xs
xsm
sm
md
lg

1 ชั่วโมงนี้ มาตาบอดกันเถอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คนพิการจะไปทำอะไรได้” เป็นคำพูดที่ฟังแล้วรู้สึกหดหู่มาก เพียงเพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับโอกาสจากสังคมมากเท่าไหร่ เราจึงเห็นคนพิการส่วนใหญ่กลายไปเป็นขอทานตามท้องถนน พานให้คิดไปว่าคนพิการจะไปทำอะไรได้นอกจากขอทาน แต่หากลองมองจากมุมคนพิการดู ลองไปเป็นคนพิการดูสักหนึ่งชั่วโมง รับรองว่าจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจพวกเขามากยิ่งขึ้น

Dialogue in the Dark แปลเป็นไทยว่าบทสนทนาในความมืด คือนิทรรศการที่ช่วยให้คนทั่วไปได้ทดลองตาบอดดู ซึ่งจัดแสดงในปี พ.ศ 2531 ที่ประเทศเยอรมนี ได้รับการพัฒนาโดย “แอนเดรียส ไฮเนกี้” นักธุรกิจชาวเยอรมัน นิทรรศการนี้มีผู้เข้าชมแล้วกว่า 5 ล้านคน จาก 130 เมือง 22 ประเทศทั่วโลก และครั้งนี้ พวกเขาได้หอบความมืดดำมาจัดเป็นนิทรรศการในไทย ให้พวกเราได้ลองตาบอดกันดู ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์



หลับตา-ลืมตา มีค่าเท่ากัน
เมื่อได้ก้าวเท้าเข้าไปในห้องที่ไม่มีแม้แต่แสง ต่อให้พยายามลืมตาเพื่อปรับรับแสงให้เข้ากับสถานที่เพียงใดก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นสิ่งใดๆ ในห้องนี้ได้เลย อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดแสงสว่างได้นั้นไม่สามารถนำเข้าไปในห้องได้ ส่วนอุปกรณ์ที่สามารถนำติดตัวเข้าไปได้มีเพียงไม้เท้าสำหรับคนพิการทางสายตาและหัวใจเท่านั้น แต่ละรอบจะมีไกด์นำทางโดยที่เราจะได้พบกับเสียงของเขาข้างใน ไกด์จะพาเดินไปภายในห้อง โดยภายในจะแบ่งได้เป็น 7 ห้อง
 

แต่ละห้องแตกต่างกันไป ประกอบไปด้วยห้องที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ห้องรับแขก สวนสาธารณะ ท้องถนน ตลาด รถตุ๊กๆ ห้องฟังเพลง คาเฟ่ ในขณะที่เดินไปเยี่ยมเยือนแต่ละห้องนั้น ผู้เข้าชมจะไม่มีวันรู้เลยว่าคนที่นำทางเราอยู่ในตอนนี้คือใคร จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นในใจว่า “เขามองเห็นทางหรือ?”
  
เมื่อไกด์พาเราเดินมาจนถึงห้องสุดท้ายคือห้องคาเฟ่ เราได้ใช้เงินจริงในการซื้อของ และของที่ได้สั่งซื้อไปนั้นก็มาอยู่ในครอบครองของเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำส้มกระป๋อง ขนมต่างๆ ที่น่าสนใจคือแม่ค้าในนิทรรศการซึ่งมองไม่เห็น สามารถทอนเงินเราได้อย่างถูกต้องไม่ขาดไม่เกิน ชวนให้อยากรู้ว่าคนข้างในนี้อยู่กันได้อย่างไรโดยที่ไม่มีแสงสว่าง



มองเห็นด้วยตา รับรู้ด้วยใจ
เมื่อถึงเวลาที่จะได้ออกจากห้องที่มืดสนิท ผู้เยี่ยมชมจะได้พบกับใบหน้าที่เป็นเจ้าของเสียงและไกด์ผู้นำทางเรามาโดยตลอด ในความมืดแสงริบหรี่ที่ส่องมาจากประตูทางออก ชวนให้อยากเดินออกไป แต่กลับมีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาว่า “อย่ารีบเดินออกไปครับ ค่อยๆ ออก เดี๋ยวตาจะเป็นเหมือนผม” สิ้นประโยค จึงได้รู้ว่าคนที่นำทางเรามาตลอดหนึ่งชั่วโมงนั้นตาบอด เมื่อออกมาพ้นจากห้องมืดจะเป็นห้องพักสายตา ซึ่งช่วยให้มองเห็นใบหน้าของไกด์นำทางได้อย่างชัดเจน
 

เขาคือ “พี่อุดม” ผู้พิการทางสายตา ซึ่งเล่าให้ฟังว่าตัวเขาเองพิการทางสายตาตั้งแต่อายุ 25 ปี จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ กระจกหน้ารถทิ่มแทงเข้าไปในตาทั้ง 2 ข้างจนบอดสนิท ถึงตอนนี้เป็นเวลา 7 ปีแล้วที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความมืด
ช่วงแรกๆ เขาเองก็ยังรับความพิการของตัวเองไม่ได้ เพราะหลังเกิดเหตุ ทุกอย่างในชีวิตเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ แน่นอนว่างานที่เคยทำก็ทำไม่ได้ ภรรยากับลูกก็ทิ้งไป ชีวิตแทบไม่เหลืออะไรเลย แต่สุดท้ายพี่อุดมก็ผ่านมรสุมลูกใหญ่เหล่านั้นมาได้ด้วยความคิดที่ว่า เราต้องยืนให้ได้ ถ้ายืนไม่ได้ เราก็จะเป็นภาระให้กับคนอื่น เพราะฉะนั้น เราต้องสู้ต่อไป!
 

“คนปกติจะประสบความสำเร็จด้วยความพยายาม 1 เท่า แต่ผมอยากให้รู้ว่าสำหรับคนตาบอด พวกเราต้องใช้ความพยายาม 2 เท่า 3 เท่า หรืออาจจะ 4 เท่าเลย เพราะฉะนั้น เวลาคนทั่วไปเจอปัญหาอะไร ก็ขอให้อย่าเพิ่งท้อ” พี่อุดม กล่าวทิ้งท้ายก่อนจากลากันด้วยคำขอบคุณ
ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง เชื่อได้เลยว่าบทเรียนที่คุณได้รับจะเป็นบทเรียนที่น่าเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้คนตาดีได้เข้าใจจิตใจของผู้พิการทางสายตาได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น จากการสัมผัสช่วงเวลาแห่งความมืดมิดด้วยตัวเอง แล้วจะได้รู้ว่า ผู้พิการทางสายตาก็สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างที่คนทั่วไปสามารถทำได้เช่นกัน และบางเรื่องอาจทำได้ดีกว่าเสียด้วยซ้ำ เพียงแค่ทุกคนให้โอกาสพวกเขาเท่านั้นเอง

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ไม้เท้าสำหรับใช้ภายในห้องมืด




กำลังโหลดความคิดเห็น