xs
xsm
sm
md
lg

“Sleep Texting” โรคของคนคลั่งแชท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคภัยไข้เจ็บหรืออาการเจ็บป่วยของคนในยุคนี้ นับวันยิ่งมีแต่ความแปลกประหลาดมากขึ้น อย่าง "Sleep Texting" โรคที่เกิดในกลุ่มคนที่ติดการแชทหรือติดการพิมพ์โต้ตอบในโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ ลักษณะอาการของโรคนั้นคล้ายคลึงกับคนละเมอ ทั้งที่กำลังหลับแต่ก็ยังแชทอยู่ ถึงแม้โรคนี้จะไม่ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากละเมอเผลอกดส่ง ผิดคน ผิดเวลาก็น่าเป็นห่วง!!

ในปัจจุบัน ใครๆ ก็ต่างมีโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน อยู่ข้างกายคล้ายเป็นอวัยวะอีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว เพราะไลฟ์สไตล์ของคนทุกวันนี้เรียกได้ว่าจะต้องสื่อสารกับผู้คน หรือติดตามข่าวสารอยู่ตลอดทุกเวลา ทุกนาที ไม่ว่าจะ Facebook, Twitter, Line, Instagram ซึ่งขณะนี้กำลังกลายเป็นปัญหาในหมู่วัยรุ่นชาวอเมริกันเป็นจำนวนมาก กับอาการที่เรียกว่า Sleep Texting

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยวิลลาโนวาในสหรัฐฯ พบว่า Sleep Texting เป็นอาการชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการพิมพ์ข้อความแชทในมือถือของผู้ที่เข้าขั้นคลั่งการแชทเป็นชีวิตจิตใจ โดยจะส่งข้อความตอบกลับทุกครั้งที่ได้รับข้อความใหม่เข้ามา แม้กระทั่งในยามหลับใหลก็ตาม ดังนั้นเมื่อได้ยินเสียงข้อความส่งเข้ามา ร่างกายและระบบประสาทจะตอบสนองด้วยการหยิบมือถือมาแล้วพิมพ์ข้อความตอบกลับไปในทันที ซึ่งสภาพของผู้ใช้ในขณะนั้นจะอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น เป็นเหตุให้เมื่อตื่นขึ้นมาตัวเองจะจำอะไรไม่ได้ว่าทำอะไรหรือพิมพ์อะไรไปบ้าง

ส่วนมากข้อความที่ถูกส่งไปในขณะที่ยังหลับนั้น มักจะเป็นข้อความที่ไม่สามารถจับใจความได้ เป็นคำที่ไม่มีความหมาย ไม่เหมาะสม หรือไม่ตั้งใจ อย่างเช่น การส่งข้อความบอกคิดถึงคนรักเก่า เนื่องจากไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดใดๆ ก่อนที่จะพิมพ์ข้อความตอบกลับไปยังปลายทาง แน่นอนว่าปัญหานี้ได้ก่อผลร้ายต่อสุขภาพ เพราะเป็นการรบกวนการนอนหลับ ทำให้นอนไม่เต็มอิ่ม นำมาซึ่งสภาพร่างกายที่อ่อนแอ เกิดภาวะซึมเศร้า และเกิดโรคอ้วนตามมา รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนหรือการทำงานด้วย

แนวทางการป้องกันโรค Sleep Texting แบบง่ายๆ นั่นคือก่อนจะเข้านอนควรปิดโทรศัพท์ หรืออีกวิธีคือปิดเสียงและการสั่นเตือน ซึ่งจะดียิ่งขึ้นถ้าปิดสัญญาณ WiFi และ 3G ไปเลย เพื่อไม่ให้รบกวนเวลานอนหลับพักผ่อน และร่างกายจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่ถ้าหากใครกำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ เพียงแค่อยู่ให้ห่างจากโทรศัพท์มือถือเสียบ้าง อย่างน้อย 4 วัน อาการก็จะเริ่มดีขึ้นและหายในที่สุด นอกจากนั้น Dr. David Cunnington จาก Melbourne Sleep Disorder Centre in Australia ยังแนะนำอีกว่าให้วางโทรศัพท์มือถือไว้นอกห้องนอน และให้ความสำคัญกับการนอนเมื่อถึงเวลานอน

เรียบเรียงจาก เดลิเมล


กำลังโหลดความคิดเห็น