“รับจ้างกดไลค์” หลายคนอาจทำหน้างงๆ และมีคำถามอยู่ในใจเกี่ยวกับที่มาของอาชีพนี้!?
เมื่อพูดถึงคำว่า “Like” ในโลกยุคใหม่ คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการกดไลค์บนเฟซบุ๊ก เพื่อแสดงความชื่นชอบสิ่งที่คนอื่นโพสต์ ซึ่งการกดไลค์เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของนักการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายทางธุรกิจในแฟนเพจ และบ่งบอกว่าแบรนด์สินค้านั้นๆ ประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือเป็นที่นิยมมากน้อยแค่ไหน จึงเกิดมีอาชีพ “รับจ้างกดไลค์” ขึ้นมา แต่ก็เป็นคำถามตามมาอีกว่า เมื่อมีการจ้างไลค์ได้ แล้วแบรนด์สินค้าจะมีความน่าเชื่อถือได้มากแค่ไหนกัน
การกด Like คือ ผลการตอบรับที่ดี เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของ Marketing ในเชิง Customer Relationship ซึ่งปัจจุบันหลายต่อหลายแบรนด์สินค้า หรือบริษัทต่างๆ นำการกด Like มาใช้วัดความนิยมของตัวเอง โดยพวกเขามีกลยุทธ์หลากหลายที่จะให้ลูกค้ามากด Like ให้บนเพจหรือคอมเมนต์ รวมถึงการใช้กลโกงซื้อไลค์จากคนรับจ้างทำไลค์เองเสียเลย
แจ้งเกิด! อาชีพรับจ้างกดไลค์
ยิ่งมีจำนวนไลค์มาก ยิ่งถือว่าได้รับความนิยมมาก จึงตอบสนองช่องทางของอาชีพรับจ้างกดไลค์ หากลองค้นหาคำว่า “รับจ้างกดไลค์” ในอินเทอร์เน็ตหรือช่องคำค้นของเฟซบุ๊กดู จะเห็นว่ามีคนรับเพิ่มยอดไลค์นับสิบราย ซึ่งมีการทำอย่างจริงจังแบบยึดเป็นอาชีพกันเลยทีเดียว
จากการสังเกตในแต่ละเพจที่มีการโพสต์สนทนากันระหว่างคนรับทำและลูกค้า ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลง และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป
โดยหลักของการกดไลค์ จะแยกเป็นการไลค์เพจ คือการเพิ่มจำนวนไลค์หน้าแฟนเพจ และไลค์โพสต์ คือการเพิ่มจำนวนไลค์ข้อความ หรือรูปภาพที่มีการโพสต์ ซึ่งมีการกำหนดราคาค่าไลค์แตกต่างกันไป มีตั้งแต่ 0.50 บาท จนถึง 4 บาทต่อ 1 ไลค์ หากซื้อจำนวนไลค์มาก ราคาจ้างก็ยิ่งถูกลง เช่น จ้างกด 3,000 ไลค์ จากอัตราไลค์ละบาท จะถูกลงเป็นไลค์ละ 0.50 บาท เป็นต้น
ข้อมูลในเว็บเพจหนึ่งระบุราคาว่า 1,000 Like = 500บาท/ 2,000 Like = 900บาท/ 3,000 Like = 1,300บาท/ 5,000 Like = 2,200บาท/ 10,000 Like = 3,800บาท ต้องการไลค์รูป หรือไลค์ข้อความ รับ like ละ 2 บาท (ขั้นต่ำ 100 ไลค์) **ระบุเพศ ไลค์ ละ 1 บาท **ระบุเพศ และ ระบุอายุ ไลค์ ละ 2 บาท **ออกแบบแฟนเพจ ดีไซต์ เพจละ 1,500 บาท ช่วงนี้มีโปรโมชั่น 1 แสนไลค์ 35,000 บาท รับจำนวนจำกัด 10 ท่านแรกเท่านั้น
สาเหตุที่การกดไลค์รูป หรือข้อความ มีราคาแพงกว่าไลค์แฟนเพจ เนื่องจากมีขั้นตอนการทำที่ยากกว่า โดยเฉพาะการระบุเพศ และกลุ่มอายุ รวมถึงจังหวัดที่อาศัยอยู่ จึงต้องมาจากการเจาะข้อมูลดูเป็นรายๆ ไปเพื่อให้ได้คนที่ต้องการเข้ามากดไลค์ ซึ่งเว็บเหล่านี้อ้างว่าทำได้จริง และสามารถตรวจสอบได้อย่างแน่นอน
เช่นเดียวกับ ซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ พิธีกรทางด้านรายการไอทีชื่อดัง กล่าวไว้ในรายการWeekly C3ว่า ลูกค้าสามารถเลือกID คนที่เข้ามากดไลค์ได้ อาจจะเป็นชาวต่างชาติ หรือเป็นคนไทย ทั้งสามารถระบุเพศหรืออายุก็ทำได้ สั่งให้เพิ่มไลค์ภายในวันเดียว หรือทยอยกดเป็นล็อตๆ เดือนละ 100,000 ไลค์ก็ได้ ซึ่งมีตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักแสนไลค์ต่อเดือน
กลยุทธ์สร้าง 1,000 ไลค์ในคืนเดียว
“ยังไม่ทันข้ามคืน จำนวนไลค์ก็เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว” นั่นคือเสียงจากลูกค้าที่เคยใช้บริการ ได้ยืนยันถึงความเป็นมืออาชีพของคนรับจ้างกดไลค์ แต่กลายเป็นคำถามที่ค้างคาใจว่าคนกลุ่มนี้มีวิธีการหาคนกดไลค์ได้อย่างไร?
ส่วนใหญ่มีคนที่เปิดแฟนเพจเพื่อขายของในเฟซบุ๊กจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ และแวะเวียนเข้ามาซักถาม ถึงกระบวนการเพิ่มไลค์จำนวนมาก ซึ่งหลายคนมีความลังเลและไม่แน่ใจว่าการรับจ้างกดไลค์ของเว็บต่างๆ เหล่านี้น่าเชื่อถือมากแค่ไหน กับการที่ต้องยอมจ่ายเงินก่อนเพื่อแลกกับจำนวนไลค์ หรือจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นตามมาในอนาคตจริงหรือไม่
จากการได้พูดคุยกับ บอย-ปริชญา ธรรมชาติ เจ้าของและผู้ดูแลเพจ “รับจ้างไลค์ เพิ่มlike จ้างกดไลค์” ได้บอกวิธีการเพิ่มจำนวนไลค์แก่ลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาซื้อไลค์ให้ฟังว่า เรามีเฟซบุ๊กของตัวเองที่ใช้งานอยู่จริงมานาน 4-5 ปีแล้ว ซึ่งมีเพื่อนในเพจจำนวนมาก ประมาณล้านกว่าๆ เกือบสองล้านคนแล้ว ก็จะให้เพื่อนในเพจที่มีอยู่นี้เป็นคนช่วยกดไลค์ โดยการเอาข้อมูลของลูกค้าที่ต้องการเพิ่มจำนวนไลค์ไปโพสต์แปะไว้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง เมื่อได้จำนวนไลค์ตามที่ต้องการก็ลบโพสต์นั้นออกไป
“ลองนึกสภาพคนจำนวนเกือบ 2 ล้านคน พอเราโพสต์เพจลูกค้าเพื่อให้เพื่อนเรากดไลค์แค่ 1,000 คน ไม่ต้องใช้เวลาคืนหนึ่งหรอก แค่ครึ่งชั่วโมงก็เสร็จแล้ว จะเห็นว่าเราไม่ได้ใช้โปรแกรมหรือบ็อทในการช่วยกดไลค์ แต่เป็นคนจริงๆ ที่เล่นเฟซบุ๊กเป็นประจำมากดไลค์ให้ หรือที่เรียกกันว่า ไลค์ธรรมชาตินั่นแหละ สามารถตรวจเช็กได้แน่นอน”
ทั้งนี้ในหน้าเพจรับจ้างกดไลค์ ซึ่งใช้เจรจากับลูกค้า จะมีผลงานที่เคยทำมาแสดงไว้ให้ดู ส่วนใหญ่มีข้อความโพสต์ซักถามข้อมูลการจ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเสียงติชมจากลูกค้าที่เคยใช้บริการมาก่อน รวมถึงกลุ่มคนที่เข้ามาจับผิด และสำรวจความเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
“ขอชมหน่อยนะ ทำงานไวมากๆ 1,000ไลค์ ในคืนเดียวเอง ปลื้มค่ะ”
“มีแบบนี้ด้วยหรอครับ เพิ่งรู้นะเนี่ย!”
“เห็นเอารูปแต่ละแฟนเพจลง ว่าเป็นตัวอย่างลูกค้า เป็นการเปิดโปรงรึเปล่าว่าคนนี้เพจนี้เขาจ้างให้กด แล้วจะน่าเชื่อถือดีไหม?!” นี่เป็นข้อความบางส่วนที่โพสต์ไว้
อย่าหลงเชื่อกับจำนวนไลค์มหาศาล
การกดไลค์มีผลต่อจิตวิทยาของผู้ใช้ทั่วไป หากมีตัวเลขผู้ชื่นชอบเพจนั้นจำนวนมาก ผู้เข้ามาดูก็จะคิดว่าเพจนี้เป็นที่นิยมของคนทั่วไป ดูแล้วน่าเชื่อถือ แต่หากลองคิดอีกแง่หนึ่ง ถ้ายอดไลค์เหล่านั้นมาจากการจ้าง ก็ถือว่าเป็นช่องโหว่ให้มีการโกงเกิดขึ้น
หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที และพิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทค กล่าวถึงจำนวนไลค์กับความน่าเชื่อถือของแฟนเพจว่า ถ้าจะดูว่าแฟนเพจนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เราควรสังเกตที่หัวข้อ หัวเรื่องนั้นว่าสมควรมีไลค์ได้เป็นแสนไลค์รึเปล่า ถ้าเป็นพวกเพจโนเนม แต่มีจำนวนการกดไลค์เว่อร์ๆ ห่างจาก talking about สิ่งที่พูดคุยกันคนละขั้ว หรือไม่มีความเคลื่อนไหวของคอมเมนต์ใดๆ คิดเลยว่าอาจทำไลค์ปลอมขึ้นมา
“คนทำการตลาดออนไลน์บางคน เก่งกว่า ดีกว่า ดิจิตอล เอเยนซี่ด้วยซ้ำ เขาอาจมีกลยุทธ์ดีกว่า แต่มันไม่มีอะไร 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนคิดกระจอกต้องหาช่องทางโกงจนได้ จึงต้องดูจากเนื้อหาเป็นหลัก”
แต่ในมุมมองของลูกค้า การกด Like นั้น บางครั้งก็ไม่ได้ทำไปเพื่อส่วนลด ของแถม หรือรายการส่งเสริมการขายแต่อย่างใด อาจมาเป็นข้อความแท็ก และสแปมที่น่าปวดหัว แต่ก่อนมักจะเห็นในอีเมล แต่เดี๋ยวนี้อยู่ในเฟซบุ๊กแทน ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีผลต่อคนใช้มากเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับร้านค้าที่ขายของอยู่บนเฟซบุ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขายของเหมือนแชร์ลูกโซ่ หรือสินค้าที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
ดังนั้นเมื่อจะตัดสินใจซื้อสินค้าบนเฟซบุ๊ก สิ่งที่ต้องดูให้ละเอียดก็คือ “คอมเมนต์” หรือ “ฟีดแบ็ค” จากคนที่เคยซื้อไปแล้ว อย่าดูจากจำนวนของการกดไลค์เท่านั้น
แต่เฟซบุ๊กก็มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับหนึ่ง ถ้าระบบคอมพิวเตอร์เห็นความผิดปกติทางการรีพอร์ต อย่างการโพสต์ข้อมูลเดียวกันซ้ำๆ ในเวลาเดียวกัน ทางเฟซบุ๊กจะลบ ID นั้นทิ้งออกไปทันที จึงถือว่าเป็นการช่วยผู้บริโภคป้องกันการโดนหลอกลวงอีกทางหนึ่ง
หากลองจับผิดเบื้องต้นในมุมของเจ้าของธุรกิจที่ต้องการเพิ่มไลค์แบบเนียนๆ จะเห็นได้ว่าคนรับจ้างกดไลค์ที่มีอยู่ตอนนี้กว่า 10 เพจ ขณะที่เพจหนึ่งผู้คนคับคั่ง แต่อีกเพจหนึ่งกลับดูเงียบเหงา ไม่มีการพูดคุย หรือมีความเคลื่อนไหวใดๆ เกิดขึ้น “ผมจะซื้อไลค์นะครับ อยู่ไหมเนี่ย!” นั่นคือเสียงจากลูกค้ารายหนึ่ง แต่ก็ดูไร้วี่แววการตอบกลับ แค่นี้ก็พอจะสังเกตคร่าวๆ ได้แล้วว่า เพจนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่
นอกจากนี้เมื่อมีไลค์ธรรมชาติ ที่มาจากการเล่นเฟซบุ๊กจริงอยู่เป็นประจำ ก็ต้องมีไลค์ปลอมที่ทำขึ้นเพื่อหลอกลวงธุรกิจที่ต้องการซื้อไลค์ รวมถึงหลอกลวงลูกค้าหรือผู้ใช้ต่อกันไปเป็นทอดๆ
แหล่งข่าวจากเจ้าของเพจรับจ้างกดไลค์รายหนึ่งในข้อมูลว่า บางเพจเขาจะมีวิธีการทำไลค์ปลอมขึ้น ใช้แค่หนึ่งคน แต่สามารถกดไลค์ได้จำนวนมาก โดยมาจากการสมัคร ID หลายๆ ครั้ง ใช้ข้อมูลที่แตกต่างกันในการสมัคร ซึ่งผู้จ้างจะให้ค่าสมัคร ID ละ 3 บาท ฉะนั้นหากคนหนึ่งทำขึ้นมา 20 ID ก็เท่ากับกดไลค์ได้ถึง 20 ครั้งต่อคน จึงไม่ใช่เฟซบุ๊กที่เล่นอยู่ประจำ ไม่ใช่ไลค์ธรรมชาติ
สอดคล้องกับ พิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทคที่กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีคนเล่นเฟซบุ๊กเป็นอันดับต้นๆ ของโลก บางคนมี 2-3 แ็อ็กเคานต์ มีไว้เล่นเกมเพื่อแลกไอเทม และมีคนประเภทที่ทำไว้หลายแ็อ็กเคานต์เพื่อทำกิจกรรมเชิงไลค์ปลอม เพื่อผลของการตลาด ถ้าทำเพื่อหลอกขายสปอนเซอร์ก็ถือว่าเข้าข่ายคอร์รัปชั่น เหตุการณ์นี้จึงไม่ต่างจากให้เด็กแจกใบปลิวตามสะพานลอย
การจ้างกดไลค์เพื่อเพิ่มยอดขาย ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของการขายของบนเฟซบุ๊กที่มีอยู่มากมายบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะมีจำนวนไลค์มากหรือน้อย ไลค์ปลอมหรือไลค์จริง ย่อมส่งผลทั้งแง่ดีและแง่ลบตามมา เพียงแค่อย่าหลงเชื่อกับจำนวนไลค์อย่างงมงาย และควรกดไลค์อย่างมีสติ ไลค์ได้ ถ้าถูกใจ แต่อย่าเข้าทำนองว่าเห็นเขาไลค์ก็ไลค์ตาม เหมือนอย่างที่มีคนกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ไม่มีอะไรนอกเหนือจากการอุปาทานหมู่”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE