xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา!! ปฏิวัติการอ่านผ่าน Digital Book

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
บนโลกเล็กๆ ใบนี้ ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อตอบสนองมนุษย์อย่างเรา ไม่เว้นแม้แต่เรื่องชีวิตประจำวันก็ยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มาให้อำนวยความสะดวกสบายมากที่สุด โดยอีกสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว จนมีคำกล่าวไว้ว่าไม่สามารถแทน "กระดาษ" ได้ แต่ตอนนี้สื่อดิจิตอลทั้งหลายกำลังเกิดการตื่นตัว จนไม่แน่ว่าอาจจะกลายเป็นการปฏิวัติการอ่านในรูปแบบใหม่เลยก็ได้

เวลาเปลี่ยน ต้องปรับตาม
ขนาดประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา การเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการอ่านครั้งยิ่งใหญ่ก็เพิ่งปรากฏให้เห็นไปได้เมื่อไม่นานมานี้ โดยหนังสือพิมพ์นิวส์วีคที่ออกจำหน่ายทุกสุดสัปดาห์เป็นคู่แข่งกับไทม์ แมกกาซีน ก็ออกมาระบุว่าจะยุติการตีพิมพ์สิ้นปีนี้ และเปลี่ยนรูปแบบเป็นดิจิตอลในปี 2013

จากกรณีนี่เองแม้กระทั่งกูรูนักการตลาดชื่อดังอย่าง ธันยวัชร์ ไชยตระกูลไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท คัลเลอร์ดอกเตอร์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านดิจิทัล มีเดีย ให้กับค่ายสิ่งพิมพ์ทั้งในไทยและในต่างประเทศ สุปรีย์ ทองเพชร ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ใน งานเสวนา "Digital Book ปฏิวัติการอ่านจริงแค่ไหน" ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา

“สาเหตุหนึ่งเลยที่เลิกผลิตเพราะรายจ่าย ไม่พอรายรับ อีกอย่างคือตอนแรกเจ้าของนิว์วีค คือ วอชิงตัน โพสต์ แล้วซิดนีย์ ฮาร์มันด์ ก็ซื้อต่อมา พอซิดนีย์ ฮาร์มันด์ตาย ที่บ้านครอบครัวเขาก็ไม่สนับสนุนต่อ คนอ่านทางสิ่งพิมพ์ก็น้อยลง อย่างอเมซอนเองเห็นไอพอด มีเพลงมีไอจูน เขาก็เลยคิดคินเดิล (Kindle) เครื่องอ่านหนังสือ ราคาถูกลง กลายเป็นว่าอีบุ๊คขายดีกว่า

ถ้าเทียบกระดาษกับออนไลน์ เห็นๆ เลยว่าออนไลน์จ่ายน้อยกว่า แล้วในหลายประเทศพอมี 3Gหนังสือพิมพ์ก็ล้มหายไปหมด อินเทอร์เน็ตมาเร็ว มาแรง หนังสือพิมพ์นี่ตายก่อนเลย จากนั้นก็ค่อยเป็นนิตยสารแล้วก็หนังสือตามมา” ธันยวัชร์ กล่าว นอกจากราคาที่ถูกลง สะดวกมากขึ้น สุปรีย์ ยังมองเห็นว่า อีกสิ่งที่สำคัญคือสื่อดิจิตอลนั้นสามารถส่งข้อมูลย้อนกลับมาได้

“ ความต้องการของนักการตลาดมันมีมากกว่าการลงโฆษณาบนกระดาษ แต่ต้องการข้อมูลย้อนกลับมาได้ สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ ซึ่งตรงนี้สิ่งพิมพ์มีข้อจำกัด แต่สื่อดิจิตอลสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้อ่านได้ ข้อมูลส่งได้โดยตรงแล้วยังเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น อย่างคินเดิลเองก็สามารถกดคำศัพท์ที่ไม่เข้าใจแล้วมีพจนานุกรมมาอธิบายศัพท์ได้ คือการสร้างดิจิตอล บุ๊ค ไม่ใช่แค่การแปลงข้อมูลอย่างเดียว แต่ต้องใช้อิเล็กทรอนิคส์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

อีกหนึ่งบุคคลที่สำคัญที่ได่ร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย นิรันดร์ เยาวภาว์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ก็ระบุว่าสำหรับแอพฯ หรือสื่อดิจตอลที่ทางเอเอสทีวี ผู้จัดการและ ไทย เดย์ ด็อท คอม ทดลองผลิตขึ้น ก็เกิดจากมองเห็นถึงแนวโน้มตลาดในอนาคตที่จะสื่อดิจิตอลจะสามารถตอบโจทย์ผู้อ่านได้ดีกว่า

“เรามองผลกระทบใหม่ๆ ที่เข้ามาตลอด ช่วงแรกก็มีคำถามเรื่องเว็บไซต์ ออนไลน์ ทุกข่าวเราเอาขึ้นเว็บหมดหนังสือพิมพ์อื่นๆ เขาจะเอาแค่ที่ตีพิมพ์ลงกระดาษไปแล้วมาขึ้น แต่คุณสนธิให้เอาข่าวทุกข่าวขึ้นหมด ไม่ได้กังวลว่าคนอ่านจะไม่อ่านหนังสือพิมพ์ แต่ยังไงอนาคตกระดาษอยู่ไม่ได้แน่นอน เพราะราคาแพงขึ้น

ส่วนการอ่านบนเว็บไซต์ บนแทบเล็ต เราสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ได้ มีคลิปวิดีโอ หรือใครขี้เกียจอ่านก็กดปุ่มเปิดเสียงฟังได้ เป็นข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะกระดาษพิมพ์ได้แค่วันละครั้ง เราจึงเอาเนื้อหาอื่นไปขึ้นบนเว็บไซต์แทน ภาพรวมเองเราก็มองว่าหนังสือพิมพ์กระดาษอยู่ได้อีกไม่นาน คนรุ่นใหม่แทบไม่อ่านแล้ว ทำให้แนวโน้มของกระดาษจะหมดไป เพราะไม่ตอบสนองคนอ่านและในเรื่องของต้นทุน”

เนื้อหาที่มากกว่าบน “กระดาษ”
การพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทกับโลกยุคนี้ที่อุปกรณ์ในการอ่านมีมากขึ้นไม่ใช่เพียงแผ่นกระดาษอย่างเดียว ส้ม - กมลวรรณ ดีประเสริฐ อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสารมาร์สที่พัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นผู้พัฒนาแอพฯ เริ่มจากพัฒนาแอพพลิเคชั่นของมาร์ส จนได้รับความนิยม ปัจจุบันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วยการตั้งบริษัทรับพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้กับสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ และไทยเดย์ด็อทคอม ก็กล่าวว่าความชอบและสะดวกในการอ่านของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งเราต้องทดลองสิ่งใหม่ๆ ปรับให้ทันยุคอยู่เสมอ

“เรามองว่าพฤติกรรมในการเสพย์สื่อเนื้อหาสาระของคนเราสามารถเปลี่ยนไปในทิศทางอื่นได้ เปลี่ยนไปใช้สื่ออื่นที่ไม่ใช่แค่เพียงบนหน้ากระดาษ ซึ่งปัจจัยของแต่ละคนก็ต่างกันไป รสนิยมแตกต่างกันไป บางคนชอบอ่านจากกระดาษ บางคนชอบอ่านจากสื่ออื่นๆ เราถึงต้องตอบสนองคนอ่านในรูปแบบของดิจิตอล บุ๊ค

อย่างตอนแรกที่ทำแอพฯ ของนิตยสาร Mars เป็นการคุยร่วมกันกับคุณพชร สมุทวณิช ซึ่งมีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ มีทิศทางใหม่ๆซึ่งส้มเชื่อว่าการที่เราอยากนำเสนอเนื้อหาไปยังกลุ่มผู้อ่าน แล้ววิธีการเสพย์มันเปลี่ยนไป คนอ่านอ่านด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ แต่คนอ่านไม่มีอะไรอ่าน มีแต่กระดาษอย่างเดียว เราเลยต้องทดลองทำแอพฯ ออกมา ด้วยกลุ่มเป้าหมายของ Mars คือคนหนุ่มสาว หรือไม่ก็คนมีอายุที่ยังชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ผลตอบรับจึงออกมาดี”

หลายคนอาจเข้าใจผิดไปว่า ดิจิตอล บุ๊ค คือการแปลงข้อมูลจากตัวหนังสือมาเป็นตัวอักษรรูปแบบดิจิตอล แต่ความจริงแล้วการเป็นสื่อดิจิตอลนั้นต้องครอบคลุมทุกอย่าง ทั้งเนื้อหา รูปภาพ เสียง หรือแม้กระทั่งคลิปวิดีโอ ที่เมื่อรวมกันแล้วจะทำให้ข้อมูลที่ต้องการนำเสนอนั้นสมบูรณ์ ครบถ้วนที่สุด

“จุดสำคัญคือเราจะนำเสนอเนื้อหาไปให้ผู้อ่านอย่างไร อย่างนิยายที่เป็นตัวอักษรร้อยแก้ว เอามาวางๆ มันก็ไม่ต่างจาก ไฟล์ .pdf แต่งานประเภทแอพฯ ต้องให้อะไรได้มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ อย่างบางครั้งภาพในหนังสือ ด้วยพื้นที่ทำให้มีข้อจำกัด แต่พอมาทำเป็นดิจิตอล บุ๊ค เราสามารถใส่ได้หลายภาพมากขึ้น ใส่ภาพเบื้องหลัง ใส่คลิปวิดีโอ ใส่เสียงเพิ่มได้ เพื่อให้เนื้อหามีความเหมาะสมมากขึ้น”

ยกตัวอย่างง่ายๆ หนังสือท่องเที่ยว เราก็จะได้เห็นภาพที่คมชัดมากขึ้น สวย ดูได้เต็มตา มีการแบ่งปันประสบการณ์กัน หรือถ้ามีผู้อ่านอ่านแล้วอยากไปเที่ยวตาม เราก็ใส่กูเกิ้ล แมพลงไป ถ้าอยากไปต่างประเทศเราก็มีอัตราแลกเปลี่ยนให้ หรือแม้กระทั่งหนังสือพระเครื่อง หนังสือดูเพชรดูพลอย ก็มีประกอบที่ชัดเจนขึ้น หนังสือเด็กก้จะช่วยกระตุ้นความอยากอ่านของเด็กๆ มากขึ้น”

สุดท้ายการทำดิจิตอล บุ๊ค ให้ติดตลาด และถูกใจกลุ่มเป้าหมาย กมลวรรณ แนะว่าหลักง่ายๆ คือการเข้าใจคนอ่านให้ได้มากที่สุด

“ถามว่าทำแอพฯ อย่างไรให้โดนใจคน เราต้องศึกษาใจคนค่ะ เพราะหนังสือทุกเล่มก็จะมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกัน กลุ่มผู้อ่านเขาอยากเห็นอะไร อยู่ในช่วงวัยไหน ถ้าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนัก ยาก คนอ่านต้องใช่สมาธิ เราก็ต้องไล่เรื่องไปทีละหน้า ไม่มีอะไรแทรกเข้ามาเพื่อให้ขาดสมาธิ แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่เคยชินกับอะไรที่ยุ่งๆ เราก็สามารถใส่ภาพ ใส่อะไรเข้าไปเพื่อดึงดูดคนอ่าน คือเราต้องพยายามเข้าใจคนอ่านมากที่สุด”
 
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
       
 





กำลังโหลดความคิดเห็น