“ตรุษ” ตรงกับความหมายว่า เริ่มต้น วันตรุษจีน หรือวันปีใหม่ของชาวจีนซึ่งตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ จึงมีความหมายเสมือนวันเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เป็นวันฉลองปีใหม่ของชาวจีนที่เต็มไปด้วยความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
กับตรุษจีนปี 2556 นี้ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ใกล้เข้ามาทุกที เสียงประทัด ควันธูป และพิธีไหว้เจ้า คือบรรยากาศที่อยู่คู่กับช่วงเทศกาลอันเป็นสิริมงคลนี้
ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความนับถือในบรรพบุรุษ เทพเจ้าแห่งโชคลาภต่างๆ มีอยู่ในประเพณีของชาวจีนมาอย่างช้านาน
แต่กับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในวัฒนธรรมอันหลากหลายอาจหลงลืมประเพณีเหล่านี้ไปแล้ว มาวันนี้ลองมองเบื้องหลัง รากความเชื่อของประเพณีปฏิบัติในวันตรุษจีน เพื่อเสริมดวงและความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิตในตลอดปีที่จะถึงนี้
เท่านั้นยังไม่พอ ยังแถมด้วยทริปเล็กๆ เที่ยวไหว้ศาลเจ้าunseen อายุเกิน 100 ปีที่ลูกหลานชาวจีนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ศาลเจ้าเก่าแก่แบบที่หลายสิ่งหลายอย่างยังคงเป็นแบบนั้นอยู่จากเมื่อ 100 ปีก่อน มองให้เห็นถึงความเป็นมา มองให้เห็นถึงตัวตนบรรพบุรุษจีน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ไม่หลงลืมว่ารกรากตนเองนั้นคือใคร
เครื่องเซ่น - ไหว้เจ้า ประเพณีปฏิบัติที่อาจหลงลืม
ปฏิทินปีใหม่ตามหลังฮวงจุ้ยนั้น อาจารย์มาศ เคหาสธรรม ซินแสไฮเทคเผยว่า คือวันที่ 22 ธันวาคม เป็นวันผลัดเปลี่ยนปีที่วันจะสั้นที่สุด ส่วนเทศกาลตรุษจีนนั้นเกิดจากการเปลี่ยนราชวงศ์ทำให้มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงกับช่วงที่จะสามารถเฉลิมฉลองได้ นั่นคือวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติซึ่งตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลินั่นเอง
ตรุษจีนนั้นเรียกว่าเป็นเทศกาลตรุษจีน เพราะกินเวลาในการเฉลิมฉลองหลายวัน หากจะเริ่มนั้นก็ต้องเริ่มตั้งแต่วันจ่ายซึ่งก็คือวันที่จับจ่ายซื้อของมาไหว้เจ้า อาจารย์มาศเผยว่า โบราณจะจ่ายซื้อของมาก่อน4 วัน แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม โดยของที่จัดสามารถถวายได้ตามแต่เงินในกระเป๋าแบ่งออกเป็น “ซำเซ็ง” ประกอบด้วย เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง “ซาแซ” เพิ่มเนื้อสัตว์ 3 อย่างโดยต้องถวายทั้งตัวรวมถึงเครื่องในด้วย และ “โหวงแซ” สำหรับผู้มีฐานะก็จะเพิ่มตับเพิ่มปลาเข้าไปด้วย
ประเพณีไหว้จะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 9 หรือวันส่งท้ายปีเก่า โดยจะเริ่มไหว้เทพเจ้าต่างๆ “ป้ายเล่าเอี๊ย” จากนั้นก็จะกลับมาที่บ้านพ่อแม่เพื่อมารวมตัวกันไหว้บรรพบุรุษ โดยเซ่นไหว้อาหารที่ผู้ล่วงลับชอบรับประทาน
“แต่เดี๋ยวนี้คนก็จะไหว้สิ่งที่คนมาไหว้ชอบรับประทานเพราะจะได้กินกันต่อได้เลย”
จากนั้นก็เผาเงินทองกระดาษส่งให้ มาถึงสมัยนี้ก็มีการเผาไอแพดกระดาษ เผาแพกเกจทัวร์กระดาษด้วย หลังจากนั้นก็จะร่วมกันรับประทานอาหารที่นำมาเซ่นไหว้ หากเหลือก็จะแบ่งกันนำกลับบ้าน ในวันนั้นยังมีการให้อั่งเปา (ซองแดง)
“โดยคนที่ทำมาหากินมีกินเยอะก็จะถือโอกาสให้เงินกับคนที่อาจจะยังไม่ได้ทำงาน หรือเด็กๆ อั่งเปานี้เรียกอีกอย่างว่า แต๊ะเอีย มาจากเงินสมัยก่อนที่จะมีรูอยู่ตรงกลาง และคนจีนจะพกโดยการร้อยกับเชือกไว้ที่เอว เด็กที่อยากได้อังเปาหรือเงินก็จะมาแตะที่เอว จึงเรียกกันว่า แต๊ะเอีย”
เงินที่ให้นั้น ตามความเชื่อโบราณจะให้ในจำนวนที่หารด้วยเลข 4 ลงตัวอย่าง 40, 400, 1,200 เพราะเชื่อว่าเลข 4 เป็เลขมงคล ต่างจากสมัยนี้ที่ 4 ตรงกับเสียงในภาษาจีนที่แปลว่าตาย จึงกลายเป็นเลขอัปมงคลไป
“ช่วงบ่ายก็จะเริ่มไหว้วิญญาณสัมภเวสี หรือผีไร้ญาติ เรียกว่า “ป้ายฮ่อเฮียตี๋” ซึ่งคนจีนจะนับถือผีไร้ญาติเหมือนเป็นพี่น้อง โดยจะไหว้ขนมเทียน ขนมเข่ง กระดาษเงิน กระดาษทอง”
จากนั้นจะเป็นการจุดประทัดเพื่อไล่เสนียดจัญไร ตามความเชื่อโบราณนั้นหากผ่านพ้นปีมีใครป่วยจะเชื่อว่า เกิดจากผีพลังประจำปี จึงมีการจุดประทัดเพื่อขับไล่ผีในปีนั้นๆ ให้ออกไป
“ปีนี้ก็ต้องระวังการจุดประทัดหากจุดในทิศไม่ดี ก็จะยิ่งกระตุ้นพลังร้ายได้ ของปีนี้ให้จุดในทิศใต้กับทิศตะวันตกของบ้าน”
ตกค่ำรอเวลา อาจารย์มาศระบุว่า หลังเที่ยงคืนจะเริ่มไหว้ “ไฉ่ซิงเอี๊ย” เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ซึ่งช่วงเวลานั้นถือเป็นยามแรกของปีใหม่ โดยพลังของปีนี้จะมาทางทิศตะวันตก ให้ตั้งโต๊ะไหว้กลางแจ้งหันหน้าของคนไหว้ไปทางทิศตะวันตกเพื่อรับพลัง
พอขึ้นวันที่ 10 วันตรุษจีนถือเป็นวันชิวอิกหรือวันเที่ยว คนจีนจะแวะไปเยี่ยมพี่น้องโดยเอาส้มไปให้ ส้มนั้นภาษาจีนออกเสียงว่า กิก ตรงกับความหมายว่าความสุข ในวันนั้นก็จะพูดแต่สิ่งมงคล อวยพรให้กัน “ซินเจี่ยยู่อี่ ชิงนี้หวกไช้” เป็นคำพูดที่พี่น้องชาวจีนอวยพรให้แก่กันตลอดวันนั้น
“และในวันนั้นถ้าไม่ได้ไปไหนก็จะมีการชักชวนกันเล่นพนันเล็กๆน้อยๆเพื่อทดสอบโชค หากเล่นแล้วได้ก็แปลว่า ปีนั้นจะมีแต่โชคไปตลอดปี
“จากนั้นอาจมีการจุดประทัดอีกครั้งเพื่อกระตุ้นโชค ปีนี้ควรจุดเวลา12.49น.-13.00น. ทางทิศใต้ของบ้าน”
ในวันเที่ยวของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ก็จะหยุดยาวถึง 15 วันและปิดท้ายด้วยเทศกาลโคมไฟ ขณะที่ชาวจีนในประเทศไทยจะหยุดกันเพียง 3 วันเท่านั้น
เข้าศาลเจ้าต้องทำพิธีอย่างไร?
สำหรับคนยุคใหม่ที่ไม่คุ้นชินกับการเข้าศาลเจ้านั้น อาจารย์จิตรา ก่อนันทเกียรติ นักสะสมความรู้ด้านวัฒนธรรมจีนเล่าถึงประเพณีปฏิบัติโดยย่อๆ ถึงการเข้าศาลเจ้าว่า แต่ละศาลเจ้าก็จะมีขั้นตอนและพิธีที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย หากแต่มีทำเนียมปฏิบัติในแนวเดียวกัน
โดยทุกศาลเจ้าจะมีธูปและกระดาษเงินกระดาษทองไว้ให้บริการสำหรับคนที่มาไหว้ ซึ่งบางแห่งสามารถทำบุญค่าธูปได้ตามแต่ศรัทธา แต่บางแห่งก็อาจตั้งราคาตายตัวไว้ โดยแต่ละศาลเจ้ามักจะมีการนับจำนวนธูปไว้ให้แล้วว่า มีเทพเจ้ากี่องค์และต้องใช้ธูปไหว้กี่ดอก อย่างไรก็ตาม บางศาลเจ้าก็อาจมีพ่อค้าแม่ค้าที่ตั้งสุ้มขายธูปเทียนพร้อมเครื่องกระดาษและของไหว้อื่นๆ เช่น ส้ม ซาลาเปา น้ำตาล น้ำมันตะเกียง ฯลฯ
“เมื่ออธิษฐานแล้วก็เริ่มต้นปักธูปในกระถางธูปซึ่งหลายๆ ศาลเจ้ามีป้ายบอกจุดที่ไหว้ แต่ละแห่งก็มีจุดไหว้ที่แตกต่างกัน บางศาลนิยมให้ไหว้ “ทีกง” หรือเทพฟ้าก่อน บางศาลสะดวกให้ไหว้เจ้าในศาลก่อน”
เธอเล่าต่อว่า กระถางของเทพเจ้าหลักมักเป็นกระถางใหญ่ และมีกระถางของเทพเจ้าอื่นๆ โดยมากปักธูปกระถางละ 3 ดอก ส่วนเจ้าที่ “ตี่จู่เอี๊ย” บางศาลอาจปัก 5 ดอก และบางศาลให้ปักธูปสำหรับเจ้าประตูข้างละ 1 ดอก และหากมีการไหว้ชุดกระดาษเงินกระดาษทองก็นำไปเผาที่เตาซึ่งจะมีอยู่ในทุกศาลเจ้า
จากนั้นขั้นตอนสุดท้ายคือลาของที่นำมาไหว้ โดยสามารถนำกลับไปรับประทานให้เป็นสิริมงคล หรือจะทิ้งไว้ให้ที่ศาลเจ้าทำทาน ตัวอย่างที่นิยมปฏิบัติกันเช่น การนำเนื้อหมูสดและไข่ไก่สดไปไหว้ที่ เทพเสือที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ก็จะนิยมทิ้งไว้
ในส่วนของเคล็ดการไหว้เจ้าสำหรับมือใหม่นั้น เธอให้คำแนะนำง่ายๆ ว่า การไหว้เจ้าคือการเสริมดวงอย่างหนึ่ง จุดรับพลังของทุกคนอยู่ที่กลางหน้าผาก ดังนั้น จึงไม่ควรทำผมม้าหรือทำผมที่รุงรังปิดหน้าผาก
ทั้งนี้ การไปไหว้ที่ศาลเจ้าของคนจีนในช่วงตรุษจีน เหมือนเป็นการชาร์ตแบตเตอรี่เสริมดวงครั้งใหญ่เพื่อขอบคุณเจ้าและขอให้คุ้มครองพร้อมบันดาลโชคสำหรับชีวิตตลอดปี จึงนิยมตระเวนไหว้กันหลายแห่ง จากนั้นจึงเป็นการไปไหว้เรื่อยๆ ตลอดปี
ในส่วนของศาลเจ้าที่คนนิยมไปไหว้ช่วงตรุษจีน เธอเผยว่า อยู่บนพื้นฐาน 3 ประการ 1.ไหว้ไท้ส่วยเอี๊ย องค์ประจำปีที่เปลี่ยนใหม่ ปีนี้คือปีมะเส็งเหมือนมีเจ้านายใหม่ ก็ให้ไหว้ท่านเพื่อทำความรู้จักและให้ช่วยคุ้มครองดูแล
2. ไหว้เทพเจ้าที่เกี่ยวกับอายุขัย ได้แก่ ตั่วเหล่าเอี๊ย คือเทพทิศเหนือมีหน้าที่ดูแลบัญชีคนตาย สามารถไปไหว้ท่านเพื่อให้อายุยืนได้ โดยมากนิยมไปไหว้กันที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าไต้ฮงกง เพื่อทำบุญโลงศพให้เป็นทาน และไหว้พญายม ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ หลวงปู่ไต้ฮงกงเพื่อให้มีอายุยืน
3. ไหว้เทพอื่นๆ ที่นับถือเพื่อให้โชคดี มีสุขภาพแข็งแรง การงานก้าวหน้า การค้ารุ่งเรืองเช่น ไปไหว้ซำปอกง, ศาลเจ้ากวนอู, ศาลเจ้าปุงเถ่ากง, ศาลเจ้าแม่กวนอิม, ศาลเจ้าเจ้าแม่ทับทิม, ศาลเจ้าโจวซือกง
เที่ยวศาลเจ้า unseenอายุเกิน 100 ปี
ในประเทศไทยมีศาลเทพเจ้าต่างๆ มากกว่า 40 องค์ นับรวมทั่วประเทศอาจารย์จิตราบอกเลยว่า มีมากกว่า 200 ศาลเจ้าที่อายุเกิน 100 ปี โดยในย่านเยาวราชก็มีประมาณ 20แห่ง ทั้งยังมีศาลเจ้าUnseenที่ลูกจีนส่วนใหญ่ไม่รู้จักหรือยังไม่เคยมาไหว้ ในช่วงตรุษจีนเธอจึงขออนุญาตพาตระเวนไหว้ศาลเจ้าUnseen 4 แห่งในย่านเยาวราช
โดยเริ่มต้นที่ ศาลเจ้าเลี้ยงเป็ด สร้างเมื่อพ.ศ.2431 ปัจจุบันอายุ 125 ปี จากวัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนชื่อดังย่านเยาวราช เมื่อหันหน้าเข้าหาวัดให้เดินตรงไปทางขวามือ ข้ามถนน แล้วเดินมาจนเจอสมาคมกว๊องสิวของคนจีนกวางตุ้งข้ามถนนมายังฝั่งตรงข้ามก็จะเจอกับป้ายศาลเจ้าเลี้ยงเป็ด เดินเข้ามาด้านในซอย เพียงชั่วอึดใจก็จะพบศาลเจ้าเล็กๆ มีองค์เทพหลักประจำศาลคือ ปุงเถ่ากง ตั้งคู่เคียงกับเจ้าแม่ทับทิมองค์เล็กๆ แต่ป้ายหน้าศาลเจ้าจะเขียนชัดเจนว่า ศาลเจ้าปุงเถ่ากง และมีเทพองค์อื่นๆ
ต่อจากนั้น ศาลเจ้าต้นไทร อยู่ในซอยเทกซัส แต่ค่อนข้างหายากเพราะนอกจากจะไม่มีต้นไทรใหญ่ให้เห็นแล้ว ศาลเจ้ายังถูกย้ายขึ้นไปอยู่บนชั้น 4 ของที่จอดรถเทกซัสสุกี้ตั้งแต่เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน วิธีขึ้นไปไหว้จึงต้องเดินเข้าไปในภัตตาคารเทกซัสสุกี้ กดลิฟต์ขึ้นไปที่ชั้น 4 เมื่อออกจากลิฟต์แล้วจะเห็นเพียงลานจอดรถธรรมดา แต่ไม่ต้องตกใจ เพียงหันหน้าเข้าหาลิฟต์แล้วเดินไปทางขวา ก็จะพบกับศาลเจ้าในรั้วเลื่อนซี่เหล็กแบบบ้านชาวจีนสมัยก่อน มีสีแดงของความเป็นมงคลดูโดดเด่น ทว่าหากเข้าไปแล้วพบว่าประตูเหล็กสีแดงบานนั้นมีลูกกุญแจปิดตาย ผู้ที่มาไหว้ก็สามารถโทร.หาคนเฝ้าศาลเจ้าซึ่งเบอร์โทรศัพท์ติดอยู่บริเวณนั้นได้
ศาลเจ้าต้นไทรแห่งนี้สร้างเมื่อปีพ.ศ.2440 อายุปัจจุบันคือ 116ปี เทพหลักของศาลชื่อ จิงกุนไต้ตี้
ศาลเจ้าUnseenแห่งที่ 3 คือศาลเจ้าขงจื๊ออยู่ในซอยอิศรานุภาพซอยนี้อยู่บนถนนเยาวราชฝั่งตรงข้ามตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ย ยังคงเป็นศาลเจ้าที่ยากจะพบเจอ ทีมงานต้องเดินจากปากทางที่มีกับข้าวขายเยอะๆ ดูว่ามีขายข้าวแกงและปูดอง จากนั้นเดินตรงเข้ามาในซอยตลาดสดที่เป็นถนนกว้างใหญ่ และเลี้ยวซ้ายช่องแรก ลัดเลาะเข้าไปในความชื้นแฉะของตลาดสด มองสูงเข้าไว้ก็จะเห็นศาลเจ้าเล็กนิดเดียวอยู่บนชั้นสอง โดยบันไดเล็กๆ ที่ใช้ขึ้นศาลเจ้าจะอยู่ด้านขวามือ
ด้วยความที่ศาลเจ้าตั้งอยู่ในตลาดจึงเป็นไปได้ว่า ผู้ที่มาไหว้จะนิยมมาขอพรให้ทำมาค้าขึ้น โดยนิยมมาถวายตุ๊กตานางกวัก กับนางรำ
ศาลเจ้าแห่งต่อไปคือศาลเจ้าซิมปุงเถ่ากง อาจารย์จิตราเผยว่า เป็นศาลเจ้าที่หายากชนิดที่ต้องมาเดินหลายต่อหลายครั้งกว่าจะพบ โดยทางไปศาลเจ้าแห่งนี้ จากศาลเจ้าขงจื๊อให้เดินกลับมาอยู่ที่ถนนใหญ่ เดินไปตามถนนมังกรจนถึงเวิ้งขายของขนาดใหญ่ เดินต่อไปอีกเรื่อยๆ ผ่านความเย้ายวนของสินค้าทั้งของกิน ของกิฟต์ชอป
เดินต่อไปจนผ่านย่านการค้าที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน จนเห็นธนาคารกสิกรไทยและธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์อยู่ทางขวามือ เดินต่อไปอีก ระหว่างทาง อาจารย์จิตราบอกว่า ให้มองทางขวามือตลอดและมองสูงกว่าเดิมเพราะศาลเจ้าแห่งนี้อยู่สูงถึงชั้น 3
ศาลเจ้าแห่งนี้จะอยู่ตรงข้ามกับอาคารที่มีตัวอักษร “เจริญสุข” พาดอยู่กลางตึก เมื่อมาถึงจะพบบันไดทางขึ้นศาลที่เป็นเหล็กซี่ดัดเป็นลวดลายสวยงาม อาจารย์จิตราเล่าว่า ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ในปีพ.ศ. 2372 เป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ แต่ต่อมามีประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเสด็จประพาสต้นมาซื้อขนมเปี๊ยะของคนแซ่เตียที่นี่หลายครั้ง และได้พระราชทานที่ดินให้ ซึ่งสมัยนั้นเยาวราชตรงนี้ยังเป็นป่า
มาถึงปัจจุบันศาลเจ้าทั้ง 4 แห่งมีคนมากราบไหว้น้อยมาก จากสถานที่ตั้งที่หลบอยู่ในซอกซอย โดยมากแล้วเป็นศาลเก่าแก่ที่ผู้มาไหว้มักจะเป็นคนจีนที่เคยอาศัยอยู่ในแถบแถวนั้นๆ การมาเที่ยวไหว้ศาลเหล่านี้ นอกจากเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต หลีกหนีความหนาแน่นที่ผู้คนมักไปไหว้ที่ศาลเจ้าใหญ่ๆ ไม่กี่แห่ง ศาลเจ้าเหล่านี้ยังแฝงไปด้วยเสน่ห์ความเก่าของศิลปะในแบบโบราณดั่งเดิมอีกด้วย
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE