว่าความเร็วเท่าไหร่ เพื่อเป็นหลักฐานโต้ตอบตำรวจเวลาถูกเรียกในข้อหาขับรถเร็วเกิน เธอเห็นว่า ตัวตำรวจเองไม่มีเครื่องมือและข้อมูลชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ความเร็วเท่าไหร่ แต่ตัวประชาชนผู้ขับขี่ กลับใช้เทคโนโลยีป้องกันตัวเองเป็นหลักฐานได้

ควรตรวจสอบทั้งกระบวนการ

ในส่วนของการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกตรวจสอบมากขึ้นจากประชาชนที่หันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต มองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งดี เพราะมีคนช่วยตรวจสอบการทำงานของตำรวจ

“การตรวจสอบผมว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่เฉพาะตำรวจ แต่ข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดควรได้รับการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เพราะเมื่อมีการตรวจสอบขึ้นมา มันก็จะมีความโปร่งใส เปิดกว้างมากขึ้น”

เขายกตัวอย่างว่า หลายคดีที่เข้าไปสู่ขั้นพิจารณาของชั้นศาลและใช้เวลาพิจารณานานจนล่าช้า คนทั่วไปที่ไม่รู้กฎหมาย ไม่เข้าใจกระบวนการก็บอกว่าไม่ยุติธรรมแล้ว ดังคำกล่าวที่ว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม

“ถ้ามีการตรวจสอบกันเยอะขึ้น ทำไมเรื่องนี้ช้า มันไปอยู่ที่ใครแล้ว เรื่องเหล่านี้ถ้ามีการทำให้มันชัดเจนขึ้นมา ผมว่ากระบวนการยุติธรรมไทยจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น”

ในส่วนของความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนั้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาก็ถูกทดสอบและเต็มไปด้วยข้อครหา เขาเห็นว่าบทลงโทษในวงการตำรวจนั้นมีมาอย่างรวดเร็วซึ่งก็เป็นไปตามหลักการ

“ผู้บังคับบัญชาไม่มีการปล่อยไว้เพราะประชาชนจะสิ้นศรัทธากับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจมากขึ้น ศรัทธาตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก มันจะส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อให้ตำรวจใช้มาตรการในการป้องกันอาชญากรรมแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป”

ในงานวิจัยด้านอาชญาวิทยาของต่างประเทศต่างให้ผลที่ส่งกัน คำว่า public trust หรือความไว้เนื้อเชื่อใจของสาธารณชนเป็นสิ่งสำคัญ เขาเสริมว่า ไม่ใช่แค่ในวงการตำรวจ แต่ในระดับการเมืองหรืออะไรก็ตาม ถ้าประชาชนมีความเชื่อศรัทธาในสิ่งที่ภาครัฐทำ ภาครัฐก็จะได้รับความร่วมมือตามมา

ทั้งนี้การตรวจสอบการทำงานของตำรวจนั้น ในต่างประเทศจะมีการตรวจสอบที่เข้มข้น มีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อตรวจสอบโดยไม่มีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เขาเผยว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังคงมีการตรวจสอบและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดอยู่เสมอ

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีการเผยแพร่คลิปเกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่คือมีข้อความข่มขู่ที่ตำรวจโดยบอกแก่คนโพสต์ว่าจะจับ หรือจะฟ้อง เขามองในฐานะนักวิชาการด้านอาชญาวิทยาว่า สิ่งนี้อาจเป็นการแอบอ้าง หากเป็นจริงก็ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในฐานหมิ่นประมาท หรือข่มขู่ทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว

“สำหรับคนที่โพสต์วิดีโอเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนั้น ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งดี ไม่ใช่การหมิ่นเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่า เหมือนนักข่าวเขียนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนักการเมือง สามารถทำได้ไม่หมิ่น เพราะตำรวจกับนักการเมืองก็ทำให้เพื่อประโยชน์สาธารณะดังนั้นจึงสามารถถูกวิจารณ์ได้

ปัญหาฝังราก

การลงโทษทั้งทางวินัยและทางกฎหมายเป็นปลายทางของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคลิปทั้งหมด ทว่าแท้จริงแล้ว มันเป็นเพียงแค่ภาพสะท้อนผิวเผินของปัญหาการทำงานในวงการตำรวจที่ฝังรากลึกมากกว่า ผศ.ดร. ปนัดดา เห็นว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเสมือนสัญญาณเตือนไปถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือฝ่ายบริหารงานตำรวจว่า โครงสร้างหรือการบริหารจัดการที่เป็นอยู่นั้นมีปัญหา

“น่าจะเป็นสัญญาณเตือนในทางฝ่ายบริหารทบทวนทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการทำงานของตำรวจ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ดี ถ้าตำรวจจริงใจก็ต้องดีใจที่มีคนมาตรวจสอบการทำงานของตำรวจนอกรีตมากขึ้น ก็ต้องเปิดใจให้กว้าง”

แต่อีกมุมหนึ่ง เธอมองว่า การแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น เพียงแค่ลงโทษ พักราชการ หรือการออกมาพูดอะไรเดิมๆ อย่าง ผู้บังคับบัญชาต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีนั้นอาจไม่เพียงพอ

“อย่าลืมว่าประเทศที่ดีก็ต้องมีตำรวจที่ดีเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ทางตำรวจเองต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า หาสาเหตุแล้วแก้ให้ได้ว่า ทำไมผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหลายถึงต้องทำนอกรีตนอกรอย?

เธอยกตัวอย่างปัญหาการทำงานของเจ้าหน้าที่ในปัจจุบัน เครื่องแบบหรือปืน ตำรวจต้องหาซื้อมาใช้ด้วยตัวเอง หากเทียบกับอาจารย์มหาวิทยาลัย คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การสอน ทางมหาวิทยาลัยจะมีพร้อมให้ ทั้งนี้ แม้จะมองว่า เครื่องแบบ และปืนเป็นเรื่องปกติที่ตำรวจต้องหามาไว้กับตัวด้วยตัวเองแล้ว ทว่าปัจจัยอื่นๆ รอบด้านยังคงเป็นอุปสรรค์ต่อการปฏิบัติหน้าที่อยู่

ในปัจจุบันตำรวจจราจรไม่มีเครื่องจับความเร็ว และเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ เรียกว่าขาดแคลนก็ได้ ทั้งที่ปัญหาเมาแล้วขับ และเรื่องความเร็วเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การตายจนประเทศไทยมีสถิติเสียชีวิตจากอุบัติเหตุติดอันดับ 3 ของโลก

และข้ออ้างที่มักได้ยินเสมอคือไม่มีงบ เธอเห็นว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องของฝ่ายบริหาร

“ต้องประสานกับผู้เกี่ยวข้องขึ้นไปคือรัฐบาล บอกว่าไม่มีงบให้โรงพักจัดการเอง มันก็มีกระบวนการหาเงินนอกระบบด้วยวิธีการต่างๆ แบบนี้ นี่คือไม่แก้ที่ต้นเหตุ ไปแก้ว่าใครทำผิดลงโทษทางวินัย ผู้เสียหายมาแจ้งความ แล้วก็จบ

“ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของพฤติกรรมที่มิชอบต่างๆ เราไปมองผิวมากๆ ตำรวจทำไม่ดีเพราะไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ต้องถามว่า ทำไมเขาไม่มีคุณธรรม จริยธรรม พอมีคลิปมีอะไรเกิดขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติออกหนังสือให้ผู้บังคับบัญชาทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี มันใช่ทางแก้มั้ย? มันไม่ใช่ทางแก้เลย เราต้องกลับไปแก้ที่รากเหง้าของปัญหา แก้ที่การบริหารจัดการ”

นอกจากนี้ เธอยังเผยอีกว่า ตามโรงพักนั้นตำรวจมีวัฒนธรรมการทำงานบนความขัดสนขาดแคลน ซึ่งเปิดช่องให้ทำงานโดยมิชอบ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ทั้งที่ตำรวจต้องทำงานกับผู้กระทำผิด โอกาสที่การสมคบกับผู้กระทำผิดก็มีมากอยู่แล้ว

….

มาถึงตอนนี้เราคงไม่ปฏิเสธว่า คลิปที่ประชาชนยื่นเงินให้กับตำรวจ นอกจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว ส่วนหนึ่งคือประชาชนก็สมรู้ร่วมคิด

การลงโทษตามแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นอาจเป็นสิ่งที่สังคมถามหา ทว่าจะไม่ดีกว่าหรือ? หากจะแก้ปัญหาที่ต้นต่อของสิ่งที่เกิดขึ้น

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE

คุณตำรวจมีเรดาร์แต่ผมมีกล้อง!!



ตำรวจหากินประชาชน!!! (บางคน)



ตำรวจ วิ่งหนีประชาชน



วงจรปิดแฉตำรวจไถแต๊ะเอีย






กำลังโหลดความคิดเห็น