xs
xsm
sm
md
lg

"3 จังหวัดชายแดนใต้" เรื่องดี ๆ ที่นี่ก็มีนะ..

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็น "สัญลักษณ์" ความรุนแรงในสายตาคนไทยนอกพื้นที่ไปแล้ว สำหรับ "3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่สื่อต่าง ๆ หยิบยกประเด็นความโหดร้าย และความสยดสยองมานำเสนออย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่า ข่าวในลักษณะนี้กระทบจิตใจคนอ่าน และเรียกร้องความสนใจมากกว่าเรื่องดี ๆ ทว่าสิ่งที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อ เสมือนย้ำเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้คนนอกพื้นที่หวาดกลัวจนไม่กล้าลงไปสัมผัส แต่ในความจริงแล้ว พื้นที่ดังกล่าวยังมีวิถีชีวิตและมุมสวย ๆ ที่ใครอีกหลายคนไม่รู้

มุมอบอุ่น ผ่านคำคนในพื้นที่

ทุกครั้งที่ได้ยินข่าว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามักจะเห็นการถ่ายทอดแค่ว่ามีคนเจ็บคนตายหรือการสูญเสีย ทำให้สังคมก่นด่าผู้ก่อความไม่สงบ และเกิดภาพลบติดตาประชาชนตลอดมา แต่ถ้าลองมองมุมกลับ ปรับมุมมอง เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพียง 1 จุดเล็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลาย ๆ อย่างในจ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่รอให้คนนอกพื้นที่ได้เข้ามาสัมผัส

อาเรฟ (ขอสงวนนามสกุล) วัย 26 ปี คนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ท่ามกลางพื้นที่เสี่ยงอันตรายจากผู้ก่อความไม่สงบ หลังจากที่ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ได้พูดคุยกับเขา ทำให้ทราบว่า เขาและครอบครัวไม่มีทางเลือกที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่น จึงต้องปรับตัวและดำรงชีวิตอยู่ต่อไป โดยเขาให้เหตุผลว่า ครอบครัวคือสิ่งเดียวที่เขาต้องอยู่ที่นี่ แม้จะอยากเดินทางตามความฝันในกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายก็เลือกทำงานแถวบ้าน

"การได้มาทำงานในพื้นที่ เพราะอยากทำงานอยู่ใกล้ ๆ บ้าน อยากอยู่กับครอบครัว ถ้าเราไปทำงานที่อื่น พ่อแม่คงไม่สบายใจ ตื่นเช้ามาได้กินข้าวฝีมือแม่ กลับจากทำงานได้เห็นหน้าครอบครัว ก็มีความสุขแล้ว แม้เงินเดือนจะน้อย เราก็อยู่ได้ ตอนจบใหม่ๆ อยากไปทำงานนักข่าวที่กรุงเทพฯ มากเลยนะ แต่ทำงานในพื้นที่สบายใจกว่า"

"ทุกวันนี้ ผมและครอบครัว รวมไปถึงคนในพื้นที่อยู่กันอย่างปกติดี แม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย หรือที่เรียกกันว่า พื้นที่สีแดง แน่นอนว่าความกลัวคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเราทุกคน สิ่งที่ทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะว่าที่นี่คือบ้านของเรา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราย่อมรู้ดีว่าต้องแก้ไขอย่างไร" อาเรฟเล่า

เมื่อถามถึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ อาเรฟ เล่าว่า คนส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม การดำเนินชีวิตก็จะต้องอยู่ในกรอบของศาสนา เช่น ต้องละหมาด 5 เวลา ต้องถือศีลอด ต้องเรียนศาสนาควบคู่สามัญ โดยอาศัยหลักของการเกื้อกูลกัน

"ถ้าอยากเห็นมุมดีๆ ภาพสวย ๆ ต้องตื่นเช้าๆ เราจะพบพระมาบิณฑบาต ขณะเดียวกันก็จะเห็นคนมุสลิมมาละหมาด ต่างคนต่างใช้ชีวิตของตนเอง มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน"

ร่ำรวยวัฒนธรรม-แหล่งท่องเที่ยว

นอกจากนั้น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวที่รอคอยให้คนนอกพื้นที่เข้ามาสัมผัสอีกมากมาย ทั้งของไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยคริสต์ และไทยจีน ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และยินดีต้อนรับคนนอกพื้นที่เข้ามาเรียนรู้ และช่วยกันส่งเสริม

"อยากจะบอกว่า 3 จังหวัดมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย แต่ปัจจุบัน แทบไม่มีคนต่างจังหวัดมาเที่ยวเลยจะมีก็แต่คนในพื้นที่ที่ชอบมาเที่ยว บ้านผมมีทะเลหาดนราทัศน์ น้ำตกปาโจ มัสยิด 300 ปี ด่านชายแดน พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล เป็นต้น ถามว่าแล้วใครจะมา พื้นที่อันตรายทั้งนั้น เอาง่ายๆ ทุกพื้นที่ อันตรายทั้งนั้น แม้ว่าพื้นที่นั้นจะปลอดภัย แต่ถ้าจะให้แนะนำ มาเส้นถนนสายเอเชียก็ไม่น่ากลัวเท่าไร แต่สถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ติดถนนใหญ่ทั้งนั้นนะ" อาเรฟให้ความมั่นใจแก่คนนอกพื้นที่ พร้อมกับเชิญชวนต่อว่า

"อยากให้คนต่างจังหวัดมาเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เยอะ ๆ คนในพื้นที่ยังต้องการกำลังใจจากคนไทยเสมอ อีกอย่างจะได้ช่วยกระตุ้นเศษฐกิจในพื้นที่ด้วย"

เช่นเดียวกับ ล่าว หนุ่มใต้วัยทำงาน ผู้มีบ้านเกิดอยู่ใน จ.ปัตตานี บอกว่า อีกมุมที่สื่อไม่ค่อยนำเสนอก็คือ สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญทางศาสนา เช่น อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว วัดช้างให้ หรือวัดราษฎร์บูรณะที่คนในพื้นที่นิยมไปนมัสการหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดซึ่งถือเป็นสุดยอดแห่งพระนิรันตรายเมืองใต้ หรืออ.เบตง ในตัวจ.ยะลา ซึ่งนับได้ว่าเป็นเมืองในเขาที่สวยงาม มีทั้งสวนดอกไม้เมืองหนาว วัฒนธรรมพื้นเมืองต่าง ๆ มากมาย

ทางด้านเศรษฐกิจก็เป็นอีกสิ่งที่น่าจับตามอง โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานข่าวพบว่า ราคา "ที่ดิน" มีการปรับตัวสูงมาก เนื่องจากมีนักลงทุนทั้งชาวไทยมุสลิม และนักลงทุนต่างชาติชาวมุสลิม ซึ่งมีที่ดินบางส่วนถือครองไว้แล้ว มาซื้อเพิ่มเติม เพื่อรองรับการทำธุรกิจที่จะรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน นี่คือเครื่องพิสูจน์ได้ว่า แม้ว่าจะมีปัญหาความไม่สงบ แต่ก็เป็นจุดยุทธศาสตร์ ทั้งด้านศาสนา การปกครอง เศรษฐกิจ ในการเป็นประตูเชื่อมโยงไปสู่เออีซีทางด้านใต้

ซัด "สื่อ" อคติ เสนอมิติเดียว

ลึกลงไปถึงภาพลบที่มีต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ "สื่อ" คือสิ่งที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ทำไมไม่นำเสนอมุมอื่น ๆ เพื่อคลี่คลายปัญหาบ้าง ไม่แปลกว่าทำไมสังคมแทบไม่ค่อยได้รับรู้ข่าวสารในมิติอื่นๆ ของผู้คนในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เป็นต้น

"ส่วนตัวมองว่า สื่อมีส่วนมากจริงๆ วันก่อนที่มีเหตุการณ์ระเบิดปัตตานีหลายจุดมีสื่อช่องหนึ่งตอนเช้าๆ เสนอข่าวไปว่าคนร้ายพยายามจะเผาเมืองทั้งเมือง ผมฟังนี่อึ้งไปเลย ตอนนั้นอยู่ปัตตานี สาบานเลยว่า เหตุการณ์ปกติ" อาเรฟเผย และสะท้อนถึงผลกระทบจากการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ว่า

"เอาง่ายๆ ถ้าคนนอกพื้นที่ฟัง แล้วกำลังจะมาเที่ยวปัตตานี สงสัยคงเลิกมา ทั้งที่จริงมันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย พื้นที่ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่เขาแบ่งโซนเรียบร้อยแล้ว อีกอย่างสื่อชอบเสนอข่าวแต่ความรุนแรงนะ ชอบเสนอแบบว่า เกิดเหตุที่ไหน ตายกี่ศพ เสนอมุมมองด้านเดียว ตอนเกิดเหตุการณ์ถล่มค่ายทหาร ที่มีคนร้ายตาย 16 คนสื่อชอบใส่ไฟ ให้คนมองว่าคนมุสลิม ชอบใช้ความรุนแรง และจะเหมารวมระหว่างโจรกับอิสลามซึ่งมันไม่ใช่ โจรก็คือโจร ศาสนาก็คือศาสนา"

"ดังนั้น ถ้าอยากดูแบบสร้างสรรค์ต้องไทยพีบีเอส ช่องนี้เสนอสามจังหวัดมุมดีๆ มากมาย อย่างเช่นเรื่องฟุตบอล เวลาทีมนราธิวาส ลงแข่งก็จะมีคนมาเชียร์มากมาย ล้นสนาม เขาก็จะมาทำสกู๊ปว่าทำไมคนเยอะ แล้วมาเชียร์กันเยอะๆ ไม่กลัวเหรอ หรือไม่ก็นำเสนอบุคคลที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ หรือไม่ก็พวกศิลปินพื้นบ้าน อะไรประมาณนี้" อาเรฟบอก

ด้าน ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารหัวใจเดียวกัน นิตยสารเกี่ยวกับเรื่องราววิถีชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ในเรื่องเดียวกันนี้ว่า หลังจากสื่อกระแสหลักนำเสนอข่าวสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มาโดยตลอด ซึ่งละทิ้งแง่มุมสวยงาม ก่อให้เกิดการตอกย้ำภาพความรุนแรงให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีพื้นที่สำหรับสิ่งสวยงาม ในฐานะที่เป็นคนนราธิวาส เชื่อว่าบ้านเกิดของตนเอง และคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังรักและสามัคคีกันอยู่ภายใต้ศรัทธา ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่แตกต่างกัน

แช่มชื่นรื่นรมย์..ที่ชายแดนใต้

เป็นอีกหนึ่งสีสันที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย กรณีผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ เดินทางไปเก็บตัวที่จังหวัดปัตตานี เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 23-25 มี.ค. 2556 ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างหนาแน่น งานนี้ "ณวัฒน์ อิสรไกรศีล" ผู้จัดการประกวดฯ พร้อมเหล่าสาวงามเดินทางไปทำกิจกรรมในสถานที่สำคัญหลาย ๆ แห่ง

ไม่ว่าจะเป็น ชุมชนท่องเที่ยวทรายขาว อ.โคกโพธิ์ หลังจากนั้นก็พาไปเอาฤกษ์เอาชัยโดยการไปนมัสการหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ หรือ วัดราษฎร์บูรณะ พร้อมกับเยี่ยมคารวะและสนทนาธรรมขอพรจาก ท่านเจ้าคุณสุนทร ปริยัติพิธาน หรือที่ชาวปัตตานีเรียกว่า "พ่อท่านหยวน" เจ้าอาวาสวัดช้างให้ จากนั้นเดินทางต่อไปนมัสการและขอพรจากองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

แม้จะอยู่ท่ามกลางพื้นที่ที่เสี่ยงอันตรายจากผู้ก่อความไม่สงบ แต่บรรดาสาวงามผู้เข้าประกวดก็ไม่หวั่น ยังโชว์ยิ้มสวยและกล่าวทักทายและขอบคุณชาว จ.ปัตตานี ที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งเป็นมิตรไมตรีที่ไม่มีวันลืม

"การทำกิจกรรมตรงนี้ ชัดเจนกับการประกวด และเราก็อยากไปจริงๆ สิ่งที่ทำมันจะไม่ได้ทำให้เห็นว่ามันไปทำให้คนในปัตตานีดีขึ้น แต่สิ่งที่เขาน่าจะได้คือกำลังใจ อย่างน้อยๆ 3-4 วันที่ลงไปคาดหวังว่าจะเป็นภาพบวกผ่านสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือโทรทัศน์ให้มากที่สุด ให้คนทั่วประเทศเขาได้รู้สึกว่า ไม่ใช่ปัตตานีขึ้นหน้า 1 จะมีแต่ข่าวระเบิดหรือยิงคนตาย" ณวัฒน์ให้เหตุผลเพราะอยากให้กำลังใจคนปัตตานี และอยากให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของการประกวด รวมไปถึงการประกวดเวทีระดับโลกที่เจ้าตัวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ในการประกวดของนางงามคือ STOP THE WAR

เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แม้จะยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 8 ปี และไม่รู้จะจบลงเมื่อไร แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ตอนนี้คือภาพความสุขเล็ก ๆ ของคนในพื้นที่ รวมไปถึงสภาพจิตใจซึ่งนับได้ว่าเข้มแข็ง และพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเผชิญต่อไป แต่พลังเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดกำลังใจ และความเข้าใจจากคนไทยทุกคน

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



มัสยิด 300 ปี จ.นราธิวาส
หาดนราทัศน์ จ.นราธิวาส


สวนดอกไม้เมืองหนาว จ.ยะลา
อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว จ.ปัตตานี
กำลังโหลดความคิดเห็น