xs
xsm
sm
md
lg

36 ภาพคิดของ “เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนอาจเคยผ่านตาผลงานของเขาจากบทบาทของมือเขียนบทเบื้องหลังภาพยนตร์กระแสหลักอย่าง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ, top secret วัยรุ่นพันธุล้าน, home ความรัก ความสุข ความทรงจำ และรัก 7 ปีดี 7 หน
 
เขาเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงหนังอินดี้จากการมีผลงานหนังสั้นออกมาอย่างต่อเนื่องโดยมีภาพยนตร์สั้นเรื่อง เชอร์รี่เป็นลูกครึ่งเกาหลี ชนะรางวัลรัตน์เปสตันยีในเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 14
 
เขาเริ่มเป็นที่จับตามองด้วยสไตล์การทำงาน และวิธีคิดแบบเฉพาะตัว โดยมีผลงานกำกับเรื่องแรกที่ได้ออกสู่วงกว้างคือหนังสั้นบันทึกกรรมเรื่อง มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนเกลียดเมธาวี
 
เขายังเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านจากคอลัมน์จอย สติ๊ก ว่าด้วยเกมส์เก่าเล่าด้วยสำนวนชวนขบขัน และคอลัมน์เมด อิน ไทยแลนด์ ว่าด้วยวัฒนธรรมไทยแบบเวรี่ไทย
 
ล่าสุด เขาเป็นที่รู้จักไปไกลถึงประเทศเกาหลี จากเทศกาลหนังปูซาน เมื่อภาพยนตร์เรื่อง 36 ของเขาได้รับรางวัลNew current award (หนังหน้าใหม่) พ่วงด้วยรางวัล Fipresci (สมาคมนักวิจารณ์)
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ชื่อของเขา ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง (แต่ที่รู้จักก็ไม่ใช่วงแคบ) วันนี้หลังจากช่วงชีวิตผ่านเวทีรางวัล ทีมงาน m - Life ภูมิใจเสนอ ผู้กำกับ - มือเขียนบท (และนักเขียน) รุ่นใหม่ที่น่าจับตามองผู้นี้ “เต๋อ - นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์”

วิถีชีวิตคน(อยาก)ทำหนัง
 
“สังคมไทย ถ้ามองโดยรวมมันก็เหมือนเดิม” เรายิงคำถามแรกให้ผู้กำกับหนุ่มในอีกฐานะที่เขาเป็นคอลัมนิสต์ด้านวัฒนธรรมไทยแบบเวรี่ไทย “มันเป็นสังคมที่ปนๆ มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ปนกับไสยศาสตร์ มีความดับเบิลสแตนดาร์ด มีความประหลาดๆ มีความมั่วๆ มันไม่มีกฎ เป็นสังคมที่ไม่มีกฎตายตัว มันพลิ้วไปตามกระแส พลิ้วไปตามว่าตอนนั้นเป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าว ซึ่งดีไม่ดีก็ไม่รู้นะ แต่ตลกดี สุดท้ายเราก็อยู่กันได้ เราทำหนังแนวค่อนข้างเรียลิสติก ถ้าเซอร์เรียลก็จะเป็นแนวตลกร้ายไปเลย เราทำหนังก็เหมือนเล่าเรื่องที่เรารู้ เรื่องใกล้ๆตัว ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของผู้คน”

เต๋อ - นวพลมักถูกวางอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างอินดี้กับแมส (กระแสหลัก) ไม่สามารถบรรจุเขาไว้ที่กรอบของฝ่ายใดได้อย่างลงตัว หลักการเล่าเรื่องของเขานั้นง่ายดาย เล่าเรื่องใกล้ตัว เล่าสิ่งที่รู้ หากทว่าสิ่งที่แตกต่างกลับเป็นมุมมอง ไม่แปลกใหม่เหนือคาด ก็ธรรมดาเสียจนคาดไม่ถึง

ย้อนไปช่วงวัยรุ่น เขาเล่าว่า เขาเริ่มรู้ตัวว่าอยากจะทำหนังก็ตอนช่วงม.3 - 4 ที่บ้านน้ามีวีดีโอหนังอยู่หลายเรื่อง แม้ไม่มีหนังอาร์ต แต่ก็มีหนังออสการ์หลุดรอดมาให้ได้ดูบ้าง การทำหนังในตอนนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ระดับมหากาพย์ที่ภาพฝังหัวคือ ภาพไดโนเสาร์จากหนังจูราสสิก พาร์ค แต่เมื่อได้มาดูหนังเรื่อง รัน โลล่า รัน (run lola run - 1998) มันก็เปลี่ยนความคิดเขา จนเริ่มเห็นว่าความฝันมันเป็นจริงได้

“มันเป็นหนังอินดี้ของเยอรมัน คือเนื้อเรื่องมันง่ายดี เพียงแค่ตัดต่อเรียงลำดับเวลาใหม่ มันก็น่าสนใจขึ้นมา เลยรู้สึกว่าทำหนังมันไม่ต้องแพงมากก็ได้ เราเลยรู้สึกว่าถ้าอุปกรณ์ถูกกว่านี้เมื่อไหร่จะทำ”

เขาตัดสินใจเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะลืมสัญญากับตัวเองที่บอกว่า ถ้าอุปกรณ์ถูกลงสักหน่อย เขาจะลงมือทำหนัง เพราะช่วงปี 2 เขาก็เริ่มมีหนังสั้นของตัวเองออกมาแล้ว หากแต่การเลือกเข้าคณะเรียนต่อนั้นมาจากการมองโลกตามความเป็นจริงล้วนๆ

“ตอนนั้นเหตุผลง่ายๆ คือกลัวตกงานครับ รุ่นแฟนฉันก็ยังไม่มี รุ่นพี่แต่ละคนกว่าจะได้ทำหนังก็แก่กันแล้ว เอาไงดีวะ? คิดว่าอักษรนี่แหละ แน่นอน อย่างน้อยก็ทำงานหนังสือ แล้วเราก็คิดว่าหัวใจของหนังก็คือบท การเรียนอักษรมันก็ช่วยในส่วนนี้ได้”

แม้บทเรียนในคณะอักษรศาสตร์ที่ดูจะห่างไกลจากเลนส์กล้องและแสงไฟ แต่บทเรียนสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ก็เติมเต็มความคิดอ่านในการเขียนบทที่เชื่อมโยงอยู่กับความเป็นมนุษย์ โดยมีฐานความรู้กว้างๆ ของศิลปะ ประวัติศาสตร์ และปรัชญาที่ช่วยขับเน้นความเข้าใจ และแม้ไม่ได้ลงเรียนด้านเขียนบทละครก็ตาม รูปแบบของการเขียน และการเล่าออกมาเป็นภาพนั้นไม่ได้ยากเกินการเรียนรู้ ขณะที่ในด้านของเทคนิคการถ่ายทำ เขาก็เรียนรู้ด้วยสัญชาตญาณนอกห้องเรียนทั้งหมด

“ยุคแรกเราก็เอาเงินตัวเองทำ ซึ่งไม่ได้แพงอะไรมาก ยุคหลังถึงมีโครงการเอาเงินมาให้ทำก็ดีขึ้นหน่อย”

แต่งานเขียนเป็นงานหนึ่งที่เขาทำมาตลอด ทำมาก่อนทำหนัง ด้วยเพราะยุคนั้นอุปกรณ์ยังราคาแพง เขาจึงเลือกจับปากกาขีดเขียนเรื่องราวก่อน

“เราเขียนเรื่องสั้น เราจะเขียนอะไรก็ได้ เราไม่ต้องออกไปถ่าย เราเลยเริ่มจากการเขียนก่อน ตอนอยู่ม.ปลายก็ทำหนังสือทำมือตลกๆ กัน จนพออุปกรณ์มันเริ่มถูกลง คอมพิวเตอร์ตัดหนังได้ แต่เริ่มจากอยากทำหนังนะ”

จึงมีผลงานเรื่องสั้น บทความ มีหนังสือทำมือ จนช่วงปี 2 ก็ได้ฝึกงานที่นิตยสารอะเดย์เป็นอะทีมจูเนียร์รุ่น 2 และได้เขียนคอลัมน์รีวิวหนังตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

“พอดีพี่ที่เขาทำคอลัมน์รีวิวอยู่ก่อนแล้วเขาออกไปเรียนต่อพอดี เราก็เขียนมาตั้งแต่ตอนนั้น 6-7ปีได้แล้วนะ และก็มีคอลัมน์ที่เขาเปิดพื้นที่ให้เขียน ก็เขียนเรื่อยๆมาตลอด”

งานเขียนเป็นตัวตนหนึ่งของเขา จากผลงานเว็บบล็อกที่มียอดคนอ่านพอควรก็ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเป็น “ที่โรงภาพยนตร์ใกล้บ้านคุณ” รวมถึงหนังสือ “ฮ่องกงกึ่งสำเร็จรูป” พร้อมทั้งงานเขียนบทหนัง เขาก็ถือเป็นมือเขียนบทที่มีมุมมองในแบบเฉพาะตัว

“ชำนาญหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ การเขียนบทเป็นอะไรที่เราชอบทำ แต่ทุกครั้งที่เริ่มใหม่ก็ยังมีอาการตันๆ ยังต้องฝึกมากกว่านี้ ทำให้ดีที่สุดทุกงานอยู่แล้ว”

แรงบันดาลใจแบบแมสๆ

เมื่อถามถึงวันว่าง เขาเอ่ยคำแรกว่า ไม่ค่อยมีเวลาว่างๆ แต่สิ่งที่หล่นต่อมาคือ เขาชอบอ่านหนังสือ โดยแจกจ่ายวันว่างไปกับการเดินตามร้านหนังสือ

“เราก็ไม่ได้ถึงกับเป็นหนอนหนังสือ เราก็ไปดูงานคนอื่นบ้าง ไปในที่ๆไม่เคยไป ไม่ได้หมกตัวอยู่แต่กับเฟซบุ๊ค อินเทอร์เน็ต ไปเจออะไรแปลกๆ เจอคน เจอสถานการณ์ ซึ่งมันสามารถสต๊อกไว้เขียนได้ทั้งนั้นเลย”

โดยสถานที่ซึ่งให้แรงบันดาลใจกับเขา มักเป็นสถานที่แปลกๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ในซอกหลืบที่ทุกคนอาศัยอยู่ มันอาจวางตัวเองอยู่เงียบๆโดยที่ไม่มีใครคิดถึง จนกระทั่งเขาไปเห็น

“ที่เจอบ่อยต้องพวกสถานที่ราชการจะมีอะไรมันๆ เยอะ พวกที่ทางการๆ จะมีอะไรที่เซอร์ๆ ตัวอย่างเช่น หลักการเป็นคนดีสิบข้อ เราก็บันดาลใจมากชอบ ขอถ่ายรูปเก็บไว้เลย”

ขณะรายการทีวีเขายอมรับว่า ไม่ได้ดูบ่อยนัก ทว่าหากจะดูก็มักเป็นรายการสุดขีด กะเทยถูกชนแล้วกลับใจ ทอมโดนรถชนแล้วหาย ผีสิงกลางรายการ หรือภาพจากเหตุการณ์จริงที่รุนแรงมากๆ

“บางทีมันเป็นมนุษย์มาก แบบชนแล้วหนีคืออะไรวะ เหตุการณ์บางอย่างโน้นนี่ มันอินสปายนะ หรือมันทำให้คิดต่อได้ เราว่าสังคมไทยมันเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความสุดขีด มันมีความเป็นมนุษย์สูงมาก มันมีการดิ้นรน กดขี่ มีการต่อสู้ เป็นข้อมูลในการเขียนบท เพราะว่า ถ้าประเทศแบบฟินแลนด์ คุณภาพชีวิตดีมาก มันก็จะไม่ค่อยมีหนังแบบต่อสู้ มันจะเป็นหนังแบบความเบื่อหน่ายของปัญญาชน ฉันเบื่อจัง”

“มันจะไม่ใช่แบบ อยู่ดีๆ ทำไมเงินที่ให้หมู่บ้านมันหายไปอยู่ไหน แล้วอยู่ๆ ทำไมมีที่บ้านโน่น หัวหน้าหมู่บ้านมีรูปปั้นอะไรขึ้นมา นี่คือเงินเรารึเปล่า สมมตินะครับ มันจะมีเรื่องอะไรแบบนี้อยู่”

แต่หลายกรณีเซ็นเซอร์ในหนังก็บอกเป็นนัยว่า บางเรื่องอาจพูดไม่ได้ในประเทศนี้ เขาส่ายหน้าต่อข้อสรุปแล้วยืนกรานว่า พูดได้แหละ ทุกเรื่อง จะพูดแบบไหนเท่านั้น

“อิหร่านมีกฏห้าม ผู้หญิงดูบอล หนังก็จะเกี่ยวกับออฟไซด์ ผู้หญิงที่อยากดูบอล เราว่าบทดีเลย มันก็ตลกร้าย นั่งดูบอลสนุกกันอยู่ข้างๆสนามเนี่ยนะ เราว่าน่าสนใจ เราชอบหนังประเภทนี้ เราว่าหนังมันทำได้ ไม่ต้องพูดให้ฮาร์ดคอร์มาก หนังก็สามารถทำออกมาพูดได้ เพียงแต่พูดกันหรือเปล่า”

ในด้านของการคิดงานหามุมมอง เขาเอ่ยถึงข้อปฏิบัติส่วนตัว “ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ การก๊อบถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง” พยายามมองหาแง่มุมใหม่ที่คนยังไม่เคยบอกเล่า แปลกใหม่เหนือคาด หรือธรรมดาเสียจนคาดไม่ถึง

ระหว่างงานเดียวกัน พูดเรื่องเดียวกัน ด้วยระยะเวลาเท่ากัน เนื้องานอาจสามารถเล่นได้มากกว่างานที่เคยมีมาก่อน แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำในมุมเดิมก็ต้องทำให้ลึกขึ้น ขั้นต่อมาคือหาข้อมูลเพิ่มเติมและเลือกข้อมูลที่จะหยิบมาใช้ พร้อมถามตัวเองว่ามีความคิดเห็นอย่างไร

“พยายามนะ ต้องลองพยายามคิดดูก่อน อันนี้คนทำไปแล้ว เราก็คิดว่า อย่าทำดีกว่า เพราะไอเดียมันมีเป็นร้อยแปด โอเค บางอย่างอาจเหมือนเขา แต่รายละเอียดต้องไม่เหมือน ไม่ใช่เอามาทั้งดุ้น”

แน่นอนว่างานของเขาได้รับอิทธิพลจากหนังหลายต่อหลายเรื่อง ขณะเดียวกันก็มีความเป็นต้นฉบับของตัวเอง ซึ่งการทำหนังในเมืองไทยวิธีคิดเขียนบทอย่างเดียวไม่พอ หากต้องสามารถเอาตัวรอดให้ได้ด้วย ไม่ว่าในสายทางของแมส หรืออินดี้ การเอารอดก็มีความยากด้วยกันทั้งนั้น

“ถ้าเป็นหนังแมสก็ต้องไปนั่งคุยกับเสี่ยตามสตูดิโอ ถ้าเป็นหนังอินดี้ก็ต้องไปคุยกับเสี่ยเมืองนอก และทุนของหนังอินดี้มันก็มีอยู่ไม่กี่ทุนหรอก มันมีไม่เท่าคนที่อยากจะทำหนัง ดังนั้นก็ต้องแย่งกัน”

หนังแมสต้องฝากความเสี่ยงกับตลาดหนังที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เป็นงานท้าทายไม่แพ้การขอทุนของหนังอินดี้ หนังเรื่อง 36 ก็ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับหนังอินดี้รายอื่นๆ แม้ว่าเริ่มแรกเขาจะวางแผนไว้ว่าจะของบไทยเข้มแข็ง ซึ่งความไม่แน่นอนสุดจะคาดเดาของประเทศไทยก็ส่งผลต่อหนังของเขาเต็มๆ

“มันก็ตามหลักง่ายๆ จะเอาเงิน 15 ล้านไปให้ใครคนหนึ่งทำ มันก็มีความคาดหวังอยู่แล้ว มันต้องเป็นการทำหนังให้โดนใจคนดูกลุ่มหนึ่งมากพอที่จะได้รายได้กลับมาให้คุ้มทุนหรือทำกำไร เราว่ามันยากคนละแบบ อันนึงมีอิสระแต่ไม่มีตังค์ อันนึงมีตังค์แต่อิสระน้อยกว่า แต่เราว่ามันไม่ได้มีอะไรดีกว่าอะไร”
 
-คณะกรรมการมีความประทับใจในความพยายามของคนรุ่นเยาว์เพียงพอ กล้าหาญเพียงพอที่รู้จักสรรหาภาษาหนังอันเป็นของตนเอง สิ่งที่นวพลนำเสนอนั้นเต็มไปด้วยความน่าทึ่ง มีศิลปะ ประหยัด ไม่คิดที่จะรวมอะไรเกินจำเป็น-

คำประกาศจากเทศกาลหนังปูซาน


36 ปรากฎการณ์หนังอินดี้

หลังจากพา 36 เข้าฉายในประเทศไทย สร้างกระแสในวงการหนังอินดี้ที่ตั๋วจำหน่ายหมดทุกที่นั่ง จากแรกเริ่มที่คาดหวังไว้เพียงว่าจะฉายให้คนดูเพียง 1,000 คน หนังเดินมาได้ไกลกว่าที่เขาคิดมากแล้ว และเมื่อ 36 ได้เข้าร่วมเทศกาลหนังปูซานด้วยค่าส่งหนัง 200 บาท

ทว่าหลังจากหนังเรื่อง 36 เข้าฉายที่ปูซาน วันถัดมาฮอลลีวูดรีพอตเตอร์ ปูชาน เดลี่ ลงบทวิจารณ์สับแหลก!

วันต่อมา...เขาเขียนถึงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องดี


“ผมว่าดีมากเลย ที่ได้มาเจอฟีดแบ็กแบบนี้ครับ มันเป็นฟีดแบ็กคนนอกประเทศที่เรายังไม่เคยได้รับแบบจริงๆจังๆ และไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี ผมว่าคนทำงานสร้างสรรค์ต้องรับมันให้ได้ อย่างน้อยเราก็ต้องเคารพความคิดเห็นเขาแหละครับ และหลายๆ อย่าง ก็อาจจะใช้ไปปรับปรุงได้ในงานถัดไป ฝึกฝนต่อ หรือ ฟังแล้วเราอาจยืนยันตัวเองได้ชัดขึ้นว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องการทำ มันจะไม่ได้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม แต่เราก็จะทำมันออกมาแบบนี้ ถ้าทำหนังออกมาแล้วบังคับไม่ให้คนด่า ก็ไม่รู้จะทำหนังออกมาทำไมน่ะเนอะ และสุดท้ายคุณก็จะไม่ได้ความคิดเห็นที่แท้จริงจากคนดูอีกเลย”
 
อย่างไรก็ตาม...ในที่สุด 36 ก็สามารถคว้ารางวัลกลับมาได้ ทั้งที่เขาประเมินไว้ว่า หนังเรื่องนี้เข้าสายประกวดไปเตรียมตัวแพ้แน่นอน แม้ว่าจะแอบลุ้นอยู่บ้าง เพราะไม่มีทางรู้ว่าหนังจะไปจบลงที่ไหน



“ถ้าเราวางแผนไว้กับเทศกาลนี้ เราต้องไปฉายเปิดตัวที่นั่นนะ แต่นี่เราฉายในประเทศก่อนด้วยซ้ำ เกือบจะออกดีวีดีอยู่แล้ว เป้าหมายคือฉายให้คนไทยดูมากกว่า ส่วนเทศกาลก็แถมๆไป คือมันก็ไม่เสียหายที่จะส่งเข้าร่วม”

มาถึงตอนนี้ดีวีดีจำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊คพร้อมข้อความทำใจว่าจะถูกปล่อยลงยูทูบ หากแต่หลายสิ่งหลายอย่างในตัวแผ่นดีวีดีก็สร้างความสำคัญมากพอที่หลายคนจะตัดสินใจซื้อ แน่นอนว่า เป็นไปด้วยการตลาดในแบบของเขา ที่ส่วนหนึ่งก็ต้องหาเลี้ยงตัวเองให้ได้ด้วย

ในส่วนของรีแอ็กชันที่คนเกาหลีมีต่อ 36 นั้นไม่ต่างจากคนไทย หากเป็นคนที่ชอบก็จะชอบไปเลย ขณะเดียวกับคนที่เกลียดก็จะไม่ชอบไปเลย

“ตอนนี้กับเรื่องนี้ก็ขายดีวีดี ส่งเทศกาล ประมาณนี้”


ภาพโดย อดิศร ฉาบสูงเนิน

ขอบคุณภาพประกอบจาก facebook.com/ternawapol













หนังสือ เมด อิน ไทยแลนด์
ป็นผู้กำกับในหนังสั้น มั่นใจคนไทยฯ เกลียดเมธาวี
ภาพจากหนังเรื่อง 36
จากภาพยนตร์เรื่อง เชอร์รี่เป็นลูกครึ่งเกาหลี
โปสเตอร์หนังเรื่อง 36
ตอนขึ้นรับรางวัลบนเวทีเทศกาลหนังปูซาน



กำลังโหลดความคิดเห็น