xs
xsm
sm
md
lg

“บุญมา” ฉันอยู่ไหน? ไถ่ชีวิตควาย ทำบุญอาจได้บาป!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
จากกรณีบุญมา ควายเผือกเพศผู้ที่เจ้าของได้ไถ่ชีวิตมา แล้วนำไปบริจาคที่ศูนย์อนุรักษ์กระบือไทย มรภ.อุตรดิตถ์ เพื่อให้มันได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติอยู่ร่วมกับฝูง แต่ต่อมาทางศูนย์อนุรักษ์ได้นำควายบุญมาไปแลกกับควายตัวอื่น และถูกขายต่อกันไปเป็นทอดๆ เส้นทางของควายบุญมา จึงกลายเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับศูนย์อนุรักษ์ต่างๆ ที่รับบริจาคโค-กระบือที่มาจากการไถ่ชีวิต หากต้องการชุบเลี้ยงเพียงหวังผลกำไร...อาจเปลี่ยนจากเส้นทางบุญ กลายเป็นเส้นทางบาป

จากความคิดที่ว่า “การบริจาคควายบุญมา เหมือนเป็นการบริจาคเงินให้วัด จึงเป็นสิทธิที่ศูนย์อนุรักษ์จะเอาไปทำอะไรก็ได้” ทำให้ชีวิตของมันต้องระหกระเหิน ถูกขายเปลี่ยนมือต่อกันไปอย่างไม่รู้ชะตากรรม
 
เหมือนอย่างที่ มรภ.อุตรดิตถ์ ได้แลกควายบุญมากับควายคู่แม่ลูกเพศเมียของชาวบ้าน โดยให้เหตุผลว่าเจ้าควายบุญมาเลี้ยงก็เป็นภาระ ดูแลยาก เพราะเข้ากับฝูงไม่ได้ ขณะที่ควายเพศเมียสองตัว ถ้าเลี้ยงจนถึงอายุพร้อมผสมพันธุ์จะตกลูกได้ปีละ 1-2 ตัว จึงเป็นการก่อประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยในอนาคต


บริจาคไปแล้วจะเอาไปทำอะไรก็ได้!?
เส้นทางการตามหาควายบุญมานั้น มันมีนัยซ่อนเร้นที่มากกว่าการตามหาแค่ควายตัวหนึ่ง
ไม่ว่าตอนนี้ควายบุญมาจะเป็นอย่างไร จะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันตามหาที่มากกว่านั้น นั่นคือความยุติธรรมของสัตว์ที่มาจากการไถ่ชีวิต แล้วนำไปบริจาคตามศูนย์อนุรักษ์ต่างๆ

วัตถุประสงค์ก็คือ เมื่อมีคนไปไถ่ชีวิตมันมาด้วยเงินเพื่อซื้อชีวิตต่ออีกครั้ง คงไม่มีใครคิดหรอกว่าพอเอามาบริจาคแล้วจะไปแลกกับชีวิตอื่น แม้ว่ากรณีของควายบุญมาทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์จะขอรับผิดที่ไม่ได้บอกกับเจ้าของก่อน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิชัย หาญสมบัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวว่าปัญหาใหญ่มันอยู่ที่เราเลี้ยงมันไม่ได้ เราถึงต้องปล่อยมันออกไป อ.วิรัตน์เขาเข้าใจว่าเป็นสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย เขาเป็นผู้รับมอบอำนาจและมีสิทธิ์กับควายตัวนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าทำอะไรมันก็ไม่น่ามีผลกระทบ เป็นสิทธิ์ที่เขาจะทำได้

“ถ้ามองในแง่ของการบริจาค เหมือนกับเราเอาเงินใส่ตู้ให้วัด เราเคยไปถามไหมว่าพระเอาไปทำอะไร เราก็ไม่ได้ถามใช่ไหม เพราะเป็นอำนาจสิทธิ์ขาดของวัด ควายตัวนี้ก็ลักษณะเดียวกัน”

จึงเป็นเหมือนการพูดแค่ผลักปัญหาให้ไกลตัว แต่เรื่องนี้มันไม่ใช่เป็นการหยอดเงินลงตู้บริจาค ตัวเงินมันเทียบไม่ได้กับชีวิตควาย แม้แค่เพียงหนึ่งตัว แต่มันก็คือหนึ่งชีวิต เพราะแท้จริงแล้วจุดประสงค์ของการเอาควายไปบริจาค เจ้าของต้องการจะช่วยชีวิตควายตัวนั้น จึงไถ่ชีวิตแล้วนำไปไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์

โรเจอร์ โลหะนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีคำพูดของอธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ว่า มันไม่ใช่เราจะเอาไปเปรียบเทียบกับเงินลงกล่องบริจาค ไม่ได้หรอก มันไม่ใช่...นี่มันเป็นชีวิตสัตว์ เพราะชาวบ้านเขาต้องการบริจาคแล้วให้วัวควายสุขสบาย ให้มันรอดชีวิต ไม่ใช่ให้เอาไปทำการศึกษาวิจัยหรือให้เปลี่ยนมือไป หรือทำอะไรก็แล้วแต่เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเจ้าของโครงการอนุรักษ์ต่างๆ

จึงเป็นกรณีตัวอย่างให้แต่ละศูนย์อนุรักษ์ได้ตระหนัก หากมีความเห็นเหมือนกับท่านอธิการบดีอย่างนั้น มันจึงกระทบต่อการบริจาค หรือการไถ่ชีวิตวัวควายอย่างมาก ที่คิดว่าบริจาคไปแล้วจะเอาไปทำอะไรก็ได้

ตั้งศูนย์อนุรักษ์บังหน้า แท้จริงคือธุรกิจ
นอกจากการตามหาจะเป็นการทวงความยุติธรรมให้แก่บุญมาแล้ว ก็พอจะรู้ได้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังแท้จริงของการหายตัวไปของควายบุญมา ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่ศูนย์อนุรักษ์จะได้รับ และคงไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างที่หลายคนคาดคิด

เชื่อเลยว่าเรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นเพียงแค่ศูนย์อนุรักษ์นี้เท่านั้น ปัจจุบันมีศูนย์อนุรักษ์โค-กระบือหลายแห่งในประเทศไทย ที่เริ่มจากเจตนาดีที่ชาวบ้านไถ่ชีวิตวัวควายมา และต่อมาก็มีหลายภาคส่วนออกมาทำเป็นโครงการของตัวเอง แต่ไม่นานนักเมื่อมีการเริ่มโครงการนู้นโครงการนี้ จึงเกิดความไม่โปร่งใสในเรื่องเงินเรื่องทองขึ้นมา

โรเจอร์ โลหะนันท์ ได้พูดถึงความโปร่งใสและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงการไถ่ชีวิตโคกระบือว่า จริงๆ แล้วแต่ก่อนชาวบ้านเอาเงินตัวเองมาซื้อแล้วก็ปล่อย พอนานๆ เข้า เริ่มตั้งแต่กรณีวัดกู้ จ.นนทบุรี เมื่อเจ้าอาวาสท่านเสียไปก็มีโครงการของวัดอื่นๆ ตามมา ทั้งโครงการราชการ โครงการเอกชนมันเป็นช่องทางหาเงินของคนทำโครงการที่ไม่ใช่ชาวบ้านซื้อมาแล้วบริจาคกลายเป็นการตั้งกองทุนรับบริจาคแล้วก็เอาเงินไปไถ่ชีวิตวัวควาย

ตรงนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ได้แก้ต่างว่า ศูนย์อนุรักษ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ควายไทย และจะเลี้ยงจนกว่าควายตัวนั้นจะหมดสภาพไปในที่สุด แต่ควายบุญมานี่เป็นกรณีพิเศษจึงนำไปแลก จึงยืนยันว่าศูนย์อนุรักษ์ไม่ได้ทำเป็นเชิงธุรกิจแต่อย่างใด

ควายบุญมาจึงเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนที่ไถ่ชีวิตโค กระบือแล้วจะนำไปบริจาคให้กับศูนย์อนุรักษ์ต่างๆ หากใครต้องการบริจาคต้องเข้าไปดูรายละเอียดด้วยว่าโครงการอนุรักษ์เหล่านั้นนำสัตว์ไปทำอะไร อนุรักษ์เพื่อผสมพันธุ์ เพื่อประโยชน์ของพวกคุณ หรือว่าอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูการใช้วัว ควายขึ้นมาใหม่

“โครงการที่ดีควรจะเน้นที่ให้นำวัว ควายที่ได้รับการไถ่ชีวิตไปให้ชาวนาที่เขาต้องการใช้ประโยชน์จากวัว ควาย ใช้ประโยชน์ในด้านแรงงาน และไม่ได้เอาไปใช้ในเรื่องของธุรกิจ เช่น เอาไปขวิดกัน แข่งกัน ฯลฯ เพราะวัว ควายจะมีความสุขเวลาอยู่กับคน ได้ออกท้องไร่ท้องนา ไม่ใช่เอาไปขังรวมกันแล้วก็เอาไปขาย” โรเจอร์ กล่าว

น้ำตาคน น้ำตาควาย
เรื่องของควายบุญมา จึงกลายเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่กระทบกระเทือนจิตใจคนรักสัตว์อย่างมาก และสะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นสถานที่ไหนหรือศูนย์ใด การไถ่ชีวิตสัตว์แล้วไปบริจาคให้แก่ศูนย์อนุรักษ์ต่างๆ เพื่อช่วยชีวิตมัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานไหนที่รับไป แต่เพื่อชีวิตของควายตัวนั้น

เมื่อติดตามข่าวบุญมา ก็ยิ่งสร้างความหนักใจ โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสัตว์บนโลกออนไลน์ ซึ่งมีหลายกระแสข่าวบอกว่าควายบุญมาถูกส่งเข้าโรงเชือดที่ จ.แพร่ไปแล้ว และบางแหล่งข่าวก็ว่าถูกขายออกไปถึงมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

“อ่านแล้วน้ำตาคลอเลย อ่านแล้วจุกเลย สงสารบุญมามาก หวังว่าเขาจะเอาผิดคนทำผิดได้ เป็นคนมีหน้ามีตานับหน้าถือตาในสังคมแท้ๆ”

ปัญหามันไม่อยู่ที่ชีวิตของบุญมาเท่านั้น มันอยู่ที่ "การทุจริต" โดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานของราชการ มาหาประโยชน์ส่วนตน อย่างนี้มันเข้าข่ายทั้ง "ฉ้อราษฎร์ บังหลวง" และ "ฉ้อหลวง บังราษฎร์" คิดว่าบุญมาไม่ใช่รายแรกที่มันทำอย่างนี้ ช่วยกันร้องเรียน ทวงถามความยุติธรรมให้กับบุญมา และควายทุกตัวค่ะ”

มันไม่ใช่แค่เงิน มันคือชีวิตของควาย 1 ตัว ที่คนเขาร่วมมือร่วมใจกันช่วยดึงมันขึ้นมาจากปากเหวแล้วอาจารย์ยังถีบมันลงนรกได้ลงคอ เพื่อแลกกับเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ ไปบำรุงบำเรอตัวเอง” นี่เป็นความเห็นบางส่วนจากกระทู้ “คนมาถามหาควายค่ะ” ในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม

ด้านเจ้าของผู้ไถ่ชีวิตควายบุญมา คุณนันทวรรณ เทพรักษา ซึ่งเป็นผู้บริจาค ได้บอกทั้งน้ำตาว่ามันผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่เขาตั้งใจไว้ เพราะไม่คิดว่าทางศูนย์อนุรักษ์จะเอาควายที่เค้าไปไถ่ชีวิตมาไปขายต่ออีกรอบ เขาคิดว่าควายบุญมาอยู่ในที่ๆ ปลอดภัยแล้ว แต่ที่ศูนย์แห่งนี้กลับเป็นศูนย์ค้าควายของทางราชการดีๆ นี่เอง

นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวเสริมอีกว่า ปัญหาของศูนย์อนุรักษ์นำมาถึงเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ เอาวัวควายมาไว้โดยไม่คำนึงถึงสัตว์ ดูแลไม่ดี บางทีก็เอามาอยู่เพื่อเรียกร้องความสงสาร เรียกร้องเงินทองเพิ่มในการดูแล ตอนนี้มันจะมีปัญหาอย่างนี้เยอะมาก จริงๆ วัวควายไม่ได้ถูกเลี้ยงไปตลอดชีวิตอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ แต่ว่าวัวควายถูกเปลี่ยนมือ ถูกนำไปใช้การศึกษาค้นคว้าของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างๆ

“วัตถุประสงค์ที่ชาวบ้านต้องการเขาต้องการให้วัวควายอยู่อย่างสุขสบาย หรือไม่ก็ไปอยู่กับชาวนาที่เขาต้องการวัวควายไถนา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ฆ่าไม่ส่งไปเชือดต่อ”

“ผมอยากให้การไถ่ชีวิตโคกระบือคำนึงในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มากกว่าประโยชน์ของมนุษย์ กรมปศุสัตว์ขอให้มีการตั้งหน่วยงานตรวจสอบอย่างจริงจัง ไม่ใช่ใครคิดจะทำโครงการก็ไปสนับสนุนเขา มีแต่สนับสนุนอย่างเดียวไม่มีการตรวจสอบเลย หลายๆ โครงการยังทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่ ถึงเวลาต้องสังคายนา กรมปศุสัตว์ต้องมีบทบาทเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งมันมีไม่กี่โครงการเท่านั้นที่สามารถพูดได้ว่ามีการตรวจสอบจริงๆ

ทุกวันนี้โลกของทุนนิยมมองเรื่องของธุรกิจ เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตให้อยู่รอด จนบางครั้งมองข้ามสิ่งมีชีวิตที่เป็นเพื่อนร่วมโลก โดยไม่สนใจเลยว่าชีวิตสัตว์เหล่านั้นก็มีค่าเท่ากับชีวิตคนคนหนึ่ง เมื่อมีสิทธิในตัวมันก็ใช่ว่าจะมีอำนาจตัดสินชะตากรรมได้ตามอำเภอใจ โดยเฉพาะสัตว์ที่ได้รับการไถ่ชีวิตมา...เพราะสัตว์ก็มีหัวใจไม่ต่างจากคน

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




บุญมา ควายเผือกเพศผู้ที่หายไป

คุณนันทวรรณ เทพรักษา เจ้าของผู้ไถ่ชีวิตบุญมา ก่อนนำไปบริจาค
คุณนันทวรรณ กับคุณพ่อ ช่วยกันตามหาบุญมา
ผศ.สิทธิชัย เจ้าของความคิดที่ว่าการบริจาคควายบุญมา เหมือนเป็นการบริจาคเงินให้วัด
กำลังโหลดความคิดเห็น