แว้นนนน... กันให้ทั่วบ้าน บ่นกันให้ทั่วเมือง นึกว่าจะไม่มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกมาแสดงความรับผิดชอบ แก้ปัญหาให้เห็นอย่างจริงจังเสียแล้ว ล่าสุด ผบ.ตร. ออกมาประกาศ “มาตรการปราบเด็กแว้น” ให้เห็นกันจะจะ หลังเล็งเห็นว่าเป็นปัญหาที่กระทบต่อความรู้สึกประชาชนทั่วไปมานานเรื้อรัง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว จึงมีบันทึกด่วนที่สุดพร้อมประกาศใช้ทันที!
ที่สำคัญ กฎที่ออกมาใหม่ในครั้งนี้ยังบ่งชี้ไว้ชัดเจนว่า ความผิดจะไม่ตกที่ “เด็กแว้น” ผู้เดียว แต่ “ผู้ปกครองเด็กแว้น” ก็จะต้องพลอยรับผลกรรมไปด้วย! โดยบิดามารดา มีความผิดตามพ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนและปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั่นเอง
ส่วนแนวทางการปราบปรามพฤติกรรมแว้นที่ว่านั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงก่อนการแข่งขัน ช่วงการแข่งขัน และช่วงหลังการแข่งขัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ช่วงก่อนแข่งขัน จะมีการจัดให้แต่ละหน่วยกำหนดผู้รับผิดชอบระดับอย่างชัดเจน ตั้งแต่ระดับรอง ผบช. และ รอง ผบก. เพื่อควบคุมกำกับ ดูแล บริหารจัดการวางแผนการดำเนินงาน และตรวจสอบติดตามการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน ตั้งใจไว้ว่าจะให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นเอาใจใส่ ควบคุม อำนวยการ และแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนพร้อมออกสืบสวนหาข่าวรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหัวหน้ากลุ่มแข่งรถ ร้านค้ารับดัดแปลงสภาพรถ ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม โดยให้บันทึกภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวเอาไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ขับขี่ ผู้ซ้อนท้าย รวมทั้งผู้สนับสนุนจัดการแข่งขัน
สายตรวจจะออกตรวจตราป้องกันการกระทำผิด หรือตรวจสอบการรวมกลุ่มตามเบาะแสที่ได้รับแจ้งจากประชาชน โดยประกอบกำลังเป็นชุดปฏิบัติการ และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติการโดยลำพัง
เริ่มกวดขันจับกุมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่กระทำผิดกฎหมายในทุกข้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง และให้รวมถึงร้านรับซ่อมรถจักรยานยนต์ ดัดแปลงสภาพหรือตกแต่งรถเพื่อการแข่งขัน การใช้หรือจำหน่ายอุปกรณ์ส่วนควบที่ไม่ได้มาตรฐาน
ประสานความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น สถานศึกษาเพื่อให้ความรู้และช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติแก่เยาวชนให้ตระหนักถึงโทษภัยของการแข่งรถ กรมทางหลวง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการปรับสภาพถนนให้มีสภาพไม่เหมาะกับการแข่งขัน และการขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับใช้ในการปฏิบัติการ
ให้แต่ละหน่วยแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนโดยกำหนดช่องทางสื่อสารในการรับแจ้งเบาะแสการกระทำผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพบเห็นว่ากำลังมีการรวมตัว เพื่อจะทำการแข่งขันให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบในทันทีทางช่องทางสื่อสารที่กำหนด แล้วประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง
ด้านโฆษก ตร.และกองสารนิเทศ (สท.) จะคอยประชาสัมพันธ์การกวดขันการแข่งรถจักรยานยนต์ในทางสาธารณะของเจ้าหน้าที่ในทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบทางสื่อมวลชน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองของเด็กหมั่นสอดส่อง อบรมบุตรหลานของตนไม่ให้นำรถจักรยานยนต์มาขับขี่เพื่อการแข่งขัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการแข่งขัน
ช่วงการแข่งขัน จะใช้วิธีวางแผนแบบบูรณาการ ปฏิบัติงานร่วมกันทุกฝ่ายในพื้นที่ทั้ง สส. ปป. จร. พงส. และบูรณาการสนธิกำลังจากหน่วยงานที่มีพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ในเขตพื้นที่ บช.น. ที่มีพื้นที่ติดต่อกับ ภ.1 หรือ ภ.7 และ บก.ทล. หรือ บก.จร. โดยให้ บก.ทล.สนธิกำลังเข้าปฏิบัติการในพื้นที่รอยต่อ และให้กำหนดผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์อย่างชัดเจน รวมทั้งจัดเตรียมห้องควบคุม และสถานที่เก็บของกลางไว้รองรับการดำเนินการด้วย
หันมาใช้อุปกรณ์เพื่อลดความเร็วของรถและลดความรุนแรงในขณะจับกุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้กระทำผิด พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.83 วรรคสาม
ให้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในทุกขั้นตอนขณะดำเนินการไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ประกอบสำนวนการสอบสวน หรือติดตามตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีในภายหลัง จับกุมและดำเนินคดีต่อผู้แข่งขัน ผู้จัด ผู้สนับสนุน และผู้ส่งเสริมในทุกข้อกล่าวหา ตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและหมายจับผู้กระทำผิดทุกราย และส่งฟ้องศาลทุกคดี โดยประสานกับพนักงานอัยการอย่างใกล้ชิดในการส่งฟ้อง
เมื่อจับกุมแล้วให้ประสาน สท. และสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอผลการปฏิบัติต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นการสร้างแนวร่วมทางมวลชน เพื่อผลในการป้องปรามการกระทำผิดในอนาคต
ช่วงหลังการแข่งขัน จะมีการสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการกับร้านรับซ่อมดัดแปลงสภาพรถ หรือตกแต่งรถเพื่อใช้ในการแข่งขัน จัดทำประวัติบุคคล และยานพาหนะที่กระทำผิดไว้ทุกราย เพื่อเป็นข้อมูลท้องถิ่น และใช้เป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันต่อไป
ดำเนินการด้านมวลชนสัมพันธ์ตามแหล่งสถานศึกษาหรือที่พักอาศัยของผู้กระทำผิด เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และแสวงหาแนวร่วมในการป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำหรือเกิดพฤติกรรมเลียนแบบอีก
กำชับให้ทุกท้องที่ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง รวบรวมสภาพปัญหาในการปฏิบัติงาน ข้อขัดข้องและวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อวางแนวทางหรือมาตรการแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่รับผิดชอบ และจัดวางรูปแบบแผนการปฏิบัติเพื่อทำการฝึกซ้อมหรือซักซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุในครั้งต่อไป
ความพยายามในการแก้ปัญหาเป็นเรื่องดีและน่าสนับสนุน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความพยายามดังกล่าวจะ “ถูกจุด” และยุติปัญหาเรื้อรังเรื่องแว้นได้จริงหรือเปล่า ก็คงต้องติดตามตอนต่อไป...
ASTV ผู้จัดการ LIVE