xs
xsm
sm
md
lg

ลบโหวตค้าน “นิรโทษกรรม” ดราม่ารัฐสภาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังเปิดให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์ลงความเห็นเรื่องพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ด้วยการโหวตผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “รัฐสภาไทย” หลังนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ดูเหมือนการโยนหินถามทางครั้งนี้จะไปได้ด้วยดี แต่จู่ๆ กลางดึกของคืนวันที่ 10 มีนาคม โพลโหวตนี้กลับถูกอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย !?? หลังปรากฏคนเห็นค้านมากกว่า

เปิดโหวต “นิรโทษกรรม”

อีกหนึ่งวาระสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ สำหรับเรื่องการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่หวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนประเทศและทำให้บ้านหลังนี้ได้กลับมาสงบสุขปรองดองดังเดิม แต่ในความเป็นจริง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ยิ่งสร้างรอยร้าวและความแตกแยกให้มากกว่าเดิม เพราะมีหลายฝ่ายที่เห็นต่าง มีการคัดค้าน แต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้าที่จะออกพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไปแบบไม่สนใจเสียงของประชาชน

โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม เพจเฟซบุ๊กรัฐสภาไทย ได้มีการเปิดให้ลงความเห็นผ่านการกดโหวต ในหัวข้อ “ท่านเห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่” เพื่อเป็นการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 42 คน ยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำไปบรรจุไว้ในวาระการประชุมสภาฯ

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ยังมีการเผยภาพ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจาก นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พร้อมกับเพื่อน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำผิดเนื่องจากชุมนุมทางการเมือง และคลิปวิดีโอการให้สัมภาษณ์ของประธานสภาด้วย

แอบลบโพล หลังโหวตแห่ค้าน

แต่แล้วก็เกิดเรื่องดรามาขึ้น หลังเปิดให้ได้โหวตว่า “ท่านเห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่” ทางหน้าเพจเฟซบุ๊กของรัฐบาลไทย มาตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ผ่านไปจนมาถึงวันที่ 10 มีนาคม ช่วงเวลาประมาณ 23.00 น.ก็เกิดหายไปอย่างลึกลับ ไม่สามารถกดโหวดได้อีก สร้างความงุนงงให้แก่ประชาชนที่ยังไม่ได้ไปลงคะแนนโหวต เพราะไม่ได้มีการระบุไว้ว่าจะปิดโหวตในเวลาใด

โดยก่อนโพลโหวตนี้จะถูกลบทิ้งไป ทางเพจเฟซบุ๊กสายตรงภาคสนามได้เก็บภาพเอาไว้ก่อน ในช่วงเวลาประมาณ 22.50 น.โดยมีผู้กดเห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำนวน 2,341 คน ขณะที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวน 7,455 คน และอีกภาพหนึ่งซึ่งน่าจะถูกบันทึกไว้หลังเพจเฟซบุ๊กสายตรงภาคสนามไม่กี่นาที ก็ปรากฏว่ามีผู้เห็นด้วย 2,362 คน และผู้ที่ไม่เห็นด้วย 8,437 คน

อย่างไรก็ตาม การลบโพลโหวตออกไปแบบเงียบๆ นั้น โดยไม่มีการออกมาระบุเวลาปิดโหวตอย่างชัดเจนทำให้ประชาชนบางส่วนบนโลกออนไลน์เกิดความไม่พอใจ ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างต่างนานาในเชิงลบ รวมไปถึงเกิดความคลางแคลงใจต่อรัฐสภาไทยที่อาจร่วมขบวนการกลายเป็นขี้ข้าทักษิณ เมื่อประชาชนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พอยอมรับความจริงไม่ได้ก็ลบทิ้งกันเสียดื้อๆ

โดยในขณะนี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงลิ้งค์หรือเนื้อหาโพลการโหวตนี้ได้เลย แม้กระทั่งผลการโหวตที่เป็นทางการจากรัฐสภาไทยเองก็ยังไม่ปรากฏวี่แวว จึงเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐสภาขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก รวมทั้งถูกกดดันให้โชว์ผลโพลอีกครั้งเพื่อความโปร่งใส ซึ่งนอกจากคำวิพากษ์วิจารณ์แบบดุเด็ดเผ็ดมันแล้ว ทางเพจขบวนการเสรีไทยเฟซบุ๊ค ก็ได้ทำโพลเปิดให้โหวตกันเองในคำถามเดิมและผลก็ออกมาในแบบเดิมว่า จำนวนคนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้นยังคงมีมากกว่า

นี่หรือคือประชาธิปไตย??

แน่นอนว่าพฤติการณ์เช่นนี้ไม่ชอบมาพากล และสร้างความสงสัยให้แก่ประชาชนอย่างมากว่า เหตุใดจึงต้องลบผลการโหวตด้วย แล้วยิ่งความเก่าเรื่องโพลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถูกซื้อ จนได้โพลเอียงข้างกะเท่เร่ แล้วก็พลิกโผ หน้าแหกแบบหมอไม่รับเย็บ พอเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันขึ้นอีก ประชาชนจึงยิ่งรุมสับเละ

“ตลกดีนะครับ ปากก็บอกรัฐบาลเป็นประชาธิปไตยแล้วทำไมถึงลบสิ่งที่ประชาชนโหวตแบบประชาธิปไตย พอเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกลับลบสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความคิดเห็นพวกตัวเอง”

“จะมีแย่กว่านี้อีกไหมครับเนี่ย ก่อนหน้านี้ไม่แจ้งกำหนดการโหวต ไม่แจ้งระยะเวลา แอบโหวดกันลับๆ พอคนมารู้เข้า ผลโหวตคนกลับไม่เห็นด้วย ก็ลบออกจาก timeline พอคนถามถึงระยะเวลาการแจ้งก็เพิ่งมาบอกเอาวันสุดท้าย”

“ถ้าระบุเวลาชัดเจนตั้งแต่แรกจะฟังขึ้นกว่านี้ครับ แบบนี้เหมือนไม่ถูกใจมากกว่า”

“โหวตนิรโทษฯ ที่ไหน กล้าให้โหวตเมื่อไหร่กรุณาบอกด้วยอย่างุบงิบ จะโหวตไม่เห็นด้วย”

“ลบผลโพลทำไมครับ รับไม่ได้หรอครับ ผมคนนึงก็ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม คนผิดต้องได้รับโทษครับ ไม่ใช่ยกโทษให้”

“ทำไมทำแบบนี้ละท่าน สรุปเพจนี้ของรัฐสภาจริง หรือเพจส่วนตัวคะ ถ้าแอบอ้างจะได้แจ้งไอซีทีให้ตรวจ ทำเหมือนเด็กเล่นขายของเลยค่ะ ไม่เข้าใจเลย เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ทำเหมือนเล่นขายของเลยค่ะ”

“ผลที่โหวตก็มาจากเสียงของประชาชนชาวไทย ได้ดั่งใจก็นำไปป่าวประกาศ ไม่ได้ดั่งใจปิด ลบทิ้ง ไม่ให้ผู้อื่นรับรู้ นี่หรือประชาธิปไตย??”

โดยหลังลบโพลโหวตไปได้ไม่นานนัก ทางหน้าเพจเฟซบุ๊กรัฐสภาไทยก็ออกมากล่าวชี้แจงแค่เพียงว่า “นักวิจัยจะเก็บรวบรวมข้อความที่ท่านโพสต์และทุกความคิดเห็นเรียกว่าMentionครับแล้วนำมาวิเคราะห์แยกตามกลุ่มอายุ อาชีพ การศึกษา และภูมิศาสตร์ โดยที่ทุกความคิดเห็นเป็นประโยชน์ครับ ...จากทีมงานวิจัยเชิงลึก” และ
“การสำรวจโพลบนเฟสบุคส์เป็นการทำวิจัยแบบSocial media monitoring research ซึ่งฝังคำถามไว้มากกว่า30แห่งในโลกออนไลน์เพื่อทำseeding เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึก ดังนั้น ผลที่ท่านเห็นต้องรวบรวมจากทุกจุดแล้วมาวิเคราะห์ครับ ซึ่งจะเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7 - 10 มีนาคม ...ทีมงานวิจัยเชิงลึก” ซึ่งก็ไม่ได้คลายความสงสัยให้แก่ประชาชนและไม่ได้ช่วยลดข้อครหาว่าเรื่องนี้มีลับลมคมในแต่อย่างใด

รวมถึงเมื่อวานนี้เอง (11 มีนาคม) หลังจากที่ เจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่1 ได้เชิญตัวแทนจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และคู่ขัดแย้งทางการเมืองเข้าหารือเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่รัฐสภาในเวลา 11.00 น.นั้น ปรากฏว่า มีตัวแทนเพียง 4 ฝ่ายจาก 10 ฝ่ายที่เชิญไป ประกอบด้วยฝ่ายทหาร พรรคเพื่อไทย กลุ่ม นปช. และกลุ่มผู้ประกอบการราชประสงค์ เข้าร่วมเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม พธม. และกลุ่มญาติที่สูญเสียชีวิต ฯลฯ เข้าร่วมแต่อย่างใด

ความจริงย่อมเป็นความจริงวันยังค่ำ และยิ่งนานวันกาลเวลาก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ใครดี ใครชั่ว อันไหนแท้ อันไหนเทียม ถ้าไม่กลัวความจริง กระบวนการถูกต้องโปร่งใส ต้องยอมรับและเคารพในเสียงของประชาชนว่า ณ ขณะนี้ เสียงส่วนใหญ่ของประเทศล้วนไม่ต้องการพ.ร.บ. นิรโทษกรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนเลว

เดอะสภา ท้าโหวต

หรือไม่ได้   ดังใจคิด   รีบปิดโหวต
รัฐสภา   แมนโคดโคด   ให้โจษลั่น

คนต่อต้าน   นิรโทษ   โหวตลายพัน
คนหงุดหงิด   ปิดกั้น   มันเสียเลย

อยากทำแบบ   เดอะสตาร์   ท้าให้โหวต
แต่พอไม่  เป็นประโยชน์   ก็ปิดเฉย

โอ้ประชา   ธิปไตย   กระไรเลย
ทำอะไร   กันเหวย   ไม่เคยชิน

ร่างปรองดอง   จะมี   สักกี่แบบ
มันก็มี   อะไรแอบ   แทบทั้งสิ้น

คือล้างผิด   ให้นักโทษ   โปรดได้ยิน
จะมีคน   พลัดถิ่น   บินกลับมา

P.khondee (พี่คนดี กวีสมัครเล่น)
11 มีนาคม 2556


ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live







กำลังโหลดความคิดเห็น