xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง “พันทาง” จากเจ้าสัว “วัลลภ เจียรวนนท์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุนัขไร้พันธุ์” กับ “ผู้บริหารระดับประเทศ” ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าสองสิ่งนี้จะมาบรรจบพบกันได้... ไม่น่าเชื่อว่าสุนัขที่อยู่ข้างกายนักธุรกิจระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง “วัลลภ เจียรวนนท์” รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) จะไม่ใช่พันธุ์ชื่อฝรั่ง สกุลโดดเด้งนำเข้ามาจากเมืองนอก แต่เป็นสุนัขพันทาง พันธุ์เดียวกับที่เดินอยู่ตามข้างถนนให้เห็นจนชินตา แทบไม่มีใครเห็นค่า
กระตุกต่อมสงสัยให้อยากรู้เหตุผลเบื้องหลังภาพแปลกตานี้ ซึ่งแน่นอนว่ามีเหตุผลดีๆ มากมายที่ผู้บริหารวัย 73 รายนี้ ยินดีบอกเล่าอย่างเปิดอก และหนึ่งในนั้นก็คือพระกระแสรับสั่งของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” องค์เหนือหัวของเรานั่นเอง



พันทาง-พันธุ์ไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก
“ร่วม 10 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในหลวง ท่านมีรับสั่งว่าอยากจะให้ทำหนังสือเกี่ยวกับเรื่อง Mid-Road ไอ้ผมก็งงนะตอนแรก ไม่เข้าใจว่ามิดโร้ดคืออะไร มาถึงบางอ้อทีหลังตอนท่านทรงเฉลยว่า “Mid” แปลว่ากลาง “Road” แปลว่าถนน ท่านหมายความว่า “หมากลางถนน” นั่นเอง ตอนหลังถึงทรงเรียกใหม่ว่า “หมาพันทาง” หรือ “Thousand Ways Dog”
 

ท่านรับสั่งว่าหมาพันทางบ้านเรา จริงๆ แล้วเป็นหมาที่ฉลาดมาก ถ้าเผื่อเราให้โอกาส เลี้ยงดูเขาดี สอนเขา เขาก็สามารถทำตามได้ เหมือนอย่างคุณทองแดงเอง เขาก็ไม่ใช่พันธุ์ดี ไม่ได้มีเพ็ดดีกรีอะไรสูงส่ง ในหลวงท่านไปพบแล้วชมว่าสวย ประชาชนก็ถวายให้แก่พระองค์ท่าน และพระองค์ท่านก็เลี้ยงดูมาจนถึงทุกวันนี้ และท่านก็รักมากเลย ผมเคยเอาสุนัขพันธุ์บางแก้วมาถวายพระองค์ท่าน ท่านก็ทรงจูงของท่านลงมาเหมือนกัน ตรัสว่าคุณวัลลภมีบางแก้ว ฉันก็มีมิดโร้ดเหมือนกัน (ยิ้มกว้าง)
  

ท่านทรงอยากให้ทำหนังสือเกี่ยวกับพวกเขา อยากให้คนทั่วไปหันมาสนใจเลี้ยงพวกเขาเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้านกันมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้นำไปสู่การพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นสุนัขประจำชาติไปเลย ท่านตรัสว่าสุนัขพันทางมีความน่ารัก ซื่อสัตย์ภักดีต่อเจ้านายไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสุนัขต่างประเทศที่มีเพ็ดดีกรีสูงส่งเลย อยากให้คนรักและเอ็นดู อยากเลี้ยงสุนัขพันทาง ไม่ใช่ทิ้งๆ ขว้างๆ เขาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”
  

คุณวัลลภน้อมพระกระแสรับสั่งในวันนั้นมาใส่ไว้ในใจและเริ่มลงมือทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ในตอนแรกเริ่มนั้น คิดในใจว่าจะเริ่มลงมือสร้างสรรค์ตัวอักษรออกมาเป็นพ็อกเกตบุ๊กด้วยตัวเอง แต่จนแล้วจนรอด พอลองได้จดปากกาเขียนลงไปจึงได้รู้ว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้เลยแม้แต่นิดเดียว “ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าการทำหนังสือจะยากเย็นอะไร ก็เลยรับใส่เกล้าฯ มาปฏิบัติ ตัวเองก็คิดว่าตัวเองเก่งน่ะนะ (หัวเราะ) ลองมานั่งเขียนดู ปรากฏว่าเขียนได้ไม่ถึงครึ่งหน้า ตันเลย (ยิ้มกว้าง) ยอมแพ้ เลิกเขียนไปเลย แล้วก็เทียวหาคนที่เหมาะจะเขียนเรื่องนี้ให้ได้ จนมาสำเร็จก็ปีนี้เอง”
  

คนรักสุนัขส่วนใหญ่อาจนึกถึงเจ้าสี่ขาพันธุ์นอกเป็นตัวเลือกแรกๆ และยินดีที่จะทุ่มเงินซื้อเพื่อให้ได้มาอยู่มาเล่นเป็นเพื่อนกัน น้อยคนนักที่จะคิดถึง “พันทาง” ให้เป็นหนึ่งในตัวเลือก ด้วยความคิดความเชื่อที่ว่าสุนัขพันธุ์ไทยรายทางแบบนี้อาจเลี้ยงดูยาก ไม่น่ารัก แถมยังดูไม่โก้เท่าสุนัขพันธุ์หรูอีกด้วย แต่หากลองเปิดใจมองให้ดีๆ และให้โอกาสสุนัขพันธุ์ไทยบ้าง รับรองว่าจะต้องมีเรื่องราวน่าประทับใจเกิดขึ้นไม่แพ้ “คุณทองแดง” ที่ทำให้องค์อยู่หัวของเราทรงประทับพระราชหฤทัยในความแสนรู้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
  

“ตอนที่คุณทองแดงเพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ วันรุ่งขึ้นพระองค์ท่านก็เสด็จไปเยี่ยม พอเยี่ยมเสร็จ พระองค์ท่านก็เสด็จกลับ ออกเดินไปได้ไม่กี่ก้าว คุณทองแดงก็ลุกตามไป ทั้งที่ปกติแล้ว สุนัขที่เพิ่งคลอดจะหวงลูกมาก แต่คุณทองแดงก็วิ่งตามไป พระองค์ท่านก็หยุดหันมามอง คุณทองแดงก็หันมามองท่านเหมือนกัน ตอนนั้นท่านทรงยังไม่ได้คิดอะไร เดินต่อไป ไม่กี่ก้าว คุณทองแดงก็เดินตาม นอกจากเดินตามแล้ว ยังมองหน้าพระองค์ท่านแล้วก็มองกลับไปที่ลูกของเขา พอเป็นอย่างนี้ พระองค์ท่านก็คิดแล้วว่า สงสัยใจหนึ่ง คุณทองแดงจะคิดว่าเขามีหน้าที่ที่จะคอยดูแล ให้ความปลอดภัยแก่ท่าน อีกใจหนึ่งก็คือความเป็นแม่ที่จะต้องคอยดูแลลูก
 
พอคิดได้อย่างนี้ พระองค์ท่านก็นึกอยากทดลองว่าใช่อย่างที่คิดไหม จึงเดินออกไปใหม่เป็นครั้งที่สาม คุณทองแดงก็เดินตามอีกแล้วก็ทำเหมือนเดิม มองดูพระองค์ท่านแล้วก็หันกลับไปมองดูลูกของตัวเอง ครั้งนี้พระองค์ท่านจึงรับสั่งว่า ไม่ต้องตามมาแล้วนะ ไปดูแลลูกได้แล้ว ไม่ต้องห่วงเรา พอพระองค์ท่านรับสั่งแค่นี้ คุณทองแดงก็วิ่งหันหลังกลับไปเลย ไม่หันมาดูท่านอีกเลย นี่แหละครับคือสิ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งให้ผมฟัง และนี่แหละคือสุนัขพันทางหรือมิดโร้ดอย่างที่พระองค์ท่านเรียก ถ้าให้โอกาสเขา สอนเขา เขาก็กตัญญูอย่างคุณทองแดงนี่แหละ”




“เจ้าทุย” ของเด็กชายวัลลภ
แม้แต่ผู้บริหารเงินล้านอย่างคุณวัลลภและคุณธนินท์เองยังมีความทรงจำน่ารักๆ เกี่ยวกับสุนัขพันทางของตัวเองเหมือนกัน เลี้ยงสุนัขมาก็หลายพันธุ์หลากนิสัย แต่ไม่มีตัวไหนจะสร้างความประทับใจ น่าจดจำได้เท่ากับ “เจ้าทุย” อีกแล้ว
 

“เจ้าตัวนี้มันเป็นลูกผสมพันทาง เป็นหมาตัวแรกๆ ที่พวกเราเลี้ยงเลย ตอนนั้นผมเรียนอยู่ประมาณ ป.4 ได้ มีเพื่อนของคุณพ่อเขาเอามาให้ เห็นหน้ามันครั้งแรกก็รู้สึกว่าหน้ามันซื่อๆ เซ่อๆ ดี ก็เลยเรียกมันว่าเจ้าทุย (หัวเราะร่วน) แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ทุยอย่างชื่อนะ มันฉลาดมากๆ เลยแหละเจ้าตัวเนี้ย” สีหน้าแววตาของผู้ชายที่อยู่เบื้องหน้าตอนนี้ ช่างเต็มไปด้วยรอยยิ้มเปี่ยมสุขปนเอ็นดู อย่างที่หลายคนอาจไม่เคยเห็นในมาดนักธุรกิจของเขา
  

“ตอนนั้นบ้านผมตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงงานเลย มีแค่รั้วกั้นแบ่งเขตไว้เพื่อไม่ให้คนงานเข้ามาจุ้นจ้าน เจ้าทุยก็ชอบเดินเล่นของมันไปเรื่อย ทั้งเขตโรงงาน ทั้งเขตบ้าน ถ้าอยู่ในเขตโรงงาน ไปเจอคนงาน เขาจะเล่นจะลูบหัวมัน มันก็ไม่ทำอะไร ปล่อยให้เขาเล่นเชื่องๆ อย่างนั้นแหละ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คนงานก้าวล้ำเข้าไปในเขตบ้าน แค่ล้ำเข้าไปก้าวเดียวก็โดนกัดเลย เพราะมันจำหน้าได้หมดว่าคือคนฝั่งโรงงาน คิดดูสิว่ามันรู้ความขนาดไหน นี่แหละคือหมาไทยของเราล่ะ... แม้กระทั่งพี่ธนินท์ยังกลัวมันเลย คิดดูสิ” ว่าแล้วคนพูดก็หัวเราะชอบใจ ทิ้งช่วงให้คู่สนทนาอยากรู้รายละเอียดแล้วจึงบอกเล่าเท้าความหลังให้คลายสงสัย
  

“พี่ธนินท์เขาต้องเข้าไปดูงานที่ฝั่งโรงงานบ่อย แล้วเจ้าทุยมันก็จำหน้าได้ว่าคนฝั่งคนงานหน้าตาแบบไหนบ้าง จำกลิ่นได้ เลยอาจจะแยกแยะว่าพี่ธนินท์คือคนฝั่งนู้นไปแล้ว ไม่ใช่คนจากฝั่งในบ้าน พอพี่ธนินท์กลับมา มันก็วิ่งไล่เห่าทุกที (ยิ้มตาหยี) เรารักมันมากเลยนะ เพราะมันเลี้ยงง่ายแล้วก็ฉลาดด้วย แถมไม่ต้องไปคอยดูแลอะไรมากเลย ก็อย่างที่บอกว่าหมาพันทางเลี้ยงง่าย พอมีอาหารเหลือก็ให้มันกิน นอกจากกระดูกไก่ เราไม่ให้เลย อันตรายมาก เดี๋ยวเข้าไปบาดลำไส้ ผมชอบกอดชอบปล้ำกับมันตลอด เพราะตัวมันใหญ่มาก ตอนนั้นใหญ่กว่าตัวผมอีก แล้วอายุก็ยืนด้วย อยู่ได้เป็นสิบปี อยู่กับผมนานจนผมลืมนับไปเลยว่ามันอายุเท่าไหร่
  
เทียบกับสุนัขพันธุ์นอกที่เคยเลี้ยงมาทั้งหมด ทั้งอัลเซเชียล, บ็อกเซอร์, ชิวาว่า ฯลฯ เห็นได้ชัดเลยว่าสุนัขพันทาง พันธุ์ไทยแท้นี่แหละเลี้ยงง่ายที่สุดแล้ว “ไม่จุกจิก ไม่ป่วยบ่อย เพราะหมาต่างประเทศเวลาเอาเข้ามา มันไม่ชินกับสภาพดินฟ้าอากาศ มาแล้วก็ป่วยง่าย มีปัญหาเยอะ อายุก็เลยสั้นกว่า 6-7 ปีบางทีก็ตายแล้ว แต่หมาไทยเรานี่ไม่ต้องฉีดวัคซีนอะไรมากมาย ปล่อยให้โดนยุงกัดก็ไม่ป่วยไม่ไข้ มันคงชินแล้ว (ยิ้ม) เหมือนอย่างคนไทยเรานี่แหละ เราดื่มน้ำประปาบ้านเรา เราก็ไม่เห็นเป็นอะไร ถึงในน้ำจะมีเชื้อต่างๆ เพราะเรามีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วมาตั้งแต่เด็ก แต่ฝรั่งมาดื่มแบบเรา เขาท้องเดินเลย” คุณวัลลภยกตัวอย่างเปรียบคนกับสุนัขแบบง่ายๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดว่าสุนัขพันทางนี่แหละ เจ๋งที่สุดแล้ว




เรื่องหมาๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
ถึงแม้เจ้าสี่ขาที่พูดถึงกันอยู่จะมีมุมน่ารักๆ อยู่เยอะแยะไปหมด แต่ช่วงหลังๆ มานี้ก็มีมุมน่ากลัวๆ ออกมามากเหมือนกัน โดยเฉพาะข่าวคราวเรื่อง “สุนัขพันธุ์ดุ” ไล่กัดเจ้าของและคนทั่วไปจนเลือดตกยางออก เสียชีวิตมาก็หลายต่อหลายรายแล้ว ในฐานะคนรักสัตว์คนหนึ่งและยังเป็นตัวแทนที่ออกมาสนับสนุนให้เลี้ยงในตอนนี้ จึงขอให้คุณวัลลภลองมองปัญหาเหล่านี้ผ่านมุมมองของตัวเองดูบ้าง... มุมมองแห่งประสบการณ์ที่ผ่านโลกมานักต่อนักแล้ว
 

“เท่าที่ผมเลี้ยงมา ผมว่าพันทางก็ไม่ดุนะ อย่างที่บอกว่ามันขึ้นอยู่กับการดูแล ถ้าเราเลี้ยงมันอย่างมีเมตตา เลี้ยงมันเหมือนเพื่อน ให้ความรักกับมัน มันก็เชื่อง แต่ที่เป็นข่าวว่าคนนั้นคนนี้โดนกัดเลือดสาด ผมว่ามันเป็นเพราะคนไปรังแกมันมากกว่า เพราะโดยธรรมชาติ ถ้าเกิดเราดูแลเขาดี เขาก็จะไม่มีปัญหา แต่บางบ้านเอาเขามาแล้วก็ทิ้งๆ ขว้างๆ บางทีลูกยังเล็กๆ อยู่ด้วยก็ให้เล่นกับหมาตามลำพัง พ่อแม่ไม่มีเวลาดู
 
บางทีเด็กก็เอาไม้ เอาอะไรเจ็บๆ ไปแหย่ไปจิ้มหมา ทำให้มันตกใจ มันก็จำฝังใจ สัญชาตญาณของทั้งคนทั้งสัตว์ก็เหมือนกันแหละครับ ใครมารังแกเรา เราจนตรอก เราก็สู้ก็แว้งกัดกลับมา แล้วพอมีการกัดครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้น พอมันได้ลองชิมเลือด มันก็จะยิ่งดุแล้วก็กลายเป็นปัญหาที่ไล่กัดคนจนเป็นข่าวออกมานั่นแหละ”
 

ส่วนปัญหาเรื้อรังอย่างเรื่องจำนวนสุนัขจรจัดมีอยู่ล้นเมือง คุณวัลลภแนะให้คร่าวๆ ว่าถ้าแต่ละบ้านหันมาเลี้ยงพวกมันไว้สักตัวสองตัว ก็อาจทำให้ปัญหานี้ลดลงไปได้บ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ถ้าอยากให้ภาพเดิมๆ เหล่านี้หมดไปจริงๆ ต้องแก้กันตั้งแต่ระดับนโยบายของประเทศ หรือง่ายๆ เลย เริ่มต้นจากคนเลี้ยงสุนัขนี่เอง ถ้ารักจะเลี้ยงลูกหมาแล้วก็ต้องรักจะเลี้ยงพวกเขาในตอนโตด้วย อย่างน้อยถ้าไม่ช่วยกันแก้ปัญหาก็อย่าสร้างปัญหาเพิ่ม ดีที่สุด
 

“ตอนเลี้ยงมันตอนเด็กๆ มันน่ารักก็อยากเลี้ยง แต่พอเลี้ยงโตแล้ว มันไม่น่ารักแล้ว ก็ปล่อยทิ้งมันให้เป็นปัญหาสังคม เป็นหมาเร่ร่อน ทำให้บ้านเรามีหมาข้างถนน หมาพันทางเยอะเกินไป สะท้อนให้เห็นถึงนิสัยไม่มีความรับผิดชอบของคนไทย ไม่ใช่กับสุนัขอย่างเดียว กับหลายๆ อย่างเลย บางทีชอบไปเอาของเขามาเสร็จแล้วก็ทิ้งๆ ขว้างๆ ซึ่งเราควรจะแก้นิสัยเหล่านี้กันอย่างจริงๆ จังๆ ได้แล้ว ทำอะไรก็ต้องมองระยะยาวเข้าไว้
 

สิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ก็เหมือนกันหมด ตอนเด็กๆ หมาก็ตัวเล็กน่ารัก พอโตก็ต้องตัวใหญ่ขึ้น ก็เหมือนกับคน เหมือนกับผู้หญิง ตอนสาวๆ ก็สวยก็น่ารัก ผิวก็เต่งตึง พอแก่แล้วทุกอย่างมันก็เหี่ยว จะให้มาสดใสด้วยพรหมจารี มันเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างคือสัจธรรม ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เหี่ยว เจ็บป่วยและตายในที่สุด ถ้าจะเลี้ยงหมา เลี้ยงสัตว์ เราก็ต้องมองว่าวันหนึ่งมันก็ต้องโตขึ้นๆ เรื่อยๆ แล้วก็กินเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าคิดจะเลี้ยงเขาตั้งแต่ตอนแรกก็ต้องมองภาพไกลๆ ไว้ด้วยว่าอนาคตเขาจะเป็นยังไง และเราก็ต้องเลี้ยงเขาให้ได้ อย่าทิ้งเขา”
 

สำคัญที่สุดคือหน้าที่ของฝ่ายภาครัฐ การกำจัดสุนัขเร่ร่อน ไม่ใช่แค่จับพวกมันมาแล้วขังกรงไว้ แต่ไม่เคยสร้างกรง สร้างที่พักอาศัยสำหรับเจ้าสี่ขาที่ได้มาตรฐาน สุดท้ายพวกมันก็ต้องตายอย่างไร้ค่า เกิดเป็นทางแก้ปัญหาที่ว่าอย่างไรเสียก็ต้องตาย สู้นำสุนัขไร้เจ้าของเหล่านี้ไปขึ้นเขียงแล่เป็นเนื้อ ส่งทอดออกสู่ตลาดยังดีเสียกว่า กลายเป็นปัญหาทิ่มตาแทงใจให้คนรักสุนัขได้เห็นกันบ่อยครั้ง และไม่รู้เมื่อไหร่จะแก้ปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ได้เสียที
 

“ถ้าไม่อยากให้มีจำนวนหมาเร่ร่อนมากขึ้นจนล้นเมือง ก็ต้องจับมาตอนเสีย พอจำนวนหมาจรจัดเหลือน้อยลง เดี๋ยวคนก็เห็นค่า ราคามันก็จะสูงขึ้นเอง ก็เหมือนสมัยก่อนที่แอปเปิลในบ้านเรายังไม่มีเยอะเท่านี้ เราต้องเก็บเงินตั้งเท่าไหร่กว่าจะซื้อแอบเปิลมากินได้ แต่พอไปต่างประเทศ ที่ที่มีแอปเปิลเยอะแยะ เด็กๆ ก็เอามาเล่นขว้างปากัน ไม่เห็นค่า นี่ก็เหมือนกัน ถ้าวันหนึ่งเราสามารถมีจำนวนหมาพันทางแบบนี้น้อยลง ผมว่าพวกมันก็จะดูมีค่ามีราคาขึ้นมาเอง ก็ต้องรอให้ภาครัฐหันมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะถ้าจะให้หน่วยงานเอกชนอย่างเราเข้าไปจัดการ สเกลมันใหญ่เกินตัวไปจริงๆ” เจ้าสัวแห่งซีพีถอนหายใจเบาๆ ก่อนทิ้งท้ายเอาไว้ให้ได้คิด

“จริงๆ แล้วผมว่าเรื่องฆ่าสุนัขนี่ก็โหดร้ายพอๆ กับฆ่าวัวฆ่าควายนะ สัตว์ทุกประเภทก็มีความน่ารัก มีความสามารถของมันอยู่ ผมเคยจัดมหกรรมโคกระบือ เราให้คนสอนควายแสดงความสามารถแล้วเอามาโชว์ ควายมันก็ทำได้ มันยิ้มได้ สามารถเดินเข้าแถวได้อย่างเป็นระเบียบ ลงไปกราบผู้ชมได้ทั้งสี่ทิศด้วย ผมว่าสัตว์ทุกประเภทน่ารักและมีความสามารถหมดแหละครับ ถ้าเกิดเราให้โอกาสและช่วยดูแลชีวิตมัน




---ล้อมกรอบ---
รวยแล้วอย่าลืม!!
ในวงการ “ธุรกิจเพื่อการลงทุน” อาจได้ยินชื่อของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” บ่อยกว่า “วัลลภ เจียรวนนท์” เพราะคุณธนินท์ผู้พี่คือซีอีโอเงินล้านที่ได้รับการยอมรับระดับโลก แต่ในวงการ “ธุรกิจเพื่อสังคม” แล้ว ชื่อของคุณวัลลภผู้น้อง ก็ถูกกล่าวถึงบ่อยไม่แพ้กันเช่นกัน เรียกได้ว่าทั้งสองคนคือด้านบุ๋นและบู๊ของกันและกัน ได้รับกำไรจากธุรกิจแล้วก็ต้องรู้จักคืนกลับสู่สังคมด้วย อย่างที่คุณวัลลภบอกเอาไว้ว่า “No give No take ถ้ามีแต่ไปเอาจากคนอื่นเขามา แต่ไม่รู้จักคืนกลับสู่สังคม สุดท้ายธุรกิจก็โตอย่างยั่งยืนไม่ได้เหมือนกัน”
 

“มันไม่ใช่ว่าต้องรวยก่อนแล้วถึงจะให้ได้ ผมว่าไม่ใช่นะ อย่าไปแยกเรื่องจิตกุศลด้วยคำว่า “รวย” หรือ “จน” เลย เพราะเราทุกคนสามารถทำความดีได้ด้วยกันทั้งนั้น เรามีน้อย เงินน้อย เราก็ทำน้อย แต่เรามีความคิด มีกำลัง เราก็ช่วยด้วยกำลังได้ ไม่จำเป็นว่าต้องช่วยด้วยเงินทองมากมายมหาศาล แต่มันอยู่ที่เรามีจิตใจที่เป็นกุศลมากน้อยแค่ไหน
 

ไม่ใช่ว่าเราต้องรวยล้นฟ้าแล้วถึงจะช่วยคนได้ ไม่จำเป็น (เน้นเสียง) เราอยู่ดีกินดี พอจะช่วยคนอื่นได้ เราก็ช่วยคนอื่นได้แล้ว เพราะถ้ามัวแต่มารอให้รวยก่อนแล้วค่อยช่วยสังคม ก็ต้องรอ รอไปถึงเมื่อไหร่ และถ้าเกิดเราไม่มีความสามารถที่จะหาเงินให้มีมากมายได้ล่ะ ก็ต้องถามว่าเมื่อไหร่ล่ะ เท่าไหร่ล่ะ ถึงจะเรียกว่ารวย มีแสนหนึ่ง ล้านหนึ่ง หรือมีสิบล้าน ร้อยล้าน คุณจะเอามาตรฐานอะไรมาวัดล่ะ มันไม่จำเป็นเลย” เขาพูดด้วยน้ำเสียงเด็ดเดี่ยว
 

ถึงแม้หน้าที่ของคุณวัลลภคือการดูแลภาคธุรกิจเพื่อสังคมให้แก่บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) แต่ใจจริงแล้วเขาไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่ “หน้าที่” ที่ต้องทำ แต่เป็นสิ่งที่ “อยากทำ” และไม่ว่าสุดท้ายแล้ว สังคมจะมองว่าเขาทำไปเพื่อผลประโยชน์ เพื่อผลกำไรของบริษัท เจ้าตัวก็ยังคงยิ้มรับได้อย่างสบายใจ เพราะเขารู้ดีว่าเรื่องที่ทำให้สุขใจได้ทุกวันนี้ มันคืออะไร
 

“ใครเขาจะมองยังไงก็เรื่องของเขา เราไปห้ามเขาไม่ได้ ขอแค่เรารู้ว่าเราทำไปทำไม เพื่ออะไรก็พอ ความมุ่งหมายเราอาจจะทำเพื่อสังคม แต่สุดท้ายธุรกิจเราก็พลอยได้ไปด้วยจริงๆ เพราะฉะนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ถ้าใครจะมองว่าทำในนามของบริษัท มันเป็นธรรมดา เมื่อเราทำความดี ผลดีก็สะท้อนกลับมา ไม่จำเป็นว่าต้องตั้งเป้าว่าทำเพื่อธุรกิจหรอก เพียงแค่คนเขาเห็นว่าคนนี้ทำความดี คนก็อยากจะอุดหนุนเขาเพื่อตอบแทน ทุกอย่างจะมาเองโดยธรรมชาติ
แต่ในทางตรงข้าม ถ้าคุณไปโกงเขามา คุณทำอะไร คุณก็ไม่เจริญ คนที่เคยถูกคุณโกงก็จะไปบอกต่อๆ กันไปแล้วว่าไอ้นี่คบไม่ได้ ต่อให้ทำโปรเจกต์เพื่อสังคมให้ตาย แต่สุดท้ายไปโกงคนอื่นเขา ทำยังไงก็ไม่ได้ผลดีตอบกลับมาแน่นอน” นี่แหละคืออีกหนึ่งมุมมองคมๆ ของผู้บริหารระดับประเทศรายนี้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE





รักสัตว์มาแต่ไหนแต่ไร

พันทาง-พันธุ์ไทย ความสามารถหลากหลาย




หนังสือ “หมาพัน(ธุ์)ทาง 1,000 Ways Dog” รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น