xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิวัติสื่อไทย ในวันที่ “ล้มเหลว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ล้มเหลว” คือคำนิยามที่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล จำกัดความไว้ให้สื่อมวลชนไทยในยุคนี้ ผ่านสายตาของคนวัย 65 ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์มาโดยตลอด บอกได้ว่าสื่อไทยไม่เคยพัฒนาขึ้นเลย ไม่ต่างไปจากวันที่เขาหอบเอา “จรรยาบรรณ” เข้าไปบริหารองค์กรสื่อมาที่แล้วที่เล่า แต่สุดท้ายก็เป็นได้แค่ “คนที่ล้มเหลว” เพราะแนวคิดของเขาอยู่ไม่ได้และขายไม่รอด
 
ถึงวันนี้ วันที่สถานีทีวีดิจิตอล สถานีข่าว 24ชั่วโมงอย่าง “สปริงนิวส์” ต้องการปฏิวัติวงการสื่อให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล อาจารย์จึงไม่ปฏิเสธที่จะเข้ามานั่งในฐานะรองประธานกรรมการบริหารสายงานข่าวและรายการ ประกาศกร้าวว่าจะทำให้ที่นี่เป็นทีวี “ไม่ใส่สี ไม่เลือกข้าง ครบทุกแง่มุม และรับผิดชอบต่อสังคม” ให้ได้ และนี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาจะได้พิสูจน์สิ่งที่เชื่อมาทั้งชีวิต!



ทำหน้าที่นักวิชาการวิจารณ์สื่อมานาน มาลงมือบริหารเองแบบนี้ ไม่กดดัน ไม่กลัวพลาดบ้างหรือ?
(ส่ายหน้า) ผมไม่เคยมองว่าตัวเองประสบความสำเร็จขนาดที่มีคนเฝ้ามองว่า อาจารย์สมเกียรติจะมาพลิกสปริงนิวส์ ไม่ใช่เลย เพราะจริงๆ แล้ว ผมเนี่ยเป็นคนประสบความล้มเหลวมาทั้งชีวิตนะ (ยิ้ม) ไปที่ไหนก็ลาออก แต่ถือเป็นคนมีชื่อเสียงเพราะหนังสือพิมพ์ชอบเขียนถึง สื่อมวลชนมาสัมภาษณ์ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะประสบการณ์ 30 ปีของเรามันหลากหลายมาก เป็นทั้งอาจารย์ มาทำทีวี ถูกเชิญให้ออกจากทีวี ไปเป็น ส.ส.ร. เป็น ส.ว.สุพรรณบุรี เป็น สนช. เลิกทำทีวีไปพักหนึ่ง สุดท้าย ช่อง 3 ก็เชิญให้ไปเป็นที่ปรึกษารายการเล็กๆ ทรูวิชั่นส์ ก็มาเชิญ แล้วก็แกรมมี่ เร่ร่อนมาก
 
แต่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จสักอย่างหนึ่ง ไม่ลาออก เขาก็เชิญให้ออก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น ผมมีชื่อเสียง ถูกต้องแล้ว แต่ผมยืนยันว่าผมไม่ใช่ผู้ประสบความสำเร็จ
ผมมาที่นี่พร้อมกับความคิดเก่าๆ 20-30 ปีที่แล้ว ความคิดที่อยากจะทำแล้วไม่ได้ทำ หรือได้ทำแล้วบ้างนิดหน่อย เคยมีโอกาส 2-3 ครั้งแต่ก็ทำไม่สำเร็จด้วยเหตุผลต่างๆ กัน นี่ก็น่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับคนอายุ 65 (นักวิชาการลายครามยิ้มเย็นๆ ปิดประโยค)

อะไรคืออุดมการณ์ที่หอบมาด้วย แนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนสื่อ?
อย่างแรก ผมอยากขยับ “มาตรฐานการผลิต” ของที่นี่ให้ขึ้นสู่ระดับมาตรฐานที่โลกเขาทำกัน ไม่ได้ขออะไรมากเลย ไม่ยากด้วยถ้าจะทำ ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามองที่หน้าจอ อยากให้จอสปริงนิวส์มีภาพสวย การตัดต่อดี การเดินเรื่อง การลงเสียง ไตเติลกราฟิก ฯลฯ ทุกวันนี้ก็ยังไม่ใช่ที่ผมอยากให้เป็น
อย่างที่สองคือ “มาตรฐานทางความคิด” ผมอยากเปลี่ยนแปลงหลักปรัชญา-วิธีคิด ของคนทำสื่อ ให้ตระหนักรู้เรื่อง “จรรยาบรรณวิชาชีพ” ที่มั่นคง คนทำข่าวที่นี่ต้องยึดไว้ อย่าให้ใครมาบอกว่าเราเป็นสื่อที่ลำเอียง ไม่ใช่เวทีสาธารณะ เข้าข้างพรรคนู้นพรรคนี้ หรือเป็นสื่อแดง สื่อเหลือง เราจะต้องไม่เป็นสื่อที่เลือกข้าง เราต้องเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นกลาง

เป็นไปได้แค่ไหนที่สื่อจะไม่มีสี? ทุกวันนี้ก็มีสีแทบจะทุกสื่อ
ตามทฤษฎีการสื่อสาร มันจะมีสื่ออยู่ 2 แบบคือ สื่อนำทาง กับ สื่อสะท้อนความเป็นจริง อย่าง “ผู้จัดการ” จะเป็นประเภทที่หนึ่ง แต่คุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) จะใช้คำว่า “ตะเกียงนำทาง” เป็นผู้นำทางสังคม เชื่อข้าพเจ้าสิ ใครเชื่อให้ตามมา แต่ถ้าไม่เชื่ออาจจะมีเรื่อง (หัวเราะ)
ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็น “กระจกเงา” สะท้อนสังคม ก็เลือกเอาว่าจะเป็นแบบไหน สำหรับผม ผมอยากให้สปริงนิวส์นุ่มนวลหน่อย ทำหน้าที่อย่างหลัง สะท้อนทุกฝ่าย เหลือง แดง ซาหริ่ม เพราะผมไม่กล้าหรอกที่จะบอกว่าโลกควรจะเป็นยังไง และผมก็ไม่คิดว่าเด็กหนุ่มสาวที่นี่ ถึงจุดที่จะบอกได้แล้วว่าโลกควรจะเป็นยังไง




ระหว่างมีสีกับไม่มีสี สื่อแบบไหนมีสิทธิ์อยู่รอดมากกว่ากัน?
ทุกคนมีชีวิตที่เป็นเศรษฐกิจทั้งนั้น อันนี้เราต้องยอมรับ ทำสื่อก็ต้องมีเงิน มีโฆษณา มีการทำธุรกิจ เป็นเรื่องธรรมดา ก็แล้วแต่จะคิดครับ ถ้าอยากเป็นสื่อเลือกข้าง ก็จะมีคนที่สนับสนุนข้างที่เราเลือกไปตลอดชีวิต ส่วนคนที่ไม่หนุน เขาก็ไม่หนุนอยู่ดี
 
แต่สำหรับเรา เมื่อไม่มีข้าง เราสามารถแสดงจุดยืนได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องไหน สะท้อนความเป็นจริงในสังคมได้ ส่วนสปอนเซอร์จะสนับสนุนไหม คงต้องปล่อยให้เป็นฝีมือฝ่ายขาย ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ แต่ผมว่าบางทีสื่อที่เลือกข้างชัดมากๆ ก็ทำธุรกิจลำบากเหมือนกันนะ เพราะสินค้าต่างๆ ที่ผลิตขึ้นมาบนโลกนี้ เขาอยากขายให้ทุกคนใช้ ไม่ได้อยากขายให้พวกเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงอย่างเดียวหรอก

ก็เลยทำให้มีสื่อประเภทมีสีแต่ไม่กล้าออกลายชัด ต้องเป็นสื่อมีสีแบบแฝงๆ ไป
อันนี้ไม่ใช่ว่าคุณมาสัมภาษณ์แล้วผมจะออกตัวเข้าข้างนะ แต่ผมมองว่าสื่อเลือกข้างอย่าง “ASTV” เหลืองจ๋า หรือ “VoiceTV” แดงแจ๋ ดีอย่างหนึ่งตรงที่บอกให้ชัดๆ ไปเลยว่าเราเลือกข้างนะ อยากดูก็มาดูสิ แต่สื่อที่ผมจำกัดความให้ว่า “ล้มเหลว” มากๆ คือสื่อที่ไม่ได้บอกว่าตัวเองเลือกข้าง แอบอยู่ข้างหลังประวัติอันงดงาม แต่จริงๆ เลือกข้างไปแล้ว
 
อย่าง “มติชน” ผมพูดอย่างชัดเจนเลย ผมเฮิร์ตมาก เพราะเขาเลือกข้างโดยไม่บอกเรา แต่ผมโตพอที่จะรู้ว่าเขาเลือกข้าง และผมก็ไม่อ่าน ไม่ซื้ออีกต่อไป อันนี้เป็นการหลอกผู้ที่จงรักภักดีต่อข่าว งานวิจัยบอกว่าหน้าที่ของสื่อคือต้องจงรักภักดีต่อประชาชน คนอ่านมติชนคือผม อ่านมาตั้งแต่วัยเด็ก ตั้งแต่อยู่สุพรรณจนย้ายเข้ามากรุงเทพฯ เคยเป็นคอลัมนิสต์ในนั้นด้วย แต่พอวันหนึ่งเราเห็นว่าแดงแบบปกปิด ไม่ได้บอกว่าเป็นพวกเดียวกับคุณทักษิณ แต่ข้อความบนหน้ากระดาษมันบ่งบอกชัดเจน คนที่ไม่มีการศึกษาเรื่องสื่อ อาจจะถูกหลอกได้ แต่เรารู้ เราจึงบอกว่านี่คือการไม่ซื่อสัตย์ต่อพลเมืองเดิม
 

ผมเคยมีเรื่องราวถกเถียงกับเขาทางเฟซบุ๊กบอกว่าทำไมทำอย่างนี้ เขาก็ตอบกลับมาเป็นบทความเลยว่า คนรุ่นผม เขาไม่เอาแล้ว จะไปโหยหาอะไรของเก่า แสดงว่าเขาไม่ซื่อสัตย์ต่อคนอ่านหนังสือพิมพ์รุ่นเก่า เราก็ไม่มีปัญหาอะไร (พยักหน้ารับอย่างเข้าใจ) ก็แค่ไม่ซื้อไม่อ่าน 
 

นี่ถือเป็นวิกฤตสื่ออย่างหนึ่งนะ มีความน่าเชื่อถือในสังคมอยู่ดีๆ แถมร่ำรวย มีเงินเข้าตลาดหลักทรัพย์ ยังทิ้งประชาชนได้ เพื่ออะไรผมก็ไม่ทราบ เพื่อความรวยเหรอ คนเป็นสื่อมวลชนไม่ต้องการความรวยหรอก ต้องการความน่าเชื่อถือต่างหาก สตางค์น่ะไม่มีวันอดหรอก เขียนหนังสือ ยังไงเราก็มีใช้ จะอะไรกันนักหนา เมื่อทิ้งความภักดีต่อประชาชนแล้ว ก็ไม่สมควรที่จะถูกเรียกว่าสื่อแล้วครับ


 

อีกเรื่องหนึ่งที่สื่อถูกตั้งคำถามอย่างหนักคือ “การเซ็นเซอร์” โดยเฉพาะกรณีช่อง 3 อยากให้ช่วยวิเคราะห์
ผมว่ากรณีที่มีการดูดเสียงในละครเรื่อง “แผนร้ายพ่ายรัก” เพราะชื่อตัวละครอาจจะไปกระทบกับองค์กรธุรกิจแห่งหนึ่ง อันนี้ผมคิดว่าช่อง 3 ไม่ได้เซ็นเซอร์ตัวเองหรอก เพราะถ้าทีวีทุกช่องอยากจะเซ็นเซอร์ตัวเอง เขาสามารถทำได้ตั้งแต่การเช็คบท ถ้ากลัวว่าจะมีปัญหาก็แก้ตอนนั้น การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนคือการตรวจสอบขั้นตอนการผลิต สคริปต์ ทุกอย่างให้พร้อม
 

ถ่ายทำให้เสร็จและออกอากาศ แล้วต้องมีใครสักคนแหละไปเขกหัว บอกว่าอันนี้ออกอากาศไม่ได้นะ เมื่อไม่ได้ปุ๊บ ทางช่อง 3 เขาก็ไม่ทิ้งหรอก ลงทุนไปแล้วนี่ ก็เลยเป็นที่มาของการดูดเสียงแล้วฉายออกอากาศทำให้คนดูเห็นว่า นี่ไง ช่อง 3 ถูกบังคับ ไม่ใช่เซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่มีใครเขามาเซ็นเซอร์ตัวเองแล้วให้มีภาพลบๆ มืดๆ เสียงหายหรอกครับ
 

ลองเทียบในยุคที่หนังสือพิมพ์ถูกคนอื่นเซ็นเซอร์สิ กำลังจะเข้าแท่นพิมพ์ ก็ให้มารอหน้าแป้นพิมพ์ ป้ายสีดำที่ภาพ ที่ตัวอักษรกันตรงนั้นเลย ประจานให้เห็นกันไปเลยว่า จริงๆ แล้ว ตรงนี้เราอยากพิมพ์นะ แต่เขาไม่ให้เราพิมพ์ ให้คนอ่านเดาเอาเอง เพราะฉะนั้น การป้ายดำที่ตัวหนังสือก็เหมือนการดูดเสียงนั่นแหละครับ ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ตัวเอง มีคนเซ็นเซอร์ ผมว่าช่อง 3 ต้องการบอกให้คนรู้ว่าถูกบังคับ เป็นการประจานให้ประชาชนเห็น แต่เป็นวิธีที่ประชาชนต้องตีความนิดหนึ่งถึงจะรู้

แม้แต่ละครยังถูกเซ็นเซอร์กันอย่างนี้ คงไม่เหลือเสรีภาพในสื่อแล้ว
ใช่ไง มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ยังไม่ได้ให้สิทธิเสรีภาพกับสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ ทำตัวอย่างกับว่าตัวเองเป็นเจ้าของสิทธิเสรีภาพ ถ้าในโลกตะวันตก เขาบอกว่าสิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่ติดมากับตัวตอนเกิด ละเมิดไม่ได้ แต่ของประเทศไทยเนี่ย ไม่ว่าจะพรรคไหนขึ้นมาเป็นใหญ่ ก็จะคอยมาควบคุมสื่อตลอดว่าอันนี้ได้ อันนี้ไม่ได้ ยุคที่ประชาธิปัตย์เรื่องอำนาจ ตอนที่เสื้อแดงตกต่ำ คนที่เข้าไปจัดรายการใน อสมท ก็จะเป็นฝั่งตรงข้าม ลุยกันแบบไม่บันยะบันยังเหมือนกัน
 

ถ้าระบบมันยังเป็นแบบนี้อยู่ คุณเป็นสื่อของรัฐ ช่องโมเดิร์นไนนท์ทีวี, ช่อง 5, ช่อง 11 คุณไม่มีวันจะได้เสรีภาพหรอกครับ หรือถึงคุณจะไม่ใช่สื่อของรัฐ อย่างช่อง 3 คุณเป็นฟรีทีวี ยังไงก็ต้องไปรับสัมปทานมาจาก อสมท ไปเอาความถี่มาจากโมเดิร์นไนน์ ทุกครั้งที่จะลงมือทำอะไร ถ้าเขาสั่งมา ยังไงก็ต้องยอม

แล้วจะทำอย่างไรให้ทีวีหลุดจากการถูกเซ็นเซอร์จากรัฐบาล
ทีวีดาวเทียมไงครับ คลื่นบนท้องฟ้านี่แหละ ถ้ายังใช้ระบบเก่า ไม่ต้องไปขอเช่าคลื่นกับทาง กสทช. ก็จะดีนะ แต่ทุกวันนี้ ต้องไปประมูลคลื่น ขอใบอนุญาตทีวีดาวเทียมกันแล้ว ที่นี่ก็ไปขอใบอนุญาตมาแล้ว ก็ซวยไป (หัวเราะ) ซึ่งจริงๆ แล้ว เราไม่ควรจะเข้าระบบ ควรจะเป็นแบบ ASTV, VoiceTV, Asia Update หรือช่องของป้าเชง
 
ทุกช่องที่พูดมามีอิสระหมด อิสระถึงขั้นสามารถเลือกข้างแล้วด่ากันได้ แดงด่าเหลืองได้ เหลืองก็ด่าแดงได้ นั่นน่ะอิสระเต็มที่ แต่อาจจะไม่ได้รับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก เราเองก็ควรจะอยู่ในคลื่นแบบนี้ ใช้ช่องทางดาวเทียมให้เป็นประโยชน์ จะได้เป็นอิสระ




 
มีเรื่องไหนอีกไหมที่เห็นแล้วขัดหูขัดตา ขัดต่ออุดมการณ์ความเชื่อเรื่องสื่อ?
น่าจะเป็นเรื่องโฆษณาแฝงครับ หลักสื่อสารมวลชนที่แท้จริงจะบอกชัดเจนว่า อะไรคือข่าว อะไรคือโฆษณา อะไรคือประชาสัมพันธ์ ถ้าเป็นข่าวนี่จะไม่ขาย ไม่เสียตังค์-ไม่ได้ตังค์ ถ้าเป็นโฆษณา จะเป็นข่าวเชิงโฆษณา สปอตโฆษณา ส่วนประชาสัมพันธ์ เป็นข่าวที่ไม่ต้องจ่ายเงินก็ทำให้ มีงานอะไรเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง
 

แต่ทุกวันนี้พื้นที่ทั้ง 3 ส่วนมันปนๆ กันอยู่ และนี่แหละครับคือวิกฤต เป็นวิกฤตเหมือนกับที่สื่อมวลชนอเมริกาเคยถูกประชาชนปฏิเสธเมื่อประมาณปี 1970 เพราะคนเริ่มเซ็งว่าวิทยุ-โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ชอบเอาข่าว โฆษณา และประชาสัมพันธ์ มาปนกันมั่วไปหมด ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากจะเห็นมันแยกกันอยู่ให้ชัดเจนไปเลย

ถ้าเป็นรายการคุยข่าวแล้วมีสินค้ามาตั้งโฆษณาล่ะ นับรวมด้วยไหม?
ที่นี่ก็มีครับ อันนี้เป็นที่รู้กันว่าตั้งใจโฆษณาสินค้า ทำกันชัดเจน ไม่แฝงอะไร ในศัพท์ทางการตลาดเขาเรียก “Product Placement” เรียกว่าเป็นนวัตกรรมการขาย แบบนี้ชัดเจนว่าขาย ไม่ได้แฝงอะไร แต่ผู้ประกาศต้องห้ามพูดถึงตัวสินค้านั้นนะ และคนที่ทำงานกับผม ผมจะไม่มีวันยอมให้ผู้ประกาศข่าวของผมกลายเป็นเครื่องมือโฆษณา มันเสียครับ
 

พอนักข่าวเริ่มมีชื่อเสียงก็จะมีโฆษณาติดต่อเข้ามา แต่ผมมองว่าเราเป็นผู้สื่อข่าว เป็นผู้ประกาศข่าว เราเป็นผู้ให้ความจริง เราไม่ใช่ผู้หลอกคนดูว่าอันนี้มันจริง คุณไปเป็นคนขายของ พรีเซนต์สินค้าแล้วบอกว่ารถยนต์คันนี้มันดี มันอาจจะไม่ดีจริงๆ ก็ได้ ถ้าคุณไปบอกสังคมแบบนั้น ผมว่าคุณไม่ใช่ผู้ประกาศแล้วล่ะ คุณเป็นคนขายของ เป็นเซลส์ เป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าไปแล้ว

ตั้งกฎไว้ตายตัวแบบนี้ อาจจะทำให้ผู้สื่อข่าวฝีมือดีๆ อยู่ได้ไม่นาน ดังแล้วก็ไป
ก็ไม่เป็นไรครับ ถ้าจะได้ดีจากที่นี่แล้วไปโด่งดังที่อื่น เพราะเราต้องการสร้างนักข่าว นักสื่อสารมวลชน ถ้าสร้างแล้วมันไม่ใช่ เขาจะเดินหน้าต่อไปก็เป็นทางของเขา อันนี้ทางเลือกที่หนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นทางเลือกที่สองครับ คือผมออกแทน (ยิ้ม) องค์กรเขาไม่รับแนวคิดนี้ ผมก็ลาออก ผมบอกผู้บริหารที่นี่แล้วเหมือนกัน ถ้าแนวคิดนี้ไม่เวิร์ค ผมก็ลาออกเหมือนกัน ผมลาออกมาตลอดชีวิตครับ
 

ก่อนหน้าผมจะมาที่นี่ ทางแกรมมี่ก็จ้างผมให้ช่วยดูแลช่อง Money Channel เพราะแกรมมี่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ ผมอยู่ได้ 5 เดือนก็ออกเพราะเขาไม่รับแนวคิดผม ผมบอกผู้ประกาศทุกคนว่าไม่ให้เป็นพรีเซ็นเตอร์ รับงานนอกหรือจัดรายการที่อื่นทั้งสิ้น ให้ตั้งใจทำงานที่ช่องนี้ให้ได้มาตรฐาน

แต่เผอิญว่าทางแกรมมี่วางระบบเอาไว้ว่า ผู้ประกาศทุกคนของช่อง เมื่อมีชื่อเสียงแล้วให้ไปทำงานข้างนอกได้ แล้วจะหัก 20 เปอร์เซ็นต์ ทำตัวเหมือนเอเยนต์ บอกว่าดังแล้วไปไหนก็ไปเลย แค่เอาตังค์มาแบ่งกันบ้างก็พอ เพราะฉะนั้น งานหลักของเขาคืองานข้างนอก ส่วนงานในองค์กรคือทำตัวให้ดังไว้แล้วกัน พอเด็กดังจะได้ดึงคนกลับมาดูทางช่องได้ ทางช่อง 3 ก็มีแนวคิดอย่างนี้เหมือนกัน ซึ่งผมรับไม่ได้ก็เลยลาออก
 

มันไม่ยากหรอกครับที่จะดัง คนเห็นออกทีวีบ่อยๆ เขาก็เข้ามาจ้างแล้ว หน้าตาดีหน่อย พูดจาคล่องแคล่วหน่อยก็ได้แล้ว มันไม่เกี่ยวกับมันสมองคิด-เขียน สืบค้นข้อมูลข่าวสาร แค่รู้จักแสดงตัว เป็นดารา-นักแสดงที่ดี ก็ดังได้แล้ว แต่ทำที่สปริงนิวส์ไม่ต้องสวย ไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่ต้องเป็นนักคิด ค้นหาความจริง เพราะต่อให้สวยหล่อเหมือนพระเอกนางเอก แต่ความคิดความอ่านทื่อๆ มันขายไม่ออกนะ



บรรยากาศของคนข่าวสปริงนิวส์
 
อะไรคือคุณสมบัติที่ผู้ประกาศข่าวพึงมี?
ผู้ประกาศข่าว = ผู้สื่อข่าว + ระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน และบุคลิกที่มีอะไรเป็นพิเศษ น่าดูน่าชม จึงได้ขึ้นมาเป็นผู้ประกาศ ผมมีมาตรฐานของผมที่ตั้งไว้ นี่ครับ (หันไปหยิบหนังสือ “The Elements of Journalism” จากกองหนังสือชื่อเดียวกันกว่าสิบเล่มขึ้นมา) มีไว้หลายเล่มเลยครับ เอาไว้แจกให้คนทำงานสื่ออ่าน
 

ผมคิดว่าหลักการสื่อสารมวลชนที่ถูกต้อง หลักโปรดักชัน และศิลปะการผลิต เป็นเครื่องมือการขายที่ดีที่สุด ไม่ต้องเสแสร้งไปทำอย่างอื่น ถ้ามันขายไม่ได้ก็ไม่ได้ ถ้าโลกต้องการดารามานั่งอ่านข่าว เหมือนทางยุโรป อ่านทีหนึ่งก็ถอดเสื้อตัวหนึ่ง เหลือแค่ยกทรง (หัวเราะ) อันนั้นก็อาจจะทำได้เพราะไม่ใช่รายการข่าวซีเรียส อย่าง ช่อง 7 ก็ทำรายการพยากรณ์อากาศ เดินกางร่มตะแล๊ดแต๊ดแต๋มาเลย ก็ถือเป็นความบันเทิง น่าดูไปอีกแบบ ถ้าไม่ซีเรียสก็ดูไป

แต่เรายังไม่ถึงจุดนั้น เราขอนำเสนอแบบไม่ต้องบันเทิงมากดีกว่า แต่ถ้าเป็นรายการบันเทิงก็อาจจะมีบ้าง เพราะถ้าจะให้ล้มกระดานหมดก็ไม่ได้ ผมเอาความคลาสสิกของความคิดเก่ามาผสมกับรูปแบบที่คนรุ่นใหม่ทำอยู่ ช่วยประคับประคองกันไป ผมก็เป็นคนรุ่นใหม่ครับ ผมเข้าใจ (ยิ้ม)

อยากลุกขึ้นมาทำรายการเองเหมือนในวันวานบ้างไหม?
ผมคงไม่ออกหน้ากล้องเป็นผู้ประกาศเองแล้วครับ เพราะเดี๋ยวคนจะมองว่า ไอ้นี่แก่แล้วยังจะอยากดังอีก (ยิ้ม) แต่สำหรับบางอย่างที่คนรุ่นใหม่ยังทำไม่ได้ อันนั้นผมอาจจะลงมือทำเอง แต่ต้องรอให้อะไรๆ เข้าที่ก่อน เช่น การลงพื้นที่ทำข่าวสืบสวนสอบสวนแบบเจาะลึก ผมเป็นคนผลิตเนื้อหา แต่คนเล่าเรื่องอาจจะไม่ใช่ผมก็ได้
 

ผมจะออกตระเวนเขียนบท หาข่าวสาร ไปกับทีมกล้อง เจาะลึกเรื่องนี้ เช่น เรื่องจำนำข้าว ดีเลวประการใด ลูกน้องผมจะได้รู้ว่า อาจารย์ที่สอนๆ เรา ทำเป็นเก่งเนี่ย ผลงานออกมาได้เท่านี้เหรอ (หัวเราะ) จะได้เห็นกัน อีกรายการหนึ่งที่ผมอยากทำคือ “ประชาธิปไตยในประเทศไทย” ผมอยากนำเสนอความเป็นประชาธิปไตยในจุดต่างๆ

“หมู่บ้านแดง” ผมอยากจะรู้ว่าพวกแดงคิดยังไง พวกแดงอ่านหนังสือ คาร์ล มาร์กซ์ หรือไม่ รู้จักสังคมนิยม เลนิน, เหมา (เจ๋อตุง) กันไหม หรือว่าเขาแดงกันแค่ไหน หรือว่า “เหลือง” คืออะไร ผมอาจจะมองเหลืองในเชิงทฤษฎี เชิงปรัชญา เปรียบเทียบเหลืองกับอังกฤษยุค Middle Age ถ้าเด็กรุ่นนี้ทำ อาจจะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง แต่ผม ผมเรียนรัฐศาสตร์มาจนได้ปริญญาเอก ผมก็จะมีวิธีถามและเอาข้อมูลมาอ้าง ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่คนรุ่นคุณคิดไม่ถึง

ข่าวโดย: ASTV ผู้จัดการ LITE
ภาพโดย: วารี น้อยใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น